โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คนมองหนัง | "Joker" : "หมดเวลาของแกแล้ว ไอ้ตัวตลก"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 21 ต.ค. 2562 เวลา 05.03 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 05.03 น.
คนมองหนัง

เมื่อดูภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ดีกรีรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังเวนิสเรื่อง “Joker” แล้ว คำร้อง “หมดเวลาของแกแล้ว ไอ้ตัวตลก” จากเพลง “ตัวตลก” โดย “Wild Seed” (ชุมพล เอกสมญา) เมื่อปี 2542 ก็ผุดดังขึ้นมาในหัว

ภาวะ “หมดเวลา” ของ “ตัวตลก” ชื่อ “โจ๊กเกอร์” อาจมิได้หมายถึงเพียงแค่ “ชีวิตจริง” อันปราศจากเสียงหัวเราะ ความสุข ทว่าทุกข์ทน ถูกกระทำ ถูกหลอกลวง ถูกกดขี่ข่มเหงทั้งจากคนชนชั้นสูงกว่าและคนระดับล่างๆ ด้วยกันเอง ของ “อาร์เธอร์ เฟล็ก” ชายหนุ่มสุดแสนอาภัพ ผู้ต้องแสร้งฉีกรอยยิ้ม แกล้งแฮปปี้ และใฝ่ฝันอยากเป็นดาวตลกเดี่ยวไมโครโฟนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ภาวะ “หมดเวลา” ของ “ตัวตลก” ในหนังเรื่องนี้มิได้สื่อถึงเพียงแค่ความพ่ายแพ้/แรงระเบิดของปัจเจกบุคคลชายขอบ ที่มีต่อสภาพกดดันนานัปการจากบริบทสังคมรายรอบ

ทั้งยังกินความกว้างขวางเกินกว่าพัฒนาการ/ความคลี่คลายในแคแร็กเตอร์สลับซับซ้อนของตัวละครรายหนึ่ง

เพราะภาวะ “ตลกไม่ออก ยิ้มไม่ได้” ดังกล่าว อาจกำลังบ่งบอกถึงความล้มเหลว-ทางตันของการต่อสู้/การชุมนุมทางการเมืองในรูปแบบ “เทศกาลรื่นเริง”

ไม่กี่ปีก่อน การต่อสู้ทางการเมืองผ่านยุทธวิธีการชุมนุมแบบ “เฟสติวัล/คาร์นิวัล” ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเป็นความหวังใหม่ ท่ามกลางกระแสสูงของขบวนการ Occupy และคำขวัญ “เราคือคนจำนวน 99 เปอร์เซ็นต์”

การชุมนุมทางการเมืองในภาพลักษณ์ของงานรื่นเริงเปี่ยมอารมณ์ขัน มีสถานะเป็นโลกทางเลือก-ชั่วขณะพิเศษ ที่เปิดโอกาสให้แก่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ และสภาวะพลิกหัวกลับหางระหว่างผู้ครองอำนาจกับผู้อยู่ใต้อำนาจ

อย่างไรก็ตาม ความหวังเช่นนั้นได้โรยราไปพร้อมๆ กับการผงาดขึ้นครองอำนาจของฝ่ายขวาจำนวนมากในโลกตะวันตก รวมถึงชัยชนะของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในสหรัฐอเมริกา

ช่างบังเอิญเหลือเกิน ที่ก่อนจะถือกำเนิดใหม่เป็น “โจ๊กเกอร์” นั้น “อาร์เธอร์ เฟล็ก” เคยใช้นามแฝงว่า “คาร์นิวัล” ในการเดี่ยวไมโครโฟนอันล้มเหลว ซึ่งเขาถูกเหยียดหยามว่าเป็น “ตัวตลก” เพราะแสดงไม่ตลกหรือตลกฝืด

แต่เขากลับไม่เคยสัมผัสกับความรื่นเริงใดๆ ภายใต้ชื่อ “คาร์นิวัล”

