โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความปกติใหม่ (New Normal) กับผลกระทบต่อจิตใจในวิกฤต - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 29 เม.ย. 2563 เวลา 09.09 น. • หมอเอิ้น พิยะดา

"หมอครับผมปรับตัวกับธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไม่ทัน แล้วยิ่งอ่านเรื่อง New Normal"ความปกติใหม่" ที่มีหลายคนเขียนถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทั้งของพฤติกรรมผู้บริโภคกับ รูปแบบธุรกิจที่จะต้องเปลี่ยน ก็ยิ่งทำให้รู้สึกเครียด ผมจะเริ่มต้นปรับตัวอย่างไรดี" 

ต้องขอบคุณคำถามของผู้มารับคำปรึกษาท่านนี้ที่ทำให้ต้องรีบไปศึกษาเพิ่มเติม  

ตกลงความปกติใหม่ (New Normal) คืออะไร?

วันนี้เราทุกคนอยู่ในช่วงที่ชีวิตต้องมีคำนี้แล้วหรือยัง?

กลายเป็นหัวข้อสำคัญที่หมอขอพูดคุยกับ พี่เก่ง-สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม ปัจจุบันเป็น CEO และเจ้าของบริษัท Creative Agency ที่มีชื่อว่า rgb72 โดยบริษัทนี้เปิดมาตั้งแต่ปี 2000 และทำงานให้กับลูกค้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 300 รายและอีกมากกว่า 2,000 projects และเป็นผู้จัด Creative talk Conference

งานสัมมนาด้านความคิดสร้างสรรค์ทางธุระกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

ที่อยากแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องนี้กับพี่เก่ง เพราะคำว่าปกติใหม่ (New Normal) เป็นคำที่เกิดขึ้นจากภาคธุระกิจ เพื่อใช้ทำนายทายทักความเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของคน. นำไปสู่การวางกลยุทธ์ต่างๆ ให้สอดคลองกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งพี่เก่งในฐานะที่เป็นทั้งเจ้าของธุรกิจ และนักสื่อสารทางการตลาดจะเข้าอกเข้าใจถึงที่มาที่ไป ประโยชน์รวมถึงข้อควรระวังของคำว่า New normal เป็นอย่างดี

พี่เก่งยกตัวอย่างกรณี 9/11 (เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 หรือที่เรารู้จักในชื่อ 9/11เป็นการโจมตีแบบพลีชีพทางอากาศของผู้ก่อการร้ายที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มอัลกออิดะฮ์จำนวน 19 คน)

ช่วงเกิดเหตุการณ์นั้นทำให้คนทั่วโลกเกิดความตกใจและมีการออกมาพูดถึง ความปกติใหม่ (New normal) ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น คนจะออกจากบ้านน้อยลง ทำให้ภาคธุรกิจก็มีแผนในการปรับตัว แต่ถึงเวลาจริงคนออกจากบ้านน้อยลงแค่ในช่วงแรก ผ่านไปประมาณหนึ่งเดือนคนก็ออกมาพบปะกันเช่นเคย เรื่องนี้คือตัวอย่างของการคาดการว่าจะเกิด New normal แต่สุดท้ายไม่เกิด 

ต่างจากมีการคาดการว่าการก่อการร้ายอาจเกิดซ้ำได้ ดังนั้นต้องเพิ่มมาตรฐานการบินที่เข้มงวด จึงเกิดการจำกัดของเหลวที่จะสามารถนำขึ้นเครื่องบิน ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นความปกติมาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น New normal ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้หรือเกิดขึ้นชั่วคราว   

แต่คือแนวคิด มุมมอง และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรของคนส่วนมาก หลังจากวิกฤตินั้นจบไป   

ในทางจิตวิทยาวิกฤตคือโอกาสของการเปลี่ยนแปลง เพราะวิกฤติคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วทำให้บุคคลนั้นมีภาวะรู้สึกว่าตัวเองไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง หรือสูญเสียเป้าหมายสำคัญ และหากยังคงใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม วิธีคิดเดิมก็ไม่ช่วยลดความตึงเครียดกับปัญหาได้  

เช่น สถานการณ์โควิดทำให้ผู้ประกอบการหลายคนไม่สามารถดำเนินกิจการของตัวเองต่อได้ แล้วส่งผลกระทบทุกส่วนของชีวิต และไม่สามารถใช้แนวคิดธุรกิจแบบเดิมในการแก้ปัญหาได้ ต้องเปลี่ยนวิธีการและแนวคิดเท่านั้น

วิกฤติจึงเป็นสัญญานของการเปลี่ยนบางอย่างเพื่อให้หลายอย่างดีขึ้น  

กลับไปที่คำถามของนักธุรกิจหนุ่มที่เครียดเพราะรู้สึกว่าตัวเองปรับเปลี่ยนไม่ทันจะทำอย่างไร

สิ่งที่อยากแนะนำคือ  

1.เอาเวลาที่รู้สึกว่ายังปรับเองไม่ได้มาใช้ในการประเมินตัวเอง 

จุดอ่อนจุดแข็งของเราคืออะไร ? ตอนนี้เรื่องที่เครียดมีอะไรบ้าง?,ปัญหาไหนสำคัญที่สุด?,เราช่วยอะไรตัวเองได้บ้าง? ,มีใครที่จะสามารถช่วยเราได้บ้าง?

2. จัดการความเครียดเบื้องต้น  

แยกแยะระหว่างปัญหาที่เราควบคุมได้กับปัญหาที่เราควบคุมไม่ได้

แล้วกลับมาจัดการเฉพาะที่เราควบคุมได้

3.กำหนดเป้าหมายใหม่ให้สั้น ง่าย เป็นไปได้และยืดหยุ่น

4.ประยุกต์เป้าหมายใหม่เข้ากับสิ่งที่ทำทุกวัน   

เพื่อลดความเครียดจากความคิดด้วยการลงมือทำและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

ตอนนี้เรากำลังอยู่ในความไม่ปกติครั้งใหม่ ยิ่งไม่ปกติการมีสติยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนความปกติใหม่ (New Normal) จะเป็นอย่างไรนั้นล้วนเป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่มีใครยืนยันได้ว่ามันจะเกิดขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นให้ผลจากการทำปัจจุบันให้ดีที่สุดเป็นคำตอบของอนาคตกันดีกว่า

ฝึกสื่อสารกับตัวเองและสื่อสารกับคนอื่นฝึกอย่างไร

--

ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0