โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความงามตามอุดมคติของผู้หญิง ที่มากับอันตราย, บาดเจ็บ และถึงตาย

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 16 ต.ค. 2566 เวลา 09.03 น. • เผยแพร่ 03 มิ.ย. 2564 เวลา 05.14 น.
(ซ้าย) The Corset หรือเสื้อยกทรงรัดรูป (ภาพจาก www.wikipedia.org) (ขวา) ผลกระทบจากสวมใส่ที่ทำให้กระดูกผิดรูป, กล้ามเนื้อและอวัยวะถูกบีบรัด จนทำให้บาดเจ็บ และบางรายถึงเสียชีวิต (ภาพจากhttps://commons.wikimedia.org)
(ซ้าย) The Corset หรือเสื้อยกทรงรัดรูป (ภาพจาก www.wikipedia.org) (ขวา) ผลกระทบจากสวมใส่ที่ทำให้กระดูกผิดรูป, กล้ามเนื้อและอวัยวะถูกบีบรัด จนทำให้บาดเจ็บ และบางรายถึงเสียชีวิต (ภาพจากhttps://commons.wikimedia.org)

มนุษย์วัยเจริญพันธุ์ล้วนต้องการมีเรือนร่างหรือเครื่องประดับดึงดูด ขณะสัตว์ตัวเมียโดยมากเพียงแต่สร้างฟีโรโมน (Pheromone) ดึงดูดให้เพศตรงข้ามเข้าหา ทำนองเดียวกับค่านิยมของมนุษย์เพศหญิงในปัจจุบันบางกลุ่มที่ทดแทนฟีโรโมนโดยการนุ่งน้อยห่มน้อย เขียนคิ้วทาปาก ส่วนเพศชายจำนวนไม่น้อยเน้นสร้างกล้ามเนื้อให้ล่ำสัน ในรายที่มีต้นทุนก็อาจใช้เครื่องแต่งกายดูดีมีราคา รถยนต์หรู ก็สามารถทดแทนฟีโรโมนดึงดูดได้ดีไม่แพ้กัน

ความงามตามอุดมคติของมนุษย์แต่ละกลุ่มชนแตกต่างกัน และมักเป็นข้อตกลงกลายๆ ภายในกลุ่ม ซึ่งคนต่างกลุ่มอาจมองเห็นเป็นอื่นได้

ในที่นี้จะกล่าวถึงความงามตามอุดมคติของผู้หญิงซึ่งต้องใช้ศิลปะและชั้นเชิง (approach) อันซับซ้อนมากกว่าผู้ชายในการเป็นผู้ถูกเลือก ความงามตามอุดมคติของผู้หญิงในแต่ละกลุ่มชนย่อมต่างกัน บางกลุ่มต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดทรมานเพื่อให้ความงามต้องตาบุรุษ แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นความงามอย่างที่บุรุษเรียกร้องต้องการ หรือเป็นจินตนาการของสตรีที่เชื่อว่าบุรุษจะเห็นว่าแบบที่ตนนำเสนอนั้นงาม

ข้อนี้อาจถูกตั้งข้อสังเกตจากชาวสตรีนิยม (Feminism) ได้ว่าเป็นการใช้เรือนร่างในฐานะวัตถุทางเพศ ขณะที่กลุ่มรื้อสร้าง (deconstruction) อาจแย้งได้เช่นกันว่า เป็นการใช้อำนาจโดยอ้อมของสตรีในการควบคุมบุรุษ

เช่นนั้นแล้วลองพิจารณาไปด้วยกันว่า ความงามตามอุดมคติที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้หญิงกลุ่มชนต่างๆ มีการใช้เรือนร่างของตนในฐานะวัตถุทางเพศ หรือใช้มันในฐานะอำนาจโดยอ้อมของสตรีในการควบคุมบุรุษอย่างไรกันบ้าง

