โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พบ ‘คลื่นความร้อน’ ในแอนตาร์กติกา

Xinhua

เผยแพร่ 31 มี.ค. 2563 เวลา 08.34 น.
ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พบ ‘คลื่นความร้อน’ ในแอนตาร์กติกา

ซิดนีย์, 31 มี.ค. (ซินหัว) -- แม้แต่ทวีปที่หนาวเหน็บที่สุดในโลกก็ยังไม่สามารถต้านทานอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงขึ้นทุกที เมื่อนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเปิดเผยว่า พวกเขาค้นพบ 'คลื่นความร้อน' ปรากฏในทวีปแอนตาร์กติกาเป็นครั้งแรก ในช่วงฤดูร้อนปี 2019-2020

คณะนักวิจัยจากโครงการแอนตาร์กติกาของออสเตรเลียเปิดเผยเมื่อวันอังคารว่า (31 มี.ค.) สถานีเคซีย์ (Casey) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของทวีปแอนตาร์กติกา บันทึกอุณหภูมิสูงสุดของดินแดนแห่งนี้เมื่อช่วงต้นปีได้สูงถึง 9.2 องศาเซลเซียส

ดร. ชารอน โรบินสัน อธิบายว่า "คลื่นความร้อน คือ ความร้อนที่ปรากฏต่อเนื่อง 3 วันโดยมีช่วงอุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุด"

ระหว่างวันที่ 23 ม.ค. - 26 ม.ค. สถานีบันทึกอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่สูงกว่า 0 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 9.2 องศาเซลเซียส

"ในประวัติการทำงาน 31 ปีของเคซีย์ ค่าสูงสุดที่เราเพิ่งวัดได้นี้สูงกว่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยทั้งหมดของสถานีถึง 6.9 องศาเซลเซียส ขณะที่ค่าต่ำสุดที่เราเพิ่งวัดได้ก็สูงกว่าอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยที่ 0.2 องศาเซลเซียส" โรบินสันกล่าว

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์กังวลว่าคลื่นความร้อนอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแอนตาร์กติกา ทั้งด้านบวกและลบ

ดร. ดานา เบิร์กสตรอม กล่าวว่า "สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ที่นี่อาศัยอยู่ในโอเอซิสขนาดเล็กที่ปราศจากน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา และพึ่งพาน้ำที่ได้จากการละลายของหิมะและน้ำแข็ง"

"น้ำท่วมที่เกิดจากการละลายเหล่านี้จะกลายเป็นน้ำที่เพิ่มขึ้นในระบบนิเวศแบบทะเลทราย ซึ่งนำไปสู่การเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ของมอส ไลเคน จุลินทรีย์ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำท่วมที่สูงเกินไปอาจทำลายที่อยู่อาศัยของพืชและเปลี่ยนองค์ประกอบของชุมชนสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและจุลินทรีย์"

เป็นที่เชื่อกันว่าความผิดปกติของอุณหภูมิมีส่วนเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาที่เกิดขึ้นในซีกโลกใต้ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนปี 2019 ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ได้รับอิทธิพลบางส่วนจากการเกิดหลุมโอโซนเร็วกว่าที่ควรช่วงปลายปี 2019 เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่ลุกลามอย่างรวดเร็วในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์

ดร. แอนดรูว์ เคลโคจิก นักวิทยาศาสตร์ด้านชั้นบรรยากาศ แผนกแอนตาร์กติกาของออสเตรเลีย (Australian Antarctic Division) กล่าวว่า ทั่วโลกต้องร่วมมือกันเพื่อซ่อมแซมและปิดช่องโหว่ในชั้นโอโซน เพื่อช่วยลดการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศของภูมิภาคแห่งนี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0