โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คณิต ณ นคร : ผลงานของนักนิติศาสตร์ คสช.

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 26 ก.พ. 2563 เวลา 03.56 น. • เผยแพร่ 26 ก.พ. 2563 เวลา 03.56 น.
คณิต 2062

ความนำ

ขณะนี้ได้มีการเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรให้มีการจัดตั้ง “กรรมาธิการวิสามัญต่อต้านการรัฐประหาร” ซึ่งผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องรอฟังกันต่อไป

การรัฐประหารโดยคณะทหารในบ้านเมืองเรานั้น มีมาแล้ว 13 ครั้งดังที่ทราบกันทั่วไป

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 นั้น ท่านอาจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่เรียกว่าการ “ปฏิวัติ” แต่ท่านเรียกว่าการ “อภิวัฒน์” เพราะ “ปฏิวัติ” คือ การหมุนกลับ1 แต่ “อภิวัฒน์” เป็นการเดินไปข้างหน้า2

ผู้เขียนเองได้รับทุนรัฐบาลตามความต้องการของกรมอัยการ (หรือของสำนักงานอัยการสูงสุดในปัจจุบัน) ให้ไปศึกษากฎหมายต่อ ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเมื่อระหว่างปลายปี พ.ศ.2511 จนถึงต้นปี พ.ศ.2520 และในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวมานั้น มีครั้งหนึ่งที่สมาคมนักเรียนเยอรมันในประเทศเยอรมนีได้เรียนเชิญท่านอาจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ให้มาร่วมงานชุมนุมของนักเรียนเยอรมัน และท่านได้กรุณาไปร่วมงานกับพวกเราพร้อมท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของท่านด้วย

ผู้เขียนจำได้ว่าท่านอาจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ปาฐกถาเกี่ยวกับเรื่องเมืองไทยเราในระยะเวลาที่ผ่านมาให้พวกเราฟังด้วย และท่านได้กล่าวยืนยันด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยเราเมื่อปี พ.ศ.2475 ไม่ใช่การ “ปฏิวัติ” แต่เป็นการ “อภิวัฒน์”

และคงจะด้วยเหตุนี้กระมัง เมื่อเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2557 อันเป็นปีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอายุครบรอบ 80 ปี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาโดยใช้คำว่า “อภิวัฒน์” ในหัวข้อการเสวนา คือใช้หัวข้อการเสวนาว่า

“เหลียวหลัง แลหน้า การอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม”

และได้เชิญผู้เขียนให้เข้าร่วมเสวนาด้วย

ผู้เขียนใคร่ขอย้ำว่ากิจกรรมของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวาระครบรอบ 80 ปีที่ได้เชิญผู้เขียนให้ร่วมเสวนาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมนั้น

ไม่ได้ใช้คำว่า “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” แต่ใช้คำว่า “การอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม”

ทั้งนี้ เพราะคำว่า “ปฏิ” หมายถึง “ทวน” แต่คำว่า “อภิวัฒน์” หมายถึง การนำไปสู่ความเจริญยิ่งขึ้น3

ข้อเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการดังกล่าวจะออกมาอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการใคร่ขอร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกรณีญัตตินี้ด้วย

 

1.การทำงาน คอป. ของผู้เขียน

คอป. คือคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 25534

ก่อนอื่นผู้เขียนใคร่ขอกล่าวอีกครั้งว่าผู้เขียนเป็น “คนมีกรรม” กล่าวคือ เมื่อมีความไม่สงบเกิดขึ้นและมีการตายของคนเป็นจำนวนมาก ก็จะมีผู้คิดถึงผู้เขียนและขอให้ผู้เขียนเข้าไปทำงานเกี่ยวกับความไม่สงบและมีการตายของคนจำนวนมากนั้น ซึ่งที่ผ่านมาจำนวน 3 ครั้งแล้ว

ครั้งที่หนึ่ง คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ซึ่งได้มีการตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดและสำรวจความเสียหายเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535” โดยมีท่าน อาจารย์โสภณ รัตนากร อดีตประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการดังกล่าว และผู้เขียนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้หนึ่งในคณะกรรมการชุดนี้

