โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

จัดอันดับงบไตรมาส 1/64 แบงก์ไหนกำไรโตมากที่สุด

Wealthy Thai

อัพเดต 09 ส.ค. 2566 เวลา 12.30 น. • เผยแพร่ 09 เม.ย. 2564 เวลา 12.52 น. • ศุภมาศ ศรีขำ

จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Covid-19 กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง โดยรอบนี้ศูนย์กลางการระบาดเกิดจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ก่อนจะกระจายไปยังหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการรายงานผลตรวจจาก รพ.จุฬาฯ จำนวน 24 คน ว่ามีสัดส่วนประมาณ 70% มาจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่จากอังกฤษ ที่จะทำให้การระบาดรวดเร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์ปกติ 1.7 เท่า และปริมาณไวรัสในผู้ป่วยจะมีปริมาณสูงมากถึงแม้จะไม่มีอาการก็ตาม ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าการระบาดรอบนี้จะรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ
แม้แนวโน้มผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การระบาดของ Covid-19 รอบนี้จะส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นจำกัด เพราะภาคธุรกิจมีประสบการณ์จากการระบาดครั้งที่ 1 และ 2 รวมถึงนักลงทุนมีความเข้าใจในการลงทุนมากขึ้น รู้ว่าหุ้นตัวไหนจะได้รับผลกระทบหรือไม่ได้รับผลกระทบบ้าง ดังนั้นการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นครั้งนี้จึงอาจเป็นโอกาสให้เข้าสะสมหุ้น

หุ้นธนาคารยังน่าสนใจ คาดครึ่งปีหลังฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ

แล้วหุ้นแบบไหนที่ยังเข้าลงทุนได้ วันนี้ Wealthy Thai มีข้อมูลของหุ้นกลุ่มธนาคารมานำเสนอ โดยหุ้นกลุ่มธนาคารเป็นอีกกลุ่มที่ยังน่าสนใจลงทุน นักวิเคราะห์จากบล.หยวนต้าระบุว่า ยังคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร “มากกว่าตลาด”เพราะแม้กำไรสุทธิไตรมาส 1/64 คาดยังชะลอตัวแต่จะเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นขั้นบันไดตั้งแต่ไตรมาส 2/64 เป็นต้นไป จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของภาคการท่องเที่ยวที่จะทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียในฝั่งของ SMEก็ลดลงมาก เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือรอบใหม่ทั้งการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการผ่านการทำสินเชื่อ Soft Loan ที่มีเงื่อนไขน่าดึงดูดมากขึ้น (ขยายเพดานดอกเบี้ย Soft Loan, เพิ่มวงเงินและขยายกลุ่มผู้รับสินเชื่อ, ระยะการให้สินเชื่อ รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันจาก บสย.) และในกรณีเลวร้ายยังมีมาตรการ "พักทรัพย์ พักหนี้" ที่เปิดช่องให้กับผู้ประกอบการสามารถโอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ พร้อมกับทำสัญญาซื้อกลับใน 3-5 ปีข้างหน้า และยังเปิดให้เช่ากลับมาดำเนินงานได้อีก

BBL กำไรฟื้นโตสุดจากไตรมาส 4/63

โดยบล.หยวนต้า ประเมินหุ้นธนาคารภายใต้ Coverage ทั้ง 7 แห่งจะมีกำไรสุทธิไตรมาส 1/64 จำนวน 26,801 ล้านบาท ลดลง 29.3%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 4.5% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยแบ่งธนาคารออกเป็น 3 กลุ่ม ตามระดับการเติบโต ดังนี้ 1. กลุ่มกำไรฟื้นแรงเทียบไตรมาส 4/63 ธนาคารที่ตั้งสำรองสูงในไตรมาส 4/63รองรับการผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ของ Covid-19 แต่ผลกระทบในรอบใหม่มีความรุนแรงน้อยกว่าปีก่อนมากและลูกหนี้ส่วนใหญ่มีการชำระเงินดีขึ้น (ทั้งกลุ่มปกติ และกลุ่มที่ผ่านการปรับโครงสร้าง) ทำให้คาด Credit Cost จะผ่อนคลายลง ทำให้ผลดำเนินงานฟื้นตัวเด่น นำโดย BBL คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/64 จะอยู่ที่ 4,604 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92%จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 40%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากค่าใช้จ่ายทั้งการตั้งสำรองและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโครงการลงทุนใน Permata ที่จะไม่เข้ามากดดันงบกำไรขาดทุนเหมือนในปี2563 รองลงมาคือ SCB คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/64 ที่ 6,731 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.6%จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 27.2%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าการตั้งสำรองผ่อนคลายลงมากหลังผ่านการจัดชั้นลูกหนี้แบบ Qualitative ไปแล้ว และความเสี่ยงของลูกหนี้ในกลุ่ม SME และกลุ่มท่องเที่ยวต่ำลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสุดท้าย KKP คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/64 ที่ 1,386 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.1%จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 6.6%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยบวกทั้งการตั้งสำรองที่ต่ำลง พอร์ตสินเชื่อยานยนต์ที่ขยายตัวดีกว่าอุตสาหกรรม และรายได้ Brokerage Fee ที่ปรับตัวดีขึ้น

ถัดมา 2. กลุ่มกำไรเร่งตัวขึ้นอ่อนๆ มีสองธนาคาร คือ KTB คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/64 ที่ 3,727 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9%จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 42.4%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารผ่อนคลายการตั้งสำรองมาตั้งแต่ไตรมาส 4/63และคาดว่าไตรมาส 1/64จะปรับลงต่อ และ TISCO คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/64 ที่ 1,712 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6%จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 15.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแม้รายได้ดอกเบี้ยยังอ่อนแอจากพอร์ตสินเชื่อที่ยังชะลอตัวตามนโยบายลดความเสี่ยงในการให้สินเชื่อใหม่และ Asset Yield ที่อ่อนตัวลง แต่คาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจะปรับขึ้นเด่น จากปัจจัยหนุนทั้ง Brokerage Feeที่เพิ่มขึ้นได้ดี และรายได้จากธุรกิจกองทุนรวมที่เร่งตัวขึ้น หลังมีการออกกองทุนใหม่ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากในไตรมาส 1/64
และสุดท้าย 3. กลุ่มกำไรชะลอตัวจากไตรมาส 4/63 ได้แก่ KBANK คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/64 ที่ 7,481 ล้านบาท ลดลง 43.6%จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 1.4%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากฐานกำไรไตรมาส 4/63ที่สูงกว่าปกติเพราะชะลอการตั้งสำรองลงไปมาก แต่คาดในไตรมาส 1/64จะกลับมาตั้งสำรองเพิ่มตามปกติ ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานคาดยังอ่อนตัว จากแรงกดดันด้าน Yield และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ปรับลง และ TMB คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/64 ที่ 4,163ล้านบาท ลดลง 6.1%จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 72.2%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมองเป็นธนาคารที่จะ Underperform กลุ่มในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เนื่องจากจะมีการบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างกับธนาคารธนชาตทั้งในด้านของรูปลักษณ์สาขาและโครงสร้างองค์กร รวมถึงการปรับลดพนักงานที่มีหน้าที่ซ้อนทับกัน ทำให้คาดมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการลดพนักงานเพิ่มเข้ามา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0