โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คนจน หนุนแก้ รธน. ขจัดเลือกปฏิบัติ-เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน

Thai PBS

อัพเดต 15 ธ.ค. 2562 เวลา 09.49 น. • เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2562 เวลา 09.49 น. • Thai PBS
คนจน หนุนแก้ รธน. ขจัดเลือกปฏิบัติ-เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน

วันนี้ (15 ธ.ค.2562) กลุ่มสมัชชาคนจน เครือข่าย PeopleGo และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กร ร่วมจัดงานมหกรรมรัฐธรรมนูญประชาชน "สร้างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน" ณ บริเวณลานประติมากรรม กำแพงประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) กิจกรรมที่จัดขึ้น ประกอบด้วยเวทีเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อจำกัดการเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เหลื่อมล้ำกฎหมายประชาชนไม่ทน

เริ่มที่มุมมองของ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่าผลของการที่รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ ประชาชนจึงถูกจำกัด สิทธิเสรีภาพ อย่างการแสดงออกของประชาชนเพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ จะถูกตีกรอบโดยกฎหมาย และมองเป็นเรื่องความมั่นคง ที่ทุกคนต้องอยู่อย่างสงบ ท่ามกลางบรรยากาศที่ความเหลื่อมล้ำในสังคมขยายตัวสูงขึ้น

นางอังคณา ยอมรับว่า เป็นไปไม่ได้ที่การเขียนรัฐธรรมนูญจะทำให้ทุกฝ่ายพอใจ แต่ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ'60 ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ถูกเขียนขึ้นเพื่อการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะที่มา ส.ว. ไปจนถึงการแต่งตั้งองค์กรอิสระ ที่ควรเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้าน และทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น กลับกลายเป็นองค์กรที่เลือกและคัดสรรโดยรัฐบาลเอง นี่เป็นต้นเหตุให้การบังคับใช้กฎหมาย และการตรวจสอบบุคคลของรัฐ ถูกตั้งคำถามถึงการเลือกปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคม

ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม อาจไม่เท่ากับความเหลื่อมล้ำด้านการบังคับใช้กฎหมาย ที่ทำให้ผู้คนในสังคมทนไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น นักการเมือง ผู้มีอำนาจ ทำอะไรก็ไม่ผิด พยายามที่จะช่วยเหลือทุกทาง เป็นการกระทำที่ข้ามหัวคนจน สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำที่ไม่มีใครอยากจะทน

มหกรรมรัฐธรรมนูญประชาชน ยังมีการเปิดเวทีพูดคุยในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือ เวทีสิทธิในที่อยู่อาศัย ที่ได้รับความสนใจจากประชาชน โดยเฉพาะตัวแทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค กลุ่มคนจนเมือง เครือข่ายคนไร้บ้าน ที่ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนสะท้อนปัญหา

ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ

นายคมสันติ์ จันทร์อ่อน ผู้แทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค ชี้ให้เห็นข้อจำกัดด้านสิทธิที่อยู่อาศัย ในรัฐธรรมนูญ'60 พบว่า ถูกกำหนดไว้อยู่ในหมวดที่รัฐพึงจะกระทำ จึงดูเหมือนว่าที่อยู่อาศัย ซึ่งควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และควรถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ยังไม่ถูกระบุไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากการที่การเขียนรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางอย่างเหมาะสม

เมื่อคนกลุ่มเล็ก ๆ มาเขียนรัฐธรรมนูญ ทั้งที่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้มีส่วนร่วม ข้อกำหนด กฎ กติกา จึงให้ประโยชน์เพียงแค่คนไม่กี่กลุ่มในสังคม โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชน คนจน คนยากไร้ นั่นทำให้การบังคับใช้กฎหมายผิดเพี้ยน ไม่สอดคล้องกัน ประชาชนยังถูกละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่อง

ผู้แทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค ยกตัวอย่างว่า เฉพาะแค่มาตรการกระจายการถือครองที่ดิน ที่ถูกมองว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหา ลดความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยได้จริง แต่ยังยากที่จะผลักดันมาเป็นกฎหมาย เพราะถือว่ากระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุน และผู้อำนาจ แต่สิทธิด้านที่อยู่อาศัย การมีที่ดิน ที่ทำกิน ของประชาชน ถูกมองเป็นเรื่องรอง นี่คือประเด็นเดียวที่สะท้อนให้เห็นข้อจำกัดด้านกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงสิทธิที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วประเทศ

เสนอนำที่ดินรัฐจัดสรรให้คนจน

นางวารินทร์ ดำรงค์พันธุ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายสลัมสี่ภาค หนึ่งในตัวแทนของคนจนเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินเอกชน ยอมรับว่า การจัดการปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง ส่วนใหญ่ชาวบ้านเสียเปรียบ เพราะการที่คนจนจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มีราคาสูงเกินกว่าที่คนจนจะเข้าถึงได้ คนจนที่ถูกไล่รื้อจากที่ดินเอกชน จึงตกอยู่ในสภาพคนไร้บ้าน ซ้ำเติมปัญหาคนจนเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นหากเป็นไปได้ จึงอยากเห็นการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของคนทุกกลุ่มในสังคมเกิดขึ้นจริง และถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ภาครัฐมีหน้าที่ต้องจัดการให้ประชาชนได้เข้าถึง อย่างการนำที่ดินของรัฐเอง เช่น ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินการรถไฟฯ หรือ ที่ดินเอกชน ซึ่งมีจำนวนมากที่ยังไม่ถูกทำประโยชน์ นำมาจัดสรร และเปิดโอกาสให้คนจนเมือง ที่มีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยได้เข้าถึง อย่างเท่าเทียมกัน

สิทธิการศึกษานอกห้องเรียน

ขณะที่ประเด็นด้านการศึกษา มีตัวแทนจากสมัชชาปฏิรูปการศึกษา สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา ร่วมกันสะท้อนความกังวลที่มีต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเห็นตรงกันว่า แม้การศึกษาจะถูกระบุไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่เรื่องการศึกษาถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ไม่ควรให้ใครมากำหนด เพราะยุคนี้ทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาจัดการ ขับเคลื่อนการศึกษา เปิดพื้นที่เรียนรู้อย่างหลากหลาย ไม่จำกัดแค่ในห้องเรียน ดังนั้นการที่จะขับเคลื่อนการศึกษาที่รอให้รัฐทำอย่างเดียว จึงอาจทำให้กระทบต่อการเรียนรู้

น.ส.อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการสาธารณะศึกษา เครือข่ายการศึกษาทางเลือก เห็นว่า รัฐควรรับรองสิทธิในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ว่าการศึกษาคือสิทธิโดยกำเนิด การจะมาขับเคลื่อนการศึกษาในรูปแบบการสั่งการเหมือนที่เป็นอยู่ในเวลานี้ จึงเท่ากับเป็นการริดรอนสิทธิประชาชน

ไม่ได้คาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องการศึกษา จะเกิดขึ้นได้ในบรรยากาศการเมืองขณะนี้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่สังคมต้องร่วมกันตระหนักคือ การเรียนรู้มีอยู่อย่างหลากหลาย นโยบายภาครัฐจึงควรสนับสนุนพื้นที่ตรงนี้ให้ทุกคนได้เข้าถึง โดยไม่ถูกจำกัด

 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0