โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

"ครม." เปิดแผนซับน้ำตาเกษตรกร ลุยไฟประกันภัยนาข้าว-ข้าวโพด

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 19 ก.พ. 2562 เวลา 02.30 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ครม.เห็นชอบประกันภัยนาข้าวและข้าวโพด รวมใช้งบ 1,861 ล้านบาท แบ่งเป็น 1,740 ล้านบาทให้รัฐร่วมจ่ายประกันภัยนาข้าว ปีการผลิต 2562 ภายหลังจากปีการผลิต 2561 ประสบความสำเร็จมากขึ้น พร้อมเพิ่มประกันภัยแบบสมัครใจ (Tier2) ให้เกษตรกรจ่ายเพื่อรับการคุ้มครองเพิ่มจากปกติ พร้อมเพิ่มคุ้มครองภัยจากช้างป่า รวมทั้งอนุมัติอีก 121 ล้านบาทใช้ทำประกันภัยข้าวโพด

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยอนุมัติงบประมาณ 1,740 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย ที่จะมีผู้จ่าย 3 ส่วน คือ รัฐบาล, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเกษตรกร ซึ่งเป็นการปรับจากเดิมที่รัฐบาลจ่ายให้หมด มาให้เกษตรกรร่วมจ่ายด้วย เพราะหลังจากที่ได้ทำโครงการนี้มา เกษตรกรได้เรียนรู้ถึงความคุ้มค่ามากขึ้น ขณะที่รัฐบาลก็ได้บริหารจนได้ผู้เข้าร่วมประกันภัยนาข้าวมากขึ้น เพียงพอจนเกิดความคุ้มค่า ถ้าจำกันได้จะต่างจากสมัยก่อน ที่เวลาข้าวเสียหายจะได้ค่าคุ้มครอง 1,000 กว่าบาทต่อไร่ แต่เสียเบี้ยประกัน 700-800 บาท ทำให้คนไม่ค่อยอยากซื้อ แต่ช่วงหลังมานี้ค่าเบี้ยประกันถูกลง เพราะทำในเชิงพาณิชย์มากขึ้นและมีสมาคมต่างๆมาร่วมมือกัน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 8 ที่มีโครงการประกันภัยนาข้าว หลังเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และมีการปรับรูปแบบเรื่อยๆ โดยปี 2560 ประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อเทียบกับปีการผลิต 2559 โดย ณ วันสิ้นสุดการจำหน่ายกรมธรรม์ (15 ธ.ค.2561) มีเกษตรกรผู้เอาประกันภัย 1.92 ล้านราย พื้นที่เข้าร่วมโครงการ 27.60 ล้านไร่ หรือ 92% ของพื้นที่เป้าหมายสูงสุด 30 ล้านไร่ คิดเป็น 47% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งประเทศ ปรากฏว่ามีค่าสินไหมที่จ่ายให้เกษตรกร 1,541 ล้านบาท จากที่บริษัทประกันภัยรับเบี้ยประกันมา 2,670 ล้านบาท มีกำไร 1,129 ล้านบาท ขณะที่ปี 2,554 ขาดทุน 600 ล้านบาท และปี 2555 ขาดทุน 147 ล้านบาท

สำหรับปีการผลิต 2562 ได้มีการประกันภัย 2 แบบ คือ ประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) และการรับประกันภัยโดยสมัครใจ (Tier 2) แบ่งออกเป็นการรับประกันภัยพื้นฐาน มีเป้าหมายพื้นที่รวมไม่เกิน 30 ล้านไร่ แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ไม่เกิน 28 ล้านไร่ กลุ่มเกษตรกรทั่วไป ไม่เกิน 2 ล้านไร่ โดยมีค่าเบี้ยประกันภัยเท่ากันทุกพื้นที่ 85 บาท/ไร่ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) รัฐบาลอุดหนุน 51 บาท และ ธ.ก.ส.อุดหนุน 34 บาท โดยกลุ่ม 1.รัฐบาลอุดหนุน 58.02 บาท ธ.ก.ส. อุดหนุน 34 บาท

กลุ่ม 2.รัฐบาลอุดหนุน 58.02 บาท เกษตรกรจ่ายเอง 34 บาท ขณะที่การรับประกันภัยร่วมจ่ายโดยสมัครใจ มีเป้าหมายพื้นที่ไม่เกิน 5 ไร่ โดยกลุ่มที่ 1 และ 2 จ่ายเพิ่มจาก Tier 1 ในอัตราที่แตกต่างกันตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ แบ่งเป็นความเสี่ยงต่ำ 6.42 บาทต่อไร่ ความเสี่ยงปานกลาง 17.13 บาทต่อไร่ ความเสี่ยงสูง 27.82 บาทต่อไร่ โดยมีระยะเวลาขายประกันตั้งแต่วันที่ ครม.เห็นชอบจนถึง 30 มิ.ย.นี้ ยกเว้นภาคใต้ ถึงวันที่ 15 ธ.ค.นี้

สำหรับวงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น อากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็งลูกเห็บ ไฟไหม้ และมีเพิ่มเติมใหม่ คือ ภัยช้างป่า โดย Tier 1 มีวงเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ และ Tier 2 มีวงเงินคุ้มครอง 240 บาทต่อไร่ รวมไม่เกิน 1,500 บาทต่อไร่ ส่วนภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด Tier 1 คุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ และ Tier 2 คุ้มครอง 120 บาทต่อไร่ รวม 750 บาทต่อไร่

“ครม.ได้มีมติเห็นชอบ ในหลักการโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 วงเงิน 121.80 ล้านบาท โดยใช้รูปแบบเหมือนประกันภัยข้าว แบ่งเป็น Tier 1 ที่ 3 ล้านไร่ และ Tier 2 ที่ 300,000 ไร่ โดย Tier 1 มีค่าเบี้ยประกัน 59 บาทต่อไร่ เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ เท่ากับ 64.2 บาทต่อไร่ รัฐออกให้ 40.6 บาทต่อไร่ ธ.ก.ส.ออกให้ลูกค้า 23.6 บาทต่อไร่ แต่ถ้าไม่ใช่ลูกค้า ธ.ก.ส.ให้ออกเอง ส่วน Tier 2 พื้นที่เสี่ยงสีเขียว 4.28 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลือง 11.79 บาทต่อไร่ ส่วนวงเงินคุ้มครองกรณี Tier 1 อยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่ และ Tier 2 อีก 240 บาทต่อไร่ รวม 1,740 บาทต่อไร่ ถ้าภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดได้รับครึ่งหนึ่ง”.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0