โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความรู้สึกไม่อยากไปทำงานและอาการป่วยในวันจันทร์ไม่ได้เป็นการ "คิดไปเอง"

Thaiware

อัพเดต 09 ธ.ค. 2562 เวลา 06.00 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2562 เวลา 06.00 น. • l3uch
ความรู้สึกไม่อยากไปทำงานและอาการป่วยในวันจันทร์ไม่ได้เป็นการ
วันจันทร์เป็นวันที่หลายคนไม่ชอบ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายว่ามันไม่ได้เป็นแค่ความขี้เกียจนะ

พอตกเย็นวันอาทิตย์ที่อีกไม่นานก็เข้าใกล้วันจันทร์ทีไรก็รู้สึกใจเหี่ยวทุกครั้งไป (โดยเฉพาะวันอาทิตย์หลังจากช่วงหยุดยาว หรือวันจันทร์ที่จำเป็นจะต้องไปทำงานทั้งๆ ที่วันอังคารเป็นวันหยุด) ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเป็นความขี้เกียจส่วนตัวหรือเป็นเพราะวันจันทร์มีพลังงานบางอย่างที่ทำให้รู้สึกไม่สดใสกันแน่ และเหตุผลง่ายๆ ที่คาดว่าทุกคนน่าจะพอเดาได้ก็คงหนีไม่พ้นความรู้สึกว่าช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนของเรากำลังจะหายไป (อีกแล้ว) และความรู้สึกว่าจะต้องกลับไปเผชิญกับกิจวัตรประจำวันอันน่าเบื่อวนซ้ำอีกรอบหนึ่งก็ชวนให้รู้สึกหมองได้ไม่น้อยเลย

โดยเรื่องนี้ก็มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ออกมายืนยันแล้วว่ามันไม่ได้เป็นเพียงแค่ความรู้สึก “ขี้เกียจ” หรือ “ไม่อยากไปทำงาน/เรียน” เท่านั้น เพราะการเกิดความรู้สึกวิตกกังวลและเศร้าซึมในช่วงเย็นวันอาทิตย์เมื่อนึกถึงวันจันทร์ที่จะต้องกลับไปทำงาน (หรือเรียน) นั้นก็ได้มีคำเรียกอาการนี้ว่า “Sunday Night Blue” หรือเย็นวันอาทิตย์อันเศร้าหมอง ที่เรารู้สึกได้ว่าช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนของเรานั้นกำลังจะหายไปและต้องกลับไปเผชิญกับกิจวัตรอันน่าเบื่อวนซ้ำอีกในช่วงอาทิตย์ต่อมา (นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่อง Blue Monday อีกด้วย)

Blue Monday (วันจันทร์อันหมองหม่น)  

นอกจากอาการ “Sunday Night Blue” แล้วยังมีความเชื่อเรื่อง “Blue Monday” หรือวันจันทร์อันหมองหม่น ที่หลายๆ คนเชื่อกันว่าเป็นวันจันทร์ที่อารมณ์เศร้าหมองและขุ่นมัวที่สุดในรอบปี ซึ่งวันที่ได้ชื่อว่าเป็น Blue Monday คือ วันจันทร์ที่ 3 ของเดือนมกราคม ของทุกปี (สำหรับ Blue Monday ของปี 2020 นั้นคือวันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2020) และแน่นอนว่าความเชื่อนี้เป็นเพียงแค่ Pseudoscience ที่ไม่ได้มีการยืนยันทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด

โดยความเชื่อเรื่อง Blue Monday นี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2005 จากการให้สัมภาษณ์ของ Cliff Arnall (ติวเตอร์ของสถาบันการศึกษาตลอดชีวิตในมหาวิทยาลัย Cardiff ที่ “อ้าง” ว่าตนเองเป็นนักจิตวิทยาและไลฟ์โค้ชที่ปรึกษาด้านความสุข) ผ่านทางช่องรายการนำเที่ยวที่มีชื่อว่า Sky Travel (ปิดตัวลงในปี 2010) และได้ให้สัมภาษณ์กับทางหนังสือพิมพ์ The Guardian โดยเขาอ้างว่าใช้สูตรการคิดคำนวณจากสภาพภูมิอากาศของฝั่งซีกโลกเหนือร่วมกับสภาพทางการเงินและสภาพแวดล้อมอื่นๆ โดยรอบร่วมด้วย

