โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

คลังดัดหลังแบงก์ ช่วยลูกค้าเงินฝากเลี่ยงภาษี

NATIONTV

เผยแพร่ 19 เม.ย. 2562 เวลา 23.10 น. • กรุงเทพธุรกิจ
คลังดัดหลังแบงก์ ช่วยลูกค้าเงินฝากเลี่ยงภาษี
คลังดัดหลังแบงก์ ช่วยลูกค้าเงินฝากเลี่ยงภาษี

รัฐมนตรีคลังดัดหลังแบงก์พาณิชย์ เผยช่วยลูกค้าเงินฝากเลี่ยงภาษีเหตุออกประกาศแบงก์พาณิชย์ส่งข้อมูลดอกเบี้ยและผลตอบแทนผู้ฝากออมทรัพย์ ยันไม่ผ่อนปรนระยะเวลาการยื่นข้อมูล หากรายใดไม่ยินยอมจะถูกหักภาษีทุกกรณี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงกรณีกรมสรรพากรออกประกาศให้ผู้ฝากเงินออมทรัพย์ยินยอมให้สถาบันการเงินนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยและผลตอบแทนต่อกรมสรรพากรเพื่อขอยกเว้นภาษี โดยกล่าวว่า เรื่องดังกล่าว เป็นการสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี เพราะขณะนี้ ยังพบการหลบเลี่ยงภาษีของผู้ที่มีรายได้ดอกเบี้ยและผลตอบแทน โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กบางแห่ง ดังนั้น กรมสรรพากรจึงใช้มาตรการให้ทุกธนาคารรายงานข้อมูลผู้ที่มีรายได้จากดอกเบี้ยและผลตอบแทนต่อกรมสรรพากร เพื่อให้กรมสรรพากรเข้าไปตรวจเช็คแทน

ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีดอกเบี้ยและผลตอบแทนนี้ เป็นกฎหมายที่มีมานาน โดยยกเว้นให้สำหรับผู้ที่มีรายได้ดอกเบี้ยและผลตอบแทนไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อปี ส่วนใครที่มีดอกเบี้ยและผลตอบแทนเกินกว่านั้น ก็ต้องเสียภาษี อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ฝากที่ไม่แจ้งยินยอมให้ข้อมูล จะถูกหักภาษีทุกกรณี

เขากล่าวด้วยว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีสถาบันการเงินบางแห่งเข้าไปช่วยลูกค้าหลบเลี่ยงภาษี โดยเมื่อถึงเวลาที่จะเสียภาษี ก็ขอให้คนที่มีดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้ต้องเสียภาษี เช่น มีดอกเบี้ย 1.9 หมื่นบาท ก็ให้ทำการปิดบัญชีแล้วเปิดใหม่ เพื่อเลี่ยงภาษี ทางกระทรวงการคลังจึงตักเตือน เพราะคนที่มีเงินฝากและมีรายได้ดอกเบี้ยถึง 2 หมื่นบาทต่อปี ถือว่า เป็นคนที่มีรายได้สูงแล้ว ไม่ควรจะช่วยเขาหลบเลี่ยง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป จนถึงขณะนี้ ก็ยังมีแบงก์กระทำการในลักษณะดังกล่าวอยู่ ทำให้กรมสรรพากรออกมาตรการดังกล่าว

"2 ปีผ่านไป ยังมีสถาบันการเงินบางแห่งทำอยู่ ถามว่า สรรพากรจะทำอย่างไร สรรพากรก็ไม่มีทางเลือก เราก็คุยกันมา 2 ปีแล้ว ก็ยังทำกันอยู่ เป็นสิ่งซึ่งธนาคารทั้งหลายทำกันเอง ถึงตรงนี้ สรรพากรก็บอกให้ส่งข้อมูลมา ว่า แต่ละคนได้รับดอกเบี้ยเท่าไหร่ จะอ้างไม่รู้ ก็ไม่เป็นไร ก็แค่ส่งมา สรรพากรก็จะเห็นตัวเลข ใครที่มีดอกเบี้ยเกินก็เสียภาษี ใครที่ไม่เกิน ก็ไม่โดนเก็บ นี่คือแนวคิดของกรมสรรพากร"

