โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2563

JS100

อัพเดต 09 เม.ย. 2563 เวลา 03.48 น. • เผยแพร่ 09 เม.ย. 2563 เวลา 00.50 น. • JS100:จส.100
ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.วันพฤหัสบดีที่ 9  เมษายน  2563
ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2563

ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.วันพฤหัสบดีที่ 9  เมษายน  2563

นายกรัฐมนตรี ย้ำไม่ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง

           สถานการณ์โควิด-19ในประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางเยี่ยมผู้ปฏิบัติหน้าที่และให้กำลังใจประชาชนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และต้องถูกกักกันตัวเพื่อดูอาการและเฝ้าระวังโรค ที่โรงแรมภัทรา พระราม 9  โดยทุกคนยินดีให้ความร่วมมือและขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยเหลือพร้อมดูแลอย่างดี

          นายกฯได้พูดคุยสอบถามเจ้าของโรงแรมว่ามีขาดเหลืออะไรหรือไม่ พร้อมขอบคุณโรงแรมที่เสียสละและให้ความร่วมมือแก้ปัญหา คนไทยต่างซาบซึ้งในน้ำใจที่มีต่อกันในสภาวะเช่นนี้ รวมทั้งได้สอบถามเจ้าหน้าที่ว่าการรับคนเข้ามาเป็นภาระเพิ่มขึ้นหรือไม่ และยอมรับว่ามีบางปัญหาต้องแก้ไขสถานการณ์กันไปเรื่อยๆ รวมถึงสอบถามว่ากังวลหรือไม่ว่าจะมีปัญหาในวันข้างหน้าในการใช้โรงแรมมาเป็นสถานกักกันโรค คงไม่กังวลใช่หรือไม่ ตัวแทนของโรงแรมตอบกลับว่าหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการทำความสะอาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

          ขณะที่ทีมแพทย์ได้รายงานว่า การกักตัวอยู่รวมกันระหว่างผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ทำให้เกิดการติดเชื้อระหว่างกันได้ มีรายหนึ่งขู่ว่าหากติดเชื้อจะฟ้องรัฐบาล และคาดว่าอาจจะรับมือไม่ไหว ดังนั้น จะให้กระจายเป็นห้องละ 1 คน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ นายกฯกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ต้องกังวลรัฐบาลจะดูแลอย่างดีที่สุดไม่มีปัญหาอะไร นอกจากนี้ นายกฯได้ร่วมพูดคุยกับผู้ถูกกักกันในโรงแรมนี้ที่เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา รัฐไอโอวา โดยพูดให้กำลังใจว่ารัฐบาลจะดูแลเป็นอย่างดี วันนี้ได้พบปะพูดคุยกับเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ก็ยอมรับว่าปัจจุบันสหรัฐฯประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยของเราดูแลอย่างเต็มที่และดีที่สุด

          พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก (รองผบ.ทบ.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก พร้อมอ้างถึงข้อสั่งการ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) จะไม่ประกาศห้ามออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจาก เป็นห่วงบุคคล 4 ประเภท คือ 1.คนแก่อยู่ตามลำพัง, 2.คนป่วยติดเตียง, 3.คนพิการ, 4.คนหาเช้ากินค่ำ

ยอดผู้ติดเชื้อ 111 คน เสียชีวิต 3 ราย เป็นต่างชาติทั้งหมด

           นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยพบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมสะสม 30 ราย ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหายสะสม 888 คน อยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) 1,451 คน และพบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มใหม่ 111 คน ใน 66 จังหวัด

           ในจำนวนผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 สะสม 2,369 คน พบในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ จ.นนทบุรี 1,250 คน ภาคกลาง 332 คน ภาคเหนือ 86 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 101 คน ภาคใต้ 409 คน ผู้ป่วยอายุน้อยสุด 1 เดือน อายุมากสุด 86 ปี เฉลี่ยคืออายุ 39 ปี พบผู้ป่วยมากในอายุ 20-29 ปี   

           สำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย เป็นเพศชายชาวรัสเซีย อินเดีย และอเมริกัน เป็นความเชื่อมโยงกับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

          ภาพรวมการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องทำความเข้าใจก่อนและหลังมีหลายคนบอกว่าต้องตรวจจำนวนตัวอย่างให้มากถึงจะได้ผลดี หรือจะมั่นใจได้ว่าคนที่ได้ตรวจไม่พบเชื้อ หรือหากตรวจพบเชื้อจะได้รับการรักษาทันที ส่วนหนึ่งก็ใช่และไม่ใช่ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการวิจัยและวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำข้อมูลจากทั่วโลกและสาธารณสุขมาวิเคราะห์ พบว่า สัดส่วนจำนวนตรวจทางห้องปฏิบัติการโควิด-19 เช่นประเทศอิตาลี จำนวนตรวจต่อประชากรหนึ่งล้านคน 11,429 คน มีประชากร 60.5 ล้านคน ตรวจเจอเชื้อ ร้อยละ 18.65  เกาหลีใต้ จำนวนตรวจต่อประชากรหนึ่งล้านคน 9,099 คน มีประชากร 51.3 ล้านคน ตรวจเจอเชื้อ ร้อยละ 2.19  ส่วนประเทศไทย จำนวนตรวจต่อประชากรหนึ่งล้านคน 1,079 คน มีประชากร 66.6 ล้านคน ตรวจเจอเชื้อ ร้อยละ 2.88 เมื่อเทียบกันแล้วประเทศไทยกับเกาหลีใต้ ไม่แตกต่างกันเลย แม้เราจะตรวจแค่ 70,000 กว่าคน เกาหลีใต้ตรวจไป400,000กว่าคน

           ส่วนที่มีการระบุว่าซ่อนตัวเลข หลอกตัวเลขหรือไม่ หรืออ้างว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ต้องบอกว่าแพทย์ที่ตรวจถ้ารู้ว่าคนไข้เป็นอะไร หากตรวจแล้วพบว่าเป็นโควิด-19 ก็ต้องรีบดำเนินการ ดังนั้น ไม่มีทางปิดหรือซ่อนได้ เพราะเราได้รับนโยบายมาทุกระดับ ไม่เคยมีซ่อน ปิดไม่มิด

เตรียมคัดกรองบุคคลแบบกลุ่ม

           นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงระบบคัดกรองผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทยว่า แบ่ง 2 กลุ่ม คือ

-ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ จะให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบทำการแยกกักในสถานที่รัฐบาลจัดให้ (State Quarantine) ทุกคน มีรองรับถึง 1,883 ห้อง แบ่งเป็นหน่วยงานราชการจัดให้ 136 ห้อง รวมมีผู้เข้าพักแล้ว 358 คน ได้แก่ โรงเรียนการบินกำแพงแสน 36 ห้อง มีผู้เข้ากักกันตัว 75 คน อาคารรับรองที่สัตหีบ 100 ห้อง มีผู้เข้ากักกันตัว 283 คน และในส่วนของภาคเอกชนมี 1,747 ห้อง มีผู้เข้ากักกันตัว 307 คน เหลือห้องรองรับมากกว่า 1,400 ห้อง และผู้กักกันในพื้นที่ หากมีอาการป่วยก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษา

-ระบบเฝ้าระวัง คัดกรองผู้ป่วยในสถานพยาบาลและชุมชน เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวังผู้เดินทางมาในพื้นที่ให้กักกันตนเองที่บ้าน (Home Quarantine) 14 วัน สถานการณ์ดีขึ้นไปตามลำดับ

กทม.ไม่ต้องตรวจปูพรม

          นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่ที่มาจากระบบเฝ้าระวัง 69 คน ในจำนวนนี้มาจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active case finding) เริ่มดำเนินงานใน จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว และมีสถานบันเทิงย่านบางลาที่ อ.ป่าตอง จึงทำให้พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และจะสัมพันธ์กับระยะฟักตัวของโรค แม้ว่าจะมีการปิดสถานบันเทิงซึ่งเป็นเขตอันตราย (Super red zone) แต่มีการติดเชื้อก่อนหน้าสั่งปิด

           นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ในประชาชนเขตกรุงเทพมหานคร ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจแบบปูพรม แต่จะตรวจหาในพื้นที่ที่มีการระบาด เพื่อค้นหา ผู้ป่วยเชิงรุก รวมถึงแผนการที่จะดำเนินต่อไปคือ การวางจุดเฝ้าระวังเป็นโซนเสี่ยง จะตรวจทุกคน แม้ว่าจะเป็นผู้ปกติ ผู้มีความเสี่ยงและ ผู้ป่วยโรคต่างๆ เพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มของคนในพื้นที่นั้นๆ

ไทยอย่าเพิ่งปรนผ่อนมาตรการ

          ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา และอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวถึงกรณีตัวเลขผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 20119 หรือโควิด-19 ที่พบว่าในระยะนี้บางวันลดลง บางวันเพิ่มขึ้นว่า หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงหลัก 100 กว่าๆ ต่อวัน แต่พบว่าช่วง 2-3 วัน ตัวเลขลดลงเฉลี่ยแล้ววันละราวร้อยละ 30-40 แต่วันนี้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 111คน จากการนำเข้ามาจากอินโดนีเซีย หากภาครัฐจัดการแยกคนกลุ่มนี้ดีๆ แนวโน้มขาลงก็อาจจะยังไม่เปลี่ยนมาก