กระทั่ง “อาร์เธอร์” ทนแรงบีบคั้น กดดัน ที่รุมกระหน่ำซ้ำเติมในชีวิตประจำวันไม่ไหว จนต้องระเบิดพลังบ้าคลั่งขำขื่นของปัจเจกบุคคลออกมา

เมื่อนั้นแหละ เขาจึงได้โลดแล่นท่องไปใน “โลกของคาร์นิวัล”

“อาร์เธอร์” กลายสภาพเป็น “โจ๊กเกอร์” สัญลักษณ์ของการชุมนุมอันคุกรุ่นด้วยความเกลียดชังคั่งแค้น, ตัวแทนของชนชั้นล่างในเมืองก็อตแธม และศูนย์กลางในงานรื่นเริงรวมหมู่ของเหล่าคนทุกข์ยาก

“โจ๊กเกอร์” คือแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดความชุลมุนวุ่นวายระยะสั้น ภาวะอนาธิปไตยย่อยๆ และโอกาสในการปลิดชีวิต/ล้างแค้นชนชั้นนำ ผู้มักมองเห็นคนธรรมดาจำนวนมากเป็นเพียง “ตัวตลก”

แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปในลักษณะชั่วครู่ชั่วคราว หนังไม่ได้บรรยายฉายภาพชัดๆ ว่าโครงสร้างสังคมอันอยุติธรรมของเมืองก็อตแธมนั้นเปลี่ยนแปลงบ้างหรือไม่ อย่างไร หลังเหตุจลาจล (ดูๆ แล้วไม่น่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง)

ส่วน “โจ๊กเกอร์” ก็ถูกฉวยใช้เป็นสัญลักษณ์ของฝูงชน โดยต้องแลกกับการยอมเจ็บตัวและการโดนจับกุมควบคุมตัว

ชะตากรรมของ “โจ๊กเกอร์” จึงส่องสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวอ่อนแรงหรือจุดสิ้นสุดของการต่อสู้ทางการเมืองแบบงานเทศกาลรื่นเริง/คาร์นิวัลในภาพรวม

คําถามต่อเนื่องคือเมื่อ “หมดเวลา” ของ “ตัวตลกแบบคาร์นิวัล” แล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป?

แม้ “Joker” จะบอกเล่าเรื่องราวมากกว่าชะตาชีวิตของปัจเจกบุคคลรายหนึ่งก็จริง

แต่บทสรุปสุดท้ายในหนังคล้ายจะบ่งชี้ว่า “การเมือง” ไม่ว่าจะในความหมายของ “การใช้อำนาจปกครองผู้คน” หรือ “การต่อต้านต่อสู้จากเบื้องล่าง” อาจหวนย้อนคืนสู่พื้นที่ของปัจเจกอีกครั้ง

พร้อมกับการกลับเข้าโรงพยาบาลจิตเวชของ “อาร์เธอร์” หรือ “โจ๊กเกอร์”

ด้านหนึ่ง สถานพยาบาลดังกล่าวก็ทำงานผ่านกลไกอำนาจในการจำกัดพื้นที่ ควบคุมชีวิต-ความคิด-อารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกบุคคลผู้ถูกระบุว่าป่วยไข้ทางจิตใจ

อีกด้านหนึ่ง “โจ๊กเกอร์” ก็ต้องพยายามดิ้นรนอยู่รอดในโลกของโรงพยาบาล ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ไม่ว่าเขาจะมีความสุขหรือไม่ก็ตาม

นี่คือการต่อสู้ทางการเมืองในระดับวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่ง “อาร์เธอร์/โจ๊กเกอร์” เผชิญหน้ากับมันมาโดยตลอด

ส่วน “คาร์นิวัล/เทศกาลรื่นเริง” นั้นเป็นแค่ปรากฏการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเขาเพียงประเดี๋ยวประด๋าว ประดุจฟองสบู่ที่ล่องลอยเหนือโลกความจริง และแตกสลายไปแล้วเรียบร้อย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0