สูตรคำนวณ Blue Monday ของ Arnall

(ดูจากตัวแปรต่างๆ ภายในสูตรแล้วก็ไม่รู้สึกว่ามันจะดูน่าเชื่อถือตรงไหน..)

ความรู้สึกไม่อยากไปทำงานและอาการป่วยในวันจันทร์ไม่ได้เป็นการ
ความรู้สึกไม่อยากไปทำงานและอาการป่วยในวันจันทร์ไม่ได้เป็นการ

ภาพจาก : https://www.npo3fm.nl/nieuws/3fm/387016-fijne-blue-monday

แต่ในสหรัฐอเมริกาเรื่อง Blue Monday นั้นอาจไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะวันจันทร์ที่ 3 ในเดือนมกราคมของทุกปีนั้นถือได้ว่าเป็นวันรำลึกถึง Martin Luther King (นักสิทธิมนุษยชนเพื่อคนผิวสี) ที่ดูมีความน่าสนใจมากกว่านั่นเอง

เหตุผลที่เราเกลียดวันจันทร์

1. วงจรการนอนหลับที่เปลี่ยนไป

ส่วนมากแล้วในช่วงวันเสาร์อาทิตย์หลายๆ คนจะใช้เวลาไปกับการให้รางวัลตัวเองด้วยการดูซีรีส์, ดูบอล หรือเล่นเกมจนดึกดื่น และสำหรับบางคนที่นอนดึกในช่วงวันทำงานด้วยเหตุผลส่วนตัวต่างๆ ก็มักจะใช้เวลาในช่วงวันหยุดไปกับการนอนชดเชยหลังจากที่พักผ่อนไม่เพียงพอและจำเป็นจะต้องตื่นเช้ามาเป็นเวลา 5 วันเต็มในการทำงาน ซึ่งการทำพฤติกรรมแบบนี้ซ้ำๆ ทำให้นาฬิกาภายในร่างกาย (Body Clock) เกิดความไม่สมดุล เพราะความจริงแล้วเราควรที่จะเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาเดียวกันในทุกๆ วัน และการเข้านอนไม่เป็นเวลาหรือการนอนดึกเป็นบางวันในช่วงเสาร์อาทิตย์ก็ทำให้ร่างกายของเราต้องรีเซ็ตนาฬิกาภายในร่างกายใหม่ในทุกๆ อาทิตย์ เมื่อเวลาผ่านไปก็ทำให้ร่างกายเกิดความเพลียและอ่อนล้าสะสมจนอาจเป็นสาเหตุให้รู้สึก “ไม่อยากให้ถึงวันจันทร์” เพราะร่างกายยังรู้สึกว่าพักผ่อนไม่เต็มที่ได้

2. อิทธิพลทางสังคม

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนบางส่วนหลีกเลี่ยง “วันจันทร์” อาจเป็นเพราะสังคมในที่ทำงาน/เรียนไม่เอื้ออำนวย ทำให้วันจันทร์เป็นวันที่ต้องกลับไปเผชิญหน้ากับสภาพสังคมที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจหรือทำให้หงุดหงิด และนอกจากนี้แล้วอาการนี้น่าจะเกิดขึ้นกับบุคลากรของโรงพยาบาลหรือหน่วยงานบริการอื่นๆ ที่วันทำการเป็นวันจันทร์ - ศุกร์มากกว่าพนักงานประเภทอื่นๆ ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะนอกจากวันจันทร์จะต้องกลับมาทำงานแล้วยังต้องรับมือกับบรรดาผู้เข้ารับบริการที่คาดเดาไม่ได้อีกต่างหาก

3. การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

จากวันอาทิตย์ที่เป็นวันแห่งการพักผ่อนก็จำเป็นที่จะต้องกลับไปเผชิญหน้ากับวันจันทร์อันโหดร้ายที่มีงาน (หรือการเรียน) รออยู่ก็ทำให้รู้สึกตั้งตัวไม่ติดและ “ไม่พร้อม” ที่จะกลับไปพบเจอกับความเป็นจริงได้ เพราะจากผลการศึกษาของสถาบันการวิจัยทางจิตวิทยาและประสาทวิทยาในประเทศตุรกีที่ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับความวิตกกังวลในช่วงวันจันทร์ก็พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นพนักงานออฟฟิศกว่า 71% ลงความเห็นว่าพวกเขามีความวิตกกังวลสูงเมื่อรับรู้ว่าวันจันทร์กำลังใกล้เข้ามา และรู้สึกว่าประสิทธิภาพของการทำงานในวันจันทร์นั้นต่ำกว่าวันทำงานอื่นๆ ภายในสัปดาห์เดียวกัน

4. ปัญหาส่วนตัว

สำหรับบางคนที่มีปัญหาในการทำงาน, ไม่มีความสุขในการทำงาน หรือไม่ชื่นชอบงานที่ตนเองทำอยู่นั้นก็มีแนวโน้มที่จะ “ไม่ชอบ” วันจันทร์มากกว่าคนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด และหลายคนที่มีปัญหาชีวิตค้างคาอยู่นั้นก็น่าจะรู้สึกไม่อยากที่จะนำเอาความเครียดเรื่องงานเข้ามาเพิ่มทั้งที่ยังจัดการปัญหาส่วนตัวไม่เรียบร้อยทำให้อยากที่จะหลีกเลี่ยงวันจันทร์ที่มีความจำเป็นจำต้องกลับไปทำงาน

อาการป่วยในวันจันทร์ไม่ใช่แค่ “ป่วยการเมือง”

เมื่อถึงเช้าวันจันทร์บางคนอาจเกิดความรู้สึกป่วยขึ้นมาอย่างฉับพลัน ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัว, ปวดท้อง, มึนหัว, แน่นหน้าอก หรือคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง และอาการเหล่านี้ก็ไม่ใช่การ “แกล้งทำเป็นป่วย” หรือ “ป่วยการเมือง” อย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นเพราะสมองและจิตใจของเราทำการแสดงอาการต่อต้านเช้าวันจันทร์อย่างรุนแรงจนทำให้เกิดการแสดงออกทางร่างกายออกมาเป็นอาการ “ป่วย” ในรูปแบบต่างๆ ได้ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วอาการนี้มักเกิดกับบุคคลที่มีความเครียดสูง

นอกจากนี้แล้ว เราเชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นปัญหาของคนอื่นๆ กว่าครึ่งโลก เพราะขนาดวงดังอย่าง Carpenter ยังมีเพลงชื่อ Rainy Day And Monday ที่มีท่อนหนึ่งร้องว่า “Rainy days and Monday always get me down (วันฝนพรำและวันจันทร์มักจะทำให้ฉันเศร้า)” เพราะนอกจากวันจันทร์ที่แสนน่าเบื่อแล้วบรรยากาศตอนฝนตกก็ชวนให้อารมณ์เศร้าหมองลงและรู้สึกไม่ดีขึ้นมาได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่ก็คิดนะว่าไม่ใช่วันจันทร์หรอกที่โหดร้ายกับเราและทำให้เรารู้สึกไม่อยากไปทำงาน เพราะถ้าให้เปลี่ยนวันทำงานวันแรกเป็นวันอื่นๆ อย่างวันอังคารหรือวันศุกร์เราก็คงจะไม่ชื่นชอบวันนั้นขึ้นมาอยู่ดีนั่นละ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0