โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ครม.ไฟเขียวเชื่อมไฮสปีด ‘ไทย – ลาว – จีน’

The Bangkok Insight

อัพเดต 24 เม.ย. 2562 เวลา 11.47 น. • เผยแพร่ 24 เม.ย. 2562 เวลา 11.47 น. • The Bangkok Insight
ครม.ไฟเขียวเชื่อมไฮสปีด ‘ไทย – ลาว – จีน’

ครม. ไฟเขียว “คมนาคม” ลงนามความร่วมมือเชื่อม “ไฮสปีดสามประเทศ” กำหนดเซ็นสัญญาที่กรุงปักกิ่งสัปดาห์นี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (24 เม.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการจัดทำและลงนามร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์

พร้อมทั้งอนุมัติให้กระทรวงคมนาคมลงนามความร่วมมือดังกล่าว ในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (Belt and Road Forum for International Cooperation) ครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 เมษายน 2562 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายอาคมกล่าวต่อว่า ร่างความร่วมมือดังกล่าวมีสาระสำคัญเช่น การเชื่อมต่อโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน และโครงการรถไฟระหว่างจีน – ลาว จะเป็นการสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านระบบรางในภูมิภาค

ด้านการพัฒนาทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน (Standard gauge) 1.435 เมตร ของโครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์ ให้ใช้มาตรฐานทางเทคนิครถไฟของจีน รวมถึงมีการสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ ซึ่งจะตั้งอยู่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย – เวียงจันทน์) โดยบนสะพานจะมีทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร รองรับรถไฟความเร็วสูง และขนาดทาง 1 เมตร รองรับรถไฟธรรมดา

 

“สะพานแห่งใหม่จะเป็นสะพานสำหรับรถไฟโดยเฉพาะ มีรางขนาด 1.435 เมตร และจะย้ายรางรถไฟขนาด 1 เมตรจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 มาอยู่ที่สะพานแห่งนี้ด้วย โดยได้ตกลงกันให้ทางจีนเป็นตัวกลางในการศึกษา ออกแบบ ประเมินวงเงินการลงทุนสะพานแห่งใหม่ ส่วนงบประมาณลงทุนก็คงจะต้องออกกันคนละครึ่งระหว่างไทยกับลาว” นายอาคมกล่าว

สำหรับการดำเนินโครงการจะแบ่ง 2 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 จะพิจารณาให้จัดตั้งสถานีท่าและสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งในฝั่งไทยและฝั่งลาว เพื่อเชื่อมต่อโครงการรถไฟจีน – ลาว มายังโครงข่ายรถไฟขนาดทาง 1 เมตรที่มีอยู่ของประเทศไทย
  • ระยะที่ 2 โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย จะเชื่อมต่อกับสถานีดังกล่าวตามระยะที่ 1 เพื่อเชื่อมต่อโครงการรถไฟจีน – ลาว และโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน

นายอาคมยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน เฟสที่ 2  ช่วงนครราชสีมา – หนองคายว่า ปัจจุบันได้รับงบประมาณราว 750 ล้านบาทเพื่อเริ่มศึกษาออกแบบแล้ว คาดว่าในช่วง 2 เดือนจากนี้จะจัดจ้างที่ปรึกษางานออกแบบได้ โดยจะมีฝ่ายจีนเป็นผู้ช่วยในการออกแบบ เพื่อให้งานสอดคล้องกัน ขณะที่งบการลงทุนฝ่ายไทยจะทำการลงทุนเองทั้งหมด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0