โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ครีมบำรุง บางตัวก็ต้องห้ามยามตั้งครรภ์

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 20 ส.ค. 2562 เวลา 07.15 น. • Motherhood.co.th Blog
ครีมบำรุง บางตัวก็ต้องห้ามยามตั้งครรภ์

ครีมบำรุง บางตัวก็ต้องห้ามยามตั้งครรภ์

อีกความกังวลใจของแม่ท้องคือเรื่องของเครื่องสำอาง ว่าที่คุณแม่หลายคนไม่กล้าใช้เครื่องสำอาง หรือแม้แต่ "ครีมบำรุง" ที่ใช้เป็นประจำ เพราะกลัวว่าจะมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ มาทำความเข้าใจเรื่องการใช้เครื่องสำอางของแม่ท้องกันดีกว่าค่ะ จะได้รู้ว่าตัวไหนที่ใช้ได้ ตัวไหนควรหลีกเลี่ยง

ปัญหาผิวพรรณของคุณแม่ช่วงตั้งครรภ์

ในช่วงไตรมาสแรก คุณแม่ท้องจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของฮอร์โมน โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อผิวพรรณของคุณแม่ ทำให้ผิวคล้ำขึ้นบริเวณซอกคอ รักแรก ขาหนีบ รอบหัวนม และมีเส้นสีดำกลางท้อง บางรายอาจมีฝ้าขึ้นบนใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณโหนกแก้ม หรือคุณแม่บางคนไม่เคยมีสิวเลย กลับมีสิวในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามาก ทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนได้ง่ายขึ้น เมื่อสภาพผิวเปลี่ยนแปลง คุณแม่จึงควรพิถีพิถันในการเลือกใช้เครื่องสำอางให้มากขึ้น

ฮอร์โมนที่เปลี่ยนช่วงตั้งครรภ์มีผลต่อสภาพผิวที่เปลี่ยนไป
ฮอร์โมนที่เปลี่ยนช่วงตั้งครรภ์มีผลต่อสภาพผิวที่เปลี่ยนไป

หลักการเลือกสกินแคร์สำหรับคนท้อง

ก่อนที่จะรู้ว่าสกินแคร์หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องสำอางต่างๆ ตัวไหนที่จะใช้ไม่ได้บ้าง มีหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญคือ หลักการดูดซึมของสารเข้าสู่กระแสเลือด เพราะส่วนผสมบางชนิดในสกินแคร์สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดของแม่และส่งผ่านรกไปยังลูกในครรภ์ ทำให้เกิดความผิดปกติต่อลูกได้ ดังนั้นทุกอย่างที่เราทาลงไปบนผิวจึงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นครีมบำรุง เซรั่ม ครีมกันแดด โทนเนอร์ ต้องเลือกให้ดีว่าไม่ผสมสารต้องห้าม ซึ่งสารเหล่านี้มีแค่ไม่กี่อย่างเท่านั้น แต่ด้วยความที่ส่วนผสมเหล่านี้มักจะเขียนมาเป็นชื่อเคมีในภาษาอังกฤษ จึงทำให้ยากแก่การตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ตัวใดบ้างที่มีส่วนผสมของสารต้องห้ามเหล่านี้อยู่

12 ผลิตภัณฑ์ความงามที่มักพบสารต้องห้ามระหว่างตั้งครรภ์

1. ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ

ต้องสังเกตตรงส่วนประกอบให้ดี ถ้าไม่มีอะลูมิเนียม คลอไรด์ (Aluminum Chloride Hexahydrate) เป็นใช้ได้ เนื่องจากอะลูมิเนียม คลอไรด์ สามารถซึมเข้าผิวหนังและผ่านไปถึงรกหรือน้ำนม ทำให้ลูกในครรภ์ได้รับไปด้วย และอาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

2. สารเคมีในกลุ่มของ BHA (Beta Hydroxide Acids)

ส่วนมากจะมี Salicylic acid, 3-Hydroxypropionic acid, Trethocanic acid และ Tropic acid เนื่องจากเป็นสารที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ในประเทศไทยเรา ทางอย. ได้มีข้อกำหนดให้ใช้ Salicylic acid ในผลิตภัณฑ์ได้ไม่เกิน 2% จึงสามารถใช้ได้ เพราะมีความเข้มข้นไม่มาก

3. ครีมกันแดด

ครีมกันแดดที่ไม่ควรใช้ คือครีมกันแดดที่มีส่วนผสมดังต่อไปนี้ Avobenzone Homosalate Octocrylene Oxybenzone Oxtinoxate Menthyl Anthranilate และ Oxtocrylene เพราะสารเคมีเหล่านี้จะเข้าไปรบกวนระบบฮอร์โมนในร่างกาย

4. ครีมหรือยารักษาฝ้า

ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์รักษาฝ้าที่มีส่วนผสมของสาร Hydroquinone Idrochinone และ Quinol/1-4 Dihydroxy Benzene/1-4 Hydroxy Benzene เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์บางตัวของร่างกาย และระคายเคืองต่อผิว จนอาจจะทำให้เกิดอาการผิวบาง แพ้แสงแดดได้ด้วย

