โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

คลังเผยผู้เข้าข่ายได้เงิน ‘เราไม่ทิ้งกัน’ 8 ล้านคนจาก 24.5 ล้านคน จ่ายล็อตแรก 8 เม.ย.นี้

อินโฟเควสท์

อัพเดต 07 เม.ย. 2563 เวลา 11.15 น. • เผยแพร่ 07 เม.ย. 2563 เวลา 11.15 น. • สำนักข่าวอินโฟเควสท์

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จำนวนผู้มาลงทะเบียนwww.เราไม่ทิ้งกัน.com ล่าสุดอยู่ที่ 24.5 ล้านคน โดยประเมินว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิ 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ไม่เกิน 8 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพรับจ้าง กับค้าขาย และ 4 อาชีพหลักคือ แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ ผู้ค้าสลากฯ และมัคคุเทศก์

"การพิจารณาข้อมูลล็อตแรกกว่า 10 ล้านคน มีผู้ได้รับเงินแน่นอน 1.6 ล้านราย กลุ่มนี้ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือแน่นอน 3 เดือน และเมื่อมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก. ก็จะได้รับเงินต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติในรอบแรก คาดว่าจะมีมากกว่าครึ่ง"

นายลวรณ กล่าว

ทั้งนี้ ระบบจะเริ่มส่ง sms ให้ผู้ที่ได้รับเงินประมาณ 1.6 ล้านคน พร้อมโอนเงิน 5,000 บาท โดยในวันที่ 8 เม.ย.ประมาณ 2 แสนคน วันที่ 9 เม.ย.ประมาณ 7 แสนคน และวันที่ 10 เม.ย. อีกประมาณ 6 แสนกว่าคน ส่วนคนที่ไม่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับ sms ในวันที่ 9 เม.ย.เป็นต้นไปว่าไม่ผ่านคุณสมบัติ ซึ่งไม่สามารถอุทธรณ์ได้ โดยยกตัวอย่างรายที่มีข้อมูลผิดเงื่อนไขชัดเจน เช่น อายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นเกษตรกร เพราะกลุ่มดังกล่าวรัฐบาลมีมาตรการอื่นดูแลอยู่แล้ว และจะมีมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมาอีก

นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 11-12 เม.ย. ระบบก็จะส่ง sms ให้ผู้ลงทะเบียนที่มีคุณสมบัติไม่ชัดเจน ให้ส่งข้อมูล และกรอกแบบสอบถามกลับเข้ามาผ่านทางออนไลน์ให้พิจารณา

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังย้ำว่าต้องการช่วยผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ ในกลุ่มที่ทำอาชีพเสริม เช่น มีอาชีพเกษตรกร แต่เข้ามาขับแท็กซี่ ก็จะไม่ได้รับสิทธิ์ หรือเป็นพนักงานประจำ แต่มาเปิดร้านอาหาร ก็จะไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน

สาเหตุที่กระทรวงการคลังมั่นใจว่าจะมีผู้ที่ควรได้รับเงิน 5,000 บาท ไม่เกิน 8 ล้านรายนั้น นายลวรณ กล่าวว่า พิจารณาจากกลุ่มอาชีพอิสระ รับจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว กิจการส่วนตัว ค้าขาย 3 ล้านคน และ อาชีพอิสระที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 39-40 อีก 5 ล้านที่อยู่ในข่ายจะได้รับเงินเท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ประชากรทั้งประเทศกว่า 66 ล้านคน จะมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 24.5 ล้านคนตามข้อมูลที่ได้ลงทะเบียนไว้

กลุ่มที่จะไม่เข้าเกณฑ์รับเงินช่วยเหลือแน่นอนกว่า 58 ล้านราย ถ้ากลุ่มนี้มาลงทะเบียนจะถูกตัดสิทธิทั้งหมด คือ 1.กลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี 11 ล้านราย 2.กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ไม่อยู่ในระบบแรงงานอีก 11 ล้านราย 3.เกษตรกร 17 ล้านราย 4.พนักงานรายได้ประจำในระบบประกันสังคมมาตรา 33 อีก 11 ล้านราย 5.กลุ่มอื่นๆ เช่น ข้าราชการ 2 ล้านราย และ 6.กำลังแรงงานที่ว่างงาน เรียนหนังสือ 6 ล้านราย

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ขยายวงเงินและระยะเวลาในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยแจกเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท จากการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com จากเดิมที่จะแจกให้ 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.63) หรือ คนละ 1.5 หมื่นบาท เป็น 6 เดือน (เม.ย.-ก.ย.63) หรือ เป็นคนละ 3 หมื่นบาท ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบอื่นที่ไม่เข้าเกณฑ์รับเงิน 5,000 บาท ครม. ได้สั่งให้ทุกกระทรวง ให้เร่งพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือให้มากที่สุด

สาเหตุที่ต้องมีการขยายเวลาเพราะเห็นว่าโควิด-19 มีผลกระทบรุนแรงทั้งภาคประชาชนและผู้ประกอบการ รวมทั้งยังไม่มีความแน่นอนว่าสถานการณ์จะจบลงเมื่อใด โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณสำหรับแจกเงินไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งมาจาก การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบจากครม.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 63)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0