โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 17 ต.ค. 2561 เวลา 01.33 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ยกระดับสู่สากล-พบละเมิดผลงานจัดการได้ทันที

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ครอบคลุมสื่ออินเตอร์เน็ต เจ้าของเจอละเมิดผลงานเพลง ภาพยนตร์ เกม แจ้งถอดได้เลยไม่ต้องรอฟ้องศาล ขยายผลเอาผิดคนขายอุปกรณ์การแฮ็ก พร้อมคุ้มครองสิทธิ์ภาพถ่ายให้ตลอดอายุขัย และต่อไปอีก 50 ปีหลังเสียชีวิต

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ใหม่ ซึ่งเป็นการแก้ไขฉบับเดิมให้สอดคล้องกับการสมัครเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty) ซึ่งปัจจุบันมีภาคีสมาชิกทั้งหมด 96 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และเป็นการยกระดับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ของไทยจะได้รับการคุ้มครองและบังคับใช้สิทธิ์ได้อย่างเต็มที่ในกลุ่มประเทศภาคีสมาชิก และยังส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มดิจิทัล คอนเทนต์ ทั้งเพลง ภาพยนตร์ เกม แอนิเมชันต่างๆ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้สร้างผลงานของไทย รวมถึงต่างประเทศว่าจะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามมาตรฐานสากล สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0

“การเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาดังกล่าว จะต้องแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับปัจจุบันในบางเรื่อง เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อบัญญัติข้อจำกัดความรับผิดของไอเอสพี หรือผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลาง โดยนำกระบวนการแจ้งเตือนและการนำออกหรือ Notice and takedown มาใช้ ซึ่งหากเจ้าของผลงานไปเจอเว็บไซต์ใช้ผลงานของตนเองโดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถยื่น Notice ให้เขาถอดออกไปโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล จากปัจจุบันใช้ระบบของศาล คือต้องไปแจ้งความที่ศาล และศาลต้องมีคำสั่งระงับการละเมิด และให้ฟ้องคดีในระยะเวลาที่ศาลกำหนด กระบวนการนี้จะใช้เวลานานมาก และบางครั้งมีปัญหาเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้”

แต่ในกฎหมายฉบับใหม่นี้ จะเป็นความร่วมมือระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์กับไอเอสพี โดยเจ้าของลิขสิทธิ์จะแจ้งไปยังไอเอสพีเพื่อถอดออกจากหน้าเว็บไซต์ กระบวนการจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว แจ้งปุ๊บสามารถเอาลงได้ปั๊บ รวมทั้งทางไอเอสพียังได้รับสิทธิ์เซฟฮาร์เบอร์ คือในอนาคตหากมีคดีความทางศาลเกิดขึ้น ไอเอสพีที่ปฏิบัติตามกระบวนการและให้ความร่วมมือ จะไม่ต้องรับผิดชอบทางคดีความ

ขณะเดียวกัน ในร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องมาตรการทางเทคโนโลยีให้ครอบคลุมถึงกรณีการให้บริการหรือจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้หรือมีขึ้นเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี เพื่อให้การคุ้มครองลิขสิทธิ์เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยปัจจุบันจะเอาผิดได้เฉพาะคนไปละเมิดหรือไปแฮ็ก แต่ตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ กำหนดให้คนที่จำหน่ายอุปกรณ์เพื่อการแฮ็กหรือทำให้เกิดการละเมิดก็จะมีความผิดด้วย นอกจากนี้ยังแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องอายุการคุ้มครองภาพถ่ายเพื่อให้สอดคล้องสนธิ-สัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ กำหนดให้ประเทศภาคีต้องคุ้มครองภาพถ่ายตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ผลงานและอยู่ต่อไปอีก 50 ปีนับตั้งแต่เสียชีวิต

วันเดียวกัน ที่ประชุม ครม.ยังได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติหอการค้า (ฉบับที่…) พ.ศ. …และร่างพระราชบัญญัติสมาคมการค้า (ฉบับที่…) พ.ศ. …รวม 2 ฉบับ เพื่อแก้ไขกฎหมายเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2509 แก้ไขบทนิยามอำนาจหน้าที่ของหอการค้าและสมาคมการค้า การเลือกหอการค้าและสมาคมการค้า และการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมท้าย พ.ร.บ.ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเพิ่มค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหอการค้า เดิมฉบับละ 500 บาทเป็น 2,000 บาท และแก้ไขให้ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.

ขณะเดียวกัน มีแก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของหอการค้า ให้สามารถดำเนินการเพื่อส่งเสริมการค้า ทำสัญญากับภาครัฐ มีอำนาจเป็นพยานรับรองลายมือชื่อของบุคคลในเอกสารที่มีผู้รับรอง จัดส่งเสริมการค้าบริการตามกฎหมายระบุ หรือร่วมมือกับองค์กรอื่น โดยจัดสรรค่าตอบแทนระหว่างกันได้

นอกจากนี้ จากเดิมไม่ให้หอการค้าประกอบวิสาหกิจทุกประเภท ได้แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดข้อยกเว้น หากเป็นการประกอบวิสาหกิจเพื่อเป็นไปตามหน้าที่ของหอการค้า เช่น ส่งเสริมการค้าการบริการการประกอบอาชีพอิสระ รับปรึกษาและให้ข้อแนะนำแก่สมาชิกเกี่ยวกับการค้าให้สามารถกระทำได้ ขณะที่ในส่วนของสมาคมการค้า ได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ประกอบวิสาหกิจเพื่อส่งเสริมการค้าได้มากขึ้น เช่น ประกอบวิสาหกิจที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคมการค้านั้นๆ และได้ปรับปรุงใบอนุญาตสมาคมการค้าเดิมฉบับละ 500 บาท เป็น 1,500 บาท.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0