โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"ขี้ข้า" ถึง "ดอก" ด่าแบบไหนถึงผิดกฎหมายสมัยโบราณ คำไหนเสี่ยงโดนฟ้อง-เจอปรับ?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 17 ต.ค. 2565 เวลา 04.41 น. • เผยแพร่ 15 ต.ค. 2565 เวลา 17.09 น.
ภาพ “สาวๆ” จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดกำแพงบางจาก ริมคลองบางหลวง
ภาพ “สาวๆ” จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดกำแพงบางจาก ริมคลองบางหลวง

การวิวาทด่าทอกันในสมัยโบราณใช่ว่าจะรอดพ้นจากการถูกฟ้องร้องกันได้เมื่อมีกฎหมายตราสามดวงเกิดขึ้น ในเรื่องการวิวาทด่าทอนี้ปรากฏเป็นหนึ่งในกฎหมายใน 27 ฉบับ ส่วนที่เรียกว่า “วิวาทด่าตี”

ไม่เพียงแต่ผู้ศึกษากฎหมายไทยที่ต้องรู้จักความสำคัญของกฎหมายตราสามดวง คนทั่วไปน่าจะคุ้นเคยกับชื่อกฎหมายนี้ในฐานะประมวลกฎหมายฉบับแรกแห่งสมัยรัตนโกสินทร์ หรืออีกชื่อว่า “ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1″ เพราะเป็นการนำบทกฎหมายลักษณะต่างๆ ที่ใช้ในช่วงนั้นซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยารวบรวมเป็นหมวดและชำระบางส่วน ไม่เพียงแต่เป็นการระบุรูปแบบความสัมพันธ์ในสังคมแล้ว การศึกษากฎหมายตราสามดวงย่อมทำให้เห็นสภาพสังคม การเมือง การปกครองในสมัยโบราณด้วย

ในส่วนกฎหมาย 27 ฉบับตามฉบับหลวงแล้ว ปกหน้าในส่วนที่เขียนชื่อเรียกกฎหมายเลือนราง ส่วนที่เรียกกันในภายหลังว่า “วิวาทด่าตี” นั้น ชื่อบนปกต้นฉบับก็ลบเลือนเช่นกัน จึงใช้ชื่อที่ปรากฏบนสันต้นฉบับแทน เนื้อหาในบทกล่าวถึงบัญญัติเกี่ยวกับความผิดทะเลาะวิวาทกัน ด่าทอ และทำร้ายร่างกายกัน กำหนดโทษและค่าเสียหายสำหรับแต่ละการกระทำแตกต่างกัน

ในส่วนความผิดด้านการตีกันนั้นมีบ่งชี้กันหลายกรณีเช่นเดียวกับการด่า มาตราหนึ่งระบุเกี่ยวกับการใช้คำด่าทอ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์หรือไม่มีก็ตาม หากมีผู้ด่าลับหลัง แล้วมีคนนำมาบอกกล่าว ในเนื้อมาตราหนึ่งระบุว่า ไม่ควรให้ฟังถ้อยคำนั้นเป็นถ้อยความ แต่หากด่าให้ได้ยินแล้ว “จึ่งควรให้เอาเปนถ้อยความ ให้ร้องฟ้องกันได้ตามกฎหมาย”

เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า

“ด่าท่านว่าไอ้อี่ขี้ตรุ ขี้เมา ขี้โขมย ขี้ช่อ ขี้ฉกลัก ขี้ลวงคนขาย ขี้โซ่ขี้ตรวน ขี้ชื่อขื่อคา ขี้ถอง ขี้ทุบ ขี้ตบ ขี้คุก ขี้เค้า ขี้ประจานคนเสีย ขี้ขายคนกินทังโคต ขี้ครอก ขี้ข้า ขี้ถ่อย**

แลด่าว่าไอ้อี่คนเสีย คนกระยาจก คนอัประหลัก คนบ้า คนใบ้ ก็ดี แลด่าว่า ไอ้สับปลับอี่มัก อี่สับปลับอี่มัก ชู้มึงทำชู้เหนือผัวกูก็ดี แลด่าท่านว่าอี่แสนหกแสนขี้จาบอี่ดอกทอง อี่เยดซ้อน ก็ดี สรรพด่ากันแต่ตัวประการใด ๆ ท่านให้ปรับไหมโดยยศถาศักดิลาหนึ่ง ถ้าด่าถึงโคตเค้าเถ้าแก่ให้ไหมทวีคูน”

