โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คนโคราช ไม่ใช่ “ลาว” แล้วคนโคราชเป็นใคร? มาจากไหน?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 13 มี.ค. เวลา 23.53 น. • เผยแพร่ 13 มี.ค. เวลา 23.52 น.
ภาพปก-โคราช
ชาวโคราช พ่อค้าเกวียนบรรทุกสินค้าไปขายในอยุธยา ภาพนี้เป็นกองเรือทางบกกับกองเรือทางน้ำ ขนสินค้ากระจายสู่ท้องถิ่นบ้านเมืองต่างๆ ในสมัยก่อน (ภาพจาก “ ‘พลังลาว’ ชาวอีสาน มาจากไหน”)

“คนโคราช” เป็นคำที่เรียกผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ “นครราชสีมา” (โคราช) ซึ่งเป็นบ้านเมืองที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เขียนถึงเรื่อง “คนโคราช” และพัฒนาการของ “นครราชสีมา” ไว้ดังนี้

ย่อหน้า เว้นวรรค และเน้นคำ โดย กอง บก. ออนไลน์

นครราชสีมาหรือโคราช อยู่ต้นลําน้ำมูลในอีสาน เป็นบ้านเมืองที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เริ่มด้วยมีชุมชนหมู่บ้านเก่าแก่อยู่ที่บ้านปราสาท (ตําบลธารปราสาท อําเภอโนนสูง) และบ้านโนนวัด (ตําบลพลสงคราม อําเภอโนนสูง) กับมีแหล่งภาพเขียนสียุคดึกดําบรรพ์อยู่ที่ถ้ำเขาจันทน์งาม (บ้านเลิศสวัสดิ์ ตําบลลาดบัวขาว อําเภอสีคิ้ว)

ทั้งสองแห่งมีอายุประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว ล้วนเป็นหลักฐานมั่นคงว่า ชุมชนเหล่านี้มีพัฒนาการตั้งแต่ 3,000 ปีแล้ว แล้วสืบเนื่องถึงปัจจุบันไม่ขาดสาย (ดังมี “รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด ตําบลพลสงคราม อําเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา” ของรัชนี ทศรัตน์ สํานักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา สํานักโบราณคดี กรมศิลปากร)

หลังจากนั้น ก็มีพัฒนาการเป็นบ้านเมือง แล้วรับอารยธรรมจากต่างประเทศผ่านขึ้นมาทางภาคกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ราวหลัง พ.ศ. 1200 บ้านเมืองแถบนี้รับพระพุทธศาสนาผ่าน “รัฐทวารวดี” ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาเป็นศาสนาประจำถิ่นมี 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มนับถือคติหีนยาน มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเสมา (เขตอำเภอสูงเนิน) และกลุ่มนับถือคติมหายาน มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพิมาย (เขตอําเภอพิมาย)

หลัง พ.ศ. 1500 อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมขอมจากเมืองพระนคร ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ได้แผ่ขยายเข้ามาครอบครองบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลอย่างเต็มที่ แต่ท้องถิ่นเมืองพิมายก็ยังคงยกย่องนับถือคติมหายานอย่างต่อเนื่อง

ระหว่าง พ.ศ. 1550-1600 ก็เริ่มสร้างปราสาทพิมาย มีขนาดใหญ่โตที่สุดในแดนอีสาน

ปราสาทพิมายไม่ใช่ “เทวสถาน” ของฮินดู แต่เป็น“วัดพุทธคติมหายาน” และมีหลักฐานน่าเชื่อว่า ที่นี่เป็นศูนย์กลางของแคว้นมหิธรปุระ ซึ่งเป็นถิ่นกําเนิดราชวงศ์มหิธรปุระ บรรพบุรุษของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้ทรงสร้างปราสาทนครวัดและกษัตริย์ขอมองค์อื่นๆ อีก ตรงนี้หมายความว่า บรรพบุรุษของกษัตริย์เขมรสายหนึ่งมีหลักแหล่งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลนี้เอง

เมืองพิมายลดความสําคัญลงเมื่อหลัง พ.ศ. 1763 (โดยประมาณ) เนื่องมาจากสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาณาจักรขอมเมืองพระนครเสื่อมโทรม คติมหายานก็โรยรา และพระพุทธศาสนาคติเถรวาทจากลังกา (ลังกาวงศ์) เฟื่องฟูขึ้นแทนที่ แต่เมืองพิมายก็มิได้รกร้าง เพียงแต่ไม่คึกคักคับคั่งเหมือนสมัยก่อนๆ

ต่อจากนั้น พวก “สยาม” ก็แผ่อํานาจลงมามีอิทธิพลเหนือบ้านเมืองและแว่นแคว้นบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล ไม่มีหลักฐานว่า “สยาม” พวกนี้มาจากไหน? แต่มีร่องรอยหลายอย่างน่าเชื่อว่า มาจากแคว้นโคตรบูร (มีศูนย์กลางอยู่เมืองเวียงจัน)

