โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คลอด4มาตรการคุมฝุ่นพิษ ห่วงเด็ก2รร.ประกาศหยุด

ไทยโพสต์

อัพเดต 23 ม.ค. 2562 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 23 ม.ค. 2562 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

    ฝุ่นพิษยังไม่ลด กระทรวงทรัพยากรฯ คลอดมาตรการ 4 ระดับ เตรียมชงหั่นค่าฝุ่นจาก 90  มคก./ลบ.ม. เหลือ 70 มคก./ลบ.ม.ในวิกฤติระดับ 3 เพื่อให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจสั่งเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ “ศรีสุวรรณ” ก็ร้องศาลปกครองให้ประกาศเช่นกัน “2 โรงเรียน” ประกาศหยุดหนี PM2.5 แล้ว     เมื่อวันพุธที่ 23 ม.ค. กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน  2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่า พื้นที่ริมถนนเกินค่ามาตรฐาน (50  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) มี 11 พื้นที่ และพื้นที่ทั่วไปเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ทุก 6 พื้นที่  โดยขอความร่วมมือประชาชนงดการเผาในที่โล่งทุกประเภท งดการใช้รถยนต์ควันดำอย่างเด็ดขาด และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งมวลชน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวการจราจร ทั้งนี้คาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอากาศลอยตัวได้ดีขึ้น ลมพัดแรงขึ้น ช่วยเจือจางฝุ่นรวมถึงในวันที่ 24 ม.ค.ด้วย     ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส.ได้แถลงข่าวการแก้ปัญหาฝุ่นว่า ได้เตรียมแผนปฏิบัติการแก้ไขไว้ 4 ระดับ และจะยกระดับความเข้มข้นของมาตรการตามความรุนแรงของสถานการณ์ โดยระดับที่ 1 หากมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 50 มคก./ลบ.ม.อยู่ที่ 51-90 มคก./ลบ.ม. จะเพิ่มความเข้มข้นของการดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ ตรวจจับควันดำ 20 จุดรอบกรุงเทพฯ ตรวจวัดควันดำเคลื่อนที่เร็ว 5 ชุด จัดชุดตรวจการ 16 ชุด ตรวจรถ ขสมก. เร่งคืนพื้นผิวจราจรในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า ฉีดพ่นน้ำแรงดันสูง 8 คัน เพิ่มความถี่กวาดล้างทำความสะอาดถนน และงดเผาในพื้นที่ 5 จังหวัด      ระดับที่ 2 หากปริมาณฝุ่นเกิน 90 มคก./ลบ.ม.ติดต่อกัน 3 วัน ครอบคลุมทั้งพื้นที่ ให้ยกเป็นระดับสถานการณ์รุนแรง เช่น ลดจำนวนยานพาหนะ ชะลอหรือหยุดการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า การปรับเปลี่ยนและแก้ไขแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับ 1-2 ซึ่งหน่วยงานรัฐได้ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อลดปริมาณฝุ่นแล้ว      ระดับที่ 3 คือ มีค่าฝุ่นเกิน 90 มคก./ลบ.ม.ติดต่อกัน 3 วัน ครอบคลุมทั้งพื้นที่ โดยผู้ว่าฯ กทม.และปริมณฑลจะใช้อำนาจตามมาตรา 28/1 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข 2535 ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ และมีอำนาจยุติกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษได้ทันที โดยจะใช้อำนาจเฉพาะพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นเกินเท่านั้น ไม่ต้องยึดตามค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองจากทุกพื้นที่     และระดับที่ 4 หากดำเนินการทั้ง 3 ระดับแล้ว ค่าฝุ่นยังเกิน 90 มคก./ลบ.ม. จะเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล) พิจารณามาตรการแก้ปัญหาเสนอให้นายกฯ ใช้อำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 สั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ร่วมกันกระทำการใดๆ เพื่อระงับหรือลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5      “คณะกรรมการควบคุมมลพิษที่มีนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัด ทส.เป็นประธาน ร่วมประชุมกับผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกลั่นกรองค่าฝุ่นละอองในขั้นวิกฤติระดับ 3 จาก 90 มคก./ลบ.