โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

'ความทุกข์บนอากาศ' กับเรื่องปวดร้าวที่แอร์โฮสเตสและสจ๊วตต้องเจอ

The MATTER

อัพเดต 18 ส.ค. 2562 เวลา 07.00 น. • เผยแพร่ 17 ส.ค. 2562 เวลา 11.08 น. • Pulse

หากถามถึงอาชีพในฝันของหนุ่มสาวจบใหม่ หนึ่งในอาชีพที่ผุดขึ้นมาในใจ ก็คงจะมี ‘แอร์โฮสเตส’ หรือ ‘สจ๊วต’ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ใครหลายคนต่างก็มองว่าชีวิตดี๊ดีรวมอยู่ด้วย

ดูเหมือนจะเป็นอาชีพที่น่าอิจฉาในสายตาคนทั่วไป ได้บินข้ามน้ำข้ามทะเลเหนือพื้นดินหลายร้อยฟุตไปท่องเที่ยวยังประเทศต่างๆ พบปะผู้คนมากหน้าหลายตา สัมผัสวัฒนธรรมแปลกใหม่ ไหนจะรายได้ที่สูงลิ่ว แถมยังมีสวัสดิการดีๆ เยอะแยะเต็มไปหมด จึงไม่แปลกใจที่อาชีพแอร์โฮสเตสและสจ๊วตจะอยู่ในลิสต์ ‘อาชีพในฝัน’ ของเด็กจบใหม่หลายคน

Attention please! แต่เบื้องหลังของหนุ่มสาวสวยหล่อในชุดยูนิฟอร์มสุดเก๋ เดินลากกระเป๋าไปมาในสนามบินด้วยท่าทางหน้าเชิด หลังตรง ชวนให้เหลียวมอง ใครจะรู้ว่าพวกเขาต้องแลกกับอะไรและพบเจอความยากลำบากอย่างไรบ้าง

*“ปัญหาสุขภาพคือสิ่งเดียวที่ทำให้อยากเปลี่ยนอาชีพ *

เพราะเราเอาสุขภาพเข้าแลกกับการทำงาน”

ตลอดระยะเวลาการเดินทางบนเครื่องบิน นับตั้งแต่ผู้โดยสารขึ้นเครื่องจนแลนดิ้งถึงที่หมายปลายทาง หน้าที่ในการต้อนรับ ลากรถเข็น จัดเตรียมของ เสิร์ฟน้ำ เสิร์ฟอาหาร เก็บขยะ ล้วนแล้วแต่เป็นของพวกเขาเหล่าแอร์โฮสเตสและสจ๊วต ที่ต้องมีการใช้ร่างกายและแรงงานอยู่ตลอดเวลา

“ตาอักเสบเอย หูบล็อกเอย ข้อมืออักเสบเอย มาหมด”

อาจไม่มีใครสังเกตว่าภายใต้บุคลิกที่ดูดีพวกเขาได้ซุกซ่อนความเจ็บปวดอะไรเอาไว้บ้าง การทิ้งน้ำหนักขาไม่เท่ากันบนเครื่องบินที่ไม่นิ่ง ยกถาดอาหารด้วยมือข้างเดียว ลากรถเข็นหนักในช่องแคบ โน้มตัวเพื่อพูดคุยกับผู้โดยสาร ยื่นสุดแขนเพื่อเสิร์ฟอาหารให้ผู้โดยสารด้านใน หรือนอนในพื้นที่ที่มีจำกัด เหล่านี้ได้ส่งผลให้พวกเขามีอาการปวดหรือเมื่อยล้าตามร่างกายทั้งนั้น ไม่ว่าจะตรงแขน ขา ข้อเข่า ข้อมือ ไหล่ หลัง คอ หมอนรองกระดูก จนถึงกระดูกสันหลัง บางคนก็ถึงกับต้องเทียวไปพบแพทย์เป็นว่าเล่น ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้นานหรือสะสมมากๆ ก็อาจกลายเป็นอาการอักเสบเรื้อรังได้

Cabin crew member is massaging her tired leg after long flight
Cabin crew member is massaging her tired leg after long flight

