โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ควันหลงหลังกิจกรรม 'วิ่งไล่ลุง' กับคำถามถึงทีมนกหวีดกลับใจ

The MATTER

อัพเดต 20 ม.ค. 2563 เวลา 04.57 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 04.25 น. • Thinkers

สัปดาห์ที่ผ่านมา กิจกรรมวิ่งไล่ลุงได้กลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางการเมืองภาคประชาชนที่ดูจะเป็นหมุดหมายสำคัญหลายๆ ประการของไทย ทั้งการ ‘จับมือ’ ร่วมกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกของคนที่เคยเป่านกหวีดร่วมม็อบพันธมิตรฯ คนเสื้อแดงถือตีนตบ หรือคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีส่วนใดๆ ในการขัดแย้งก่อนหน้านี้มาก่อนเลย หรือการแสดงออกถึงความรับผิดชอบของอดีตผู้เคยเป่านกหวีดต่อสาธารณะอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ถึงความผิดพลาดทางการเรียกร้องในอดีตของตนอันนำมาซึ่งการครอบงำและบริหารปกครองของรัฐบาลประยุทธ์ในวันนี้

กิจกรรมวิ่งไล่ลุงนี้โดยตัวมันเองอาจจะเป็นข้อพิสูจน์ของความสำเร็จเดียวของรัฐบาล ‘ลุง’ ที่กิจกรรมนี้พยายามจะไล่ออกไปสามารถทำสำเร็จได้นั่นก็คือ ‘การสร้างความสมานฉันท์’ เพราะลุงดูจะมีพฤติกรรมอันเกินจะรับไหวจนสามารถรวมคนที่เคยเป็นอริกันให้มาร่วมมือกันได้ หรือกระทั่งคนที่เคยเรียก ‘ลุง’ ให้มาช่วยเองก็ยอมจำนนต่อความจริง แล้วขอมาร่วมไล่ ‘ลุง’ แทน

ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งซึ่งพยายามวิพากษ์วิจารณ์ ด่าทอในฐานะที่เป็นวิถีทางในการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการมาโดยตลอด ผมก็คิดว่าคงพอจะมีสิทธิพูดกับทีมนกหวีดกลับใจออกมาให้ดูเท่ๆ กับเค้าได้บ้างว่า “ยินดีที่ได้ร่วมต่อสู้ด้วยกันนะครับ” และขอบคุณทางผู้จัดด้วยที่ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา พูดจากใจจริงเลยคือ ผมยินดีจริงและขอบคุณจริงๆ

กระนั้นภายใต้ความรู้สึกด้านบวกมากมาย ก็ไม่ได้แปลว่ากิจกรรมดังกล่าวจะไม่มีบทเรียนอะไรให้นำมาขบคิด ตรงกันข้ามกันเลย เพราะยิ่งมาร่วมสู้ไปด้วยกันแล้วนี่แหละยิ่งต้องพยายามตั้งคำถาม และทำความเข้าใจกันให้มากยิ่งขึ้น

ผมอยากจะขอเริ่มด้วยข้อสังเกตกับตัวกิจกรรมก่อน แล้วค่อยไปถึงคำถามที่อยากจะถามถึงทีมนกหวีดกลับใจ ซึ่งข้อสังเกตที่เห็นจากกิจกรรมวิ่งไล่ลุงก็ไม่เชิงเป็นคำถามเกี่ยวกับตัวกิจกรรมการวิ่งอะไรมากนัก แต่เป็นเรื่องของการเลือกใช้ ‘ภาพแทน’ ของกิจกรรมมากกว่า ที่ผมคิดว่าเราอาจจะกำลังกลับไปสู่ ‘หล่มของภาพแทนการต่อสู้’ ชุดเดิมได้