อีกมาตราหนึ่ง ระบุว่า “วิวาทร้องด่าเถียงกัน ผู้ใดออกไปจากที่แดนตน รุกเข้าไปถึงที่แดนท่านด่าตีกันไซ้ ท่านว่าผู้นั้นรุกให้ไหมโดยพระราชกฤษฎีกา”

แต่หากวิวาทตีด่าฟันแทงกันที่สาธารณะ ให้“พระสุภาวะดีพิภากษาคดีนั้นดู ถ้าแลจควรเอาเปนโทษให้เอาเปนสองด่าตีฟันแทงกัน”

กฎหมายตราสามดวงบังคับใช้มาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่งเกิดปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลตามแบบมหาอำนาจในยุโรป กฎหมายตราสามดวงจึงเลิกใช้ไป

ความเป็นมาของกฎหมายในสมัยโบราณนั้น จากการสืบค้นของนายกฤษฎา บุณยสมิต อัยการพิเศษ รองประธานกรรมการชำระและศึกษากฎหมายไทยโบราณ อธิบายกำกับไว้ในเอกสารกฎหมายตราสามดวงว่า หากย้อนกลับไปในสมัยอยุธยา กฎหมายสมัยนั้นได้รับอิทธิพลจากอินเดียผ่านมาทางมอญ คือ “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์” (มอญเรียกว่า คัมภีร์ธัมสัตถัม) นำมาใช้เป็นหลักปกครองและพิจารณาคดีต่างๆ เป็นคัมภีร์ตามความเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานมาให้พระมหากษัตริย์ใช้เป็นหลักในการอำนวยความยุติธรรม

เมื่อมาถึงสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กฎหมายที่ใช้ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่ยังเป็นกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่มีปรับปรุงออกกฎหมายใหม่บ้างทั้งในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ในพ.ศ. 2347 สมัยรัชกาลที่ 1 ครองราชสมบัติเกิดคดีผู้พิพากษาตัดสินคดีหย่าร้างคดีหนึ่งโดยไม่เป็นธรรม คดีว่าด้วยอำแดงป้อมภรรยาของนายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ฟ้องหย่านายบุญศรี สามีโดยที่นายบุญศรีไม่มีความผิด แต่อำแดงป้อมเป็นชู้กับนายราชาอรรถ

นายบุญศรี ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำตัวบทกฎหมาย 3 ฉบับที่เก็บไว้ที่ศาลหลวง ที่ข้างพระที่ในพระบรมมหาราชวัง และที่หอหลวง มาตรวจสอบ พบว่าข้อความทุกฉบับตรงกัน เนื้อหาว่า “ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชาย หย่าได้” พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าเช่นนี้ไม่ยุติธรรมจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งผู้ชำระกฎหมาย 11 ราย สะสางกฎหมายครั้งใหญ่ นำบทกฎหมายที่มีอยู่จัดเป็นหมวดหมู่ ชำระเนื้อความที่วิปริตผิดความยุติธรรมออก

การชำระกฎหมายดำเนินการ 11 เดือนจึงแล้วเสร็จ ในหลักฐานตามประกาศพระราชปรารภตอนหนึ่งใจความว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงตรวจสอบชำระขั้นสุดท้ายด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้น โปรดเกล้าฯ ให้พนักงานอาลักษณ์จารึกเขียนเป็น 3 ฉบับ หรือ 3 ชุด ชุดละ 41 เล่ม เขียนด้วยหมึกบนสมุดข่อยสีขาว 3 ชุดแรกจึงเรียกว่าฉบับหลวง ทรงให้ปิดดวงตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว ไว้บนปกทุกเล่ม ถือเป็นตราสำคัญ มีนัยถึงการบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์ตามต้นฉบับหลวง เล่ม 1. ราชบัณฑิตยสถาน, 2550

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มีนาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0