เมื่องานทั้งปวงของคณะกรรมการดังกล่าวนี้จบลง รายงานต่างๆ ก็ไปอยู่ที่กระทรวงกลาโหม และสงบนิ่งอยู่จนบัดนี้

ครั้งที่สอง คือ เมื่อเหตุการณ์การเสียชีวิตของคนเป็นจำนวนพันๆ คนอันเนื่องมาจากการนำนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษไปปฏิบัติ

ในการทำงานครั้งที่สองนี้ผู้เขียนได้รับการทาบทามจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้เป็นประธานคณะกรรมการในคณะกรรมการคณะหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า

“คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน” เรียกโดยย่อว่า คตน.

และ คตน. ก็ได้ทำงานอย่างได้ผลแม้จะมีเวลาในการทำงานน้อยมาก

กล่าวคือ คตน. สามารถชี้ชัดว่ากรณีน่าเชื่อว่า “ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ” (Crime against Humanity) ได้เกิดขึ้นแล้ว และ คตน. ได้นำเสนอรายงานต่อรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งความผิดฐานดังกล่าวนี้เป็น “ความผิดอาญาระหว่างประเทศ” ที่ในที่สุดจะต้องดำเนินการโดย “ศาลอาญาระหว่างประเทศ” (International Criminal Court) ที่ได้จัดตั้งขึ้นตาม “ธรรมนูญแห่งกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ” (Rome Statute of the International Court) ที่ประเทศไทยเราก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งศาลดังกล่าวด้วย5

เกี่ยวกับรายงานของ คตน.ดังกล่าวนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้อนุญาตให้ คตน.แพร่หลายรายงานดังกล่าวนี้ได้ เพราะการแต่งตั้ง คตน.เกิดจากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาคมโลก

และแล้วต่อมาก็ได้มีผู้นำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษและจัดพิมพ์จำหน่ายด้วย ดังนั้น กรณีจึงสามารถกล่าวได้ว่า รายงานของ คตน.ได้แพร่หลายสู่สาธารณะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สรุปว่ารายงานของคณะกรรมการอันมีท่านอาจารย์โสภณ รัตนากร เป็นประธาน และผู้เขียนเป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วยผู้หนึ่งเกี่ยวกับการเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม 2535 นั้นไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ แต่รายงานของ คตน.ที่ผู้เขียนเป็นประธานกรรมการนั้น ได้เผยแพร่ไปสู่สาธารณะแล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ครั้งที่สาม คือ เหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อ “ฝ่ายเสื้อเหลือง” กับ “ฝ่ายเสื้อแดง” ปะทะกัน และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้แต่งตั้งผู้เขียนให้เป็นประธานใน “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ” (คอป.)6

เมื่อกรณีต้องกล่าวถึงเรื่องข้อเสนอให้มีญัตติเรื่องเกี่ยวกับการรัฐประหารดังกล่าวมาแล้ว ผู้เขียนใคร่ขอกลับไปกล่าวถึงการทำงานของ คอป. ซึ่งมีผู้เขียนเป็นประธานก่อน เพื่อผู้อ่านจะได้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่า

ระบบราชการของประเทศไทยเราเป็นอย่างไร มีความเป็น “ระบบ” หรือไม่

ก่อนเริ่มงาน คอป. ผู้เขียนและคณะได้ไปเรียนพบ พล.อ.อภิชาติ เพ็งกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น และผู้เขียนได้เรียนถาม พล.อ.อภิชาติ เพ็งกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ว่า

“ท่านทราบไหมว่าทำไมผู้เขียนจึงเจาะจงมาพบตัวท่าน?”

เมื่อผู้เขียนเห็นท่านเงียบอยู่ ผู้เขียนจึงได้เรียนท่านไปว่า

“ที่ผู้เขียนมาพบท่านก็เพราะผู้เขียนเห็นว่าท่านเป็นข้าราชการฝ่ายทหารที่สูงสุดในกระทรวงกลาโหม รองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะ

กองทัพต่างๆ มีฐานะเป็นเพียงกรมในกระทรวงกลาโหมเท่านั้น”

ซึ่ง พล.อ.อภิชาติ เพ็งกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวกับผู้เขียนสั้นๆ ว่า