ภาพกิจกรรมวิ่งไล่ลุงนั้นปรากฏอยู่ในสื่อแทบทุกสื่อแทบจะทุกช่องทาง และภาพที่ออกมานั้นผมคิดว่าหลักๆ แล้วเห็นเป็น 2 กลุ่มหลักๆ นั่นคือ ภาพที่ฉายให้เห็นถึงความงดงามสบายตาของตัวกิจกรรม (เดี๋ยวจะอธิบายต่อนะครับ) กับอีกส่วนคือความสงบเรียบร้อยและมีระเบียบแบบแผนของตัวกิจกรรม ซึ่งภาพที่ถูก ‘เลือก’ นำมาถ่ายทอดทั้งสองกลุ่มแม้จะมีประโยชน์ในตัวมันเองในหลายๆ ทาง เช่นการพีอาร์หรือโปรโมตตัวกิจกรรมการต่อต้านให้ ‘คนอยากเห็น’ หรือ ‘ละมุนตา’ มากขึ้น แต่พร้อมๆ กันไปผมคิดว่ามันอาจจะนำมาซึ่งปัญหาได้ด้วย

ภาพที่งดงามสบายตาที่ว่าดูจะเป็นภาพที่สื่อนิยมเอามาลง

จะด้วยว่าเป็นภาพที่ทางตัวผู้กิจกรรมเลือกที่จะนำเสนอเอง หรือสื่อนิยมชมชอบเองก็ตามแต่ แต่เราจะเห็นได้ว่าภาพหลักๆ นั้นจะเป็นหนุ่มสาวไปจนถึงคนวัยกลางคนที่ดูดี มีการศึกษา ผิวพรรณดี หน้าตาหล่อสวยบ้าง ต่างๆ เป็นหลัก ซึ่งอย่างที่บอกไป การเลือกตัวเลือกแบบนี้ไม่ใช่อะไรที่ผิดบาปหรือแย่มากในตัวมันเองหรอกครับ และการใช้ภาพที่ดูแล้ว ‘สบายตา’ ยังนำมาซึ่งกระแสการโปรโมตที่ดีด้วย เช่น มีคนแชร์รูปคนสวยคนหล่อ คิวต์บอยคิวต์เกิร์ลที่มาร่วมกิจกรรมกันให้ว่อนเน็ตไปหมด

แต่ภาพแทนการต่อสู้แบบนี้ทำให้ผมกลัวลึกๆ เพราะหากเรายังจำกันได้ มันคือ ‘การเลือกภาพแทนการต่อสู้แบบเดียวกันกับที่ม็อบพันธมิตรฯ เคยใช้เลยรึเปล่า?’ คือภาพที่ยกความเป็น ‘คนเมือง’ ความเป็นหนุ่มสาวหน้าใสหล่อสวยที่มาร่วมกิจกรรมเป็นภาพแทนหลัก ไม่เพียงเท่านั้น มันยังกลายเป็น ‘แบรนดิ้ง’ ของม็อบพันธมิตรฯ ไปในท้ายที่สุดด้วย เพราะภาพแทนนี้มักถูกนำมาเปรียบเทียบกับ ‘ม็อบบ้านนอก ดูเป็นคนจน ไร้การศึกษา ผิวกร้านดำ ฯลฯ’ ของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงเวลาเดียวกันเกือบจะตลอดเวลา ผมคิดว่าเราปฏิเสธ ‘พลังของภาพ’ ที่แทบจะกลายเป็นตัวแทนของการเมืองเชิงอัตลักษณ์ (identity politics) แบบหนึ่งในวังวนความขัดแย้งเมื่อครั้งอดีตไม่ได้หรอกครับ ฉะนั้นผมจึงกลัวว่าการจงใจเลือกไม่ว่าจะโดยผู้จัดกิจกรรม ผู้ร่วมกิจกรรม หรือตัวสื่อเองว่าจะใช้ภาพแบบนี้เป็นภาพแทนกิจกรรมการต่อสู้นั้นจะนำมาซึ่งปัญหาในแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้น และสุดท้ายภาพแทนของการต่อสู้ก็ไม่ใช่ภาพที่สะท้อนความเป็นจริงของเหตุการณ์หรือตัวกิจกรรม แต่กลายเป็นการร่วมถ่ายภาพแฟชั่นวีคในโลกจริงจำลองของกิจกรรมการต่อสู้ ซึ่งนั่นหมายถึงทั้งลดทอนความหลากหลายของความเป็นจริง และเพิ่มปริมาณความตื้นเขินให้กับการต่อสู้ไปเองในท้ายที่สุด ผมจึงคิดว่าเราอาจจะต้องระวังมากขึ้นบ้างในเรื่องนี้

