โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ครม.นัดพิเศษ เห็นชอบใช้วงเงิน 10% จีดีพี อุ้ม ศก.ไทย สู้โควิด-19

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics

อัพเดต 03 เม.ย. 2563 เวลา 10.48 น. • เผยแพร่ 03 เม.ย. 2563 เวลา 10.20 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ครม.นัดพิเศษ เห็นชอบใช้วงเงิน 10% จีดีพี อุ้ม ศก.ไทย ภายใต้ โควิด-19 อนุมัติออก พ.ร.ก.3 ฉบับ ให้ ธปท.ออกเงินกู้ดอกฯ ต่ำ-ให้อำนาจ ซื้อตราสารหนี้เอกชนครบกำหนด และ พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 

วันที่ 3 เม.ย. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ถึงมาตรการเยียวยาและดูแลระบบเศรษฐกิจชุดที่ 3 โดยนายสมคิด เปิดเผยว่า ครม.นัดพิเศษได้เห็นชอบมาตรการชุดพิเศษที่จะใช้วงเงินดำเนินการทั้งสิ้นคิดเป็น 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ผ่านการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ เป็นของ ธปท. 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนด โดยใช้เงินของ ธปท.เอง ส่วนกระทรวงการคลัง จะออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ส่วนจะเป็นวงเงินเท่าไรจะต้องไปดูผลจากการให้ทุกกระทรวงตัดงบประมาณ 10% เฉพาะงบส่วนที่ตัดได้ โดยไม่เกี่ยวเงินเดือนและค่าจ้างก่อน

“มาตรการนี้เป็นชุดพิเศษ ชุดใหญ่ที่จะดูแลครอบคลุมทุกมิติ และครอบคลุมดูแลช่วง 6 เดือนจากนี้ไป เป็นอย่างน้อย เพื่อให้มีการฟื้นฟู และมาตรการดูแลประชาชน ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวม วงเงินที่ต้องใช้ ประมาณ 10% จีดีพี โดยจะนำรายละเอียดเข้าครม.อีกครั้ง วันที่ 7 เม.ย. ซึ่งวงเงินดังกล่าวไม่ใช่กู้ทั้งหมด ส่วนหนึ่งจะเอามาจากงบประมาณที่สามารถตัดได้ อีกส่วนเป็นวงเงินของ ธปท. ฉะนั้นที่กู้จริงจะน้อยกว่าวงเงินรวม ส่วนการตัดงบประมาณ เบื้องต้นทุกกระทรวงยินดีตัดงบในส่วนที่ตัดได้มาให้ จะเป็นประเภทของงบตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และงบที่กันไว้สำหรับชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง อีกทั้งมาตรการที่ออกมาจะไม่จบอยู่แค่นี้ โดยรัฐบาลจะดูความเหมาะสมและออกมาทีละชุดตามสถานการณ์”
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีความไม่แน่นอน และมีแนวโน้มขยายเพิ่ม ธปท.จึงเสนอ ครม.อนุมัติการออก พ.ร.ก.ให้ ธปท.จัดวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเคยทำมาแล้วในปี 2555 หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในครั้งนั้น มีวงเงิน 300,000 ล้านบาท แต่ในคราวนี้จะมีวงเงินที่ใหญ่กว่าที่ธนาคารออมสินได้ออกให้ธุรกิจขนาดกลางและย่อมไปแล้ว ที่ 150,000 ล้านบาท ส่วน พ.ร.ก.อีกฉบับให้อำนาจ ธปท.เข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชน เพื่อป้องกันวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้น และช่วยให้สถาบันการเงินเป็นเสาหลักสำคัญให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ ต้องให้แน่ใจว่าตลาดการเงินทำหน้าที่ได้ปกติ ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และธปท.จึงร่วมพิจารณากลไกช่วยดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่มีขนาด 3.5 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับขนาดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ 14 ล้านล้านบาท เท่ากับตลาดตราสารหนี้ใหญ่ขึ้นมาก มีผู้ซื้อครอบคลุมประชาชนหลากหลายประเภท เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และมีธุรกิจจำนวนมากกู้ตราสารหนี้

"หากเศรษฐกิจโลก ลามมากระทบเศรษฐกิจไทย จะทำให้ตลาดตราสารหนี้เอกชนทำหน้าที่ได้ไม่ปกติ ธปท.จึงเสนอ ครม. ออกพ.ร.ก.ให้ ธปท.เข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดแต่ก็จะเข้าไปซื้อเฉพาะตราสารหนี้ของบริษัทที่คุณภาพดีเท่านั้น ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปกติได้” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว…

นอกจากนี้ ธปท.ให้ขยายระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝากที่ 5 ล้านบาทต่อราย ต่อไปอีก 1 ปี จากเดิมที่ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 นี้จะลดวงเงินการคุ้มครองเงินฝาก โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เหลือ 1 ล้านบาทต่อราย และให้ลดวงเงินการนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ เพื่อชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) จากเดิม 0.46% เหลือ 0.23% เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำส่วนต่างนี้ไปลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้าได้

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ในส่วนของการดูแลเศรษฐกิจจริงที่จะทยอยมีมาตรการออกมาจะประกอบด้วยการดูแล 3 กลุ่ม มาตรการต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ยังไม่มีครอบคลุมถึง ประกอบด้วย กลุ่มแรก เกษตรกร ผู้ประกอบการและลูกจ้าง ทั้งในและนอกระบบประกันสังคม ลูกจ้างประจำและชั่วคราว กลุ่มที่ 2 การดูแลเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง จะประกอบด้วยการจัดสรรงบประมาณเพื่อไปต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 โดยตรง งบประมาณที่จะลงไปยังท้องถิ่น หรือโลคอลอีโคโนมี เนื่องจากขณะนี้มีแรงงานกลับสู่ภูมิลำเนาจำนวนมาก รวมถึงการลงทุนในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม และกลุ่มที่ 3 การดูแลผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่เป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ ให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอ

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0