เขากล่าวด้วยว่า ที่จริงแล้ว ธนาคารพาณิชย์เอง สามารถรวบรวมข้อมูลของผู้มีดอกเบี้ยและผลตอบแทนได้ แต่เข้าไม่ทำด้วยความตั้งใจ สรรพากรก็บอกว่า คุณไม่ทำก็ได้ เราทำเอง ให้ส่งข้อมูลมา ปัญหาก็เดือดร้อนที่ธนาคารเอง และ ยังบอกอีกว่า เราจะส่งข้อมูลได้อย่างไร เพราะติดเรื่องการส่งข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเรื่องนี้ เราก็บอกว่า เขาก็ต้องแก้ปัญหาเอง โดยต้องให้ลูกค้ายินยอมส่งข้อมูล

"ถ้าแบงก์ทำระบบดีๆก็ไม่เกิดปัญหานี้ ผมเรียน แบงก์ใหญ่ๆทำหมด เขารวมข้อมูลได้ ใครเกินเขาก็หัก ซึ่ง 5 แบงก์ใหญ่จัดการเองได้หมด แบงก์รัฐก็เคลียร์หมด แต่ว่า มีอันอื่นที่ยังทำ เรื่องนี้ เขาคุยกันมา 2 ปีแล้ว ทำไมจะไม่ทัน ตอนนี้ คนที่รับผิดชอบ คือ แบงก์ ในเมื่อติดกฎหมายส่งข้อมูล เขาก็ต้องรับผิดชอบในการให้ลูกค้ายินยอม"

นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากรกล่าวว่า เรื่องการยกเว้นภาษีหรือเก็บภาษีดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนผู้ฝากเงินบัญชีออมทรัพย์นั้นมีมานานแล้ว โดยกรมสรรพากรมีมาตรการภาษีเพื่อยกเว้นภาษีดอกเบี้ยและผลตอบแทนให้ผู้ฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อปี โดยยกเว้นให้เป็นรายตัว ไม่ว่า จะฝากกี่บัญชีกี่ธนาคารก็ตาม แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อปีต่อคน

อย่างไรก็ดี ในอดีตแบงก์ต่างๆระบบก็ไม่เชื่อมโยงข้อมูลกัน หรือ แบงก์เดียวกันเองอาจมีระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลนำส่งมายังกรมสรรพากรได้ แต่ขณะนี้ ระบบไอทีพัฒนา เราจึงเชื่อมโยงระบบนำส่งข้อมูล เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

"ในอดีตเงินฝากแต่ละสาขาจะไม่เชื่อมโยงกัน เลยไม่รู้ว่า นายก.มีรายได้ดอกเบี้ยเกิน 2 หมื่นบาทหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่เกิน ก็ได้รับยกเว้น ถ้าบังเอิญเกินก็ต้องเสียภาษี ถัาบังเอิญมีหลายแบงก์ และดอกเบี้ยเกิน แต่แบงก์ยกเว้นภาษีให้ ถือว่า ผิดกฎหมาย"

เขากล่าวด้วยว่า กรมฯได้ติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลา 2 ปี ก็มีการหักภาษีหรือไม่หักภาษีโดยเจตนาและไม่เจตนา กรณีไม่เจตนา เพราะระบบไม่เชื่อม กรณีเจตนา คือ ไปทำส่งเสริมฝากเงิน เพื่อช่วยลูกค้าหลบเลี่ยงภาษี คือ เช่น บอกให้ลูกค้าปิดบัญชีและเปิดใหม่ ซึ่งตามกฎหมาย แม้จะเปิดบัญชีใหม่ แต่ถ้าดอกเบี้ยรับรวมกันเกิน 2 หมื่นบาทก็ต้องเสียภาษีอยู่ดี แต่ระบบไม่เห็น ท้ายสุด เราเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี เราก็พยายามเชื่อมโยงข้อมูลมากรมสรรพากร โดยให้แบงก์ต่างๆรายงานข้อมูลมากรมฯ

ทั้งนี้ ตามปกติแล้ว การชำระภาษีดอกเบี้ยจะดำเนินการ 2 ครั้งต่อปี กล่าวคือ ช่วงครึ่งปี คือ เดือนมิ.ย.และปลายปี คือเดือนธ.ค. ฉะนั้น แบงก์จะต้องส่งข้อมูลให้กรมฯก่อนเดือนที่จะส่งข้อมูล โดยผู้ฝากต้องทำหนังสือยินยอมในการส่งข้อมูล เมื่อระบบตรวจสอบแล้วเสร็จจะส่งกลับไปยังแบงก์ของผู้ฝากเงิน เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ผู้ฝากรายใดต้องชำระภาษีหรือไม่ชำระภาษี ทั้งนี้ แบงก์สามารถใช้ระบบนำส่งข้อมูลเดิมที่เคยส่งข้อมูลอื่นมาให้กรมสรรพากรได้ โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0