โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คนท้องสักได้ไหม มีข้อห้ามอะไรบ้าง

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 19 ส.ค. 2562 เวลา 13.00 น. • Motherhood.co.th Blog
คนท้องสักได้ไหม มีข้อห้ามอะไรบ้าง

คนท้องสักได้ไหม มีข้อห้ามอะไรบ้าง

ผู้หญิงหลายคนมีรสนิยมชื่นชอบประดับประดาร่างกายให้สวยงามด้วยรอยสัก แต่เมื่อต้องเตรียมตัวเป็นแม่คน อาจจะมีความสงสัยว่า "คนท้องสักได้ไหม" อีกทั้งยังมีผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่นิยมไปสักคิ้วเพื่อจะได้ไม่ต้องลำบากเขียนคิ้วเองทุกครั้งเวลาแต่งหน้า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ต้องคำนึงถึงหากคิดจะสักในช่วงตั้งครรภ์ หรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจสักระหว่างตั้งครรภ์

การสักทำให้ร่างกายเกร็ง ซึ่งไม่เป็นผลดีเท่าไหร่
การสักทำให้ร่างกายเกร็ง ซึ่งไม่เป็นผลดีเท่าไหร่

การสักระหว่างตั้งครรภ์

สำหรับคุณแม่ที่รักรอยสักเป็นชีวิตจิตใจ หากตัดสินใจจะสักระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเสียก่อน และควรเลือกร้านสักที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

  • ช่างสักยินดีตอบคำถามและให้รายละเอียดต่างๆที่ลูกค้าสงสัย หรือยินดีให้สังเกตการณ์ในระหว่างที่ช่างสักกำลังสักให้ลูกค้าคนอื่น ก่อนที่เราจะตัดสินใจสัก
  • ร้านสักควรมีใบรับรองสถานที่ประกอบกิจการที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจากสำนักงานเขต
  • ร้านต้องสะอาดและถูกสุขอนามัย โดยพื้น กำแพง และเพดานสะอาด มีการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และมีพื้นที่สำหรับสักที่แยกออกจากพื้นที่การใช้งานส่วนอื่น
  • อุปกรณ์สักต่างๆจะผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว โดยร้านสักจะต้องมีหม้ออบความดันไอน้ำเพื่อทำความสะอาดอุปกรณ์สักโดยเฉพาะ
  • ใช้อุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้แล้วทิ้งจะต้องเป็นของใหม่ และไม่มีการนำอุปกรณ์เหล่านี้กลับมาใช้ซ้ำหรือใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น เข็มสัก หมึก จุกหมึก กระดาษเช็ดแผล ถุงมือ วาสลีน เป็นต้น
  • จะต้องบีบหมึกจากขวดลงในจุกหมึกแยกเฉพาะลูกค้าแต่ละรายไป ไม่ใช้โดยตรงจากขวดหมึก
  • ต้องมีการห่อหุ้มอุปกรณ์ต่างๆที่จะสัมผัสร่างกายลูกค้าทุกครั้ง เช่น เตียงสัก ถาดรอง สายไฟ เป็นต้น ซึ่งต้องเก็บทิ้งหลังจากการสักเสร็จสิ้น และทำการห่อหุ้มอีกครั้งเพื่อรองรับลูกค้าคนต่อไป
  • เข็มสักที่ใช้งานแล้ว จะต้องแยกทิ้งในถังขยะอันตรายเท่านั้น ไม่ใช่ทิ้งรวมกับขยะอื่นในถังปกติ หรือถังแบบอื่นที่ดัดแปลงขึ้นมาเอง
  • ช่างสักหรือผู้ดูแลร้านจะต้องคอยตอบคำถามเรื่องการดูแลและการปฏิบัติตนต่างๆแก่ลูกค้าหลังจากสักเสร็จ เพื่อให้ลูกค้าสามารถสอบถามข้อมูลได้หากเกิดปัญหาขึ้น

คุณแม่ควรแจ้งช่างสักให้ทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ด้วย เพื่อให้ช่างสักระมัดระวังมากกว่าปกติ และควรรอให้เลยช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ไปแล้ว เพื่อให้อวัยวะสำคัญต่างๆ ของทารกในครรภ์พัฒนาขึ้นมาก่อน เช่น อวัยวะภายใน กระดูก เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ เป็นต้น

แผลสักไม่ควรโดนน้ำมาก หากยังไม่เคยสัก ก็อย่าเพิ่งสักตอนท้องจะดีกว่า
แผลสักไม่ควรโดนน้ำมาก หากยังไม่เคยสัก ก็อย่าเพิ่งสักตอนท้องจะดีกว่า

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อสักระหว่างตั้งครรภ์

ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อสักระหว่างตั้งครรภ์ มีดังนี้

