โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ความท้าทายครั้งใหม่กับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จัดการโรคระบาดเป็นครั้งแรก

The Momentum

อัพเดต 29 มี.ค. 2563 เวลา 08.50 น. • เผยแพร่ 29 มี.ค. 2563 เวลา 08.50 น. • สราวุธ ทับทอง

In focus

  • ในอดีตมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 2 แบบใน2พื้นที่หลักเพียงเท่านั้น คือ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี2548 จนถึงปัจจุบันรวม15 ปี และในพื้นที่ส่วนกลาง(กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่อื่นที่เกี่ยวเนื่อง) อันเนื่องจากการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ทั้งจากเหตุการณ์ยึดสุวรรณภูมิ ปี2551 ไปจนถึงการชุมนุมของกลุ่มกปปส. ปี2557
  • พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีกระบวนการ ระบบระเบียบเพื่อป้องกัน เฝ้าระวังการระบาดของโรคร้ายตามหน้าที่ของรัฐที่พึงกระทำ โดยอาศัยและขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวผ่านระบบราชการปกติ ในสภาวการณ์ปกติ 
  • อำนาจในส่วนที่พ.ร.ก. ฉุกเฉิน นั้นมี สามารถให้กระทำได้ แต่ พ.ร.บ. โรคติดต่อ ไม่มี นั่นก็คืออำนาจการประกาศเคอร์ฟิว อำนาจสั่งปิดเมือง อำนาจให้บุคคลมารายงานตัว อำนาจในการค้นบ้านโดยไม่ต้องมีหมาย นี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ 
  • พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องไม้เครื่องมือของรัฐที่พรั่งพร้อมไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อภารกิจความมั่นคงแห่งรัฐในนิยามความหมายเดิม  ซึ่งอาจไม่ใช่มโนทัศน์สำหรับการบริหารจัดการภัยร้ายจากโรคระบาดที่กำลังวิกฤตอยู่ในปัจจุบัน

ภายหลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พร้อมข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อบริหารสถานกาณ์โรคระบาดโควิด– 19 เมื่อวันที่25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และมีผลบังคับใช้ในรุ่งเช้าวันถัดมานั้น นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกับสถานการณ์โรคระบาดและถือเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศครอบคลุมพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร

ในอดีต พบว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีมูลเหตุจูงใจมาจาก2ปัจจัยใน2พื้นที่หลักเพียงเท่านั้น ต่างกรรมต่างวาระ คือ

(1) การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งมีการประกาศยิงยาวขยายระยะเวลามาตั้งแต่ปี2548 นับรวมได้จำนวน56 ครั้ง จวบจนถึงปัจจุบัน นั่นหมายความว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้ว15 ปี

(2)การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ส่วนกลาง(กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่อื่นที่เกี่ยวเนื่อง) อันเนื่องจากการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ยึดท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เมื่อปี2551 เหตุการณ์ขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนที่จังหวัดชลบุรี เมื่อปี2552 เหตุการณ์ความรุนแรงใจกลางเมืองหลวงเมื่อช่วงสงกรานต์ ปี2552 และ2553 รวมทั้งการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. เมื่อปี2557 ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ถูกบริหารจัดการผ่านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐทั้งสิ้น สำหรับในพื้นที่ส่วนกลางมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้วรวมทั้งสิ้นจำนวน10 ครั้ง

จากข้อมูลและการศึกษามูลเหตุจูงใจสะท้อนให้เห็นว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐมาโดยตลอด ทั้งสถานการณ์ความไม่สงบในกรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการบริหารจัดการขบวนการเคลื่อนไหว การชุมนุมประท้วงในพื้นที่ส่วนกลาง ความน่าสนใจของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งล่าสุดนี้ก็คือ เป็นการประกาศเพื่อบริหารจัดการกับโรคระบาดไม่ใช่สถานการณ์ความมั่นคงดังเช่นในอดีตที่รัฐคุ้นเคยซึ่งนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจว่า แล้วรับจะสามารถนำประโยชน์จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาใช้กับการจัดการเรื่องโรคระบาดได้หรือไม่

โควิด19ระบาดทำไมต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน?

หลายคนคงสงสัยว่าปัจจุบันรัฐบาลมีอำนาจตามกฎหมายทั่วไปอยู่หลายฉบับในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด– 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายด้านการสาธารณสุข เช่น พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งให้อำนาจฝ่ายปกครอง/ ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งปิดสถานที่ต่างๆ อันสุ่มเสี่ยง ตลอดจนกิจอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องเพื่อป้องกันและหยุดการแพร่ระบาดของโรคร้ายได้

คำถามสำคัญคือ ทำไมรัฐจึงไม่ใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ในการบริหารจัดการกับภาวะวิกฤตของการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่กลับเลือกที่จะใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือเป็นเพราะว่าหากใช้พ.ร.บ. โรคติดต่อ รัฐไม่มีอำนาจเพียงพอ? กฎหมายล้าสมัยไม่สอดคล้องกับการแพร่ระบาดของโรคร้าย? หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในระดับต่างๆ ไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ? หรือการให้พื้นที่แต่ละแห่งใช้ดุลยพินิจแก้ไขสถานการณ์ตามแต่ปัญหาของแต่พื้นที่ตน อาจจะไม่มีเอกภาพเพียงพอ?

