โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คลื่นแห่งการประท้วง - ประจักษ์ ก้องกีรติ

THINK TODAY

เผยแพร่ 11 พ.ย. 2562 เวลา 17.05 น. • ประจักษ์ ก้องกีรติ

ในรอบเดือนที่ผ่านมา เกิดการประท้วงของประชาชนต่อต้านรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก ครอบคลุมเกือบทุกทวีปตั้งแต่แอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรป และเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นโบลิเวีย แอลจีเรีย ชิลี เอกวาดอร์ อิรัก เอธิโอเปีย สเปน ฮอนดูรัส ฮ่องกง ซูดาน กินี ปากีสถาน เลบานอน คาซัคสถาน และอีกหลายที่ นับเป็นห้วงเวลาที่โลกได้พบกับการประท้วงขนานใหญ่พร้อม ๆ กันในแบบที่ไม่ได้พบบ่อยครั้งนัก 

ในบางกรณี การประท้วงยืดเยื้อมาแล้วหลายเดือน เช่น ฮ่องกง บางกรณีการประท้วงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที แต่ก็มีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อยาวนาน หลายกรณีรัฐจัดการกับผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงนำไปสู่การปะทะที่นำมาซึ่งความสูญเสียในชีวิต เช่น ในอิรัก และชิลี ในขณะที่บางประเทศ เช่นเอธิโอเปีย เกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมต่างกลุ่มนำไปสู่ความตึงเครียดทางสังคมที่ลุกลาม ที่โบลิเวีย ผู้นำทนแรงกดดันไม่ไหว ยอมลาออกและประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

เกิดคำถามสำคัญว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นในโลก ปรากฏการณ์ประท้วงเหล่านี้กำลังส่งสัญญาณอะไร

ในยุคสมัยใหม่ โลกเคยประสบพบเจอกับคลื่นการประท้วงเช่นนี้มาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง

ในช่วงทศวรรษ 1960 เคยเกิดปรากฎการณ์การประท้วงทั่วโลกนำโดยคนหนุ่มสาว ครั้งนั้น แรงผลักดันเป็นเรื่องของการต่อต้านสงคราม การเหยียดสีผิว ความไม่เท่าเทียม และปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่แพร่ขยายไปทั่ว ภายใต้เงาของสงครามเย็นที่กำลังคุกรุ่นระหว่างสองขั้วอุดมการณ์ที่ต้องการสถาปนาความเป็นใหญ่ทางอุดมการณ์เพื่อครอบงำ คนหนุ่มสาวและประชาชนในหลายประเทศทั่วโลกเกิดสภาวะเสื่อมศรัทธากับผู้มีอำนาจและระเบียบสังคมเดิม ที่เต็มไปด้วยการผูกขาดทางอำนาจและความมั่งคั่ง บวกกับความรุนแรงที่เกิดจากสงคราม พากันออกมาเดินขบวนประท้วงขนานใหญ่ เพื่อเรียกร้องเสรีภาพและสันติภาพ โดยคำขวัญ “Make Love, Not War” รูปกำปั้น และบทเพลง Imagine ของจอห์น เลนนอนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยดังกล่าว

โลกได้สัมผัสกับคลื่นแห่งการประท้วงอีกครั้งในช่วง ค.ศ. 1989-1990 ซึ่งเป็นช่วงแห่งการสิ้นสุดสงครามเย็น ที่การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน (ครบรอบ 30 ปีในปีนี้) คือสัญลักษณ์ที่เป็นหมุดหมายของความเปลี่ยนแปลง พร้อมกับเพลง Wind of Change ของวง Scorpions ในยุคนี้ประชาชนจากหลายภูมิภาคชุมนุมเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพ เพื่อปลดแอกตัวเองออกจากระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่กดขี่ข่มเหงพลเมืองและล้มเหลวอย่างรุนแรงในการบริหารประเทศให้ประชาชนทีคุณภาพชีวิตที่ดี รัฐเผด็จการที่ขาดความยืดหยุ่น ละเมิดสิทธิมนุษยชน และใช้กลไกรัฐเพื่อรักษาอำนาจของชนชั้นนำจำนวนน้อยตกเป็นเป้าหมายของการต่อต้าน โดยอุดมการณ์ชี้นำของการเปลี่ยน ณ ขณะนั้น คือ สังคมเปิดที่มีเสรีภาพและประชาธิปไตย

แล้วคลื่นการประท้วงในปี 2019 เกิดจากสาเหตุอะไร?

แน่นอนว่าแต่ละประเทศมีความซับซ้อนและปัญหาเฉพาะในตัวเองที่อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด สาเหตุเฉพาะหน้าที่เป็นชนวนที่นำไปสู่การประท้วงก็อาจจะแตกต่างกัน เช่น กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกง การเก็บภาษีในเลบานอน การยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในเอกวาดอร์ การเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสในโบลิเวีย ฯลฯ รวมทั้งรูปแบบและเทคนิคการชุมนุมประท้วงก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ชนวนประท้วงเฉพาะหน้าเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง ที่ใต้ฐานของมันคือ ความไม่พอใจของประชาชนต่อสภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ให้ประโยชน์กับคนจำนวนน้อยที่เป็นชนชั้นนำในสังคม 

