โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

คนบ่น “ไข่ไก่” แพงขึ้น-หาซื้อยาก ช่วงวิกฤติโควิด-19

TODAY

อัพเดต 26 มี.ค. 2563 เวลา 03.30 น. • เผยแพร่ 26 มี.ค. 2563 เวลา 03.30 น. • Workpoint News
คนบ่น “ไข่ไก่” แพงขึ้น-หาซื้อยาก ช่วงวิกฤติโควิด-19

ประชาชนบ่นราคาไข่ไก่ปรับสูงขึ้น เริ่มหาซื้อยาก หลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 รัฐให้อยู่บ้านมากขึ้น

ทีมข่าวไปเจอป้ายนี้ที่ร้านขาย #ไข่ไก่ ในจ.น่าน จากการสำรวจพบว่า ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รุนแรงขึ้น ทำให้ประชาชนตื่นตัวสะสมอาหาร ไข่ไก่กำลังเป็นสินค้าที่ถูกพูดถึงว่าราคาปรับขึ้นจนใช้คำว่า "แพง" บางจังหวัดเริ่มหาซื้อยาก

(ที่ร้านค้าปลีกแห่งหนึ่งในจ.น่าน เหลือไข่ประเภทอื่นจำหน่าย)

หลายร้านใน จ.น่าน ไม่มีไข่ไก่ขายให้ลูกค้า เช่น ที่ร้านแคนดี้ ขายไข่สด ในตลาดตั้งจิตนุสรณ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก จนมีการปิดห้างปิดตลาดนัด คนแห่ไปซื้อของกักตุน และมีคนจำนวนมากมาหาซื้อไข่ไก่ไว้บริโภค ทำให้ที่ฟาร์มต่างๆ มีคนไปขอซื้อไข่ไก่ถึงที่มากขึ้น ทำให้ปริมาณไข่ไก่ที่จะส่งให้ร้านค้าย่อยจึงน้อยลง

ห้างหุ้นส่วน น่านโภคภัณท์ ผู้ประกอบการขายส่งไข่แห่งหนึ่ง ในอ.เมือง จ.น่าน บอกกับว่า ในช่วงนี้แนวโน้มความต้องการไข่ไก่มีสูงขึ้น ราคาขายสูงขึ้นตาม โดยมีการทยอยส่งไข่ให้กับร้านค้าที่สั่งเข้ามา เพื่อขายปลีกให้กับประชาชนทั่วไป ยืนยันไม่มีการกักตุนหรือขึ้นราคาจนแพงเกินไป แต่ได้มีการจำกัดการซื้อสำหรับประชาชนคนละ 1 แผง เท่านั้น เพื่อแบ่งกันบริโภคให้ทั่วถึง เพื่อแบ่งเฉลี่ยให้เพียงพอต่อผู้บริโภคในจังหวัดน่านทีมข่าวสำรวจราคาขายไข่ไก่ในกรุงเทพ พบว่า มีการขายไข่ไก่เบอร์ 0 จำนวน 10 ฟอง ราคา 55 บาท จากที่สัปดาห์ก่อนราคา 42 บาท ขณะที่ช่วงกลางเดือนมีนาคม ราคา 10 ฟองอยู่ที่ 34 บาท นอกจากนี้มีผู้ไปซื้อไข่ไก่แบบยกแผง ปัจจุบันราคาปรับขึ้นมากกว่า 130 บาท

(นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์)

ก่อนหน้านี้ (23 มี.ค. 63) กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า ประเทศไทยผลิตไข่ไก่ได้ปีละกว่า 15,000 ล้านฟอง หรือประมาณวันละ 41 ล้านฟอง ไข่ไก่เกือบทั้งหมด ร้อยละ 95 ใช้บริโภคภายในประเทศ วันละประมาณ 39 ล้านฟอง หรือมีไข่ไก่คงเหลือในระบบประมาณวันละ 1-2 ล้านฟอง