ทำนองเดียวกันกับภาพที่เห็นแล้วละมุนตาก็คือ ภาพที่สะท้อนความมีระเบียบเรียบร้อย ซึ่งจะบอกว่ามีมาให้เห็นตั้งแต่ม็อบสกายวอล์กเกอร์แล้วก็คงไม่ผิด ที่มีการปฏิบัติทุกอย่างตามขั้นตอน เราจะไม่รบกวนใคร ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และเป็นระเบียบ ขยะอะไรต่างๆ เก็บเกลี้ยง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีนะครับ ดีแน่ๆ โดยไม่ต้องปฏิเสธ โดยเฉพาะเรื่องการเก็บขยะอะไรให้เรียบร้อย แต่พร้อมๆ กันไปมันก็ยิ่งสะท้อนการเลือกภาพแทนของการต่อสู้ว่า “นี่แหละคือการต่อสู้ในอุดมคติของเรา นี่คือการต่อสู้อันศิวิไลซ์ การต่อสู้อันบริสุทธิ์ มีการศึกษา และมีมาตราฐานทางจริยธรรมที่สูงยิ่ง”

แก่นคิดหลักของภาพแทนเหล่านี้ต่างอะไรกับแก่นคิดแบบ ‘ม็อบคนดี’ หรือเปล่า? หากดึงเฉพาะแก่นวิธีคิดมา ผมคิดว่าไม่เลย ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะภาพแทนที่ว่ากำลังทาสีให้การต่อสู้กับอำนาจนิยมเป็นเรื่องที่ต้องศิวิไลซ์สวยงาม แล้วที่ทางของการต่อสู้ที่อาจจะน่าขยะแขยงมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น รบกวนชีวิตคนอื่นในสังคมมากขึ้นบ้างเล่า? มันไม่ใช่การต่อสู้หรือ? การเลือกเสนอแต่ภาพของความศิวิไลซ์ในการต่อสู้ และการแห่กันแชร์หรือยกยอกลับทำให้ผมหวั่นใจอย่างยิ่งว่า เราต้องการแบบนี้จริงๆ รึเปล่า?

บอกตามตรงเลยนะครับ กับกรณีหลังนี้ผมเองก็อยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกตั้งแต่ตอนช่วงม็อบสกายวอล์กเกอร์ ที่ข่าว ‘ม็อบไร้ขยะ’ ว่อนไปทั่ว ในใจก็ชื่นชมมากๆ แต่พร้อมๆ กันไปก็หวั่นใจกับการมุ่งเน้นฉายภาพแบบนี้จนล้นเกินด้วย ตอนนั้นผมจึงเลือกแต่เพียงกดไลก์ในข่าวหรือเพื่อนที่สนิทที่แชร์ข่าวมา แต่จงใจไม่แชร์เองและเงียบๆ ไปไม่พูดอะไร แต่พอมาครั้งกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ภาพลักษณะเดียวกันนี้ก็ยังดูจะถูกโฟกัสหนักขึ้น ผมเลยคิดว่าคงต้องขอหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถามกันสักนิด ไม่ใช่เพื่อจะมาบอกให้ทำสกปรกอะไรกันนะครับ การรักษาความสะอาดอะไรเป็นเรื่องที่ดีและควรทำมากๆ แต่พร้อมๆ กันไปก็ไม่ควรทำให้ ‘ความศิวิไลซ์’ นี้กลายเป็นภาพความถูกต้องแต่เพียงหนึ่งเดียวของการต่อสู้ไปด้วย

พูดให้เห็นภาพมากขึ้นโดยยกตัวอย่างแบบสุดขั้วก็คือ หากในจู่ๆ รัฐบาลจะ ‘ยุติม็อบ’ โดยการใช้กำลังและอาวุธแล้ว ไม่ว่าม็อบที่โดนแบบนั้นจะเป็นม็อบที่ศิวิไลซ์หรือไม่ใคร่ศิวิไลซ์นักก็ตาม คนที่ผิดแต่เพียงคนเดียวนั้นคือผู้มีอำนาจเฉกเช่นรัฐบาลที่ใช้กำลังปราบปราม คล้ายกับกรณีโจรข่มขืนนั่นแหละครับ ไม่ว่าคนที่ถูกข่มขืนจะแต่งตัวเรียบร้อยปานลูกคุณหนูในนิยาย หรือจะแต่งตัวเปรี้ยวแซ่บยั่วเซ็กซ์ปานใดก็ตาม คนที่ผิดมีเพียงคนเดียวคือคนที่ข่มขืน และผิดอย่างมากเท่ากันด้วยในทั้งสองกรณี ไม่ใช่ว่าการข่มขืนคนแต่งตัวเปรี้ยวยั่วจะผิดน้อยกว่าไปได้