“ใช่ แต่ไม่ใช่”7

ซึ่งผู้เขียนก็เข้าใจคำพูดของท่านปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นอย่างดี เพราะในสังคมไทยเรานั้น เป็นที่ยอมรับกันว่า ในความเป็นจริงข้าราชการทหารที่ใหญ่ที่สุดในทางราชการทหารคือผู้นำเหล่าทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้บัญชาการทหารบก”

นี่คือ “ระบบราชการ” ที่ไม่มี “ความเป็นระบบ”

ดังนั้น การรัฐประหารในประเทศไทยเราที่ผ่านมาจึงกระทำโดย “กองทัพบก” ส่วน “กองทัพเรือ” เคยกระทำมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ สำหรับ “กองทัพอากาศ” ไม่เคยกระทำเลย

 

2.ว่าด้วย “เหล่าทัพ” ในประเทศไทยเรา

เกี่ยวกับเรื่อง “เหล่าทัพ” นั้น ประเทศไทยเราน่าจะเป็นประเทศเดียวที่มี “เหล่าทัพ” ถึง 4 เหล่าทัพ กล่าวคือ นอกจากจะมี กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศแล้ว เรายังมี “กองทัพตำรวจ” อีกกองทัพหนึ่งด้วย และด้วยเหตุนี้เองการปฏิรูปตำรวจในประเทศไทยเราจึงเกิดขึ้นได้ยากหรืออาจไม่เกิดขึ้นได้เลย

เพราะ “ระบบราชการ” ในกระทรวงกลาโหมไม่มี “ความเป็นระบบราชการ” อย่างกระทรวงอื่นๆ ในบ้านเมืองเรา

ผู้เขียนใคร่ขอยืนยันว่า “กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ของไทยเรานั้น กล่าวได้ว่ามีความทันสมัยไม่แพ้ประเทศใดในโลก หลังจากได้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นครั้งที่ 2 โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้นว่า กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดให้ศาลหรือผู้พิพากษาเท่านั้นมีอำนาจออกหมายอาญา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 72 (2) บัญญัติว่า

“หมายปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งต้องขังอยู่ตามหมายศาล ให้ออกในกรณีต่อไปนี้

(2) เมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนขอให้ปล่อยโดยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องขังไว้ระหว่างสอบสวน”

แม้กฎหมายจะมีความทันสมัยดังกล่าวมาแล้ว แต่บทบัญญัติแห่งมาตรา 72(2) ดังกล่าวนี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นหมันโดยสิ้นเชิงตั้งแต่เกิด

เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ทำตามหลักกฎหมาย หากแต่ยึดเอาทางปฏิบัติเป็นเกณฑ์

ครั้นเมื่อได้มีการยึดอำนาจเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2547 ให้เพิ่มเติม “มาตรา 145/1” ลงในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยให้อำนาจ “ผู้บัญชาการตำรวจภาค” มาลบล้างอำนาจหน้าที่ของ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ที่มีอยู่เดิมตามมาตรา 145 โดยไม่รอรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งในอนาคตแต่อย่างใด กรณีจึงอาจกล่าวได้ว่า

กรณี “เป็นการถือโอกาส” ของเหล่าทัพตำรวจโดยความร่วมมือกับเหล่าทัพทหารโดยแท้

หลักในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการคือ หลักการดำเนินคดีตามดุลพินิจ8

ยอมรับกันหรือไม่ว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ซึ่งแต่เดิมเราเรียกกันว่า “พ่อเมือง” เป็นผู้ที่รู้จักสภาพสังคมในจังหวัดของตนดีกว่า “ผู้บัญชาการตำรวจภาค”

ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการเห็นควรใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเพราะเห็นว่าคดีไม่มี “ประโยชน์สาธารณะ” ที่ควรฟ้อง จึงสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาและเสนอ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ตามหลักการเดิมของกฎหมาย “ผู้ว่าราชการจังหวัด” จึงอยู่ในฐานะที่เห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการได้ดีกว่า “ผู้บัญชาการตำรวจภาค” มิใช่หรือ

เหตุนี้ เมื่อผู้เขียนเป็นอัยการสูงสุด ผู้เขียนได้เน้นย้ำถึงเรื่องดังกล่าวนี้กับพนักงานอัยการเสมอๆ แม้ขณะนี้แนวคิดดังกล่าวก็ดำรงอยู่ในระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด

