โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความน่ารักอย่างจงใจเมื่อภาษาเหนือปะทะภาษาใต้ใน Crash Landing on You

The Momentum

อัพเดต 19 ก.พ. 2563 เวลา 05.45 น. • เผยแพร่ 18 ก.พ. 2563 เวลา 14.26 น. • วีรญา กังวานเจิดสุข

In focus

  • ซีรี่ส์เรื่องนี้ให้ภาพที่ชัดเจนว่าคุณภาพชีวิตของชนชั้นนำในเกาหลีเหนือช่างแตกต่างจากชนชั้นใต้การปกครอง ขณะที่เกาหลีใต้มีเสรีกว่าในการใช้ชีวิต แต่ชีวิตผู้คนก็ยังต้องหมุนไปตามระบบทุนนิยมในกระแสหลักของสังคม 
  • ความเห็นของชาวเกาหลีใต้ที่มีต่อชาวเกาหลีเหนือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก หลายความคิดเห็นมองว่าเกาหลีเหนือเป็นพี่น้องที่พลัดพราก ขณะที่บางส่วนมองว่าเกาหลีเหนือคือศัตรูที่ถูกล้างสมอง หรือกระทั่งค่อนไปทางเหยียด
  • นอกจากชาติพันธุ์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ยังพอยึดโยงสองประเทศเข้าด้วยกันก็คือภาษา ในภาษาเกาหลีเหนือมีคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศน้อยกว่าภาษาเกาหลีใต้อย่างมาก ภาษาที่ใช้ไม่ตรงกันและไม่เข้าใจตรงกันในแวบแรกกลับกลายเป็น ‘ความน่ารัก’ ในซีรี่ส์เรื่องนี้
  • ทั้งที่การนำเสนอภาพต่อเกาหลีเหนือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในเกาหลีใต้ หากแต่ซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้เรื่องนี้ก็ไม่ได้เพิ่มรอยร้าวระหว่างสองประเทศ ซึ่งดูจะเป็นความตั้งใจของทีมผู้สร้างที่จะสร้าง ‘เรื่องรัก’ มากกว่าอย่างอื่น

สำเนียงของฮยอนบินในเรื่อง Crash Landing on Youฟังไม่คุ้นหูเหมือนซีรีส์สัญชาติเกาหลี (ใต้) เรื่องอื่นๆ แน่นอนอยู่แล้ว เพราะเขารับบทเป็นชาวเกาหลีเหนือ

ฮยอนบินรับบทนายทหารหนุ่มชนชั้นอีลีทของสังคมเกาหลีเหนือ นามว่า ‘รีจองฮยอก’ เขาเคยเรียนต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ท่านผู้นำอย่าง ‘คิมจองอึน’ เคยศึกษาต่อในวัยเด็ก ซีรี่ส์เรื่องนี้ให้ภาพที่ชัดเจนว่าคุณภาพชีวิตของชนชั้นนำในเกาหลีเหนือช่างแตกต่างจากชนชั้นใต้การปกครอง ขณะที่เกาหลีใต้มีเสรีกว่าในการใช้ชีวิต แต่ชีวิตผู้คนก็ยังต้องหมุนไปตามระบบทุนนิยมในกระแสหลักของสังคม 

ซน-เยจิน รับบท ‘ยุนเซรี’ ทายาทแชบ็อลแห่งเกาหลีใต้ เธอมีชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย สวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนม กลุ่มนักธุรกิจแชบ็อลคือกลุ่มธุรกิจชาวเกาหลีรายใหญ่ที่ก่อตั้งในยุคฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังสงครามเกาหลี และปัจจุบันกลุ่มธุรกิจนี้ได้เป็นรากฐานสำคัญในระบบธุรกิจแบบทุนนิยมของเกาหลีใต้ ตัวอย่างกลุ่มแชบ็อลที่คุ้นหู เช่น Samsung, LG และ Hyundai เป็นต้น ในภาษาเกาหลีใต้ยังมีคำเรียกคนรวยว่า ลูกชายแชบ็อล หรือ ลูกสาวแชบ็อล อีกด้วย

เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้แยกประเทศอย่างเป็นทางการใน ปี ค.ศ. 1948 โดยประเทศฝั่งเหนือเส้นขนานที่ 38 คือเกาหลีเหนือ และฝั่งใต้เส้นขนานที่ 38 เป็นเขตแดนของเกาหลีใต้ ตลอดระยะเวลา 72 ปี ที่ผ่านมาหลังจากแบ่งแยกประเทศทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ในรูปแบบ love-hate relationship ทั้งรักทั้งชัง ความสัมพันธ์เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายการระหว่างประเทศในยุครัฐบาลนั้นๆว่าสนับสนุนการรวมประเทศหรือสนับสนุนการร่วมมือระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มากน้อยแค่ไหน โดยที่ผ่านมาในยุครัฐบาลเกาหลีใต้ภายใต้การนำของคิมแดจุง (Kim Dae-Jung) ช่วงปี 1998-2003 มีนโยบายที่เรียกว่า ‘นโยบายตะวันฉาย’ (sunshine policy) ที่ส่งเสริมการร่วมมือทางเศรษฐกิจและด้านมนุษยธรรมต่างๆ กับเกาหลีเหนือ แต่การดำเนินนโยบายก็ไม่ได้ลื่นไหลนักเพราะทุกครั้งที่เปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองของเกาหลีใต้ บางรัฐบาลก็มองเกาหลีเหนือเป็นปรปักษ์ 

หากมองลึกลงไป ความเห็นของชาวเกาหลีใต้ที่มีต่อชาวเกาหลีเหนือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก หลายความคิดเห็นมองว่าเกาหลีเหนือเป็นพี่น้องที่พลัดพราก ขณะที่บางส่วนมองว่าเกาหลีเหนือคือศัตรูที่ถูกล้างสมอง หรือกระทั่งค่อนไปทางเหยียด ขณะที่ประชาชนเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องราวของต่างประเทศ​ แต่ชาวเกาหลีใต้เปิดสู่โลกกว้างมากขึ้นทุกขณะทั้งยังเป็นประเทศที่มีอินเตอร์เน็ตเร็วติดอับดับต้นๆ ของโลก 

นอกจากชาติพันธุ์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ยังพอยึดโยงสองประเทศเข้าด้วยกันก็คือภาษา ถึงแม้ว่าเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะมีความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรมในหลากหลายมิติ แต่ทั้งสองพื้นที่ยังคงใช้ภาษาและตัวอักษรเกาหลีเหมือนกัน หากในภาษาเกาหลีเหนือพบว่ามีคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศน้อยกว่าภาษาเกาหลีใต้เป็นอย่างมากนั่นทำให้เมื่อหนุ่มสาวจากเหนือและใต้มาพบกันในซีรี่ส์ ภาษาที่ใช้ไม่ตรงกันและไม่เข้าใจตรงกันในแวบแรกกลับกลายเป็น ‘ความน่ารัก’ ที่เกิดขึ้นระหว่างความแตกต่างทางวัฒนธรรมนี้ และก่อนจะถ่ายทำฮยอนบินได้เข้าคอร์สติวภาษาเกาหลีเหนือกับคุณครูชาวเกาหลีเหนือเพื่อให้การแสดงออกมาสมจริงที่สุดและถ่ายทอดออกมาไม่ให้กลายเป็น ‘ตลก’ หรือ ‘ประดักประเดิด’

ตัวอย่างภาษาที่แตกต่างที่เราเห็นได้จากในซีรี่ส์ก็อย่างเช่น

แท็กซี่ (taxi) ชาว เกาหลีใต้เรียกว่า ‘แทกชี’ แต่ในภาษาเกาหลีเหนือกลับเรียกแท็กซี่ว่า ‘พัลบารีชะ’ ซึ่งมีความหมายว่า รถ (แท็กซี่) ขนาดเล็ก 

ฮาร์ท หรือ ฮาทึ (heart) ตามสำเนียงการออกเสียงในแบบภาษาเกาหลีใต้ ในภาษาเกาหลีเหนือไม่ปรากฏคำภาษาต่างประเทศคำนี้ ชาวเกาหลีเหนือจะใช้คำว่า ‘ชิมจัง’ แปลว่า หัวใจ และไม่พบวัฒนธรรมป๊อบในเรื่องการทำสัญลักษณ์มือเป็นรูปหัวใจขนาดต่างๆ ดังเกาหลีใต้ 

ไดเอท (diet) ชาวเกาหลีใต้เรียกการไดเอทว่า ‘ดาอีออกทึ’ ซึ่งเป็นการออกเสียงตามแบบภาษาอังกฤษ แต่ชาวเกาหลีเหนือพูดว่า ‘ซัลกากี’ โดย ‘ซัล’ แปลว่าเนื้อ และ ‘กากี’ แปลว่า การหักออก ลบออก 

แซนด์วิช ในภาษาเกาหลีเหนือเรียกว่า ‘คยอบ-ปัง​’ โดย ‘คยอบ’ แปลว่าซ้อน ‘ปัง’ แปลว่า ขนมปัง ต่างจากภาษาเกาหลีใต้ที่ทับศัพท์จากภาษาต่างประเทศมาใช้ โดยออกเสียงว่า ‘แซนดือวีชี’

