โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ควันหลงมิสยูนิเวิร์ส 2019: จาก Privacy และ Security สู่ของสงวน หมูแฮม และผ้าเหม็น

The Momentum

อัพเดต 14 ธ.ค. 2562 เวลา 16.14 น. • เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2562 เวลา 16.13 น. • อธิพงษ์ อมรวงศ์ปีติ

In focus

  • คำว่า privacy หรือ ความเป็นส่วนตัว มาจาก privatus ที่แปลว่า ส่วนบุคคล เอกชน แยกจากส่วนรวมหรือของคนอื่น
  • คำว่า privatus ซึ่งเป็นต้นตอของคำว่า privacy มาจากกริยา privare ในภาษาละติน ไม่ได้แปลว่า แยกออกจากคนอื่น ได้อย่างเดียว แต่ยังแปลว่า พรากไป ได้อีกด้วย 
  • คำว่า security หรือ secure ที่เป็นรูปคุณศัพท์ มาจาก se- ที่แปลว่า ปราศจาก และ cura ซึ่งในที่นี้แปลว่า ความห่วงกังวล รวมได้ความหมายว่า ไร้กังวล แต่เดิมความหมายออกไปทางเชิงลบ หมายถึง บ้าบิ่น ไม่กลัวอะไรใดๆ แต่ต่อความหมายว่าเปลี่ยนไปในทางบวกขึ้น กลายไปหมายถึง อยู่ในภาวะที่ไม่ต้องกังวล ห่างไกลจากอันตราย เลยกลายมาเป็น secure ที่แปลว่า มั่นคงปลอดภัย อย่างในทุกวันนี้
  • secure ไม่จำเป็นต้องเป็นความปลอดภัยมั่นคงที่ออกไปในเชิงทางกายภาพ แต่อาจเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น data security (ความปลอดภัยของข้อมูล) หรือ job security (ความมั่นคงในหน้าที่การงาน) 

เมื่อต้นสัปดาห์ หากใครได้ติดตามข่าวการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2019 ก็จะเห็นว่า ฟ้าใส ปวีณสุดา ดรูอิ้น ตัวแทนประกวดมิสยูนิเวิร์สของประเทศไทยได้ผ่านเข้ารอบลึกถึง 5 คนสุดท้ายเลยทีเดียว และแม้ท้ายที่สุดสาวงามที่เป็นผู้คว้ามงกุฎไปครองจะเป็น โซซิบีนี ทุนซี จากแอฟริกาใต้ แต่ฟ้าใสก็ได้สร้างความประทับใจให้กับแฟนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่ที่ฮือฮากันไม่แพ้กับผลประกวดก็คือคำถามในรอบสัมภาษณ์ สำหรับ ฟ้าใส ตัวแทนจากประเทศไทยแล้ว คำถามที่ได้นั้นก็คือ “Government surveillance is used to keep many nations and their people safe, but some believe this invades our right to privacy. What is more important to you, privacy or security?” (หลายชาติอาศัยการสอดส่องโดยรัฐบาลเพื่อคุ้มครองประเทศและประชาชนให้ปลอดภัย แต่บางคนก็เชื่อว่าการทำเช่นนี้เป็นการล่วงล้ำสิทธิต่อความเป็นส่วนตัว สำหรับคุณแล้ว อะไรสำคัญกว่ากันระหว่างความเป็นส่วนตัวและความมั่นคง) คำถามนี้นับว่าเป็นคำถามหินเพราะเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนพอจะเขียนหนังสือได้เป็นเล่มทีเดียว 

แน่นอนว่าบทความของเราคงไม่พยายามตอบคำถามนี้แน่นอน แต่ที่เราทำได้คือพาไปสำรวจเจาะลึกคำว่า privacy และ security และดูว่าทั้งสองคำนี้ไปโยงใยกับคำอื่นๆ อะไรในภาษาอังกฤษบ้าง และไปเกี่ยวข้องกับหมูแฮม ผ้าเหม็น และของสงวนได้อย่างไร

Privacy

คำว่า privacy หรือ ความเป็นส่วนตัว มาจาก privatus ที่แปลว่า ส่วนบุคคล เอกชน

แยกจากส่วนรวมหรือของคนอื่น ด้วยเหตุนี้ คำว่า private ที่เป็นรูปคุณศัพท์ของ privacy (ที่ไม่ได้แปลว่า ชุดไปรเวท) จึงมีความหมายไปในทำนองนี้หมดเลย เช่น privatecar (รถยนต์ส่วนบุคคล) privateconversation (การคุยกันส่วนตัว ไม่ได้ให้คนอื่นมาล่วงรู้ด้วย) privatecompany (บริษัทเอกชน) privatelesson (เรียนตัวต่อตัว) หรือprivateperson (คนที่เก็บตัว โลกส่วนตัวสูง ไม่ค่อยเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตให้คนอื่นรู้) หรือแม้แต่อวัยวะอันเป็นส่วนสงวนของเรา (ซึ่งอันที่จริงแล้วมีชื่อเรียกเยอะมาก) ก็ยังเรียกให้สุภาพน่ารักได้ว่า privateparts

คำว่า privacy นี้ยังมีญาติในภาษาอังกฤษคำอื่นอีกที่มีความหมายไปในทางที่เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว เช่น คำว่า privy แปลว่า ทราบ ได้รับอนุญาตให้ล่วงรู้ความลับ อยู่ในวงใน มีความเป็นทางการอยู่พอสมควร เช่น He was not privyto our plans. ก็คือ เขาไม่รู้แผนของเรา คำว่า privy นี้ยังเจอในคำว่า PrivyCouncil ที่แปลว่า สภาองคมนตรี ด้วย