  • เป็นลม โดยปกติแล้ว ลูกค้าบางรายอาจเป็นลมหรือหมดสติได้ในระหว่างการสัก สาเหตุเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ได้รับประทานอาหารก่อนมาสักมากพอ หรือเกร็งร่างกายมากเกินไป ช่างสักที่มืออาชีพจะสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ลูกค้าที่เป็นลมได้ แต่ในกรณีหญิงตั้งครรภ์เป็นลม อาจเกิดอันตรายมากกว่าที่ช่างจะรับมือไหว
  • ตกใจกลัว ยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันได้ว่าการสักเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ แต่เสียงของเครื่องสักและเข็มสักอาจทำให้เกิดอาการตกใจกลัวได้ เพราะผู้ที่ตั้งครรภ์จะมีผิวหนังค่อนข้างไวต่อสิ่งกระตุ้น ซึ่งการเกิดภาวะเครียดผิดปกติขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
  • ติดเชื้อ การสักกับร้านที่ไม่ได้มาตรฐานอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้ เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสตับอักเสบบีหรือซี เป็นต้น ซึ่งการติดเชื้อเป็นอันตรายที่ควรระวังมากที่สุดหากต้องการจะสักร่างกายในระหว่างที่ตั้งครรภ์ เพราะเชื้อต่างๆอาจกลายเป็นโรคร้ายแรงที่อาจถูกส่งผ่านไปยังทารกได้ โดยการติดเชื้ออาจเกิดจากการใช้เข็มหรืออุปกรณ์สักร่วมกับผู้อื่น ใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาด หรือไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างถูกวิธี รวมทั้งการดูแลรักษาแผลสักอย่างผิดวิธีก็มีส่วนมากเช่นกัน หากไม่เคยสักมาก่อน อาจจะไม่มีความรู้มากพอที่จะดูแลรักษารอยสักอย่างถูกวิธี ก็อาจจะทำให้ติดเชื้อได้

หากปรากฏอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อหลังการสักเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • เป็นไข้ หนาวสั่น
  • มีหนองมากหรือเป็นแผลบวมแดงบริเวณรอยสักหลังจากผ่านไปแล้วเกิน 3-4 ชั่วโมง อาการบวมแดงเมื่อสักเสร็จใหม่ๆนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่จะหายไปได้เองภายในไม่กี่ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยสัก
  • มีกลิ่นเหม็นบริเวณรอยสัก
  • เกิดเนื้อเยื่อแข็งบริเวณรอยสัก
  • มีรอยดำปรากฏขึ้นบริเวณรอยสักหรือรอบรอยสัก

นอกจากนี้ การสักระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ลักษณะของรอยสักเปลี่ยนไปได้หลังคลอด โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณที่มีการขยายมาก เช่น หน้าท้อง หน้าอก และสะโพก เป็นต้น ซึ่งหากผิวเกิดรอยแตกลายในบริเวณเดียวกับที่สัก รอยสักก็อาจดูจางลงได้ด้วย

การสักคิ้วระหว่างท้อง หากหน้าบวมจะทำให้รูปคิ้วเปลี่ยนได้
การสักคิ้วระหว่างท้อง หากหน้าบวมจะทำให้รูปคิ้วเปลี่ยนได้

รอยสักในบางจุดอาจมีผลต่อการบล็อกหลัง

เมื่อถึงกำหนดคลอด แพทย์ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะทำการบล็อกหลังเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดของคุณแม่ขณะคลอด ถ้าหากคุณแม่มีรอยสักที่หลัง และเป็นรอยสักที่ยังสดใหม่อยู่ แพทย์อาจพิจารณาไม่บล็อกหลังให้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนเกี่ยวกับการบล็อกหลังใกล้รอยสัก หากคุณแม่มีรอยสักที่หลังและคิดว่าต้องใช้ยาบล็อกหลังเพื่อบรรเทาอาการปวดระหว่างคลอด ควรสอบถามถึงนโยบายของโรงพยาบาลก่อนทุกครั้งด้วย

สักคิ้วอันตรายไหม?

