โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คนไทยดื่มนม 18 ลิตร/ปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

BLT BANGKOK

อัพเดต 19 มิ.ย. 2562 เวลา 09.30 น. • เผยแพร่ 19 มิ.ย. 2562 เวลา 09.26 น.
5abce89e4d5403131048c58d30eb6768.jpg

ผลสำรวจการบริโภคของคนไทยพบว่าดื่มนมเพียง 18 ลิตร/ปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ทั้งยังน้อยกว่าที่ WHO กำหนด พบข้อมูลกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุดื่มน้อย ขณะเดียวกันส่วนสูงเด็กไทยต่ำกว่าเกณฑ์ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงได้เร่งรณรงค์ให้ดื่มนมทุกวัน ที่เหมาะสมกับช่วงวัย ขณะที่กระแสนมพืชถือเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างน่าจับตามองในปีนี้
คนไทยดื่มนมน้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลก 6 เท่า 
จากข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรมการดื่มนมของคนไทยประจำปี 2562 โดยสวนดุสิตโพล ระบุว่า อัตราเฉลี่ยการบริโภคนมของประชากรทั่วโลก อยู่ในระดับ 113 ลิตร/คน/ปี โดยในทวีปยุโรปมีการบริโภค 274 ลิตร/คน/ปี, อเมริกาเหนือ 237 ลิตร/คน/ปี, อเมริกาใต้ 124 ลิตร/คน/ปี ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลก ในขณะที่ทวีปเอเชียมีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 66 ลิตร/คน/ปี โดยที่ ญี่ปุ่น บริโภค 90 ลิตร/คน/ปี สิงคโปร์ 62 ลิตร/คน/ปี และจีน 38 ลิตร/คน/ปี ในส่วนขององค์การอนามัยโลกได้มีการกำหนดให้ดื่มนมเฉลี่ย 35 ลิตร/คน/ปี
เมื่อเทียบกับประเทศไทย นับว่ามีอัตราเฉลี่ยการบริโภคนมอยู่ในระดับที่ต่ำจนน่าตกใจ เพียง 18 ลิตร/คน/ปี หรือคิดเป็นสัปดาห์ละ 2 แก้วเท่านั้น ซึ่งจากผลสำรวจพฤติกรรมการดื่มนมโคพร้อมดื่มทั้งที่มีการปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่ง รวมถึงนมผง โดยไม่นับรวมกับนมโรงเรียน นมเปรี้ยว โยเกิร์ต นมถั่วเหลือง และนมอัดเม็ด พบว่ามีผู้ดื่มนมเป็นประจำ 44.10%  ดื่มบ้าง 42.04% โดยช่วงอายุ 3–12 ปี มีสัดส่วนการดื่มนมมากที่สุด รองลงมาคือ 13-20 ปี, 21-35 ปี, 36-50 ปี, 50-60 ปี ตามลำดับ และน้อยที่สุดเป็นกลุ่มผู้ที่อายุ 60 ขึ้นไป สังเกตว่ายิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งดื่มน้อยลง ซึ่งตั้งแต่อายุ 13 ปีขึ้นไปการดื่มนมก็ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง สำหรับเหตุผลที่ดื่มนม เป็นเพราะดื่มเพื่อสุขภาพ ต้องการสารอาหารครบครัน ทั้งยังดื่มแล้วรู้สึกอิ่มท้อง และแทนมื้ออาหาร ขณะที่ผู้ไม่ดื่มนมโคเลย มีสัดส่วน 13.86% โดยสาเหตุที่ไม่ดื่มนม เนื่องจากได้รับสารอาหารจากแหล่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร นมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว ประกอบกับไม่ชอบดื่มนม ดื่มแล้วไม่สบายท้อง และคิดว่าไม่จำเป็น 