ผู้หญิงจีน ในอดีตเมื่อราวศตวรรษที่ 8 ผู้หญิงจีนนิยมผูกเท้าตัวเองให้ผิดรูป ฝรั่งถึงกับมองเป็นของประหลาด เรียกขานด้วยศัพท์เฉพาะว่า “ฟุตไบน์ดิ้ง (Foot Binding) ที่หมายถึงการมัดเท้า เป็นการพันเท้าผู้หญิงให้เป็นรูปดอกบัว นิยมว่ายิ่งเล็กยิ่งดี ดูจุ๋มจิ๋มน่ารัก แสดงถึงความเป็นผู้ดี ต้องตาชายหนุ่ม หากปล่อยให้เท้าโตจะหาสามียาก เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นความงามตามอุดมคติของผู้หญิงจีนทุกระดับชนชั้น เพราะผู้หญิงจีนชนชั้นล่างที่วันทั้งวันอยู่ขลุกอยู่แต่ในไร่นาหรือหน้าเตาไฟจะทำงานที่ครอบครัวหรือแม่สามีมอบหมายได้สะดวกด้วยเท้าที่เล็กจิ๋วอย่างนั้นได้อย่างไร

ผู้หญิงเมี่ยน (เย้า) ในอดีตเมื่อไม่นานมานี้เอง ผู้หญิงเมี่ยนจะ “ถอนขนคิ้ว” ออกเหลือเพียงบางๆ หรือหมดเกลี้ยง แม้ว่าขนคิ้วจะมีประโยชน์ในการป้องกันเหงื่อจากหน้าผากไม่ให้ไหลเข้าตา แต่เพื่อความงามตามแบบอุดมคติของผู้หญิงเมี่ยน พวกเธอยินดีที่จะถอนมันออกมากกว่าจะคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่ร่างกายมนุษย์สร้างให้ แต่จะว่าไปก็ไม่ได้ต่างจากผู้หญิงจำนวนมากในปัจจุบันที่ถอนคิ้วออกแล้วเลือกที่จะเขียนด้วยสีหรือสักถาวรด้วยหมึกเป็นคิ้ว 3-4 มิติ

ผู้หญิงกะยัน หรือกะเหรี่ยงคอยาว (ปาดอง) ในปัจจุบันยังคงนิยม “ใส่ห่วงทองเหลืองที่คอ” ว่ากันว่า ผู้หญิงที่มีห่วงพันคอมากรอบเท่าใดก็ยิ่งเป็นที่หมายปองของผู้ชายมากเท่านั้น แม้ในทางการแพทย์จะยืนยันว่า คอของพวกเธอไม่ได้ยาวขึ้น เป็นเพราะห่วงนั่นแหละที่กดให้ไหล่ลู่ต่ำลง แถมยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่พวกเธอจำนวนไม่น้อยยังยินดีที่จะใส่มันอยู่ทุกวันนี้ ประการสำคัญภาครัฐในแต่ละประเทศที่มีชนเผ่านี้อาศัยอยู่กลับเห็นดีเห็นงาม สนับสนุนพวกเธอในฐานะวัตถุของการท่องเที่ยว

ผู้หญิงมอญ ในอดีตนั้นเด็กผู้หญิงมอญเกิดมาได้ไม่นาน ก่อนหัวกะโหลกจะเริ่มแข็งก็ต้องเจ็บตัวกันแล้ว เจ็บตัวครั้งแรกเพื่อความงาม แม่ของเด็กจะเอาข้าวสารใส่ถุงผ้าหนักพอประมาณ วางทับตรงหน้าผาก คลึงย้ำทุกวันๆ เพื่อให้หน้าผากแบน แป้น เพื่อเวลาเกล้าผมมวยจะได้งามแบบมอญ ต่อมาเมื่อเด็กผู้หญิงอายุได้สัก 3-4 ขวบก็ต้องเจ็บตัวอีกครั้ง ด้วยการเจาะหู สำหรับใส่ต่างหู หลังโกนจุกก็ไว้ผมยาว ผูกมัดรวบง่ายๆ ต่อเมื่อเริ่มสาว ในการออกงานแต่ละครั้งต้องใช้เวลากันไรผมนานพอดู