จากบทวิเคราะห์ต่าง ๆ พบว่ามีปัจจัยสำคัญบางประการที่มาบรรจบกันและกลายเป็นแรงขับให้เกิดคลื่นการเคลื่อนไหวบนท้องถนนของประชาชนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  

โดยปัจจัยสำคัญเหล่านี้ได้แก่ หนึ่ง ปัญหาเศรษฐกิจ สอง การคอร์รัปชั่น และสาม การผูกขาดอำนาจและปิดกั้นทางการเมือง ซึ่งเป้าหมายของความโกรธแค้นของประชาชนนั่นพุ่งไปที่ชนชั้นนำผู้มีอำนาจ (establishment) ซึ่งถูกมองว่าเป็นศูนย์รวมของปัญหาทั้ง 3 ประการ 

ในส่วนปัจจัยทางเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์หลายคนชี้ไปที่ปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น การว่างงาน สภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ในสังคมที่เหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อย ๆ

กระทั่งนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังหลายคนที่สนับสนุนระบบทุนนิยมก็พากันออกมาส่งสัญญาณเตือนว่าความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวไปทั่วทุกมุมโลกหนักขึ้นเรื่อย ๆ กำลังทำลายระบบทุนนิยม และเป็นเชื้อฟืนอย่างดีของการชุมนุมประท้วงที่ระเบิดออกมาจากความอึดอัดคับข้องใจของประชาชน คนชั้นกลางและชั้นล่างที่รู้สึกว่ามองไม่เห็นอนาคตที่สดใสสำหรับชีวิตของพวกเขาและลูกหลาน ในสังคมที่พวกเขามองว่ารัฐโอบอุ้ม เกื้อหนุน และปกป้องเฉพาะคนที่อยู่บนยอดของปีรามิด ไม่ว่าจะเป็นชุดนโยบาย กฎหมาย และแนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ คนจน แรงงาน พนักงานระดับกลาง และคนทำงานหาเช้ากินค่ำรู้สึกว่าเสียงของพวกเขาไม่มีความหมาย รัฐมองไม่เห็นตัวตนของพวกเขา ความรู้สึกรวมหมู่แบบนี้เก็บสะสมนานวันเข้าก็ระเบิดออกมาบนท้องถนน เพราะพวกเขาตระหนักว่าการชุมนุมประท้วงคือหนทางเดียวที่ “เสียง” ของพวกเขาจะถูกได้ยินจากผู้มีอำนาจ  

ยกตัวอย่างประเทศชิลีซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในทวีปลาตินอเมริกา แต่ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงที่สุดในภูมิภาค การประท้วงระลอกล่าสุดมีชนวนมาจากการที่รัฐบาลเพิ่มราคาค่าบริการรถเมล์และรถไฟใต้ดิน โดยอ้างราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนรู้สึกไม่พอใจอย่างรุนแรง หรือปัญหาราคาที่พักอาศัยในฮ่องกง ราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงในเอกวาดอร์ที่สูงขึ้นจนคนรู้สึกแบกรับไม่ไหว

ในสภาวะที่ความเหลื่อมล้ำพุ่งสูงขึ้น การคอร์รัปชั่นอื้อฉาวของผู้นำรัฐบาลและพวกพ้องยิ่งทำให้ประชาชนเดือดดาลง่ายกว่าปกติ เพราะประชาชนเปรียบเทียบชีวิตของตนเองที่ถูกบีบคั้นจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น งานที่ได้ค่าตอบแทนน้อยลง ที่พวกเขาเห็นว่ามาจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐในการจัดการปัญหา แต่ชนชั้นนำกลับมีชีวิตอย่างสุขสบาย แถมร่ำรวยผิดปกติ เมื่อมีการเปิดกรณีการรับสินบนหรือการใช้อำนาจเพื่อตอบแทนพวกพ้องบริวารที่มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับรัฐ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึก “ทนไม่ได้ รับไม่ไหว” อีกต่อไป

ปัจจัยสุดท้ายคือระบบการเมืองที่มีลักษณะผูกขาดอำนาจและปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งภายใต้สภาวะเช่นนี้ทำให้ประชาชนที่ลำบากและขัดสนทางเศรษฐกิจ รวมทั้งโมโหโกรธาการคอร์รัปชั่นของผู้นำรัฐบาล รู้สึกว่าพวกเขาไม่มีช่องทางในระบบให้แสดงออกได้ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางพรรคการเมือง รัฐสภา หรือสถาบันศาล ประชาชนเกิดความรู้สึกกลไกรัฐไม่ตอบสนองประชาชน หากมุ่งรับใช้ผู้มีอำนาจ เมื่อมาบวกกับการขึ้นสู่อำนาจชนิดที่เต็มไปด้วยข้อกังขา เพราะการเลือกตั้งขาดความโปร่งใส (เช่น ในโบลิเวีย ปากีสถาน) ก็กลายเป็นสาเหตุให้ประชาชนต้องตัดสินใจเดินออกจากบ้านลงสู่ท้องถนน เพื่อประท้วงกดดันรัฐบาล  

บทเรียนที่สำคัญจากคลื่นการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นในโลก ณ ขณะนี้ คือ ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ การคอร์รัปชั่น และการผูกขาดอำนาจสูง ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบทางการเมืองสูงตามไปด้วย

*หวังว่าสังคมไทยโดยเฉพาะผู้มีอำนาจจะเข้าใจบทเรียนสำคัญนี้ *

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0