“ตอนเตรียมตัวสัมภาษณ์ว่ายากแล้ว ตอนเทรนยากกว่าเยอะ ต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อที่จะมาเรียนตอน 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น กลับมาอ่านหนังสือต่อถึง 4 ทุ่ม แถมหนังสือยังเป็นภาษาอังกฤษล้วน สอบแทบทุกวันที่เรียนจบ ทั้งปากเปล่า ทั้งข้อเขียน บางอาทิตย์เทรน 6 วัน ได้พักแค่ 1 วัน ตอนเทรนแทบอยากลาออก แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้” คำบอกเล่าจากสจ๊วตของสายการบินหนึ่งทำให้เห็นว่าความยากลำบากของพวกเขาไม่ได้มีแค่ที่เราเห็นกันบนเครื่องบิน แต่กว่าจะมาเป็นทุกวันนี้ พวกเขาต้องผ่านการฝึกฝนมาไม่ใช่น้อยๆ ทั้งในเรื่องของการสอบวัดระดับความรู้ วัดระดับภาษา การสอบภาคปฏิบัติอย่างการบริการ ความปลอดภัย การปฐมพยาบาล และอื่นๆ อีกมากมาย อาจเรียกได้ว่าพวกเขาได้ผ่านความเหนื่อยมาเพื่อเจอกับความเหนื่อยที่มากกว่าเดิม

*“ถ้าให้เราพูดรวมๆ เกี่ยวกับอาชีพแอร์โฮสเตส *

เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่อาชีพของมนุษย์แล้ว”

การพักผ่อนน้อยเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับอาชีพที่การทำงานขึ้นอยู่กับเวลาที่ไม่แน่นอน เวลาเข้างานมีการสับเปลี่ยนจนแทบไม่เหมือนกันสักวัน ไหนจะไทม์โซนเจ้าปัญหาที่ทำให้เกิดอาการเจ็ตแล็กแทบไม่รู้วันรู้คืน รู้ตัวอีกทีก็ต้องบินไฟล์ทต่อไปแล้ว การพักผ่อนน้อยหรืออยู่บนที่สูงนานๆ นี้ส่งผลให้ออกซิเจนในร่างกายลดลง ซึ่งในระยะยาวอาจเกิดความอันตรายและกระทบกับชีวิตประจำวัน ยังไม่รวมไปถึงการกินนอนที่ไม่เป็นเวลา ทำให้ระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่ายผิดปกติ เกิดการอาเจียน ท้องผูก ท้องเฟ้อ และอาหารไม่ย่อย จึงไม่แปลกที่ปัญหานี้จะเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนทำงานอาชีพนี้อยากลาออกมากที่สุด

“เวลาบินข้ามคืนส่วนมากจะให้ผลัดกัน rest บางคนได้ยินมาว่าบนเครื่องบินจะมีห้องนอนของแอร์โฮสเตส ใช่ แต่ไม่ได้มีทุกเครื่อง เครื่องที่บินไฟลท์สั้นมักจะไม่มีเวลา rest เลย ต้องไปนั่งกันในห้องครัวโดยยกคอนเทนเนอร์ <กล่องเหล็กคล้ายๆ ปี๊บใส่ของในครัว> ลงมานั่ง เอาหลังพิงพนังห้องครัวนอน คือองศาการนอนไม่ได้เลย ที่นั่งก็ไม่เรียบ แถมจะมีเสียง call bell ของผู้โดยสารตลอดเวลา” แอร์โฮสเตสสาวอีกสายการบินหนึ่งกล่าว

Air hostess with suitcase going between seat rows in airport. Stewardess with baggage, flight attendant with hand luggage, aviatransportations job
Air hostess with suitcase going between seat rows in airport. Stewardess with baggage, flight attendant with hand luggage, aviatransportations job

ว่ากันว่าที่อาชีพแอร์โฮสเตสหรือสจ๊วตเป็นอาชีพที่น่าอิจฉา เป็นเพราะพวกเขาได้ทำงานไปพร้อมๆ กับการท่องเที่ยวรอบโลก กลับมาพร้อมกับภาพถ่ายสวยๆ และของฝากเต็มกระเป๋า ซึ่งหากไม่ใช่พวกเขาก็คงไม่รู้ว่าการออกไปเที่ยวสนุกแบบนั้นต้องแลกมาด้วยช่วงเวลาการพักผ่อนที่มีอยู่อย่างจำกัด