ส่งเสริมคนไทยดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย 
จากสถิติการดื่มนมของคนไทยที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกกว่า 6 เท่า และปริมาณที่องค์อนามัยโลกกำหนดให้ดื่มในหนึ่งปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมอนามัย และภาคีเครือข่ายรวม 7 หน่วยงาน ได้จับมือกันก่อตั้งเครือข่าย “นมดีทุกวัย ดื่มได้ทุกวัน” ขึ้นเป็นครั้งแรก ในโอกาสวันดื่มนมโลก (World Milk Day) 1 มิถุนายน เพื่อรณรงค์ให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดื่มนม ภายใต้แนวคิด “มิลค์ ฟอร์ ออล” (Milk for Alls) ดื่มนมตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงอายุ นมมีคุณภาพดี ทดแทนการดื่มเครื่องดื่มอื่นที่ไม่มีประโยชน์ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน อย่างชา และน้ำอัดลม เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง
อาจารย์วิเชียร ผลวัฒนสุข ประธานเครือข่ายนมดีทุกวัย ดื่มได้ทุกวัน เปิดเผยว่า ปัจจุบันเยาวชนไทยอายุ 13-20 ปี บริโภคนมลดลงกว่าครึ่ง จากสัดส่วน 89% เหลือเพียง 44% เมื่อเทียบกับวัยอนุบาลและประถมศึกษา ส่วนในกลุ่มผู้สูงวัย 60 ปี ขึ้นไปนั้นไม่ดื่มนมโคเลยถึง 1 ใน 4 โดยผู้ที่ไม่บริโภคนมโคหันไปดื่มนมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว และกาแฟ จากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการดื่มนม และความไม่มั่นใจในคุณภาพของน้ำนมโค ส่งผลให้อัตราการดื่มนมของคนไทยมีปริมาณน้อยมาก ทั้งนี้ เครือข่ายฯ มีเป้าหมายรณรงค์ให้คนไทยทุกวัยดื่มนมโคอย่างน้อยวันละ 1-2 แก้ว/วัน เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยจะต้องเพิ่มให้ได้ตามเป้าหมายคือ 25 ลิตร/คน/ปีในปี 2562

ดื่มนมเสริมโภชนาการ-ส่วนสูง จากการที่ได้มีการรณรงค์ถึงการดื่มนมทุกวัยในทุกวัน ซึ่งนมมีสารอาหารครบ 5 หมู่อยู่ในตัวเอง ที่เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะโปรตีน และอุดมด้วยแคลเซียมที่ช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกของทุกช่วงวัยชีวิต สำหรับปริมาณที่ควรดื่มต่อวันนั้น คุณจิรประภา บุญปาน นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ระบุว่า นมช่วยให้เด็กสูงสมวัย ส่วนวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ ช่วยให้กระดูกแข็งแรงและชะลอการบางของกระดูก โดยปริมาณที่คนในวัย 4-8 ปี ต้องการแคลเซียมคือ 800 มล./วัน และ 9-71 ปี ต้องการ 1,000 มล./วัน ซึ่งนม 1 แก้ว ปริมาณ 250 มล. จะมีแคลเซียมประมาณ 300 มล. จึงควรดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว แล้วรับแคลเซียมจากอาหารอย่างอื่น เช่น ปลาตัวเล็กตัวน้อย ผักใบเขียว เต้าหู้ ถั่วเหลืองต่างๆ เป็นต้น  ซึ่งผักใบเขียว 4 ทัพพี หรือกะปิ 4 ช้อน ให้แคลเซียมเท่ากับนม 1 แก้ว
นอกจากนั้น ยังได้กล่าวถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับการดื่มนมว่า มีข้อมูลที่ศึกษาค้นคว้าพบว่านมช่วยลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้  อีกทั้งการดื่มนมไม่ว่าจะเป็นนมโลว์แฟต หรือนมไขมันเต็มส่วน ไม่ได้ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจตีบตัน แต่ยังไม่มีความชัดเจนที่ว่าก่อให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ ขณะเดียวกันยังเสริมสร้างแคลเซียมได้ดีกว่าอาหารเสริม เพราะนมมีสารอาหารที่ช่วยให้การดูดซึมได้ดีกว่า ทั้งโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และวิตามินบี 12
ขณะที่ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในปี 2562 เด็กวัยเรียน อายุ 6-14 ปี มีภาวะเตี้ย 8.8 % จึงสะท้อนว่าการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียนไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากมีส่วนสูงน้อยกว่าเกณฑ์ โดยพบว่าเด็กผู้ชายอายุ 12 ปี มีค่าเฉลี่ยความสูงอยู่ที่ 148.6 ซม.และเด็กผู้หญิง 149.9 ซม. สำหรับเป้าหมายคือลดภาวะเตี้ยในเด็กวัยเรียนให้ไม่เกิน 5 % และภายในปี 2564 เด็กผู้ชายอายุ 12 ปีจะต้องมีส่วนสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 154 ซม. และเด็กผู้หญิงเฉลี่ย 155 ซม. ซึ่งกรมอนามัย ได้กำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียนให้แข็งแรงและฉลาด ให้เด็กวัยเรียนเจริญเติบโต สูงดีสมส่วนเต็มศักยภาพ 