ผู้หญิงยุโรปสมัยกลาง ในยุคเรอเนอซองซ์ มองว่าผู้หญิงที่งามนั้นต้องอวบอั๋น เรือนร่างอุดมสมบูรณ์พร้อมที่จะมีลูกเหมือนวีนัส ออฟ วิเลนดอร์ฟ (Venus of Villendorf) ว่าให้ชัดก็คือ อย่างน้อยต้องมีน้ำมีนวลเหมือนนางเอกเรื่อง ไททานิค และความงามตามอุดมคติของผู้หญิงยุโรปสมัยกลางที่อาจทำให้เจ้าของเรือนร่างถึงแก่ชีวิตได้มีหลายประการ เป็นต้นว่า

ฟุตไบน์ดิ้ง (Foot Binding) ผู้หญิงยุโรปสมัยกลาง โดยเฉพาะฝรั่งเศสก็ไม่ได้ต่างจากผู้หญิงจีนโบราณ ที่มีการมัดเท้า ทั้งที่ชาติยุโรปเมื่อไม่นานมานี้เองที่เป็นผู้ป่าวร้องว่า มันคือวัฒนธรรมแห่งการกดขี่ผู้หญิงในสังคมคนจีน

ครีโนลาย (Crinoline) กระโปรงทรงสุ่ม โครงด้านในทำจากขนม้า ป่าน หรือเหล็ก การสวมกระโปรงอย่างนี้ก็เหมือนกับกางร่มเดินต้านลม เมื่อถูกลมพัดแรงๆ บางคนพลัดตกจากที่สูงเสียชีวิต บางรายถูกลมพัดแรงจนโครงเหล็กรัดตัวจนกระดูกหัก บางรายกระโปรงเกี่ยวเข้ากับรถม้าลากตัวถูลู่ถูกังไปตามท้องถนน ที่เลวร้ายที่สุดคือกระโปรงนี้ติดไฟง่าย เคยเกิดเรื่องเศร้าในเมืองซานติเอโก้ ประเทศซิลี เมื่อปี 1863 เมื่อเกิดไฟไหม้โบสถ์ ขณะที่ผู้คนต่างพยายามหนีตายวิ่งออกจากประตู แต่ด้วยความกว้างและถอดออกยากทำให้ผู้สวมใส่กระโปรงชนิดนี้ รวมทั้งผู้ชายที่ไม่ได้สวมกระโปรงแต่วิ่งตามหลังมาไม่สามารถออกจากประตูได้ ถูกไฟคลอกเสียชีวิตไปกว่า 2,000คน

เดอะ คอร์ซิท (The Corset) เสื้อยกทรงรัดรูปหรือชุดชั้นในผู้หญิง เป็นที่ (ถูกบังคับให้) นิยมในช่วงศตวรรษที่ 19 ด้วยมีจารีตที่กำหนดให้ผู้หญิง “ดี” โดยเฉพาะผู้หญิงชั้นสูงในสังคมฝรั่งเศสเมื่อศตวรรษที่ 19 ต้องสวมเพื่อให้สะโพกและหน้าอกเข้ารูป อกตั้ง เอวคอดกิ่วตามความนิยม ไม่เช่นนั้นจะถือว่าหญิงผู้นั้นสกปรก ต่ำต้อย ไร้มารยาท ขาดศีลธรรม ซึ่งการใส่คอร์ซิทต้องรัดแน่นขนาดทำให้ผู้สวมใส่ปวดชา กระดูกผิดรูป อวัยวะเครื่องในจะถูกเคลื่อนย้ายลงมาถึงก้น ทั้งเป็นสาเหตุให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายผิดปกติ ในปี 1903 มีผู้หญิงที่เสียชีวิตทันทีจากการสวมเสื้อชนิดนี้ที่ทำจากเหล็กซึ่งกระแทกหัวใจ ก่อนที่จะถูกดัดแปลงให้เหมาะสมมาเป็นชุดชั้นอย่างในยุคปัจจุบัน