สำหรับคุณแม่ที่รักสวยรักงาม อยากมีคิ้วที่ดูสมบูรณ์แบบ มีข้อพิจารณาก่อนการไปรับบริการสักคิ้ว ดังนี้

  • ในระหว่างที่คุณแม่ท้อง ผิวหนังจะยืดออกและมีอาการบวมตามตัว โดยเพราะช่วงไตรมาสสุดท้าย ไม่เว้นแม้กระทั่งใบหน้า นั่นหมายความว่า ถ้าคุณแม่สักคิ้วตอนท้องโตอยู่พอร่างกายกลับเข้าที่คิ้วที่สักไปอาจไม่ได้รูป ทำให้คุณแม่ต้องไปแก้
  • คิ้วเป็นบริเวณที่บอบบางที่สุด ซึ่งในระหว่างการสักคุณแม่อาจจะรู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก ทำให้ต้องเกร็งบริเวณหน้าท้องนานๆ ถ้าคุณแม่อยู่ในช่วงตั้ครรภ์ไตรมาสแรกอยู่ด้วยแล้วอาจทำให้เสี่ยงต่อการแท้งลูกได้ด้วยเช่นกัน
  • ผิวหน้าที่บอบบางระหว่างตั้งครรภ์จะทำให้หมึกที่ฝังลงไปมีสีที่เข้มชัดเจนมากขึ้น ถ้าคุณแม่อยากได้สีเข้มๆก็อาจจะชอบ แต่ถ้าอยากได้สีธรรมชาติหน่อยอาจจะไม่ชอบใจได้
  • ในบางร้านก่อนที่จะทำการสักอาจมีการทาครีมหรือน้ำยาบางอย่างที่ออกฤทธิ์ชาในบริเวณที่จะสัก ซึ่งน้ำยามันจะซึมเข้าสู่ผิวหนังของคุณแม่ และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • การสักคิ้วบางแบบอาจมีการนัดไปสักมากกว่าหนึ่งครั้ง และในแต่ละครั้งอาจมีการฉีดยาชาหรือให้ยามาทานเพื่อระงับอาการเจ็บปวด ถ้าจำเป็นต้องสักจริงๆ ควรสอบถามคุณหมอก่อนเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
  • ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์สามารถสักคิ้วได้ แต่ควรให้แพทย์ประจำเป็นผู้อนุญาตก่อน
  • การสักอาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น
  • ผิวบริเวณที่สักอาจเป็นรอยแผลหรือมีผื่นอักเสบ
  • อย่าลืมตรวจสอบสถานบริการว่ามีความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือหรือไม่

สรุปแล้วสักระหว่างตั้งครรภ์ได้หรือไม่?

ขณะนี้ยังไม่มีงานค้นคว้าใดยืนยันชัดเจนว่าการสักระหว่างตั้งครรภ์จะปลอดภัยหรือเป็นอันตราย จึงไม่แนะนำให้สักในช่วงที่ตั้งครรภ์ ควรเลื่อนแผนการสักออกไปก่อน

ถึงจะสักไม่ได้ ก็สามารถเขียนเฮนน่าประดับประดาแทนได้
ถึงจะสักไม่ได้ ก็สามารถเขียนเฮนน่าประดับประดาแทนได้

ทางเลือกอื่นๆแทนการสัก

ในปัจจุบันยังมีวิธีการอื่นๆที่สามารถตกแต่งลวดลายบนผิวกายได้ เช่น การเขียนเฮนน่า ซึ่งเป็นการวาดลวดลายลงบนผิวหนังแบบชั่วคราว โดยไม่ต้องใช้เข็มสักหมึกลงใต้ผิวหนัง

อย่างไรก็ตาม เฮนน่าก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน เพราะเฮนน่าบางชนิดอย่างเฮนน่าสีดำอาจมีส่วนประกอบของสารเคมี เช่น สารพาราฟินีลินไดอะมีน (P-Phenylenediamine) ที่อาจทำให้ผิวหนังไหม้ เป็นตุ่มน้ำพองเรื้อรังนานหลายเดือน ดังนั้น ควรเลือกใช้เฮนน่าธรรมชาติ ที่มีสีส้ม สีแดง สีน้ำตาล สีอิฐ สีช็อกโกแลต เป็นชนิดเดียวกับที่คนอินเดียนิยมนำมาวาดลวดลายประดับตามมือและเท้า

ทางที่ดี หากคุณแม่ไม่ใช่คนที่เคยสักมาก่อน แนะนำว่ายังไม่ควรสักในช่วงตั้งครรภ์เลยค่ะ เป็นการตัดความเสี่ยงตั้งแต่ต้น จะได้ไม่ต้องยุ่งยากในการมองหาร้านสักที่ไว้ใจได้ และต้องลำบากดูแลรอยสักอย่างคนที่ไม่มีประสบการณ์อีก ต่างกับคุณแม่ที่เคยสักมาแล้วหลายครั้ง ย่อมจะรู้ดีว่าร้านไหนที่ไว้ใจได้เรื่องความสะอาด การสักลงบริเวณไหนที่จะทำให้เราไม่ต้องเกร็งร่ายกายมาก การวางรอยสักบริเวณไหนที่จะไม่ทำให้ลายเปลี่ยนไปหลังคลอด รวมทั้งการดูแลรอยสักไม่ให้ติดเชื้อด้วย ก็ย่อมจะมีความเสี่ยงที่จะผิดพลาดน้อยกว่าค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0