เมืองนครราชสีมา มีชื่อครั้งแรกในกฎมณเฑียรบาล ชื่อนี้มาจากคําว่า นคร+ราช+สีมา หมายถึงนครที่เป็นชายขอบของราชอาณาจักร (สยาม) แต่ปากชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า ครราช (อ่านว่า คอน-ราด) แล้วเพี้ยนเป็น โคราช (ที่มาของชื่อเมืองนครราชสีมาไม่เกี่ยวกับตํานานเมืองเสมากับเมืองโฆราคปุระที่ผูกนิทานขึ้นมาภายหลัง)

เอกสารสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา เช่น พระราชพงศาวดารฯ และอื่นๆ ไม่ค่อยมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับอีสาน แต่มีฉบับหนึ่งบันทึกว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เตรียมจะยกทัพไปตีบ้านเมืองแถบลุ่มแม่น้ำมูล เมื่อเจ้าเมืองพิมายกับเจ้าเมืองพนมรุ้งรู้ข่าว ก็ชิงยอมอ่อนน้อมเสียก่อน ก็เป็นอันรู้ว่ากรุงศรีอยุธยามีอํานาจเหนือบ้านเมืองแถบลุ่มแม่น้ำมูลในสมัยนี้เอง

ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งเป็นพระราชโอรสเจ้าสามพระยาได้ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อมา (พ.ศ. 1991-2031) และโปรดให้ทํากฎมณเฑียรบาล จึงมีรายชื่อเมืองขึ้นตั้งแต่เขตลุ่มแม่น้ำมูลถึงแม่น้ำโขงคือเมืองโคตรบอง (โคตรบูร) และเมืองเรวแกว (เมืองเรอแดวหรือระแว์) อยู่ลุ่มแม่น้ำโขง (ในลาวใต้ทุกวันนี้) ส่วนทางลุ่มแม่น้ำมูลมีเมืองนครราชสีมาอยู่ในฐานะ “เมืองพญามหานคร” ที่ได้ถือน้ำพระพิพัฒน์เทียบเท่าเมืองพิษณุโลก, เมืองสุโขทัย, เมืองศรีสัชนาลัย, เมืองนครศรีธรรมราช ฯลฯ ที่ล้วนเคยเป็นบ้านเมืองแว่นแคว้นใหญ่มาก่อน

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงติดต่อกับชาวตะวันตก แล้วรับความรู้ทางด้านเทคโนโลยีจากชาวตะวันตกเข้ามาสร้างป้อมปราการ และกําแพงเมืองสําคัญๆ ด้วยอิฐและหิน เช่น เมืองพิษณุโลก, เมืองศรีสัชนาลัย, เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น ฉะนั้นการที่มีชื่อเมืองนครราชสีมาปรากฏครั้งแรกในกฎมณเฑียรบาลและให้มีฐานะเทียบเท่าเมืองสําคัญๆ ที่มีมาแต่ก่อน ก็น่าจะเชื่อได้ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้สร้างกําแพงเมืองนครราชสีมาขึ้นแล้วแต่ครั้งนั้น แล้วสมเด็จพระนารายณ์ฯ มาซ่อมสร้างเพิ่มเติม

เมืองนครราชสีมานี้ เอกสารของลาลูแบร์ซึ่งเป็นราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ฯ (พ.ศ. 2199-2231) ณ กรุงศรีอยุธยา บอกว่า เป็นเมืองชายแดนที่อยู่ติดพรมแดนลาว แสดงว่าอาณาเขตของลาวสมัยนั้นอยู่ลึกเข้ามาชนแดนเมืองนครราชสีมา ฟังแล้วไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อ เพราะล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 (หลังเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์) แล้ว นายทิม สุขยางค์ ยังบอกไว้ใน “นิราศหนองคาย” ว่า พ้นเมืองพิมายออกไปถึงลําละแทกก็เป็นเขตเมืองลาว

ก็เสร็จข้ามแม่น้ำลําละแทก เป็นลําแยกจากมูลศูนย์กระแส

สินเขตแดนพิมายเมืองชําเลืองแล เข้าแขวงแควเมืองลาวชาวอารัญ

แสดงว่าพรมแดนเมืองนครราชสีมาจริงๆ แล้ว อยู่ตรงลําละแทกเหนือเมืองพิมายนี่เอง สอดคล้องกับเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์ที่ยกทัพล่วงลงมาถึงแดนเมืองนครราชสีมาอย่างสะดวกโดยไม่มีสิ่งใดขัดขวาง

คนโคราช ไม่ใช่ “ลาว”

ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. 2310 กองทัพเมืองนครราชสีมาถูกเกณฑ์ให้มารักษากรุง แต่มีเหตุให้ยกหนีกลับเมืองเสียก่อนเลยไม่ได้รบกับพม่า ครั้งนั้น กรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งเป็นโทษต้องเนรเทศไปอยู่ลังกาก่อนแล้วหนีมาอยู่เมืองจันทบุรี ได้ชักชวนพวกชาวเมืองชายทะเลทางตะวันออกยกเป็นกองทัพมาหวังจะรบพม่าเพื่อแก้ไขกรุงศรีอยุธยา