“คนนอกมองว่าอาชีพแอร์โฮสเตสมันดูสวยหรูมากนะ วันนี้อยู่ประเทศหนึ่ง วันพรุ่งนี้อยู่อีกประเทศหนึ่ง แต่เบื้องหลังการเที่ยวที่สวยงามต่างๆ มันทรหดมาก ถ้าอยากเที่ยวให้คุ้ม บางทีหลังจากแลนดิ้งปุ๊บ ก็ต้องเที่ยวเลย มันก็จะเป็นการเที่ยวแบบผีๆ ง่วงๆ คนไม่ได้นอนแต่ต้องออกไปเที่ยว ส่วนเรื่องหนักใจที่สุดสำหรับการไปเที่ยวคนเดียวคือบางทีเราก็ไม่ได้รูปสักใบเลยนะ มัวแต่เกรงใจคนอื่นที่จะมาถ่ายให้”

อาชีพที่ต้องใช้ใจบริการ (service mind) สูงอย่างแอร์โฮสเตสและสจ๊วตไม่ได้มีเพียงความสวย หล่อ สูง บุคลิกดี หรือแม่นภาษาเท่านั้น แต่ความนอบน้อม ความอดทน ความใจเย็น และรอยยิ้มถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย เพราะพวกเขาถูกฝึกให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าอยู่ตลอดเวลา และบางครั้งสถานการณ์ดังกล่าวก็อาจมาในรูปแบบของผู้โดยสาร

*“คัลเจอร์ของผู้โดยสารแต่ละประเทศก็จะไม่เหมือนกัน *

ความเรื่องมากเอยอะไรเอย เราก็แค่ต้องบริการให้เต็มที่”

การต้องพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา แน่นอนว่าย่อมมีนิสัยแตกต่างกัน ไหนจะต่างสัญชาติ ต่างวัฒนธรรม ความพึงพอใจของแต่ละคนก็ย่อมมีไม่เท่ากันด้วย ดังนั้นแอร์โฮสเตสและสจ๊วตจึงต้องรับมือกับภาวะอารมณ์ของผู้โดยสารแทบจะตลอดเวลา ยิ้มรับกับความจุกจิกวีนเหวี่ยงของผู้โดยสารบางกลุ่ม แม้ว่าจะรู้สึกเหนื่อยใจแค่ไหนก็ตาม

*“บริษัทแทบจะไม่ปกป้องลูกเรือเลย ให้ผู้โดยสารถูกตลอด *

ฉะนั้นลูกเรือต้องปกป้องตัวเอง”

สุขภาพกายว่าสำคัญแล้ว สุขภาพใจก็สำคัญไม่แพ้กัน ชีวิตที่ต้องทำงานห่างไกลจากบ้าน ครอบครัว เพื่อน หรือแฟน อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกเศร้า เหงา และเกิดอาการโฮมซิก แม้จะได้พบเจอเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่นั่นก็เป็นเพียงการพบเจอระยะสั้น ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปอย่างรวดเร็ว และน้อยครั้งที่จะได้เพื่อนร่วมสายการบินเดียวกัน

Portrait of a flight attendant boarding a shuttle train at the airport to move between terminals
Portrait of a flight attendant boarding a shuttle train at the airport to move between terminals

“ถ้าอยู่เบสต่างประเทศก็เศร้านะ คิดถึงบ้าน”

อาชีพนี้อาจไม่เหมาะกับคนที่ติดบ้าน ติดแฟน หรือติดเพื่อน เพราะการที่ต้องบินบ่อยๆ แบบไม่มีเวลาได้หยุดพัก ทำให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรู้จักน้อยลง เมื่อถึงวันหยุดที่ได้กลับไปเจอหน้าคนที่บ้าน หลายคนก็อาจจะอยากใช้เวลานั้นในการพักผ่อนเสียส่วนใหญ่ ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรกับครอบครัวมากนัก ถึงแม้จะเป็นอาชีพที่ผลตอบแทนค่อนข้างสูง แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง สิ่งที่ชีวิตพวกเขาต้องการก็อาจไม่ใช่เงินอีกต่อไป แต่เป็นช่วงเวลาที่ได้ใช้กับครอบครัวหรือคนรักแทน เราเลยจะเห็นแอร์โฮสเตสหรือสจ๊วตหลายคนลาออกด้วยเหตุผลที่ว่า 'อยากออกมาอยู่กับครอบครัว' นั่นเอง