แน่นอนว่า ข้อสันนิษฐานข้างต้นอาจเป็นองค์ประกอบหนึ่งในหลายๆ ข้อที่เป็นเหตุผลให้รัฐเลือกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแทน อย่างไรก็ดี เราต้องไม่ลืมว่าท่ามกลางการระบาดของโควิด– 19 ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว และเริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน มีปัจจัยบริบทแวดล้อม/วิกฤตการณ์แทรกซ้อนอื่นๆ ที่ถาโถมซ้ำร้ายสถานการณ์ให้เลวร้ายลง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและอาจขาดตลาดในอนาคตอันใกล้ ไหนจะปัญหาการเดินทางข้ามเขตจังหวัดซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการแพร่กระจายของโควิด– 19 และยังไม่นับรวมถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่กำลังทรุดลงไม่แพ้พิษภัยจากโควิด– 19 ซึ่งปัญหาที่รัฐต้องจัดการนั้นจึงไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องสาธารณสุขเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อสำรวจโครงสร้างอำนาจและกลไกต่างๆ ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พบว่าถูกออกแบบให้รัฐดำเนินภารกิจคู่ขนานกันใน2 ระดับ คือ ระดับจังหวัด(คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานฯ) และระดับประเทศ(คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ/ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานฯ) ซึ่งในระดับจังหวัดหรือพื้นที่ต่างๆ นั้น ให้เจ้าหน้าที่พนักงานควบคุมโรคติดต่อมีหน้าที่ในการสอดส่องดูแล ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ เช่น มีอำนาจให้ผู้ที่มีภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคอันตรายเข้ารับการรักษา ให้เจ้าของบ้าน หรือผู้ครอบครองโรงเรือน สถานที่ ที่มีโรคติดต่อระบาดขึ้นดำเนินการเพื่อจำกัดเชื้อโรค เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากในพื้นที่ใดๆ พบว่ามีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่พนักงานควบคุมโรคต้องแจ้งต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดโดยด่วนและให้รายงานข้อมูลเหล่านั้นให้กรมควบคุมโรคโดยเร็ว นอกจากนี้ สำหรับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดซึ่งรับผิดชอบต่อกิจการทั้งปวงในการป้องกันปราบปรามโรคระบาดในเขตพื้นที่ตนเอง มีอำนาจที่สำคัญ เช่น สั่งปิดสถานที่ สั่งให้ผู้มีเหตุอันสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อหรือโรคระบาดหยุดประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว หรือห้ามเข้าไปในสถานที่ใดๆ เป็นต้น

สำหรับกลไกของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาตินั้น พบว่าจะดูแลในเชิงนโยบายของประเทศ อำนาจหน้าที่ เช่น พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด กำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบ แนวปฏิบัติต่างๆ แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นว่าโครงสร้างอำนาจและกลไกต่างๆ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 นั้น มีกระบวนการ ระบบระเบียบเพื่อป้องกัน เฝ้าระวังการระบาดของโรคร้ายตามหน้าที่ของรัฐที่พึงกระทำ โดยอาศัยและขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวผ่านระบบราชการปกติ ในสภาวการณ์ปกติ 

หากรัฐพิจารณาเห็นว่าหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 นี้ คือประเด็นของ‘อำนาจ’ ในการสั่งการหรือก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ซึ่งอำนาจในส่วนที่พ.ร.ก. ฉุกเฉิน นั้นมี สามารถให้กระทำได้ แต่ พ.ร.บ. โรคติดต่อ ไม่มี นั่นก็คืออำนาจการประกาศเคอร์ฟิว อำนาจสั่งปิดเมือง อำนาจให้บุคคลมารายงานตัว อำนาจในการค้นบ้านโดยไม่ต้องมีหมาย นี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ 

การที่รัฐบาลยกระดับวิกฤตการณ์ให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินโดยจำเป็นต้องบูรณาการอำนาจ โอนถ่ายอำนาจของรัฐมนตรีบางกระทรวงสู่นายกรัฐมนตรี เป็นเพราะว่า ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ขั้นตอน กระบวนการในภาวะปกติจะถูกรวบรัดตัดตอน นายกรัฐมนตรีมีอำนาจตัดสินใจในทางนโยบาย และมาตรการต่างๆ ที่เด็ดขาดและรวดเร็ว ครอบคลุมทุกพื้นที่ อันจะส่งผลต่อความเป็นเอกภาพในการแก้ไขปัญหา และนั่นคงดีกว่าการให้หน่วยงาน/ส่วนราชการต่างคนต่างทำ รวมทั้งแก้ปัญหาอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่มีอยู่อย่างจำกัดก่อนหน้าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