ในภาวะปกติไทยส่งออกไข่ไก่ไปประเทศฮ่องกงเป็นหลัก ร้อยละ 90 ของการส่งออกทั้งหมด สิงคโปร์ ร้อยละ 5 ที่เหลือส่งออกไปพม่าและลาว ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกไข่ไก่ มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการสมดุลของอุปทานในประเทศ เพื่อไม่ให้มีไข่ไก่ส่วนเกินล้นอยู่ภายในประเทศ การส่งออกปัจจุบันพบว่า ตลาดฮ่องกงมีการสั่งซื้อลดลง เนื่องจากราคาไข่ไก่จีนถูกกว่าไข่ไทย ส่วนตลาดสิงคโปร์ที่หันมาซื้อไข่ไก่จากไทยเพิ่มขึ้นแทนการสั่งซื้อจากมาเลเซีย พบว่า เพิ่มขึ้นเพียงประมาณวันละ 6 แสนฟอง

ปัจจุบันราคาไข่ไก่คละที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท ในขณะที่ต้นทุนการผลิตไข่ไก่คละหน้าฟาร์มของเกษตรกร อยู่ที่ฟองละ 2.70 บาท ด้านราคาขายปลีกไข่ไก่เบอร์ 3 ที่ขายในตลาดสดเขต กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ฟองละ 3.00-3.10 บาท เท่ากับถาดละ 90-93 บาท ส่วนไข่ไก่ที่ขายในห้างโมเดิร์นเทรด จะใส่บรรจุภัณฑ์ของแต่ละบริษัท ราคาจะสูงว่าราคาตามตลาดสด ซึ่งเป็นทางเลือกของประชาชนผู้บริโภค

กรมการค้าภายในได้มีการติดตามความเคลื่อนไหวของราคาไข่ไก่อย่างใกล้ชิด พบว่า ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเคลื่อนไหวอยู่ที่ฟองละ 2.60 - 2.70 บาท และในช่วงต้นเดือนมีนาคม (2 มี.ค.63) ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปรับลดลงอยู่ที่ฟองละ 2.50 บาท ก่อนปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 มี.ค.63) อยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท ตามความต้องการของประชาชนที่เพิ่มขึ้นมาก หลังจากเหตุการณ์พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น

และมีมาตรการขอความร่วมมือให้หยุดอยู่บ้าน โดยพบว่า ยอดการขายไข่ไก่ของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า จากการที่ประชาชนหาซื้อไข่ไก่ไปสำรองเพิ่มขึ้นทุกครัวเรือน ซึ่งกลุ่มผู้เลี้ยงและผู้ค้าได้จัดระบบส่งไข่ไก่ป้อนเข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง และยืนยันว่าสามารถผลิตไข่ได้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ซึ่งจากการตรวจสอบพฤติกรรมผู้ค้าก็ยังไม่พบพฤติกรรมการฉวยโอกาสปรับราคาไข่ไก่สูงขึ้นเกินสมควร แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายใน รวมถึงสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศจะส่งสายตรวจลงพื้นที่ตลาดสด หากพบว่า มีการปรับราคาขายปลีกขึ้นไม่สอดคล้องกับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้จะดำเนินการตามกฎหมายราคาต่อไป

รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความกังวลเรื่องปริมาณไข่ไก่ที่ไม่เพียงพอ กรมการค้าภายในจะประสานกรมปศุสัตว์เพื่อขอให้พิจารณาชะลอมาตรการปลดแม่ไก่ ซึ่งสามารถยืดอายุการยืนกรงเพื่อให้ไข่ไปได้มากกว่า 80 สัปดาห์ เพื่อให้มีไข่ไก่ออกสู่ตลาดเพียงพอกับความต้องการของประชาชน ด้านการส่งออก ซึ่งมีผู้ส่งออกหลักประมาณ 8 ราย จะร่วมกับกรมปศุสัตว์ตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีพฤติกรรมการกักตุนไข่ไก่เพื่อรอส่งออกจริง ก็จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0