กรมหมื่นเทพพิพิธมาถึงเมืองปราจีนบุรี ให้กองทัพหน้าตั้งอยู่ปากน้ำโยทกาเมืองนครนายก แต่ถูกพม่ายกไปตีทัพหน้าแตกหมด เมื่อเห็นจะสู้ไม่ได้จึงพากันยกหนีขึ้นไปทางเมืองนครราชสีมา กรมหมื่นเทพพิพิธคิดจะชวนเจ้าเมืองนครราชสีมาให้เกณฑ์กองทัพไปรบพม่า แต่พระยานครราชสีมามีปัญหาจึงถูกลอบฆ่าตาย กรมหมื่นเทพพิพิธเลยเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองนครราชสีมา แล้วถูกพวกเมืองพิมายยกมาล้อมจับไปคุมไว้เมืองพิมาย

ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าก็เป็นอันสิ้นพระราชวงศ์ที่จะครองราชอาณาจักร พวกเมืองพิมายจึงยกให้กรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นใหญ่ เรียก “เจ้าพิมาย” มีอํานาจเหนืออาณาเขตเมืองนครราชสีมาทั้งหมด เป็นที่รู้จักในชื่อ “ก๊กเจ้าพิมาย” แต่ท้ายที่สุดก็ถูกสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบปรามได้ แล้วให้ประหารชีวิต

จากนั้นเมืองนครราชสีมาก็มีความสําคัญขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกรุงธนบุรีขยายอํานาจออกไปถึงสองฟากแม่น้ำโขงชนแดนกัมพูชา แล้วให้เมืองนครราชสีมาปกครองเหล่าหัวเมืองที่ได้มาใหม่

ก่อนเกิดจลาจลในกรุงธนบุรี เจ้าเมืองนครราชสีมาคือพระยาสุริยภัย เป็น “หลาน” ของเจ้าพระยาจักรี (ต่อมาคือรัชกาลที่ 1) พระยาสุริยอภัยชื่อเดิมว่า “ทองอิน” เป็นบุตรคนโตของสมเด็จพระพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ (สา) เป็นกําลังสําคัญในการนําทัพลงไปยึดอํานาจกรุงธนบุรีเพื่อรอท่าเจ้าพระยาจักรี และเพราะความดีความชอบนี้ จึงได้รับสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ได้เป็นกรมพระราชวังหลังในรัชกาลที่ 1

จะเห็นว่ากรมหมื่นเทพพิพิธรวบรวมผู้คนจากหัวเมืองชายทะเลตะวันออก มีจันทบุรี, ระยอง, ชลบุรี, ปราจีนบุรี และนครนายก เป็นกําลังสําคัญให้ขึ้นไป “ตั้งหลัก” อยู่เมืองนครราชสีมาและเมืองพิมาย ครั้นหลังกรุงแตกยังมี “ข้าเก่า” จากกรุงศรีอยุธยาหนีพม่าขึ้นไปตั้งหลักแหล่งเพิ่มเติมอยู่ด้วยอีกมาก

พวกนี้ไม่ใช่ลาวแต่เป็นไทยสยามภาคกลาง เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบ “ก๊กเจ้าพิมาย” แล้ว ก็ไม่ได้กวาดต้อนผู้คนเหล่านี้ลงมากรุงธนบุรี พวกนี้ได้ปักหลักอยู่ที่นั่นแล้ว กลายเป็นบรรพบุรุษกลุ่มใหญ่ของ “คนโคราช” ปัจจุบัน

คนพวกนี้แหละได้ผสมกลมกลืนกับคติท้องถิ่นที่มีมาแต่ดั้งเดิม (ซึ่งน่าสงสัยว่าเป็นแบบกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ นั้นเอง) กลายเป็น คนโคราช แล้วเกิดประเพณีใหม่กลายเป็น “วัฒนธรรมโคราช” เช่น สําเนียงโคราช กระเดียดไปทางสําเนียงชายทะเลตะวันออกแถบระยองและจันทบุรี แม้ผู้คนแถวปราจีนบุรีและนครนายกเมื่อสัก 50 ปีมาแล้วก็พูดสําเนียงเก่าแบบ “ยานคาง” ไม่ต่างจากสําเนียงโคราชนัก

เพลงโคราชก็ฉันทลักษณ์และลีลาเดียวกับเพลงพาดควาย, เพลงฉ่อย (ไม่ใช่ลําตัดที่เพิ่งเกิดสมัยรัชกาลที่ 5) นอกจากนั้นยังมีประเพณีอื่นๆ อีก เช่น กินข้าวจา, เคียวหมาก, ตัดผมเกรียน, นุ่งโจงกระเบน และมีศิลปะสถาปัตยกรรมวัดวาอารามแบบอยุธยาภาคกลาง นี่แหละคนโคราชกันเอ๋ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “‘พลังลาว’ ชาวอีสาน มาจากไหน” เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ (สำนักพิมพ์มติชน, 2549)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2562

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : คนโคราช ไม่ใช่ “ลาว” แล้วคนโคราชเป็นใคร? มาจากไหน?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0