เปิดโครงสร้างอำนาจรัฐภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ในทางทฤษฎีจะพบว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน(State of Emergency) ถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดของรัฐในสถานการณ์อันไม่ปกติ ซึ่งรัฐไม่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายธรรมดาเพื่อระงับ ยับยั้ง ป้องกัน หรือแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที รัฐจึงความจำเป็นต้องมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือการรวมศูนย์อำนาจในบางช่วงเวลา กล่าวอีกนัยหนึ่ง สภาวะความผันผวนทางการเมืองข้างต้นย่อมทำให้เกิดความคลุมเครือไม่ชัดเจนระหว่างตัวบทกฎหมายและวิกฤตทางการเมืองที่ดำรงอยู่ ดังจะเห็นได้จากประกาศการถ่ายโอนอำนาจตามกฎหมายของรัฐมนตรีรวมทั้งสิ้น40 ฉบับมาเป็นของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเพื่อแก้ไขสถานการณ์

เมื่อพิจารณาโครงสร้างอำนาจของรัฐภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอาจจะสรุปใจความหลักได้เป็น3 ประการคือ 

(1) รัฐไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองหรือฝ่ายความมั่นคงจะมีอำนาจเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปกติ

(2) เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว องคาพยพ องค์กรอื่นๆ ในทางการเมืองไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลรัฐได้ เช่น รัฐสภาไม่สามารถระงับยับยั้งการประกาศขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือแม้กระทั่งให้ความเห็นหรือกำหนดมาตรการต่างๆ ของรัฐได้ ซึ่งจะมีความแตกต่างในอารยประเทศที่กำหนดให้รัฐสภามีอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลของรัฐได้ และ

(3) บรรดาความเสียหายใดๆ ที่เกิดจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น จะไม่ถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย หากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต แต่ทั้งนี้ สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ หมายความว่า หากเราได้รับความเสียหายก็สามารถไปฟ้องร้องเสียค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ได้เฉพาะรายเท่านั้น 

โดยภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อำนาจรัฐจะหลุดพ้นไปจากการตรวจสอบถ่วงดุล และคงไม่กล่าวเกินจริงว่า ประเด็นความรับผิดรับชอบจากการใช้อำนาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก และสิ่งที่รัฐควรตระหนักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ จะมีมาตรการในทางการเมืองเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจเหล่านั้นอย่างไร

สถานการณ์ฉุกเฉิน: ธรรมเนียมปฏิบัติฝ่ายความมั่นคงเพื่อรักษาความมั่นคง

เป็นที่ประจักษ์ว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายความมั่นคงฉบับอื่นๆ(กฎอัยการศึก2457 และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร2551) ล้วนแล้วแต่ถูกใช้เพื่อรองรับบริหารจัดการกับสถานการณ์ภัยความมั่นคงของฝ่ายปกครองและทหารมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ภัยสงคราม ในหลายกรณีที่มีการประกาศกฎอัยการศึกอันนำไปสู่การทำรัฐประหารในท้ายที่สุด ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อบริหารจัดการกับการเคลื่อนไหว ชุมนุมประท้วงในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

คงไม่เกินความเป็นจริงไปนัก หากจะกล่าวว่าพ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องไม้เครื่องมือของรัฐที่พรั่งพร้อมไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อภารกิจความมั่นคงแห่งรัฐในนิยามความหมายเดิม(ภัยสงคราม/ การก่อการร้าย ฯลฯ) ซึ่งรัฐมีความถนัดและเจนจัด และแน่นอนว่านี่อาจไม่ใช่มโนทัศน์สำหรับการบริหารจัดการภัยร้ายจากโรคระบาดที่กำลังวิกฤตอยู่ในปัจจุบัน

กลับมามองย้อนพิจารณานับแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่26 มีนาคม2563 นั้น รัฐดำเนินมาตรการใดไปแล้วบ้าง

พบว่ารัฐมีการใช้อำนาจไปแล้วใน3 ลักษณะด้วยกัน คือ

(1) การจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019

(2) การถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมาย40 ฉบับ มาเป็นของนายกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสถานการณ์ โควิด– 19 และ