"แอร์โฮสเตสเป็นอาชีพที่เด็กจบใหม่สามารถทำแทนได้"

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าแอร์โฮสเตสหรือสจ๊วตเป็นอาชีพที่มีอุปทานสูง ด้วยภาพลักษณ์การทำงานที่ดูดี บวกกับผลตอบแทนที่คุ้มค่า ใครๆ จึงอยากที่จะทำอาชีพนี้ และด้วยความที่ไม่ว่าเรียนจบสายไหน หลักสูตรไหนก็สามารถสมัครได้ ขอเพียงแค่เข้าเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด ทุกสายการบินจึงอัตราการสมัครเข้ามาของพนักงานใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งก็ทำให้คนในรู้สึกว่าอาจถูกแทนที่ได้ตลอดเวลา

“อาชีพนี้เป็นอาชีพที่คนส่วนใหญ่สนใจและอยากเป็น ทำให้มีการแข่งขันสูง และบริษัทก็อยากได้เด็กจบใหม่ไฟแรงมาทำงานอยู่ตลอด การต่อสัญญาเลยแทบจะเป็นไปได้ยากมากๆ ซึ่งพอเขาไม่ต่อสัญญาเราก็ต้องออกไปสมัครบริษัทใหม่ แต่สายการบินส่วนใหญ่ก็รับพนักงานที่อายุไม่เกิน 30 ปี ซึ่งถ้าคุณไม่ได้ต่อสัญญาหลังจากนั้น คุณก็แทบจะไม่มีงานอื่นให้ทำเลย เพราะประสบการณ์ทำงานในอาชีพนี้แทบจะเอาไปใช้ประโยชน์กับสายงานอื่นไม่ได้”

การต่อสัญญาอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะจะต้องมีการสอบและประเมินเพื่อดูว่าใครสมควรที่จะได้ทำงานต่อ ซึ่งถ้าหากพวกเขาพลาดโอกาสที่จะต่อสัญญาในขณะที่อายุเริ่มมากแล้ว ก็นับว่าเป็นความเคว้งอย่างหนึ่ง เพราะเท่ากับว่าจะต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่กับงานอื่นหรือบริษัทอื่น แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะสมัยนี้เต็มไปด้วยเด็กใหม่ไฟแรงที่พร้อมจะเข้าทำงานอยู่ตลอดเวลา

"เล่ามาดูมีแต่ความลำบาก แต่พอวันนึงที่เริ่มปรับตัวได้ มันก็รู้สึกดีนะ ไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่เราขอยืนยันว่ามันไม่ใช่อาชีพสำหรับมนุษย์ (หัวเราะ)"

สุดท้ายแล้วก็อาจไม่มีอาชีพไหนสวยหรูเพอร์เฟกต์ไปซะทั้งหมด ทุกอาชีพต่างก็ต้องแลกมาด้วยความเหนื่อย ความพยายาม และความอดทน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเสาะหาความสุขหรือความสนุกจากการทำงาน แล้วมองข้ามความลำบากไปได้หรือเปล่า

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครหลายคนอาจจะรีเซ็ตภาพจำเกี่ยวกับอาชีพแอร์โฮสเตสและสจ๊วตในหัวไปแล้ว แต่ปัญหาหรือสถานการณ์ดังกล่าวไม่ใช่สิ่งตายตัวที่ทุกคนจะพบเจอเหมือนๆ กันหมด ฉะนั้นใครที่วางแผนจะสมัครงานในสายอาชีพนี้ ถ้าแน่ใจว่าพร้อมจะแลกเงื่อนไขต่างๆ เพื่ออาชีพในฝันของตัวเองแล้วล่ะก็ อย่ารอช้า มุ่งหน้าลุยเลย

Illustration by Kodchakorn Thammachart

Proofreading by Tangpanitan Manjaiwong

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0