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปที่คำว่า privatus ซึ่งเป็นต้นตอของคำว่า privacy สักนิด คำนี้มาจากกริยา privare ในภาษาละติน ไม่ได้แปลว่า แยกออกจากคนอื่น ได้อย่างเดียว แต่ยังแปลว่า พรากไป ได้อีกด้วย ดังนั้น หลายคำในภาษาอังกฤษที่ดูโยงกับ private จึงอาจไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัว แต่ออกไปในเชิงขาดแคลนหรือมีสิ่งใดถูกพรากไปมากกว่า เช่น privation หมายถึง ความขาดแคลน อัตคัดขัดสน เช่น the privationsof wartime คือ ความอัตคัดแร้นแค้นในช่วงสงคราม และ deprive หมายถึง ลิดรอน พรากไป เช่น He was deprivedof the opportunity to further his studies abroad. คือ ถูกพรากโอกาสที่จะได้ไปเรียนต่อเมืองนอก หรือแม้แต่อดนอนก็ยังสามารถพูดว่า sleep-deprivedได้

ส่วน private ที่เป็นคำนาม แปลว่า พลทหาร (อย่างในชื่อภาพยนตร์ Saving Private Ryan) ไม่ได้มาจากความหมายที่แปลว่า พรากไป เพราะพลทหารถูกพรากสิทธิอะไรแต่อย่างใด แต่มาจาก private ที่แปลว่า เป็นส่วนตัว ในคำว่า privatesoldier ซึ่งในอดีตหมายถึง ทหารที่ขึ้นตรงกับเจ้าขุนมูลนายแต่ละคน เป็นของขุนนางคนนั้นๆ (ส่วนจะถูกใช้ล้างรถหรือปอกทุเรียนส่วนตัวของใครในยุคนั้นหรือเปล่าไม่อาจทราบได้จริงๆ)

Security

คำว่า security หรือ secure ที่เป็นรูปคุณศัพท์ มาจาก se- ที่แปลว่า ปราศจาก และ cura ซึ่งในที่นี้แปลว่า ความห่วงกังวล รวมได้ความหมายว่า ไร้กังวล แต่เดิมความหมายออกไปทางเชิงลบ หมายถึง บ้าบิ่น ไม่กลัวอะไรใดๆ แต่ต่อความหมายว่าเปลี่ยนไปในทางบวกขึ้น กลายไปหมายถึง อยู่ในภาวะที่ไม่ต้องกังวล ห่างไกลจากอันตราย เลยกลายมาเป็น secure ที่แปลว่า มั่นคงปลอดภัย อย่างในทุกวันนี้

ทั้งนี้ secure อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นความปลอดภัยมั่นคงที่ออกไปในเชิงทางกายภาพ เช่น The building is secureagainst intruders. (อาคารปลอดภัยจากผู้บุกรุก) หรือ maximum securityprison (เรือนจำคุมเข้มพิเศษ หรือที่ทางการเรียกว่า เรือนจำความมั่นคงสูงสุด) แต่อาจเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น data security(ความปลอดภัยของข้อมูล) หรือ job security(ความมั่นคงในหน้าที่การงาน) หรือด้านสภาพจิตใจ เช่น คนที่รู้สึก insecureabout their bodies ก็คือไม่มั่นใจในรูปร่างของตนเอง ด้วยเหตุนี้ ผ้าหรือตุ๊กตาที่เด็กหลายคนจะกุมไว้ให้อุ่นใจถึงจะหลับได้ หรือที่รู้จักกันว่า ผ้าเหม็น หรือ หมอนเหม็น จึงเรียกว่า securityblanket

คำว่า secure นี้ ภาษาฝรั่งเศสก็ยืมไปจากละตินด้วยเช่น ด้วยความที่ภาษาฝรั่งเศสเป็นเจ้าแห่งการละเสียง เมื่อจำเนียรกาลผ่านไป คำนี้เลยกร่อนจนเหลือคำว่า sure ซึ่งภาษาอังกฤษยืมกลับมาใช้ในความหมายว่า มั่นใจ ด้วย (คือปลอดภัยหรือห่างไกลจากข้อสงสัยทั้งปวง)

ย้อนกลับไปที่คำว่า cura ที่แปลว่า ความห่วงกังวล ในภาษาละตินสักนิด คำนี้เป็นที่มาของกริยา curare ในภาษาละตินที่แปลว่า ดูแล รักษา ซึ่งมีญาติอยู่ในภาษาอังกฤษอยู่มากมายหลายคำ เช่น curator (ภัณฑารักษ์) manicure (การทำเล็บมือ) pedicure (การทำเล็บเท้า) และ sinecure (งานสบายได้เงินดี) และที่สำคัญคือยังเป็นที่มาของคำว่า cure ที่แปลว่า รักษา ในภาษาอังกฤษในปัจจุบันอีกด้วย 

แต่ทั้งนี้ คำว่า cure ไม่จำเป็นต้องหมายถึง รักษาให้หายป่วย แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังอาจหมายถึง รักษาหรือถนอมอาหารให้อยู่ได้นานด้วยการดองเกลือได้ด้วย เช่น ปลาเค็มของบ้านเรา แซลมอนรมควัน แอนโชวี่ ก็จัดเป็น curedfish รวมไปถึง แฮมที่เรากินกัน ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตด้วยการนำเนื้อหมูไปพอกด้วยเกลือหรือดองในน้ำเกลือหรือ ก็เรียกได้ว่า curedham

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/ 

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nded. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0