โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ข้อมูลใหม่! จนท.ซาอุฯ เผย ‘คาช็อกกี’ ตายเพราะขาดอากาศหายใจ-รัฐบาลไม่ได้สั่งให้ฆ่า

Manager Online

อัพเดต 21 ต.ค. 2561 เวลา 09.12 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2561 เวลา 09.12 น. • MGR Online

รอยเตอร์ - ขณะที่นานาชาติพากันตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสาเหตุการตายของ จามาล คาช็อกกี นักหนังสือพิมพ์ผู้เป็นปรปักษ์กับราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ล่าสุดเจ้าหน้าที่อาวุโสซาอุฯ ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลใหม่ พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลริยาดไม่ได้มีเจตนาอุ้มฆ่านักข่าวรายนี้

ข้อมูลล่าสุดจากเจ้าหน้าที่ซาอุฯ ผู้ไม่ประสงค์ออกนามสรุปได้คร่าวๆ ว่ามีการส่งชาวซาอุฯ 15 คนไปดักรอ คาช็อกกี ที่สถานกงสุลในนครอิสตันบูลเมื่อวันที่ 2 ต.ค. โดยทั้งหมดขู่จะวางยาและลักพาตัว คาช็อกกี กลับประเทศ แต่เมื่อเหยื่อขัดขืนจึงเข้าไปล็อคคอและอุดจมูกจนเสียชีวิต

หลังจากปฏิเสธไม่รู้เห็นเรื่องการหายตัวของ คาช็อกกี มานานกว่า 2 สัปดาห์ รัฐบาลซาอุฯ ได้แถลงยอมรับเป็นครั้งแรกเมื่อเช้าวันเสาร์ (20) ว่าคอลิมนิสต์หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์วัย 59 ปี เสียชีวิตจากเหตุทะเลาะวิวาทภายในสถานกงสุล ซึ่งต่อมามีเจ้าหน้าที่ซาอุฯ ออกมาขยายความว่าเป็นการเสียชีวิตเนื่องจากถูกล็อคคอและอุดจมูกจนขาดอากาศหายใจ

เจ้าหน้าตุรกีเชื่อว่าร่างของ คาช็อกกี ถูกหั่นทำลายเป็นชิ้นๆ ทว่าเจ้าหน้าที่ซาอุฯ ที่ให้ข่าวล่าสุดยืนยันว่า ศพของเขาถูกห่อด้วยพรมและส่งให้ 'ผู้ประสานงานท้องถิ่น'นำไปทิ้ง ส่วนข้อครหาที่ว่าผู้ตายถูกทรมานและตัดศีรษะนั้น เจ้าหน้าที่ซาอุฯ ย้ำว่าผลการสอบสวนเบื้องต้นไม่เป็นไปในทิศทางดังกล่าว

หลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ รัฐบาลซาอุฯ ยืนยันว่า คาช็อกกี ออกจากสถานกงสุลที่อิสตันบูลไปแล้ว และพร้อมปฏิเสธข้อครหาอุ้มฆ่าว่า “ไม่มีมูล”

เมื่อผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ถามว่าเหตุใดรัฐบาลซาอุฯ จึงพูดกลับไปกลับมา เจ้าหน้าที่ซาอุฯ ก็อ้างว่าสิ่งที่รัฐบาลออกมาแถลงในช่วงแรกๆ นั้นเกิดจาก “ข้อมูลภายในที่ผิดพลาด”

แหล่งข่าวในตุรกีอ้างว่าทางการได้รับเทปเสียงที่ยืนยันได้ว่า คาช็อกกี ถูกทรมานภายในสถานกงสุลซาอุฯ แต่ก็ไม่นำออกเผยแพร่

ตามข้อมูลเวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลซาอุฯ เพียงต้องการเกลี้ยกล่อมให้ คาช็อกกี ซึ่งย้ายไปอยู่สหรัฐฯ เมื่อ 1 ปีก่อนเดินทางกลับประเทศ โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายป้องกันไม่ให้ผู้ต่อต้านเหล่านี้ไปทำงานช่วยเหลือศัตรูริยาด

พล.ต. อาเหม็ด อัล-อัสซิรี ซึ่งเป็นรองหัวหน้าหน่วยข่าวกรองซาอุฯ จึงจัดทีมเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและข่าวกรองรวม 15 คนเดินทางไปยังนครอิสตันบูลเพื่อพบกับ คาช็อกกี ที่สถานกงสุล และพยายามโน้มน้าวให้เขาเดินทางกลับซาอุดีอาระเบีย

เจ้าหน้าที่ซาอุฯ เผยว่า ตามแผนของ อัสซิรี หน่วยปฏิบัติการทั้ง 15 คนอาจนำตัว คาช็อกกี ไปกักขังไว้ที่เซฟเฮาส์นอกนครอิสตันบูลได้ “ชั่วระยะเวลาหนึ่ง” แต่หากเขายังยืนกรานไม่ยอมกลับซาอุฯ ก็จะต้องปล่อยตัวไป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดเมื่อทีมของ อัสซิรี ละเลยคำสั่งให้เจรจาอย่างสันติ และเริ่มใช้ความรุนแรง