นมพืชเทรนด์มาแรงปี 2562
กระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงคือการบริโภคโปรตีนและนมจากพืช (Plant-based protein) ซึ่งผลิตจากพืชตระกูลถั่ว เห็ด และสาหร่าย ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสที่คนเมืองหันมาทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงบริโภคอาหารที่ผลิตจากพืชล้วนทดแทนเนื้อสัตว์ เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ความต้องการบริโภคโปรตีนและนมจากพืชสูงเพิ่มขึ้น
โดยในปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการมูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อยู่ที่ 88,731 ล้านบาท ขยายตัว 2.4% จากปี 2561 ที่มีมูลค่ารวมราวๆ 86,648 ล้านบาท ที่น่าจับตามองคือ กลุ่มโปรตีนจากพืชและนมพืช ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 6,725 ล้านบาท ขยายตัว 6.4% จากปีที่แล้วที่มีมูลค่า 6,321 ล้านบาท นับว่ามีอัตราการเติบโตสูงสุดรองจากกลุ่มอาหารออร์แกนิค ตามความนิยมการบริโภคอาหารโปรตีนสูง เพื่อสร้างสมดุลทางโภชนาการ รวมถึงการรักษาสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์
นับว่าเป็นความพยายามในการส่งเสริมการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนไทยด้วยการดื่มนม ซึ่งเป็นสารอาหารที่หาได้สะดวก บริโภคง่าย จึงต้องติดตามดูว่าการรณรงค์ของภาคส่วนที่เกี่ยวครั้งนี้จะกระตุ้นให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคนมได้มากเพียงใด และจะถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามผลประโยชน์ที่จะเกิดตามมาก็คือสุขอนามัยของทุกคน 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม - ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. 
“ในฐานะหน่วยงานที่รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนไทย ในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งเครือข่ายรณรงค์การบริโภคนม โดยมุ่งหมายในการสนับสนุนให้คนไทยได้ดื่มนมตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงอายุ นมมีคุณภาพดี เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง ยังสามารถดื่มทดแทนการดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ เช่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มชา และน้ำอัดลม โดยที่ผ่านมาได้มีกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เช่น กิจกรรมดื่มนมชมบอล ที่มีกลุ่มนักศึกษาในสถาบันการศึกษาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก หรือกิจกรรมปาร์ตี้โนแอล ในช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ เป็นต้น”

[English]
Thais’ milk consumption found below global average
A Suan Dusit survey on Thailand’s milk consumption in 2019 said that the average global consumption of cow’s milk per person was at 113 liters, with European consumers at the top (274 liters per person per year).  In Asia, the average was 66 liters per person per year and Japanese were the biggest consumers of 90 liters per person per year.  The World Health Organization (WHO) suggested that a person should drink around 35 liters of milk in a year.
However, the survey stated that each Thai drank only 18 a year or only two glasses each week.    It also found that 44.0% of respondents said they have been drinking milk regularly and 42.04% said they have been drinking milk occasionally.
Thais aged 3-12 years have been the most active milk consumers while those aged 60 years and above have been drinking the least.  
The findings show Thailand’s milk consumption is six times lower the global average and considerably lower the WHO’s suggested quantity. Related health agencies and organizations like Thai Health Promotion Foundation and the Department of Health, in 2019, led the establishment of a new network to promote milk consumption and join the World Milk Day on June 1 to help Thais obtain accurate understanding about milk.  The new network hopes to boost Thailand’s annual cow’s milk consumption 25 liters per person by the end of this year.
Meanwhile, there has been an increase in the popularity of plant-based protein, which Kasikorn Research Center said its market value should grow 6.4% from 2018 to 6.7 billion baht in 2019.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0