ม. เป็น 70 มคก./ลบ.ม. หรือไม่ หากเห็นชอบจะเสนอ กก.วล.พิจารณามาตรการ และเสนอให้นายกฯ เพื่อให้ผู้ว่าฯ กทม.และปริมณฑลดำเนินตามอำนาจดังกล่าวต่อไป” พล.อ.สุรศักดิ์ระบุ     พล.อ.สุรศักดิ์ยังกล่าวถึงมาตรการฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศเพื่อลดฝุ่นว่า ทส.จะร่วมกับภาคเอกชนทำการทดลองฉีดพ่นละอองน้ำที่มีขนาดเล็กพอๆ กับฝุ่น PM2.5 ในบริเวณชั้น 20 ของตึกกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นที่กรมอุตุฯ คาดว่าจะกลับมารุนแรงอีกครั้งในวันที่  28-29 ม.ค.นี้ ทั้งนี้หากใช้ได้ผลดีจะนำไปใช้ในพื้นที่ตึกสูงอื่นต่อไปในกรุงเทพฯ      สำหรับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  มีดำริห้ามจอดรถติดเครื่องยนต์ในสถานที่ราชการนั้น พบว่า พ.ต.อ.กัมปนาท ณ วิชัย ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 ทำเนียบรัฐบาล ได้สั่งการตำรวจในทำเนียบฯ ให้เข้มงวดเองดังกล่าว  โดยตำรวจได้ขึ้นรถยืนไฟฟ้า (เซกเวย์) ซึ่งมีป้ายข้อความระบุว่า “จอดรถกรุณาดับเครื่องยนต์” วิ่งตรวจรอบทำเนียบฯ ทุกตึก โดยจะดำเนินการต่อเนื่องแม้สถานการณ์ฝุ่นจะหายไปก็ตาม     ขณะที่นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจและเฝ้าระวังโรงงานเสี่ยงที่จะก่อมลพิษทางอากาศในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ โดยตรวจแล้ว 470 โรงงาน ไม่พบโรงงานที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.5 ไมครอน     ด้านนายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้รับรายงานว่ามีโรงเรียนเอกชน 2 แห่งคือ โรงเรียนเพลินพัฒนา เขตทวีวัฒนา และโรงเรียนรุ่งอรุณ เขตบางขุนเทียน ที่ประกาศปิดการศึกษาชั่วคราวระหว่างวันที่ 23-25 ม.ค.62 เนื่องจากผลกระทบสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5      นางสุนิสา ชื่นเจริญสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ ระบุว่า ได้ออกประกาศให้ผู้ปกครองทราบ เรื่องการหยุดเรียนชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพราะแม้ครูประจำชั้นได้กำชับให้นักเรียนสวมหน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน แต่สถานการณ์จริงพบว่า การให้เด็กเล็กสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเป็นเรื่องยาก เนื่องจากขนาดสรีระไม่เหมาะ รวมทั้งการจำกัดกิจกรรมไว้แต่ในห้องเรียนทำให้เด็กเกิดความเครียด ดังนั้น รร.จึงปิดการเรียน     ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การปิดเรียนนั้นอยู่ที่การพิจารณาและการประเมินสถานการณ์ของแต่ละโรงเรียน ไม่ใช่ให้ สธ.หรือ กทม.ไปสั่งปิดทั้งหมด  เพราะต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ค่าฝุ่นขึ้นลงในแต่ละวันไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อย่างกรณี รร.รุ่งอรุณมีการประชุมหารือกันแล้วว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็ออกประกาศสั่งปิดเรียน ส่วนกรณี รร.สาธิตจุฬาฯ ปิดเรียนนั้นมาจากเรื่องไข้หวัดใหญ่ ถือเป็นคนละเรื่องกันกับฝุ่นละออง      วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้มายื่นคำร้องและเอกสารเพิ่มเติมต่อศาลปกครองตามที่สมาคมฯ ได้ยื่นคำฟ้องไว้ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.62 โดยมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นพิษยังคงทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องมากว่า 3 วันแล้ว และมาตรการ 9 ข้อของนายกฯ และมาตรการของกรมควบคุมมลพิษและ กทม.ไม่บังเกิดผลแต่อย่างใด     โดยสมาคมฯ ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ว่าฯ กทม.ใช้อำนาจตามมาตรา 28/1 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ออกประกาศกำหนดให้บริเวณพื้นที่ กทม.เป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญทั้งหมดภายใน 3 วัน หรือตามที่ศาลเห็นสมควร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่ผู้ว่าฯ  กทม.ประกาศกำหนด.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0