โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คนไทยตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติก 18% มากเป็นอันดับ 1 ของโลก

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 02 มี.ค. 2563 เวลา 04.03 น. • BLT Bangkok
คนไทยตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติก 18%  มากเป็นอันดับ 1 ของโลก

ผลสำรวจชี้ คนไทยตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก เป็นผลจากการรับรู้เรื่องผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการตายของ ‘มาเรียม’ พะยูนที่เสียชีวิตจากพลาสติกขนาดเล็กที่อุดตันในลำไส้, ฝุ่น PM2.5 ที่เราเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ และ ‘ขยะพลาสติก’ ที่ถือเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอย่างยิ่ง

ปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องใหญ่ของคนไทย

ไทยยังคงเป็นอันดับ 6 ของโลก สำหรับประเทศที่มีขยะพลาสติกสะสมมากที่สุด ซึ่งภาครัฐเองได้ออกมาตรการ“โรดแมพจัดการขยะพลาสติกปี 2018” โดยเริ่มจากการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการจนเกิดโครงการ “Everyday Say No to Plastic Bag” โดยร้านค้าปลีกกว่า 70 รายทั่วประเทศงดแจกถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563

จากผลการสำรวจของ Kantar (คันทาร์) ผู้นำด้านข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาการตลาดระดับโลก พบว่า ขยะพลาสติก เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยตระหนักมากที่สุดเป็นอันดับ 1 สูงถึง 18% มากกว่าค่าเฉลี่ยจากผลสำรวจประชากรทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 15% ของผู้คนทั้งหมด

โดย 63% ของคนไทยมองว่าขยะพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหลักติด 5 อันดับแรก ซึ่ง 1 ใน 3 ของคนไทยเชื่อว่าคนที่ควรรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกคือ ‘ตัวเราเอง’ แสดงให้เห็นว่า คน ไทยตระหนักถึงปัญหาพลาสติกและ อยากที่จะออกมาร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งนับเป็นสัญญาณดีในการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงโลก

Eco-Doer เทรนด์ใหม่ของสายอีโค่

จากผลการสำรวจของ Kantar พบว่า ประเทศไทยมีคนอยู่ 12% ที่เป็น “Eco-Doer” คือ คนที่ลงมือลดขยะพลาสติกผ่านการพกถุงผ้า ขวดน้ำรีฟิล หรืองดรับช้อนส้อมพลาสติกจากร้านค้า

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจชี้ว่า คนกลุ่ม Eco-Doer ยังคงซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงยังอยู่ในระดับเบื้องต้นและยังไม่มากพอที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งถือเป็นโจทย์ยากสำหรับภาครัฐ รวมไปถึงผู้ประกอบการที่จะต้องทำความเข้าใจถึง “Green gap” ช่องว่างสีเขียวระหว่างความเชื่อมั่นและการกระทำ ว่าจะทำอย่างไรให้มีการแก้ไขอย่างจริงจัง และในฐานะผู้บริโภคต้องมีความพร้อมในการเลือกใช้แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยในการลดขยะพลาสติก การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากทุกคนและทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ยังพบว่า 35% มองว่า “ผู้ผลิต” เป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยการลดปริมาณพลาสติกหรือเปลี่ยนวัสดุในบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งที่คาดหวังให้ผู้ผลิต   ทำ และผนวกไปกับความรับผิดชอบของผู้บริโภคเอง

โดยสิ่งที่ผู้บริโภคคนไทยคาดหวังจากผู้ผลิตมากที่สุดคือ การได้รับความช่วยเหลือในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของการแยกขยะ กำจัดขยะผ่านโครงการ CSR เช่น พื้นที่แยกขยะที่เข้าถึงง่ายและการให้ความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้ต่อเนื่อง และก้าวมาเป็นผู้สนับสนุนตามที่ผู้บริโภคต้องการอย่างแท้จริง

แยกขยะ สำคัญแค่ไหน

แม้จะเป็นที่ยอมรับว่า “การคัดแยกขยะ”  เป็นการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง แต่การทำให้ขยะไร้ค่าเหล่านี้มี “มูลค่าที่จับต้องได้” ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะขยะพลาสติก ที่ปัจจุบันมีราคาและมีการรับซื้อเพื่อนำไปรีไซเคิลหรือนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น

สำหรับ หมู่บ้านเอื้ออาทรรังสิตคลอง 10/2 ม.3 ต.บึงสนั่น อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกันจัดตั้งธนาคารขยะให้เป็นจุดรับซื้อขยะจากคนในชุมชน อย่างไรก็ตาม แม้จะช่วยลดปริมาณขยะได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังมีพลาสติกหลายชนิด เช่น ขวด PET สีต่างๆ ซองขนม ซองกาแฟ โดยเฉพาะถุงหูหิ้ว ถุงขนมขบเคี้ยวต่างๆ ซึ่งเป็นพลาสติกที่ขายไม่ได้ราคา จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของงานวิจัย “โครงการแผ่นลามิเนตจากขยะถุงพลาสติก” คือการนำขยะถุงพลาสติกมาทำเป็นแผ่นลามิเนต ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลายชนิด

ผศ.วรุณศิริ จักรบุตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า ในช่วงแรกเป็นการศึกษาคุณสมบัติของถุงหูหิ้ว จากนั้นจึงทำการพัฒนาเครื่องอัดความร้อนที่สามารถอัดให้ถุงหูหิ้ว 2-5 ชั้น ผสานเป็นแผ่นลามิเนตเนื้อเดียวกันได้ง่ายๆ พร้อมทั้งทดสอบว่าแผ่นลามิเนตมีคุณสมบัติที่ทนต่อแรงดึงแรงฉีกมากน้อยเพียงใด เมื่อได้ผลแล้ว จึงจัดให้มีการอบรมการใช้เครื่องกับคนในชุมชนให้สามารถผลิตแผ่นลามิเมตจากถุงหูหิ้วได้เอง

ทั้งนี้จะเห็นว่าปัจจุบันคนไทยรับรู้ถึงปัญหาของขยะพลาสติกและตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนเองที่ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข แต่ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้ายังคงไม่เปลี่ยนแปลงและยังมีอุปสรรคที่ท้าทายอยู่มากแต่ก็ถือเป็นโอกาสของภาครัฐและเอกชนที่จะแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำให้กับผู้บริโภคที่ต้องการความร่วมมือและช่วยเหลือ ทั้งปัจจัยพื้นฐานและความรู้ในการแก้ไขปัญหา และพร้อมที่จะเปลี่ยน แปลงไปด้วยกัน 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 3

  • 🐠 Fishing Sell 🐳
    ช่วยอบรมให้พนักงานเก็บขยะรู้จักการคัดแยกด้วยนะครับ เพราะถึงแยกให้ก็ไปเทรวมอยู่ดี พวกขยะที่ขายได้ก็ราคาตกจนซาเล้งไม่อยากรับซื้อ แล้วกฏหมายเรื่องทิ้งขยะก็ควรบังคับใช้จริงจังด้วย
    02 มี.ค. 2563 เวลา 06.38 น.
  • aWesome 😎 !!!
    แยกขยะ. แต่พอรถขนขยะมาก็เห็นเทรวมกันเหมือนเดิม
    02 มี.ค. 2563 เวลา 06.18 น.
ดูทั้งหมด