โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ข้ามช็อตหลังเลือกตั้ง"นักปชต.ฝ่ายแม้ว"ตั้งรัฐบาลไม่ได้-ป่วน !?

Manager Online

อัพเดต 18 ก.พ. 2562 เวลา 19.25 น. • เผยแพร่ 18 ก.พ. 2562 เวลา 19.25 น. • MGR Online

เมืองไทย 360 องศา

พิจารณาจากสถานการณ์ในวันนี้เริ่มได้เห็นแนวโน้มที่จะเกิดวุ่นวายได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากหลังการเลือกตั้งแล้ว "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ขณะเดียวกันนั่นก็หมายความว่า "ฝ่ายพวกนักประชาธิปไตย"ที่เชิดชูบูชา ทักษิณ ชินวัตร ผ่านทางพรรคการเมืองเครือข่ายต่างๆไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้ว่าจะมีบางพรรคจะได้รับการเลือกตั้งมีจำนวน ส.ส.มากที่สุดก็ตาม

หากรูปการณ์เป็นแบบนี้จะก่อให้เกิดความ"จงใจ"ให้เกิดความวุ่นวายตามมาได้หรือไม่ โดยเฉพาะต่างฝ่ายต่างก็อ้างความชอบธรรม อ้างเสียงสนับสนุนจากประชาชนและตัวแทนของประชาชน

อย่างที่เข้าใจกันว่าการเลือกตั้งคราวนี้ล้วนมี"เดิมพันสูง"ทุกฝ่ายในกลุ่มขั้วการเมืองหลัก มันเหมือนกับการ"สู้ครั้งสุดท้าย" หรือว่าจะสู้ครั้งนี้ได้ครั้งเดียวเท่านั้น

เริ่มจากกลุ่มของ "บิ๊กตู่"ทั้งในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และผ่านทางพรรคพลังประชารัฐรวมทั้งพรรคการเมืองพันธมิตรในสนามเลือกตั้งตามกติกาใหม่ แน่นอนว่าหากพรรคเหล่านี้พ่ายแพ้การเลือกตั้งหรือไม่สามารถรวบรวมเสียง สส.จนมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว แม้ว่าจะเชื่อว่าจะมีเสียง ส.ว.ตุนอยู่ในมือแล้ว 250 เสียงก็ตาม แต่ในการบริหาร การเสนอกฎหมายในสภาผู้แทนฯต้องใช้เสียง ส.ส.สนับสนุนเป็นหลัก

แม้ว่าเวลานี้หากพิจารณาจากผลสำรวจจากสำนักหลักๆต่างๆล้วนออกมาตรงกันว่า "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนให้กลับมาเป็นนายกฯมาเป็นอันดับหนึ่ง เหนือแคดิเดตนายกฯจากพรรคการเมืองอื่น เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย และทิ้งขาดคนอื่นๆ อย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์

แต่ในผลสำรวจดังกล่าวมันก็มีสิ่งที่ทับซ้อนกันอยู่ เพราะกลายเป็นว่าพรรคการเมืองที่จะชนะการเลือกตั้งมีจำนวน ส.ส.ในสภามากที่สุดกลายเป็นพรรคเพื่อไทย ตามมาด้วยพรรคพลังประชารัฐ ที่ขณะสำรวจอยู่นั้นยังใกล้เคียงอยู่กับพรรคอนาคตใหม่ อย่างไรก็ดีความนิยมดังกล่าวนี้อาจพลิกไปอีกด้านก็ได้หลังจากเกิด"ปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์"ที่ผ่านมา ที่ทำให้เกิด"กระแสรวมศูนย์"ไปที่"เอาและไม่เอาบิ๊กตู่"อย่างเข้มข้น

สิ่งที่ปรากฏให้เห็นแล้วชัดเจนก็คือ การดาหน้ารุมถล่ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจุดเดียว นั่นก็ย่อมพิสูจน์กันในทางการเมืองว่า "มีความหมาย" เพราะมิเช่นนั่นคงไม่มีใครมาใส่ใจ เพราะเวลานี้แทบทุกพรรคทุกฝ่าย นอกเหนือจากการพูดจาให้สัมภาษณ์โจมตีกันแบบรายวันแล้ว ยังใช้แง่มุมทางกฎหมายไปร้องเรียนกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อให้เกิดความพะวักพะวงเกิดขึ้นในช่วงการรณรงค์หาเสียงหรือเปล่า