หลังจาก คาช็อกกี ถูกพาเข้าไปที่สำนักงานกงสุลใหญ่ หนึ่งในทีมงานซาอุฯ ที่ชื่อว่า มาเฮอร์ มูเตร็บ (Maher Mutreb) ก็ยื่นข้อเสนอให้เขาเดินทางกลับซาอุดีอาระเบีย แต่ คาช็อกกี ปฏิเสธ และอ้างว่ามีคนคอยอยู่ข้างนอก ซึ่งหากตนไม่กลับออกไปภายใน 1 ชั่วโมงเรื่องก็จะถึงทางการตุรกีทันที

เฮทิซ เซนกิซ (Hatice Cengiz) คู่หมั้นของคาช็อกกี เผยกับรอยเตอร์ว่า เขาได้ทิ้งโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่องไว้กับเธอ พร้อมสั่งให้รอ แต่หากเขาไม่กลับออกมาตามเวลาที่นัดก็ให้โทรติดต่อผู้ช่วยของประธานาธิบดีตุรกี

เจ้าหน้าที่ซาอุฯ คนเดิมเล่าต่อว่า คาช็อกกี กล่าวเตือน มูเตร็บ ว่าเขากำลังละเมิดธรรมเนียมการทูต และถามว่า “คุณจะทำอะไรผม? จะลักพาตัวผมงั้นหรือ?”

มูเตร็บ ตอบกลับไปว่า “ใช่ เราจะมอมยาและลักพาตัวคุณ” ซึ่งเจ้าหน้าที่ซาอุฯ ผู้เล่าเรื่องชี้ว่าเป็นคำพูดคุกคามซึ่งขัดต่อเป้าหมายของภารกิจนี้

เมื่อ คาช็อกกี เริ่มส่งเสียงโวยวาย ทีมงานซาอุฯ ก็กลัวจะมีปัญหาและพยายามเข้าไปจับตัวเขาเอาไว้ โดยบีบคอและปิดปากของเขา

“พวกนั้นแค่ต้องการให้เขาหยุดตะโกน แต่ปรากฏว่าเขาตาย… พวกนั้นไม่ได้มีเจตนาฆ่าเขาเลย” เจ้าหน้าที่ซาอุฯ กล่าว

เพื่อปกปิดความผิด ทีมงานซาอุฯ ได้นำพรมมาห่อศพของ คาช็อกกี จากนั้นจึงนำออกจากสถานกงสุลไปส่งให้ผู้ประสานงานท้องถิ่นทำไปทิ้ง ก่อนที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชที่ชื่อ ซาลาห์ ทูบัยกี (Salah Tubaigy) จะทำหน้าที่กลบเกลื่อนร่องรอยทั้งหมด

ในเวลาเดียวกัน ทีมงานซาอุฯ ที่ชื่อ มุสตาฟา มาดานี (Mustafa Madani) ก็ได้นำเสื้อผ้า แว่นตา และนาฬิกาแอปเปิลวอตช์ของ คาช็อกกี มาสวม จากนั้นทำทีเดินออกจากสถานกงสุลมุ่งหน้าไปที่เขตสุลตานาห์เม็ต และเปลี่ยนชุดใหม่

เจ้าหน้าที่ซาอุฯ ระบุด้วยว่า ทีมงานทั้ง 15 คนเขียนรายงานเท็จส่งให้ผู้บังคับบัญชา โดยโกหกว่าปล่อยตัว คาช็อกกี ไปแล้วเนื่องจากกลัวว่าเรื่องจะถึงหูรัฐบาลตุรกี ส่วนพวกตนก็รีบเดินทางกลับซาอุฯ ก่อนที่จะโดนจับได้

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดซาอุฯ จึงต้องส่งคนมากมายทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชไปทำภารกิจครั้งนี้ หากตั้งใจจะเกลี้ยกล่อม คาช็อกกี ให้กลับบ้านเกิดโดยสมัครใจจริงๆ

การหายตัวไปของ จามาล คาช็อกกี ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษารัฐบาลซาอุฯ ส่อเค้าลุกลามกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ และทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานวัย 82 พรรษาต้องทรงลงมาแก้สถานการณ์ด้วยพระองค์เอง

เรื่องนี้ยังกระทบต่อสายสัมพันธ์ทางธุรกิจของซาอุฯ เนื่องจากผู้นำบริษัทใหญ่ๆ และเจ้าหน้าที่ต่างชาติต่างปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วมการประชุม Future Investment Initiative ที่ริยาดเป็นเจ้าภาพในสัปดาห์หน้า ขณะที่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ก็บีบให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องตอบโต้พวกผู้นำซาอุฯ ด้วยการคว่ำบาตร หรือระงับข้อตกลงจำหน่ายอาวุธ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0