เกี่ยวกับเรื่องการลดทอนอำนาจหน้าที่ของ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” โดยคำสั่งของ รสช.นี้ ผู้เขียนจำได้ว่าทางฝ่ายมหาดไทยได้เคยจัดการเสวนาขึ้นครั้งหนึ่งที่โรงแรมแถวๆ ห้างพาต้าใกล้สี่แยกอรุณอมรินทร์ กรุงเทพมหานคร และได้เชิญผู้เขียนให้เข้าร่วมเสวนาด้วย

โดยสรุปก็คือ

การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าวมานี้ เป็นตราบาปของ รสช. หรือของคณะรัฐประหารโดยแท้ หรือมิใช่?

 

3.ความมุ่งมั่นของคณะ รสช.

ในการยึดอำนาจการปกครองประเทศครั้งล่าสุด คือเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 258 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ด้วย

นอกจากนั้น คณะ รสช.ยังได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอีกด้วย

3.1 การปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม

ด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ตาม ก็ได้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ” มาสองคณะแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่เห็นรูปเห็นร่างอะไรเลยก็ว่าได้ ส่วนการปฏิรูปองค์กรอัยการและองค์กรศาลก็ยังไม่เห็นมีการดำเนินการอะไรก็ว่าได้อีกเช่นเดียวกันฯ

แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือ ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้เกิดหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นใหม่มากมายก่ายกอง เช่น ได้มีการจัดตั้ง “ศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ” โดยกฎหมายว่าด้วยศาลดังกล่าวระบุให้ศาลดังกล่าวใช้ “ระบบไต่สวน” ในการทำงาน จนผู้เขียนต้องเขียนบทความวิพากษ์กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้10

3.2 การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น

ในการยึดอำนาจการปกครองประเทศของ คสช. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2527 นั้น คสช.ได้กล่าวถึงการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นไว้ด้วย ซึ่งในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นย่อมเกี่ยวข้องโดยตรงกับ “กระบวนการยุติธรรม” ผู้เขียนจึงเห็นว่าเป็นความมุ่งมั่นที่ดี และทำให้ผู้เขียนนึกถึงนายพล Park Chung-hee แห่งประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อยึดอำนาจแล้วเขาสามารถกระทำการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นตามที่ตั้งใจไว้อย่างได้ผล และได้ทำการพัฒนาประเทศจนทำให้ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเดิมล้าหลังกว่าประเทศไทยเราเสียอีก มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก11

แต่การยึดอำนาจในประเทศไทยเราไม่มีอะไรเป็นแก่นสารในเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น

นอกจากนั้น การยึดอำนาจในครั้งนี้ได้ทำให้เกิดพัฒนาการใหม่ในการยึดอำนาจการปกครองประเทศเกิดขึ้นอีกด้วย กล่าวคือ การยึดอำนาจของ คสช.เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ทำให้

“เรามีคณะรัฐบาลสองชุดในขณะเดียวกัน”12

 

บทสรุป

มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ดี การถือโอกาสเพิ่มมาตรา 145/1 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ดี และพัฒนาการใหม่ของการรัฐประหารที่ทำให้เกิด “รัฐบาลสองชุดในขณะเดียวกัน” ก็ดี

เหล่านี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นผลงานของนักกฎหมายที่รับใช้ คสช.?????

อนึ่ง เดือนพฤษภาคมดูจะเป็นเดือนที่มักจะมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ในสายตาของผู้เขียน เดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ จึงเป็นเดือนที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนี้กำลังกรุ่นอยู่อย่างมาก

—————————————————————————————————————–
1ดู พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หน้า 695

2ดู คณิต ณ นคร “เหลียวหลัง แลหน้า การอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” ใน อภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม ซึ่งพิมพ์คู่กับ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์วิญญูชน ตุลาคม 2557

3ดู คณิต ณ นคร “เหลียวหลัง แลหน้า การอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” ใน อภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม พิมพ์คู่กับ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์วิญญูชน ตุลาคม 2557 หน้า 15

