โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

คลังอัดแสนล้านอุ้มฐานราก

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 21 ก.ย 2562 เวลา 05.00 น.

       

*คลังเผยแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ใช้เงินกว่าแสนล้านบาท ทั้งงบประมาณ สินเชื่อแบงก์ เชื่อทำชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน พร้อมดันตั้งธนาคารชุมชน400-500 แห่งในปีแรก หวังปิดช่องโหว่หนี้นอกระบบ คิดดอกเบี้ยเดือนละไม่เกิน1.25% ไม่จำกัดวงเงิน *

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า แนวทางขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนที่เปิดตัวในวันที่ 21 กันยายนนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง มหาดไทย พลังงาน อุตสาห กรรม ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สมาคมธนาคารไทยสนง.คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)และกองทุนหมู่บ้าน  เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ซึ่งจะใช้เม็ดเงินดำเนินงานไม่ตํ่ากว่าแสนล้านบาท ทั้งจากเงินงบประมาณและเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานรากที่มีอยู่ 25-30 ล้านคน ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

 

ประสงค์ พูนธเนศ

“ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ร่วมมือกันเป็นองค์รวมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนระดับฐานรากมีคุณภาพดีขึ้น ทั้งด้านรายได้และความสุข โดยไม่ได้มุ่งเน้นการเติบโตของจีดีพี เราจะมีการให้สวัสดิการที่ดีกับฐานราก ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น กรมธนารักษ์จะหาพื้นที่มาใช้เป็นตลาดชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่รวมถึงกรมพัฒนาชุมชนจะเข้ามาช่วย โดยเน้นที่ประชาชนในพื้นที่จริงๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจ เพื่อทำให้เศรษฐกิจภายในเกิดความเข้มแข็งชดเชยกับเศรษฐกิจภายนอกที่มีปัญหา ทั้งปัญหาราคานํ้ามันในตะวันออกกลางและสงครามการค้า ที่เราควบคุมไม่ได้” นายประสงค์กล่าว

 

ทั้งนี้รัฐบาลมีแผนจัดตั้งธนาคารชุมชนในทุกอำเภอทั่วประเทศ 7,000 แห่ง เพื่อเป็นกลไกแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้กับประชาชนในชุมชน เพราะประชาชนระดับฐานรากมีปัญหาหนี้นอกระบบและถูกคิดดอกเบี้ยสูง 3-5% ต่อเดือน ซึ่งธนาคารชุมชนจะเข้ามาปิดช่องโหว่ ด้วยการคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 1.25% ต่อเดือน ไม่จำกัดวงเงินในการปล่อยกู้ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการในชุมชน

สำหรับธนาคารชุมชนจะมีธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ไปเป็นพี่เลี้ยง ในการวางระบบ การเชื่อมโยงข้อมูลและให้ความรู้ด้านการเงินกับชุมชน ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาการปล่อยกู้ เพราะคนในพื้นที่ จะรู้ถึงพฤติกรรมของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยตั้งเป้าปีแรกจะเกิดธนาคารชุมชนได้อย่างน้อย 400-500 แห่งทั่วประเทศ

 

“ตอนแรกจะมีเป็นรายอำเภอก่อนแล้วขยายไปตำบลต่างๆขึ้นกับความพร้อมของแต่ละชุมชน ซึ่งการพิจารณาสินเชื่อจะทำได้เร็วเพียง 1-2 วันเพราะพวกเขารู้จักกันดีพิจารณาได้ไว ส่วนจะกู้รายละเท่าไร ก็พิจารณากันได้เอง ไม่มีจำกัดวงเงิน และบางรายไม่ต้องใช้หลักทรัพย์คํ้าประกันก็ได้” นายประสงค์ กล่าว

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,507 วันที่ 22-25 กันยายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0