โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

คนซื้ออ่วม! น้ำตาลพุ่งโลละ 4 บาท สูตรใหม่ไม่อิงราคาตลาดโลก

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 12 ธ.ค. 2562 เวลา 08.06 น. • เผยแพร่ 12 ธ.ค. 2562 เวลา 02.12 น.
สกู๊ป-น้ำตาล
หมดเวลา “ม.44 ลอยตัวราคาน้ำตาล” ครม.ไฟเขียว ใช้สูตรคำนวณราคาหน้าโรงงาน ไม่อิงราคาตลาดโลก ไฟเขียวผู้ผลิตอัดโปรโมชั่น เพิ่มรายได้ชาวไร่ ดันราคาน้ำตาลขยับโลละ 4 บาท เป็น กก.ละ 22 บาท พาณิชย์พร้อมเพิ่มมาตรการดูแลหลังหมดลอยตัว แม้ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุม

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 1/2561 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ หรือการลอยตัวน้ำตาล ยกเลิกระบบโควตา หมดอายุลงเมื่อเดือน ก.ย. 2562 ส่งผลให้การค้าน้ำตาลกลับสู่ระบบเดิม

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร วันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบ “ร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง การจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและการชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทราย และอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน พ.ศ. ?ซึ่งจะมีผลต่อสูตรคำนวณส่วนแบ่งรายได้จากการขายน้ำตาลทราย ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานผู้ผลิตน้ำตาลทราย ที่จะใช้สูตรใหม่ในฤดูการผลิตปี 2562/63 ที่เริ่มเปิดหีบวันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป และเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย การจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2561 พ.ศ. ?ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามเกณฑ์ของ WTO

ทั้งนี้ สูตรคำนวณใหม่จะเปลี่ยน “ปริมาณน้ำตาลทราย” ที่ใช้ในการคำนวณจากปริมาณน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่จำหน่ายจริงของฤดูการผลิตที่แล้ว เป็นใช้ “ปริมาณน้ำตาลทรายขั้นต้น” ที่แบ่งตามสัดส่วนผลผลิตน้ำตาลทรายของทุกโรงงาน ที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายกำหนด และ “เปลี่ยนแปลงราคาน้ำตาลทราย” จากเดิมที่ใช้ราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอนหมายเลข 5 บวกพรีเมี่ยมน้ำตาลทรายไทย มาเป็นใช้ราคาเฉลี่ยของราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในราชอาณาจักร ที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประกาศต้นฤดูการผลิต ทำให้ “ราคาน้ำตาลทราย” ที่ใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณส่วนแบ่งระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น 12-13 บาท/กก. เป็น 17.5 บาท/กก.

ราคาพุ่ง 3-4 บาท/กก.

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจน้ำตาลขายปลีกในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าทั่วไป พบว่าราคาน้ำตาลทรายขาว หลังกลับไปใช้สูตรราคาน้ำตาลใหม่สูงขึ้น โดยขนาดบรรจุถุง 1 กิโลกรัม จำหน่าย กก.ละ 21-22 บาท สูงขึ้น กก.ละ 3-4 บาทเทียบช่วงหลังประกาศลอยตัวน้ำตาลปีก่อนราคา กก.ละ 17-18 บาท ส่วนน้ำตาลทรายธรรมชาติ กก.ละ 24-35 บาท แตกต่างกันตาม “คุณภาพ” น้ำตาลทรายแดงซึ่งเป็นสินค้าทางเลือกสูงสุด กก.ละ 40-45 บาท

ขณะที่นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน.ต้องกำหนดกลไกราคาน้ำตาลใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2562 โดยใช้วิธีกำหนดราคาหน้าโรงงานซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เป็นผู้กำหนดสูตรคำนวณเพื่อกำหนดราคาหน้าโรงงานใหม่ และยกเลิกโควตา ก. ข.ทั้งหมด ไม่อิงกับราคาในตลาดโลก หรือราคาลอนดอน No.5 แต่จะใช้เป็นข้อมูลประกอบไม่ให้ราคาต่างจากตลาดโลกมากนัก

“ขณะนี้ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ กก.ละ 21 บาท ยังไม่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนผู้ประกอบการรายใดจะใช้การตลาดเข้ามาทำโปรโมชั่นก็ทำได้ สุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะเป็นคนเลือกซื้ออย่างไรก็ตาม แม้จะมีการทำโปรโมชั่น แต่หากพบการแข่งขันในราคาที่ต่างกันเกินไป กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแล”

สูตรราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายใหม่ คำนวณจากองค์ประกอบต่าง ๆ โดยอาศัยข้อมูลต้นทุนการผลิตอ้อยและน้ำตาล ฤดูการผลิตปี 2561/62 ซึ่งมีผลผลิต 130.97 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 14.58 ล้านตัน เฉลี่ยต้นทุนการผลิตอ้อย ตันละ 1,131.43 บาท รวมกับต้นทุนการผลิตน้ำตาลทราย ตันอ้อยละ515.65 บาท คิดเป็นต้นทุนรวมตันอ้อยละ 1,647.08 บาท และมีผลผลิตน้ำตาลทรายรวม 145.806 ล้านกระสอบ (แบ่งเป็นน้ำตาลทรายดิบ 111.003 ล้านกระสอบ, น้ำตาลทรายขาว 32.816 ล้านกระสอบ) ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย ตันอ้อยละ 111.33 กก. เท่ากับต้นทุนผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 14.79 บาท เมื่อรวมกับค่าจัดการจำหน่าย กก.ละ 0.213 บาท

เท่ากับต้นทุนการผลิตรวม กก.ละ 15.003 บาท และผลตอบแทนการผลิตที่คิดในอัตราไม่เกิน 15% หรือ กก.ละ 2.25 บาท จะได้ราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายขาว กก.ละ 17.25 บาทน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 18.25 บาท และมีตัวแปรการปรับเพิ่ม/ลด 1.ดัชนีผู้บริโภค 2.ค่าจ้างขั้นต่ำ 3.ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง4.ค่าไฟฟ้า ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายขาวธรรมดาอยู่ที่ 17.25 บาท/กก. น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 18.25 บาท/กก.

“เดิมเราใช้วิธีกำหนดโควตา ก. คือ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และน้ำตาลชนิดอื่น ๆ ที่ กอน.กำหนดให้ผลิตบริโภคภายในประเทศว่าจะขายได้เท่าไรในแต่ละปี ส่วนโควตา ข. คือ น้ำตาลทรายดิบที่ กอน.ให้ผลิตเพื่อส่งมอบให้บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ส่งออกและจำหน่ายไปต่างประเทศ เพื่อใช้ทำราคาในการคำนวณราคาน้ำตาลส่งออก เมื่อเราถูกกดดันจากบราซิล โดยร้อง WTO ทำให้ไทยต้องประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา”

แหล่งข่าววงการน้ำตาล เปิดเผยว่า แม้ ครม.จะพิจารณากลับไปสูตรราคาหน้าโรงงานเช่นเดิม แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบถึงกรณีบราซิลยื่นฟ้องไทยต่อ WTO เนื่องจากล่าสุดหลังจากคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางไปประชุมน้ำตาลโลกที่กรุงลอนดอน อังกฤษ เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้พบและหารือกับตัวแทนจากบราซิล ซึ่งแสดงความพอใจฝ่ายไทย อย่างไรก็ตาม บราซิลมีท่าทีจะพิจารณาลงนามทำสัญญายกเลิกฟ้องไทยภายใน 3 เดือนนับจากนี้ และขอไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบราซิลฟ้องร้องอินเดีย ซึ่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เอกชนชี้ระบบโควตายังไม่เคลียร์

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ราคาน้ำตาลจะประกาศโดยกระทรวงอุตสาหกรรม โดยใช้ระเบียบเดิม ซึ่งราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงาน ก่อนบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ กก.ละ 18.25 บาท น้ำตาลทรายขาวธรรมดา กก.ละ 17.25 บาท โดยระเบียบใหม่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม. ทั้งนี้ราคาแนะนำดังกล่าวยังเป็นราคาที่สามารถบวกแพงกว่านี้ได้ ส่วนการแบ่งโควตาน้ำตาลขณะนี้ไม่มีการแบ่งโควตาแล้ว แต่สำหรับการส่งออกยังไม่มีหลักเกณฑ์ออกมา ต้องให้ทุกฝ่ายหารือข้อสรุปร่วมกันก่อน สำหรับแนวโน้มว่าปริมาณผลผลิตปี 2562/63 จะลดลงเหลือเพียง 105 ล้านตันอ้อย จากปีก่อน 131 ล้านตันอ้อย

“ประเด็นที่เอกชนกังวลนอกจากการปรับระเบียบและทิศทางราคาน้ำตาลทรายแล้ว ต้นทุนสูงขึ้นทุกด้าน อาหารที่มีปริมาณน้ำตาลเป็นส่วนผสมเกินจะถูกเก็บภาษี”

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สถานการณ์การส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกก็ประสบปัญหาการส่งออกลดลง 3.95% เหลือ 7.9 ล้านตัน ส่วนอัตราค่าอ้อยในปีการผลิต 2562/63 เฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกินตันละ 700 บาท

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าน้ำตาลไม่เป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีควบคุม ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แล้ว เนื่องจากขึ้นอยู่กับกฎหมายของอุตสาหกรรมที่ดูแลราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน แต่กรมการค้าภายในได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามราคาขายปลีกในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าทั่วไปเพื่อติดตามว่ามีการจำหน่ายผิดปกติหรือไม่

“หากมีการขึ้นผิดปกติ เพราะสาเหตุอะไร หน้าโรงงานขายเท่าไร ต้นทุนเท่าไรหากพิจารณาแล้วไม่มีปัญหา ราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด ก็ไม่ต้องนำกฎหมายเข้าดูแล”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0