สิ่งที่ผมหวั่นใจก็คือ การเน้นฉายภาพ ‘ความศิวิไลซ์’ ของม็อบสกายวอล์กเกอร์และกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเกินไปนี้จะนำพามาซึ่งวิธีคิดที่น่ากลัวอย่างการไปบอกว่า “ไม่อยากโดนข่มขืนก็อย่าแต่งตัวโป๊ๆ สิ” ซึ่งมันเกิดขึ้นอยู่จริงๆ ในสังคม

เท่านี้แหละครับจุดที่อยากจะลองชี้ขึ้นมา เผื่อจะนำไปขบคิดต่อหรือปรับปรุงกันต่อไปได้

ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญที่ผมมีต่อสหายร่วมการต่อสู้ทางการเมืองกลุ่มใหม่อย่าง ‘ทีมนกหวีดกลับใจ’ บ้าง ผมขอเอาตัวล่อบาทาถามตรงๆ กับคำถามที่คิดว่าน่าจะคาใจหลายคนไม่น้อยคือ

“คุณออกมาต่อสู้ครั้งนี้เพื่ออะไรกันแน่? เพื่อไล่คนไม่สามารถบริหารประเทศจนเกินทนแบบประยุทธ์ หรือเพราะอยากได้ประชาธิปไตยจริงๆ คืนมา?”

สองอย่างนี้ ‘ณ เวลานี้’ อาจจะดูเผินๆ เหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วเป็นสองเรื่องที่ต่างกันอย่างมากมหาศาลนะครับ และที่ต้องถามอย่างตรงไปตรงมาแบบนี้ก็เพราะว่าม็อบนกหวีดที่ผ่านมาเคยพิสูจน์ตัวเองอย่างมากเกินพอว่า ‘ประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมคือปัจจัยรองเสมอ’ ว่าง่ายๆ ก็คือ หากอยู่ในสถานการณ์อันจำเป็นบางอย่าง และหากสถานการณ์นั้นดูจะช่วยให้ประเทศดีขึ้นได้ ดังนั้น ‘จะทิ้งประชาธิปไตยไว้ก่อนชั่วคราวก็ได้’

ฉะนั้นผมซึ่งเป็นคนหนึ่งที่เคยต้องสู้กับท่าทีนี้ของของทีมนกหวีดในอดีตมาโดยตลอด ก็คิดว่าผมมีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะถามออกไปอย่างตรงไปตรงมาได้ และเชื่อด้วยว่าทีมนกหวีดน่าจะมีพันธะรับผิดชอบ (obligation) ทางการเมืองและสังคมที่จะต้องตอบคำถามนี้อย่างชัดเจนด้วย

นอกจากตัวตนในอดีตของทีมนกหวีดที่พิสูจน์มาอย่างหนักแน่นว่าพร้อมจะไม่เอาประชาธิปไตยอยู่เสมอนั้น อีกปัจจัยหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากๆ และนำมาสู่คำถามนี้ได้ก็คือ ประยุทธ์ไม่ได้เพิ่งจะมาอยู่ในอำนาจ และหากพูดกันตรงๆ ‘ประยุทธ์เคยไม่เป็นประชาธิปไตยมากเสียยิ่งกว่า ณ เวลานี้’ เสียด้วยซ้ำ เขาอยู่ในอำนาจในฐานะผู้นำเผด็จการมาเกินกว่าครึ่งทศวรรษ แต่ทีมนกหวีดไม่เคยแสดงออกให้สังคมได้เห็นเลยว่า ‘พวกท่านคิดผิด พวกท่านประเมินผิด เผด็จการมันเป็นระบอบที่เลวร้ายที่สุด และเราไม่ต้องการมันไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใด’ เลย