(3) การแต่งตั้งผู้กำกับปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐเพียงจัดตั้งศูนย์กลางอำนาจใหม่ เพื่อบริหารจัดการภาวะวิกฤตผ่านการโอนถ่ายอำนาจจากภาคส่วนต่างๆ มุ่งตรงสู่นายกรัฐมนตรี ตลอดจน กำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ภาคส่วนต่างๆ ใหม่เพื่อบริหารสถานการณ์เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ เรายังไม่เห็นการประยุกต์ใช้มาตรการใดๆ ตามข้อกำหนดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบริหารสถานการณ์โควิด– 19 อย่างเป็นรูปธรรม  แน่นอนว่านี่เป็นเพียงการเริ่มต้นประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งอาจจะต้องตามดูต่อไป

ดังนั้น หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลในปัจจุบันเพียงเพื่อสถาปนาอำนาจใหม่ในทางการเมืองที่ก่อให้เกิดอำนาจบังคับใดๆ นับหลังจากนี้ แต่ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของมาตรการต่างๆ เรากลับไม่เห็นการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมไม่ว่าจะเป็น ปัญหาหน้ากากอนามัย เจลล้างมือขาดตลาด ปัญหาความพร้อมของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ รวมไปจนถึง ผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น ฯลฯ

ซึ่งสามารถสะท้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นได้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นถูกใช้ในเรื่องความมั่นคงและปัญหาทางการเมืองมาโดยตลอด และใช้จัดการในประเด็นเรื่อง ‘ความมั่นคง’ ของรัฐ ซึ่งโดยส่วนมากเกี่ยวพันกับทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ ความรุนแรง การก่อการร้าย การชุมนุมประท้วง ฯลฯ มาโดยตลอด แต่รัฐยังไม่เคยใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นี้ในการแก้ปัญหาในประเด็นเรื่องๆ หรือส่วนอื่นๆ และนั่นทำให้เห็นว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเพียงเครื่องมือของรัฐในการได้มาซึ่งใช้อำนาจเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา แต่ไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาได้โดยตรง แต่ถึงอย่างนั้น หากนี่เป็นการนำเอาพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้กับปัญหาอื่นที่นอกเหนือจากความมั่นคงของรัฐเป็นครั้งแรก ก็คงจะต้องรอดูเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว เพื่อสรุปบทเรียนว่ารัฐสาารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลจากการพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเรื่องโรคระบาดมากน้อยแค่ไหน อย่างไร

สถานการณ์ฉุกเฉินและโควิด– 19 : ความท้าทายใหม่ของรัฐ 

การเปลี่ยนผ่านจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากกรณีความมั่นคง ภัยการก่อการร้าย การบริหารจัดการการเคลื่อนไหว ชุมนุมประท้วง ไปสู่การจัดการกับภัยโรคระบาด แม้จะเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว และขัดแย้งต่อจารีตปฏิบัติของรัฐที่มีมาแต่เดิม

หากแต่นี่เป็นความท้าทายใหม่ของรัฐในการประยุกต์ใช้ตัวบทกฎหมาย พลิกแพลงบรรดามาตรการ เครื่องไม้เครื่องมือด้านความมั่นคงมาสู่การกู้วิกฤตโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้น 

การบูรณาการอำนาจทางการทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ คงไม่ใช่ปัจจัยหนุนเสริมให้สถานการณ์คลี่คลาย หากแต่หัวใจสำคัญคือการระดมสรรพกำลัง ทรัพยากรบุคคลและองค์ความรู้ด้านการแพทย์เป็นแก่นหลักผ่านการอำนวยการของฝ่ายรัฐและฝ่ายการเมืองเพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ตลอดจนมาตรการทางสังคมที่จะสกัดและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้ ในขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถคงไว้ซึ่งความเชื่อมั่น มั่นคง การโอบอุ้มดูแลประชาชนทุกภาคส่วน ไม่แบ่งแยกกีดกัน คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และของสื่อสารมวลชนว่าจะไม่ถูกล่วงละเมิด เพื่อให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่เป็นดังที่แล้วๆ มา ที่คงไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐ (บาล) เพียงฝ่ายเดียว

เอกสารอ้างอิง

ตำรา/ หนังสือ

(1) Giorgio Agamben. (2005).  State of Exception. (Chicago: The University of Chicago press)

(2) สราวุธ ทับทอง. (2557). รัฐไทยกับการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน: ศึกษากรณีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในช่วง พ.ศ. 2552 – 2553. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะรัฐศาสตร์.

(3) สราวุธ ทับทอง และ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, (2558) ระบบกฎหมายความมั่นคง: ข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิรูปโครงสร้างและองค์กรในการใช้อำนาจตามหลักธรรมาภิบาลภาคความมั่นคง, วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่34 ฉบับที่2 (พฤษภาคม– สิงหาคม2558)

กฎหมาย/ ประกาศ

(1) พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

(2) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

(3) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องถิ่นทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่25 มีนาคม2563

(4) ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่25 มีนาคม2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0