4ดู คณิต ณ นคร ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม หน้า 17

5รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ ผู้เขียนได้จัดพิมพ์ในหนังสือที่ใช้ชื่อว่า “วิสามัญฆาตกรรมคดียาเสพติดในประเทศไทย : ชอบด้วยกฎหมายหรือจงใจฆ่าทิ้ง?” พิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 และหนังสือดังกล่าวนี้ได้พิมพ์โดยมีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษที่สมบูรณ์อีกด้วย โดยคำในภาษาอังกฤษใช้ว่า “EXTRA-JUDICIRAL KILLINGS OR DRUG SUSPECTS IN THAILAND LEGAL OR WILLFUL?”

6ผลงานของ คอป. ดู รายละเอียดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน คณิต ณ นคร ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม

หนังสือเล่มดังกล่าวนี้พิมพ์มาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งแรกพิมพ์เพื่อจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์วิญญูชน เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ขณะนี้ยังมีจำหน่ายอยู่

ครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 5 เป็นการพิมพ์เพื่อจ่ายแจกโดยมีผู้ให้การสนับสนุนในการพิมพ์จากบุคคลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ซึ่งพิมพ์ครั้งละ 1,500 เล่ม

พิมพ์ครั้งที่ 2 พิมพ์ 1,500 เล่ม กันยายน 2556 ผู้สนับสนุนหลักคือ “บริษัท สัตยะพล แอนด์ พาร์เนอร์ส จำกัด” (คุณสัตยะพล สัจจะเดชะ)

ครั้งที่ 3 พิมพ์ 1,500 เล่ม โดยการสนับสนุนของสำนักพิมพ์วิญญูชน 1,000 เล่ม และเพื่อนนักเรียนเก่าเยอรมันอีก 500 เล่ม

ครั้งที่ 4 พิมพ์ 1,000 เล่ม โดยการสนับสนุนของเพื่อนของผู้เขียนแห่งอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม

ครั้งที่ 5 พิมพ์ 1,000 เล่ม โดยการสนับสนุนของคุณถาวร เสนเนียม

ดู รายละเอียดเกี่ยวกับการพิมพ์ใน “คำนำ” แต่ละครั้งในหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5

อนึ่ง หนังสือเล่มนี้สามารถหาอ่านได้ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร ห้องสมุดของโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร และห้องสมุดประจำจังหวัดทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร

7ดู คณิต ณ นคร “บันทึกประธาน คอป.” ในหนังสือ ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม หน้า 331; หรือในหนังสือ คอป. กับ การปรองดอง ซึ่งเป็นหนังสือที่ผู้เขียนได้ร่วมกับคุณสถาพร ลิ้มมณี จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2560 หน้า 17 และได้มอบให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำนวน 300 เล่ม เพื่อสนับสนุนการทำงานของ “คณะกรรมการ ป.ย.ป.” ที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้น

8ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิมพ์ครั้งที่ 9 สำนักพิมพ์วิญญูชน กุมภาพันธ์ 2561 หน้า 486

9ดู คณิต ณ นคร “การป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและการพัฒนาประเทศ” พิมพ์ครั้งแรก ใน “มติชนรายวัน” ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 1 และฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2562; หรือ ดู คณิต ณ นคร “เรื่องเดียวกัน” ใน กฎหมายปริทรรศน์ ใน “วารสารอัยการ” และอื่น ๆ พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์วิญญูชน ธันวาคม 2562 หน้า 183-210

10ดู คณิต ณ นคร “ระบบไต่สวนตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” ใน วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 46 ฉบับที่ 2 มิถุนายน 2560 หน้า 351-370; หรือใน จริยธรรมนักกฎหมายกับการปฏิรูปกฎหมาย พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์วิญญูชน ตุลาคม 2561 หน้า 49-80

11รายละเอียด ดู คณิต ณ นคร “การป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและการพัฒนาประเทศ” กฎหมายปริทรรศน์ ใน วารสารอัยการ และอื่นๆ พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์วิญญูชน ธันวาคม 2562 หน้า 185-210

12ดู คณิต ณ นคร ใน บทความที่อ้างถึงในเชิงอรรถที่ 8 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า 210

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0