           ขณะนี้ที่น่าเป็นห่วงคือจังหวัดที่มีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 สูง อาจจะทำให้ขีดความสามารถของโรงพยาบาลรองรับไม่ได้ และอาจมีเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากติดเชื้อ หรือถูกจับกักบริเวณ หากเป็นเช่นนั้นเจ้าหน้าที่ที่เหลือจะรับมือผู้ป่วยไม่ไหว การติดเชื้อก็ขยายวง  คาดว่า ถ้าไทยหยุดการแพร่เชื้อได้สนิทเหมือนจีน เพราะพัฒนาการของไทยห่างจากจีนราว 1-2 เดือน และว่า ปลายเดือนเมษายนนี้ รัฐบาลน่าจะผ่อนปรนได้เท่าๆ กับที่จีนผ่อนปรนในเวลานี้ คือ ยังคงห้ามคนเข้าออกนอกประเทศ ไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่จำเป็น ไม่ให้มีกิจกรรมรวมคนขนาดใหญ่มาอยู่ด้วยกัน แต่ยอมให้ค้าขายไปมาหาสู่มากขึ้น ระบบการผลิตเริ่มดำเนินการได้ ยังคงมีเคอร์ฟิวในเวลากลางคืน และทางที่ดีควรจะห้ามจำหน่ายสุรา 24 ชั่วโมง เพื่อควบคุมนักเที่ยวไปชุมนุมกัน

ตม.เจอกลับจากญี่ปุ่นมีไข้6คน

          พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รอง ผบช.สตม. เปิดเผย มาตรการกักตัวผู้โดยสารคนไทย 32 คน เดินทางมาจากประเทศญี่ปุ่น เที่ยวบิน NH 847 ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผู้โดยสารทุกคนผ่านระบบคัดกรองครบถ้วนทุกขั้นตอน พบผู้ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 37.3 ตามเกณฑ์ที่กำหนด 6 คน และได้นำตัวส่งโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้โดยสารที่เหลืออีก 26 คน เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมรถขนส่งเพื่อพาไปยังสถานที่กักตัวต่อไป

ส่งทีมตรวจติดเชื้อถึงบ้าน

          พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.จัดทำเว็บไซต์ BKK covid-19 (http://bkkcovid19.bangkok.go.th) สำหรับการตรวจคัดกรอง เบื้องต้น เพื่อเป็นการประเมินผู้ที่ติดเชื้อ โควิด-19 ต้องแยกรักษา เฝ้าระวัง สังเกตอาการ และผู้ที่ปลอดเชื้อ จัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อศูนย์เอราวัณจะได้ติดต่อผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อรักษาต่อไป

         กทม.จึงร่วมมือกับเพจหมอแล็บแพนด้า ให้บริการตรวจวินิจฉัยกับผู้ที่มีผลการคัดกรองเบื้องต้นเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยส่งหน่วยเคลื่อนที่ออกไปทดสอบการติดเชื้อ (SWAB) ให้ถึงที่บ้าน หรือชุมชนที่ผู้รับการตรวจสะดวก นอกจากนี้ จะขยายพื้นที่ในการทดสอบการติดเชื้อออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครมากที่สุด เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อด้วยการดึงผู้ป่วยออกมาจากชุมชนและส่งเข้าสู่ระบบการรักษา

หน้ากากอนามัยN95  เริ่มเข้าประเทศไทย

          การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) เปิดเผยว่า หน้ากากอนามัยเอ็น 95 (N95) ก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้สั่งซื้อจากบริษัท 3M จำนวน 400,000 ชิ้น ได้รับแล้ว 60,000 ชิ้น ล่าสุดวันที่ 10 เมษายน จะส่งให้ อภ.อีก 200,000 ชิ้น ส่วนภายในวันที่ 15 เมษายน บริษัทสยามโคเค็น จำกัด จะส่งให้ อภ.อีก 100,000 ชิ้น และวันที่ 30 เมษายน อีก 160,000 ชิ้น ขณะเดียวกันวันที่ 27 เมษายน ที่สั่งจากจีนก็จะมาถึงเช่นเดียวกัน 400,000 ชิ้น ดังนั้น ในเดือนเมษายนนี้ ประเทศไทยจะมีหน้ากาก N95 สำรองประมาณ 860,000 ชิ้น