5. ไวเทนนิ่ง

ระหว่างตั้งครรภ์ บางคนจะมีผิวที่แพ้ง่ายขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงผลิตภัฑณ์ที่มีส่วนผสมของ สารที่ช่วยผลัดผิว ได้แก่ กรดผลไม้หรือ AHA เพราะอาจเกิดการระคายเคืองได้ หากต้องการใช้ควรเริ่มจากความเข้มข้นต่ำก่อน เพราะจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยมาก รวมถึงไม่ควรขัดถูหรือสครับผิวบ่อยเกินความจำเป็น โดยเฉพาะการใช้บริการตาสถานเสริมความงาม ที่มักให้บริการด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นสูงกว่าที่ผู้บริโภคหาซื้อได้เองตามท้องตลาด หรือมีการจ่ายผลิตภัณฑ์แบบกิน ควรงดเว้นไปก่อน เพราะกรดวิตามินเอแบบกินมีผลต่อการตั้งครรภ์โดยตรง คือมีผลต่อการสร้างอวัยวะของตัวอ่อนในครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ 1-3 เดือนแรก โดยมีผลต่อระบบหัวใจ ระบบประสาท และกระจกตา

สิวขึ้นเพราะฮอร์โมนเปลี่ยน จึงต้องเลือกยาทาสิวที่ปลอดภัย
สิวขึ้นเพราะฮอร์โมนเปลี่ยน จึงต้องเลือกยาทาสิวที่ปลอดภัย

6. ยารักษาสิว

ต้องเช็คผลิตภัณฑ์ในกลุ่มรักษาสิวให้ดีว่ามีส่วนผสมต้องห้ามหรือไม่

  • สารในกลุ่ม Retinoids ผลิตภัณฑ์รักษาสิวตัวไหนที่ผสมสารนี้ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์

  • Retinol (วิตามินเอ)

    • Retinoic acid (กรดวิตามินเอ)
    • Retinaldehyde
    • Retinyl Esters
    • กลุ่มอนุพันธ์กึ่งสังเคราะห์ เช่น Adapalene
  • Benzoyl Peroxide ไม่มีอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ แต่อาจเกิดความระคายเคืองต่อผิวหน้าคุณแม่ จึงควรเลือกใช้ในความเข้มต้นต่ำกว่า 5%

สารเหล่านี้  ถ้าได้รับประทานขณะตั้งครรภ์สามารถทำให้เด็กเกิดความผิดปกติหรือแท้งได้ โดยปกติคุณหมอจะหลีกเลี่ยงการให้ยากลุ่มนี้ทั้งในรูปของยารับประทานและชนิดทาที่ผิวหนัง

7. พาราเบน (Parabens)

เป็นสารกันเสียและสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และมีการตกค้างของสารเคมีในร่างกายเมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน อาจจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ให้หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมเหล่านี้ Propyl Butyl Isopropyl Isobutyl และ Methyl Parabens

8. น้ำยายืดผมและกาวต่อขนตา

ผลิตภัณฑ์สองประเภทนี้มักจะมีส่วนผสมชองสารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) Quaternium-15 Dimethyl-Dimethyl (DMDM) Hydantoin Imidazolidinyl Urea Diazolidinyl Urea Sodium Hydroxymethylglycinate และ 2-Bromo-2-Nitropropane-1 3-Diol (Bromopol) เนื่องจากสารเหล่านี้เป็นสารระเหยที่มีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและผิวหนัง

9. ผลิตภัณฑ์ใส่ผม ครีมกำจัดขน และน้ำยาดัดผม

ในผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มักมีส่วนผสมของ Thioglycolic acid Labeled Acetyl Mercaptan Mercaptoacetate Mercaptoacetic acid และ Thiovanic acid ซึ่งสามารถทำให้ระบบทางเดินหายใจและผิวหนังระคายเคือง

10. ยาทาเล็บ

ในยาทาเล็บมักจะมีสาร Toluene Methylbenzene Toluol และ Antisal 1a ที่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้ทารกมีความพิการ และทำให้สมองเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น

11. น้ำหอม

ในน้ำหอมบางชนิดอาจมีพบสาร Phthalates Diethyl และ Dibutyl ที่สามารถทำให้ระบบทางเดินหายใจและระบบประสาทเกิดการระคายเคือง ส่งผลทำให้ปวดและเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน และเลวร้ายที่สุดคือสามารถทำลายอวัยวะภายในได้เลยทีเดียว

12. สบู่และแชมพู

ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ Diethanolamine (DEA) Oleamide DEA Lauramide DEA และ Cocamide DEA เนื่องจากทำให้ผิวหนังเกิดอาการระคายเคืองได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในส่วนผสมมีเกลือไนเตรท (Nitrates) อยู่ด้วยจะเกิดเป็น Nitrosodiethanolamine (NDEA) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งทันที

เพราะสารในครีมบางตัวสามารถซึมป่านไปยังทารกในครรภ์ได้
เพราะสารในครีมบางตัวสามารถซึมป่านไปยังทารกในครรภ์ได้

หากเกิดอาการแพ้ต้องทำอย่างไร?

หากคุณแม่พบอาการระคายเคืองผิว เป็นตุ่มพอง ตุ่มใส มีน้ำเหลืองซึม หรือมีผื่นแดง แสบ คัน ให้หยุดใช้เครื่องสำอางนั้นทันที สักพักอาการจะทุเลาลง แต่ถ้าไม่หายหรือกลับมาเป็นมากขึ้น แนะนำให้พบคุณหมอผิวหนังทันที

ที่สำคัญ เมื่อไปรับบริการดูแลผิวพรรณ คุณแม่ควรแจ้งคุณหมอหรือพนักงานด้วยทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ เพื่อที่คุณหมอจะได้จ่ายยาที่ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

เมื่อคุณแม่รู้แบบนี้แล้ว ควรอ่านส่วนผสมหรือส่วนประกอบบนฉลากทุกครั้งก่อนการตัดสินใจซื้อ หรือดูของที่ใช้อยู่ว่ามีสารเคมีต้องห้ามบ้างรึเปล่า แต่ถ้าไม่แน่ใจจริงๆ แนะนำว่าเลิกใช้ไปก่อนน่าจะเป็นการป้องกันที่ดีที่สุดค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0