โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คลังดัดหลังแบงก์หัวใส แนะลูกค้าเลี่ยงภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เกิน 2 หมื่นบาท

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 19 เม.ย. 2562 เวลา 12.25 น.
14864545941486454656l

ขุนคลังดัดหลังแบงก์หัวใสแนะลูกค้าเลี่ยงภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เกิน20,000บาท ติดดาบสรรพากรส่องทุกบัญชี โฆษกสรรพากรชี้ลูกค้าต้องให้ความยินยอมแบงก์ส่งข้อมูลสรรพากรไม่เช่นนั้นต้องถูกหัก ณ ที่จ่าย 15% ตั้งแต่ดอกเบี้ยบาทแรก คาดได้ภาษีเพิ่มพันล้าน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ตามที่กรมสรรพากร ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 344) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์และผลตอบแทนเงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์นั้น กรณีดังกล่าวที่จริงเป็นไปตามกฎหมายที่มีมานานแล้ว ว่าหากใครมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์แล้วได้รับดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท/ปี ก็จะต้องถูกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงการคลังเคยขอให้สถาบันการเงินให้ความร่วมมือ ไม่ไปช่วยให้ลูกค้าเลี่ยงการเสียภาษีดังกล่าว ด้วยการแนะนำให้ปิดบัญชีที่จะได้รับดอกเบี้ยใกล้จะถึง 20,000 บาท แล้วไปเปิดบัญชีใหม่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังมีสถาบันการเงินที่ยังดำเนินการลักษณะดังกล่าวอยู่ ทางกรมสรรพากรจึงต้องหาวิธีมาจัดการ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ซึ่งในทางปฏิบัติคือ แบงก์จะต้องส่งข้อมูลบัญชีออมทรัพย์ให้กับกรมสรรพากร โดยต้องไปดำเนินการให้ลูกค้ายินยอมส่งข้อมูล

“จะให้กรมสรรพากรทำอย่างไร คุยกันมา 2 ปี (สรรพากรกับแบงก์) ก็ยังมีหลีกเลี่ยงภาษีกันอยู่ โดยเป็นสิ่งที่ธนาคารทั้งหลายทำกันเอง ดังนั้นกรมสรรพากรจึงให้ส่งข้อมูลมาให้ ว่าแต่ละบัญชีได้รับดอกเบี้ยเท่าไหร่ แล้วสรรพากรจะนำตัวเลขมาจับกันเอง ใครรวมกันทุกบัญชีแล้วดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท ก็จะเก็บภาษี ใครไม่เกินก็ไม่มีการเก็บภาษี” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หากแบงก์ทำระบบของตัวเองดี ก็จะไม่เกิดกรณีเลี่ยงภาษีขึ้น โดย 5 แบงก์ขนาดใหญ่มีการรวมดอกเบี้ยทุกบัญชี หากเจอลูกค้าที่ได้รับดอกเบี้ยเกินก็จะมีการหักภาษีไว้ แต่จะมีแบงก์ขนาดกลางลงมาที่ยังทำไม่ถูกต้อง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเกณฑ์เดิม เพียงแต่ของเดิมให้ส่งข้อมูลเป็นเอกสารที่เป็นกระดาษ แต่หลังจากนี้จะให้ส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมจึงต้องออกประกาศใหม่ออกมา

“ที่ผ่านมา เราไม่รู้ว่าแบงก์ขอให้ลูกค้ายินยอมให้รายงานข้อมูลหรือเปล่า แต่เพื่อทำให้ถูกต้อง ก็เลยให้ระบุในประกาศ” นายเอกนิติกล่าว

นายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมมีมาตรการยกเว้นภาษีให้ผู้ฝากเงินบัญชีออมทรัพย์ที่มีดอกเบี้ยทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี (รวมทุกบัญชีทุกแบงก์) แต่เนื่องจากระบบแบงก์ในอดีตไม่ได้เชื่อมโยงกัน จึงทำให้ตรวจสอบยาก

“ตามกฎหมายแล้ว ถึงปิดบัญชีแล้วเปิดใหม่ ถ้ารวมกันแล้วเกิน 20,000 บาท/ปี ก็ต้องเสียภาษีอยู่ดี แต่ในทางระบบอาจจะไม่เห็น กรมก็ศึกษามา 1-2 ปี ซึ่งพอเราเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี ก็พยายามเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆเข้ามาที่กรม ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องเบี้ยประกันสุขภาพ คราวนี้ก็เหมือนกันให้แบงก์รายงาน โดยดอกเบี้ยออมทรัพย์จะจ่ายทุกครึ่งปี ตอน มิ.ย. กับ ธ.ค. ดังนั้นก็ต้องส่งรายงาน พ.ค. กับ พ.ย. ซึ่งเริ่มรอบ พ.ค.ปีนี้” นายปิ่นสายกล่าว

นายปิ่นสาย กล่าวว่า เนื่องจากมีกฎหมายข้อมูลข่าวสาร กรมจึงเขียนในประกาศไว้เลยว่า ให้แบงก์ไปทำความยินยอมกับลูกค้าเงินฝากออมทรัพย์ทุกรายให้เรียบร้อย เพื่อยินยอมให้รายงานข้อมูลต่อกรมสรรพากร โดยหากลูกค้าไม่ให้ความยินยอม ก็จะต้องถูกหักภาษี จะไม่ได้รับการยกเว้นกรณีดอกเบี้ยต่ำกว่า 20,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าข่ายคือ ต้องมีเงินฝาก 4 ล้านบาทขึ้นไป (คิดจากอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% ต่อปี) ซึ่งปัจจุบันสรรพากรมีรายได้ส่วนนี้หลักพันล้านบาท และจากแนวทางนี้น่าจะเก็บได้เพิ่มอีกราว 1,000 ล้านบาท

“ประชาชนที่มีเงินฝากออมทรัพย์ไม่มาก จะไม่ได้รับผลกระทบเลย เพราะกว่า 99% ของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีกว่า 80 ล้านบัญชี มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาท แล้วถูกหักภาษีไว้ เพราะไม่ได้ยินยอมให้แบงก์ส่งข้อมูล ตรงนี้ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีแล้วขอคืนภาษีอีกที” นายปิ่นสายกล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0