         ตามแผนคาดประมาณการความต้องการที่ไทยต้องหาหน้ากาก N95 มาให้ได้ประมาณ 2,000,000 ชิ้น สำหรับ 3-4 เดือน กรณีของสยามโคเค็น เนื่องจากต้องใช้วัตถุดิบจากประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตประมาณ 600,000 ชิ้น เมื่อผลิตแล้วต้องส่งให้ญี่ปุ่น และแบ่งให้ไทยเพียง 100,000 ชิ้นเท่านั้น แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เจรจาจนได้รับร้อยละ 40 ของการผลิต แต่ล่าสุดยังพยายามต่อรองเพื่อให้ได้ร้อยละ 50 ของการผลิตให้ไทย หากได้มา จะทำให้เรามีสต๊อกหน้ากาก N95 เพิ่มขึ้น

           สำหรับการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยของรัฐบาล ในวันที่ 9 เมษายน จะมีหน้ากาก N95 มาจากสิงคโปร์ 200,000 ชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้บุคลากรทางการแพทย์ ตามโรงพยาบาลต่างๆ มีการลงวันที่ในการส่งให้โรงพยาบาลขอให้รอง ผอ.กอ.รมน.ภท. และสัสดีในพื้นที่ บันทึกภาพถ่ายในการส่งมอบของโรงพยาบาลที่ได้รับเพื่อจะยืนยันว่ามีการใช้จริง

เร่งผลิตชุดPPEใช้เอง

           ส่วนชุดป้องกันส่วนบุคคล หรือพีพีอี (PPE) ประเทศไทย ต้องสั่งจากประเทศเวียดนาม เป็นบริษัทของสหรัฐอเมริกา 350,000 ชุด เมื่อเดือนมีนาคมได้รับแล้วประมาณ 100,000 ชุด ภายในวันที่ 10 เมษายนนี้ จะส่งมาอีก 40,000 ชุด และสิ้นเดือนเมษายนอีก 110,000 ชิ้น เดือนพฤษภาคมจะเข้ามาอีก 100,000 ชุด จากที่สั่งไปทั้งสิ้น 400,000 ชุด

          นอกจากนั้น ยังหารือร่วมกับสมาคมสิ่งทอไทยในการผลิตชุดพีพีอีใช้เอง จะใช้ผ้าโพลีเอสเตอร์ 100% เคลือบเทปลอน ได้รับรายงานว่ามีผ้าในสต๊อกที่สามารถตัดเย็บได้ 40,000 ชุด อยู่ระหว่างตัดชุดต้นแบบเพื่อทดสอบคุณภาพความทนต่อแรงดันน้ำ ตะเข็บเย็บต้องไม่รั่วและทนต่อแรงดันน้ำเช่นกัน และเนื่องจากเป็นผ้า จึงสามารถนำมาฆ่าเชื้อกลับมาใช้ซ้ำได้ อยู่ระหว่างการทดสอบของโรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช และสถาบันบำราศนราดูร เบื้องต้นพบใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง แล้วทดสอบว่ายังสามารถทนต่อแรงดันน้ำได้หรือไม่

เร่งตรวจสอบ คนใกล้ชิดช่างรฟท.ติดเชื้อโควิด-19

          นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึง กรณีมีรายงานเมื่อวันที่ 7 เมษายน พบพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 1 ราย ตำแหน่งช่างซ่อมฝีมือระดับ 6 สังกัดฝ่ายซ่อมส่วนล่าง รถดีเซลรางฯ ปฏิบัติหน้าที่ในโรงงานมักกะสันติดเชื้อ ว่า ส่งรักษาและกักตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯแล้ว ได้ประสานกรมควบคุมโรคและโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร (โรงพยาบาลการรถไฟฯ) ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสอบสวนโรคในพื้นที่ กำลังตรวจสอบคนทำงานใกล้ชิดในรอบ 14 วันกับผู้ป่วย พบว่าพนักงานรายดังกล่าวยังมาทำงานเมื่อวันที่ 3 เมษายน เบื้องต้นสันนิษฐานว่าช่างรถไฟคนดังกล่าวน่าจะติดเชื้อมาจากเพื่อนที่อาศัยบ้านเดียวกัน ตรวจพบเชื้อมาก่อนหน้านี้

          นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. คาดว่าอาจต้องกักตัวเพื่อนร่วมงานของพนักงานรายดังกล่าวราว 20-30 คน ขอเรียกร้องไปยังฝ่ายบริหาร รฟท.ตัดสินใจปิดโรงงานมักกะสันชั่วคราว เพื่อฆ่าเชื้อ กักกันพนักงานอาจเป็น กลุ่มเสี่ยง ปัจจุบันรถไฟหยุดเดินรถเชิงพาณิชย์และรถอื่นๆ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โรงงานมักกะสันไม่มีงานซ่อมใหญ่ เป็นช่วงเวลาเหมาะสม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0