โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ครั้งแรก "จุฬาฯ" ออกประกาศให้นิสิตแต่งกายตามเพศสภาพได้

Thai PBS

อัพเดต 12 พ.ย. 2562 เวลา 10.51 น. • เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 11.32 น. • Thai PBS
ครั้งแรก

มิตรภาพที่ดีและสวยงาม อาจเกิดจากความหลากหลายในความคิดที่เห็นต่าง แต่สิ่งเหล่านั้น ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ

คือข้อความที่ "จิรภัทร" นิสิตข้ามเพศ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก พร้อมหนังสือประกาศ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พิจารณาอนุญาตให้นิสิตข้ามเพศ สามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ หลังจากก่อนหน้านี้ จิรภัทร เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) เพื่อขอให้คืนสิทธิในการแต่งกายและการใช้ชีวิตตามเพศสภาพในรั้วมหาวิทยาลัย

หนังสือ ลงประกาศไว้ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 เรื่อง การแต่งกายของนิสิตไว้ 7 ข้อ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญระบุว่า

นิสิตอาจแต่งเครื่องแบบตามเพศกำเนิดหรือเพศที่แสดงออกก็ได้

จิรภัทร ยังขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ช่วยนิสิตข้ามเพศทุกคน ได้รับความเท่าเทียม ในการแสดงออกทางเพศสภาพ ที่สอดรับกับ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ทั้งบัณฑิตหญิงข้ามเพศคนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วลพ. นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ครอบครัว รวมถึง บุคลากร และฝ่ายบริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมผลักดัน ทำให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย

เกือบ 1 ปี ในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2561 เมื่อ จิรภัทร ถูกอาจารย์พิเศษ สั่งห้ามแต่งกายตามเพศสภาพเข้าชั้นเรียน และอ้างว่าถูกอาจารย์พูดเหยียดเพศตลอดการสอน

11 ม.ค.2562 คณะครุศาสตร์ มีคำสั่งถอนคำร้องขอแต่งกายตามเพศภาพของจิรภัทร ที่เคยยื่นขอไว้ตั้งแต่เข้าเรียน

14 ม.ค.2562 จิรภัทร เดินทางพร้อมนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เข้าขอคำชี้แจงต่อทางมหาวิทยาลัย

16 ม.ค.2562 หลังกลายเป็นกระแสในวงกว้าง มหาวิทยาลัย มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับ จนกว่าคณะกรรมการพิจารณาฯ จะมีมติเป็นอย่างอื่น

29 ม.ค.2562 จิรภัทร และเพื่อนนิสิตอีก 2 คน พร้อมนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยื่นเอกสารขอแต่งกายในชุดนักศึกษาหญิงถูกต้องตามระเบียบ เพื่อประกอบคำร้องถึง วลพ. ผ่านกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรณีถูกเพิกถอนคำร้องขอแต่งกายตามเพศสภาพ

18 ก.พ.2562 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนุญาตให้จิรภัทร แต่งชุดนิสิตตามเพศสภาพได้

7 พ.ย.2562 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออก ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การแต่งกายของนิสิต พ.ศ.2562 ให้นิสิตอาจแต่งเครื่องแบบและชุดสุภาพตามเพศกำเนิดหรือเพศที่แสดงออกได้

นักปกป้องสิทธิฯ ชี้ ประกาศจุฬาฯ สร้างบรรทัดฐานใหม่

ก่อนหน้านี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนุญาตให้บัณฑิตแต่งกายตามเพศสภาพเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมไม่ระบุคำนำหน้านาม แต่ยังถูกมองว่าไปไม่ถึงความเท่าเทียม เนื่องจากนิสิตจะต้องเขียนคำร้องขอแต่งกาย ซึ่งขัดตามหลักสิทธิเสรีภาพที่ควรแสดงออก

นาดา ไชยจิตย์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ระบุกับทีมข่าวไทยพีบีเอส หลังรับทราบประกาศฉบับดังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี และถือเป็นความก้าวหน้าครั้งหนึ่งในแวดวงการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมา การที่นิสิตข้ามเพศถูกบังคับไม่ให้แต่งกายตามเพศสภาพ สร้างแรงกดดันให้กับนิสิตนักศึกษาเป็นอย่างมาก รวมถึงทัศนคติของบุคลากรในสถาบันการศึกษา ที่พบว่ายังมีการเหยียดในเรื่องเพศอยู่มาก

จุฬาฯ ที่เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเก่าแก่ อันดับต้น ๆ ของประเทศ ยังกล้าเปลี่ยนแปลงระเบียบให้สอดคล้องกับพลวัตของสังคม ที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ กล้าที่จะเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

2 ปี พบเรื่องร้องเรียน 22 กรณี

สถิติการร้องเรียนความไม่เป็นธรรม ไปยังคณะกรรมการ วลพ. ตั้งแต่ปี 2558-2560 ตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีผู้เสียหาย 22 คน ส่วนใหญ่พบในสถาบันการศึกษา เช่น การบังคับให้แต่งกาย หรือ ไว้ทรงผมตามเพศกำเนิด การเลือกปฏิบัติในการฝึกสอน รับเข้าทำงานในวิชาชีพครู รวมถึงการสวมชุดครุยตามเพศสภาพเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร แต่นี่ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ยังถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน หากมาตรฐานของสังคม ยังหยุดอยู่ที่การวัดความสามารถ ที่ว่าใคร เป็นเพศ ชาย หรือ หญิง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำเร็จ! บรรจุหลักสูตร “ความหลากหลายทางเพศ” ตั้งแต่ ป.1

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0