แต่เมื่อผลสำรวจออกมาแบบนี้และหากผลการเลือกตั้งออกมาตามนั้นจริงๆ มันก็ส่อเค้าวุ่นวายเหมือนกัน เพราะแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้จำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่สามรรถรวบรวมเสียง ส.ส.สนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นได้ถึง 376 เสียง แต่นั่นต้องอยู่ในกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ที่ถือว่าเป็น"ตัวแปร"ไม่ยอมไปเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทย และไม่ต้องไปพูดถึงพรรค"ไทยรักษาชาติ"ว่าจะถูกยุบหรือไม่

เมื่อสถานการณ์ส่อเค้า"ล็อก"ไว้แบบนี้ นั่นคือ ฝ่ายสนับสนุน "บิ๊กตู่"สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่อีกฝ่ายคือฝ่ายพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดแต่รวบรวมเสียงข้างมากไม่ได้ หากเป็นแบบนี้มันก็ส่อเค้าป่วน เพราะพวกเขาจะอ้างความชอบธรรม ขณะเดียวกันก็จะโหมโจมตีสร้างวาทกรรม"ใช้อำนาจรัฐโกงเลือกตั้ง"มันก็มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ หากพิจารณาจากบรรยากาศการเคลื่อนไหวเท่าที่เห็นกันอยู่

แต่นั่นไม่เท่ากับว่ามันอาจจะเกิดจากความ"จำเป็นต้องป่วน"หรือเปล่า เพราะหากพรรคเพื่อไทยซึ่งสังคมรับรู้กันว่าสนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร ดำเนินทุกวิถีทางเพื่อหวังเป็นรัฐบาล ช่วงชิงอำนาจรัฐกลับมา ดำเนินกลยุทธ์ที่เรียกว่า "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย"เกิดเป็นพรรคตระกูลเพื่อ หรือเกิด"ปรากฎการณ์ 8 กุมภาฯ"ก็ยังกล้าทำ และหลายคนเชื่อว่า ทักษิณ ชินวัตร อยู่เบื้องหลัง และยังเชื่อว่าเป้าหมายที่ซ่อนไว้นอกเหนือจากต้องการอำนาจรัฐแล้ว ยังมั่นใจว่าโอกาสสำหรับนิรโทษกรรมมีความเป็นไปได้มากที่สุด

ดังนั้นในกรณีของพรรคไทยรักษาชาติที่พังครืนลงมาแล้ว ก็ยังเหลือให้ลุ้นจากการเลือกตั้งจากพรรคเพื่อไทย แต่ในเมื่อไปผูกติดกับพรรคไทยรักษาชาติที่บังเอิญว่ามีการหลีกทางกันให้ในหลายเขตเลือกตั้งทำให้เป้าหมายจากการ"แตกแบงก์พัน"มีปัญหา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากนาทีนี้ยังแทบมองไม่เห็นหนทางที่ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า"ฝ่ายประชาธิปไตยของทักษิณ"จะมีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาลได้เลย

ถึงได้บอกว่ามันเริ่มมีสัญญญาณบางอย่างที่เริ่มก่อหวอดขึ้นมา โดยเฉพาะการโหมวาทกรรมการใช้อำนาจรัฐโกงเลือกตั้ง เริ่มโจมตีผู้นำกองทัพมากขึ้น หรือแม้กระทั่งเสนอนโยบายยั่วยุกอง

ทัพในช่วงนี้แบบผิดปกติ หากพิจารณากันแบบตั้งข้อสังเกตก็ต้องบอกว่ามันเหมือนกับเห็นสัญญาณล่วงหน้าบางอย่าง นั่นคือสร้างสถานการณ์ป่วนหลังเลือกตั้งหรือเปล่า !!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0