และที่ใครๆ ก็จำมาใช้กันในช่วงนี้อย่างการเรียกชื่อ โดยเติมคำว่า ‘สหาย’ หน้าชื่อ ในภาษาเกาหลีคือ ชื่อตามด้วย ทงมู หรือ ชื่อตามด้วย ทงจี  ยกตัวอย่างเช่น ‘จองฮยอกทงมู’ หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า ‘สหายจองฮยอก’ สะท้อนระบบการเมืองการปกครองของประเทศเกาหลีเหนือว่าเป็นสังคมนิยมเต็มที่ ซึ่งจะไม่ปรากฏคำเรียกแบบนี้ในภาษาเกาหลีใต้ที่มีการปกครองในระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่ข้อนี้กลับกลายเป็นกิมมิกของเรื่องที่ทำให้ภาพด้านลบของสังคมนิยมที่อาจเคยมีในสายตาชาวเกาหลีใต้หรือชาติอื่นๆ ได้ถูกกลืนหายไปแทบจะทันที

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความป๊อปของซีรีส์เรื่องนี้ ก็ยังมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับลักษณะของสังคมและวัฒนธรรมของชาวเกาหลีเหนือว่าที่มันเหมือนกับชีวิตจริงมากน้อยแค่ไหน มีหลายบทความที่สัมภาษณ์ความรู้สึกและความคิดเห็นหลังจากดูซีรีส์เรื่องนี้ของผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือที่อยู่ในเกาหลีใต้ น่าแปลกใจที่มีความเห็นที่แตกต่างกันในบรรดาผู้ลี้ภัย บางคนให้ความเห็นว่า “ภาพที่นำเสนอไม่เหมือนกับในชีวิตของชาวบ้านเกาหลีเหนือเท่าไหร่นัก ละครก็คือละคร ปรุงแต่งให้สนุกสนาน” แต่กลับมีผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือบางคนกลับบอกว่า “ซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีเหนือได้ดี” แต่อาจมีบางฉากที่ไม่ตรงกับความจริง อย่างในฉากที่พระเอกนางเอกนั่งรถไฟไปเปียงยางเพื่อไปถ่ายรูปทำหนังสือเดินทางและรถไฟถึงล่าช้ากว่ากำหนดไป 12 ชั่วโมง เธอบอกว่าไม่เป็นความจริง เพราะความจริงคือ 1 สัปดาห์ต่างหาก นอกจากนี้ยังได้รับคำชมจากผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือว่า “ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเกาหลีเหนือดีมากๆ” 

ทั้งที่การนำเสนอภาพต่อเกาหลีเหนือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในเกาหลีใต้ หากแต่ซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้เรื่องนี้ก็ไม่ได้เพิ่มรอยร้าวระหว่างสองประเทศ ซึ่งดูจะเป็นความตั้งใจของทีมผู้สร้างที่จะสร้าง ‘เรื่องรัก’ มากกว่าอย่างอื่น ทั้งยังเสนอให้เห็นว่าทั้งเหนือและใต้ต่างก็มีด้านมืดและด้านสว่างไม่ต่างกัน ท้ายที่สุดภายใต้ความรักของคนสองคนดูเหมือนว่าชาวเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะได้มองเห็นความเป็นมนุษย์ของกันมากขึ้น แม้มันจะมากับภาพที่สวยงามของหนุ่มสาวชนชั้นอีลีทก็ตาม นี่จึงเป็นอีกครั้งที่เราได้เห็นพลังของซอฟต์พาวเวอร์จากเกาหลีใต้ สมกับเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรมบันเทิงที่น่าจับตา

 

เอกสารอ้างอิง:

https://ko.dict.naver.com/small_search.nhn?kind=keyword&query=발바리차&isDirect=false

https://www.mk.co.kr/star/broadcasting-service/view/2019/12/1003578/

http://www.iconsumer.or.kr/news/articleView.html?idxno=10880

http://www.ipa.re.kr/ipa2008.artyboardv15/mboard.asp?exec=view&strBoardID=UnityKorea_09&intCategory=&strSearchCategory=&strSearchWord=&intPage=&intSeq=19872&SearchYear=2014&SearchMonth=6

https://www.rfa.org/korean/weekly_program/d1b5c77cbb38d654c0b0cc45/uniculture-06122015105619.html

http://www.topstarnews.net/news/articleView.html?idxno=714237

http://www.donga.com/news/article/all/20200116/99260339/5

https://www.yna.co.kr/view/AKR20200120030400888?input=feed_daum

https://www.bbc.com/korean/51519885 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0