โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

คลังแก้เกณฑ์ บสย.ค้ำสินเชื่อน็อนแบงก์

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 17 มิ.ย. 2562 เวลา 10.31 น. • เผยแพร่ 17 มิ.ย. 2562 เวลา 10.30 น.
unnamed

บสย.รุกค้ำสินเชื่อน็อนแบงก์เพิ่ม หนุนเอสเอ็มอีรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อ หลังคลังแก้ประกาศเปิดทางค้ำบริษัทลูกที่แบงก์ถือหุ้นตั้งแต่ 50% ขึ้นไปได้ “รักษ์” แย้ม Q4 เริ่มใช้ “ไดเร็กต์การันตี” ชู บสย.วิเคราะห์สินเชื่อเอง-ออก L/G ให้เอสเอ็มอีถือไปขอสินเชื่อแบงก์ ชี้ลดพึ่งงบฯรัฐ ปักธงครึ่งปีแรกค้ำสินเชื่อรวมได้ 4.5 หมื่นล้านบาท

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีประกาศกระทรวงการคลังที่แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการกำหนดให้นิติบุคคลที่ให้บริการสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการปรับปรุงให้ บสย.สามารถค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ที่มีธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นตั้งแต่ 50% ขึ้นไปได้ จากประกาศเดิมเขียนไว้ว่าตั้งแต่ 51% ขึ้นไป

“ถ้าสัดส่วนถือหุ้น 51% ขึ้นไป ทำให้น็อนแบงก์บางส่วนแม้เป็นบริษัทลูกของแบงก์เข้าร่วมไม่ได้ เพราะกลุ่มที่เป็นโฮลดิ้งเขาจะนับความเป็นเจ้าของตั้งแต่การถือหุ้น 50% ขึ้นไป ซึ่งการปรับเกณฑ์จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมากต่อการดำเนินงานของ บสย. เพราะสามารถขยายขอบเขตการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มน็อนแบงก์จากเดิมที่ค้ำได้อยู่ 11 บริษัท เพิ่มอีก 2 แห่ง คือ บริษัทเงินติดล้อ บริษัทลูกของธนาคารกรุงศรีอยุธยา และบริษัทไฮเวย์ ซึ่งถือหุ้นโดย บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป”

นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อเอสเอ็มอีกลุ่มอาชีพอิสระที่ขอสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของน็อนแบงก์ ทั้งนี้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดค้ำประกันสินเชื่อในโครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อยสร้างอาชีพ (MICRO3) เพิ่มขึ้น และทำให้ยอดค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มน็อนแบงก์เพิ่มขึ้นได้อีกราว 5% จากเป้าหมายค้ำประกัน MICRO3 ที่ตั้งไว้ทั้งสิ้น 9,600 ล้านบาทในปีนี้

“ถ้าเป็นแบงก์พอเจอข้อมูลเครดิตของกลุ่มรายย่อย ก็ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ หรือไม่ดอกเบี้ยก็จะสูง เราจึงพยายามเปิดกว้างให้คนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนอย่างเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา หรืออาจจะติดเครดิตบูโร 2-3 เดือน สามารถเข้าถึงสินเชื่อของน็อนแบงก์ เช่น สินเชื่อบุคคลที่นำเงินไปใช้ค้าขายในตลาดสด หรือกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ คนขับแท็กซี่ เป็นต้น อย่างน้อยก็ถูกกว่าเงินกู้นอกระบบ หรือพวกเงินด่วน”

นายรักษ์กล่าวว่า ในช่วงเดือน ก.ค.นี้ บสย.จะร่วมกับกระทรวงแรงงานจัดมหกรรมสินเชื่อเพื่อคนตัวเล็ก ซึ่งกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นช่างชุมชน และวิสาหกิจรายย่อยทั่วประเทศ และภายในไตรมาส 4 ปีนี้จะเริ่มค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบ “direct guarantee” ที่ทาง บสย.จะทำหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อเอง เพื่อออกหนังสือค้ำประกัน (L/G) ให้ลูกค้าสามารถนำไปขอสินเชื่อจากแบงก์ได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจ้างบริษัทเอินส์ท แอนด์ ยัง จัดทำระบบเครดิตสกอริ่งให้ดีขึ้น คาดจะเสร็จในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้

“เกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อก็ต้องเข้มข้นเทียบเท่าแบงก์ ไม่เช่นนั้นแบงก์ก็ไม่ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้า ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายจะเป็นเอสเอ็มอีทั่วไป ระยะแรกวงเงินค้ำ อาจจะเริ่มที่ไม่เกิน 15 ล้านบาทก่อน จากนั้นค่อยขยายเพิ่ม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาเรื่องค่าธรรมเนียม เพื่อไม่ให้สร้างภาระแก่แบงก์มากนัก แต่ก็ต้องสะท้อนความเสี่ยงของ บสย.ด้วย”

นายรักษ์กล่าวว่า สำหรับผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อปีนี้ช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) มียอดอนุมัติทั้งสิ้น 32,409 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการ MICRO3 จำนวน 1,614 ล้านบาท จากเป้าค้ำ MICRO3 ปีนี้ไว้ที่ 9,600 ล้านบาท และเป้าค้ำประกันสินเชื่อภาพรวมที่ 107,000 ล้านบาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0