พวกท่านพร้อมจะออกมาสู้ในวันที่พอจะพูดได้ว่า ‘ประยุทธ์เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหน่อยนึงแล้ว’ เสียด้วยซ้ำ ฉะนั้นผมจึงไม่มั่นใจว่าทีมนกหวีดสู้เพราะต้องการกำจัดระบอบเผด็จการ ต้องการได้ประชาธิปไตยคืนมา หรือเพียงเพราะว่าประยุทธ์บริหารประเทศได้ไม่ดีจนถึงจุดที่ไม่อาจจะทนได้แล้ว ไม่มีประสิทธิภาพจนต้องยอมรับความผิดพลาดของตนในอดีต? ผมอาจจะถามดูรุนแรงนะครับ แต่ผมคิดว่าทีมนกหวีดปฏิเสธความแคลงใจของคนที่สู้กับเผด็จการก่อนหน้าพวกท่านกลับใจมานานไม่ได้หรอก และว่ากันตรงๆ ทีมนกหวีดเป็นหนี้ทางอุดมการณ์ของแผ่นดินมากพอที่ผมจะถามท่านตรงๆ เช่นนี้ได้

ทำไมผมจึงบอกว่า การสู้เพราะ ‘ไม่สามารถทนกับความไร้ประสิทธิภาพของประยุทธ์ได้อีกต่อไป’ กับการสู้เพราะ ‘อยากได้ประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพอย่างสากลโลกคืนมา’ เป็นสองเรื่องที่ต่างกันมาก (แม้เวลานี้จะดูใกล้กันก็ตามที) นั่นก็เพราะว่า ถึงท้ายที่สุดแล้วเหตุผลแบบแรกนั้นมันคือการต่อสู้บนฐานคิดแบบ ‘การเมืองคนดี’ แบบเดิมๆ อย่างที่เคยเป็น และออกมาไล่ทักษิณเพราะคิดว่าทักษิณเลวเกินกว่าจะทน ยิ่งลักษณ์แย่เกินกว่าจะแกง ต้องหาทางกำจัดให้ได้ไม่ว่าจะด้วยทางใด กระทั่งด้วยการยอมไม่ต้องมีประชาธิปไตยไปก่อนก็ได้

หากทีมนกหวีดกลับใจเลือกออกมาสู้ด้วยเหตุผลชุดนี้ นั่นแปลว่าสิ่งที่ท่านมองว่าท่านคิดผิด ท่านกลับใจนั้น ไม่ใช่การคิดใหม่ การกลับใจ หรือเปลี่ยนความคิดในทางอุดมการณ์ในเชิงโครงสร้าง เป็นแค่การยอมรับผิดว่า ‘มองคนผิด’ ไม่คิดว่าทหารจะเลวร้ายเสียยิ่งกว่ายิ่งลักษณ์หรือทักษิณ ผิดไปแล้วที่เรียกพวกเขาออกมา ตอนนี้จะขอชดใช้กรรมด้วยการไล่กลับคืน เพราะ ‘ไม่ดีอย่างที่คิด’ …ในเคสนี้มันคือเรื่องการเมืองแบบคนดีชัดๆ แบบเดิมเลย ซึ่งหากการกลับใจของทีมนกหวีดหมายถึงแบบนี้ ผมคิดว่าท้ายที่สุดแล้วคงร่วมต่อสู้กันได้ยาก

แต่หากการกลับใจของท่านหมายถึงอย่างหลัง หากการกลับใจมาต่อสู้ของทีมนกหวีดหมายถึงว่า หากวันนี้ล้มรัฐบาลประยุทธ์ลงไปได้ ต่อให้มีผีร้ายทางการเมืองมาอีกกี่คน มีอีกกี่สิบทักษิณ กี่ร้อยยิ่งลักษณ์ ท่านก็ยังยืนยันว่าเราต้องต่อสู้บนวิถีทางแบบประชาธิปไตย จะไม่ ‘ทิ้งประชาธิปไตยลงข้างทางไปก่อนก็ได้ เพื่อกำจัดผีพวกนี้’ เช่นนั้น ผมจึงคิดว่าเราจึงจะสู้ร่วมกันได้อย่างเป็นพวกเดียวกันจริงๆ ครับ

ยินดีที่ได้ต่อสู้ร่วมกันนะครับ อย่างน้อยที่สุดก็ 1 ครั้ง แต่หวังว่าจะเป็นการร่วมสู้กันยาวๆ อย่างแท้จริง

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0