ผมทรงฟองตางเก (The Fontange) ลักษณะเป็นการเกล้าสูงกลางศีรษะ มัดโบเล็กๆ หลายอันด้านหน้า จากนั้นประกบด้วยลูกไม้จีบและมัดมวยผมเป็นแผง 3-4 ชั้น วนไล่ขึ้นไปเป็นยอด ด้านหลังกับด้านข้างทิ้งปอยหยิกห้อยและผูกโบว์ยาว ยิ่งสูงยิ่งดี แสดงถึงเป็นผู้มีฐานะ ผมทรงนี้นิยมในฝรั่งเศสเมื่อราวศตวรรษที่ 17-18 ก็เพราะบนศีรษะเต็มไปด้วยโบว์และลูกไม้ที่เป็นเชื้อไฟอย่างดีนี่เองทำให้เกิดเหตุถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะในงานราตรีที่มีโคมไฟเชิงเทียนระยิบระยับ จึงมีโอกาสติดไฟได้ง่ายแต่ดับได้ยาก ในรายที่ถูกเล่าขานกันไม่รู้จบรู้สิ้นคือ Angelique de Fontanges ชู้รักคนโปรดของกษัตริย์อังกฤษพระองค์หนึ่งที่ต้องเสียชีวิตด้วยกรณีดังกล่าวมา

ลีด เมคอัพ (Lead Makeup) แฟชั่นหน้าขาวด้วยเครื่องสำอางนี้มีต้นกำเนิดมาจากกรีกโบราณกว่า 2,000 ปีมาแล้ว และมานิยมในฝรั่งเศสเมื่อราวศตวรรษที่ 14-19 เป็นการทำให้หน้าขาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยในสังคมชั้นสูงถือว่าคนหน้าตากระดำกระด่างเป็นคนไม่มีเงิน เครื่องสำอางที่ว่านี้มีส่วนผสมมาจากสารตะกั่ว ขี้ผึ้ง ไขมันสัตว์ น้ำมัน และไข่ขาว ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าสารตะกั่วนี้เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างยิ่ง ทำให้เบื่ออาหาร ท้องไส้ปั่นป่วน มึนงง มือเท้าชา อาจตาบอด และอาจเป็นมะเร็งได้ บางรายอาจเสียชีวิต

ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าในปี Marie Gunning สตรีชั้นสูงชาวไอริชได้ตกเป็นเหยื่อรายแรกของการใช้สารตะกั่วในปี 1760 และ Madame Rachel ก็เสียชีวิตเพราะพิษของตะกั่วจากเครื่องสำอางหน้าขาวนี้เช่นกันในปี 1878 แต่ผู้หญิงใน พ.ศ. นี้ทั่วโลกรวมทั้งเมืองไทยจำนวนไม่น้อยไม่ได้อ่านประวัติศาสตร์ เลือกที่จะละเลงสารตะกั่วบนใบหน้าตนเองเพื่อให้ขาวใสใน 7 วัน โดยไม่เกรงใจเครือญาติที่ต่างก็เกิดมามีหน้าสีเดียวกัน

แม้ในวันนี้ แบบแผนจารีตของสังคมประเภทขู่เข็ญบังคับอย่างผู้หญิงในสังคมโบราณจะมีให้เห็นน้อยแล้ว ทว่าแฟชั่นความงามตามอุดมคติของผู้หญิงทุกชนชาติทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาก็ยังคงยึดสโลแกนว่า “เป็นผู้หญิงอย่าหยุดสวย”ในเมื่อทำบุญสะสมไว้ชาติหน้าไม่ทันใจ บ้างคนก็เลือกสวยมันด้วยมีดหมอเสียชาตินี้

ข้อมูลจาก :

องค์ บรรจุน, “ความงามตามอุดมคติของผู้หญิงมอญ, จีน ยุโรป และอื่น” ใน,ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2559

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0