โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ข้อควรรู้!! รับมืออย่างไร เมื่อผู้สูงอายุสำลักอาหาร

MThai.com

เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2561 เวลา 03.12 น.
ข้อควรรู้!! รับมืออย่างไร เมื่อผู้สูงอายุสำลักอาหาร
อย่ามองเป็นเรื่องเล็กๆ เชียวนะ เมื่อ ผู้สูงอายุสำลักอาหาร วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ มาแชร์ให้ฟัง่าจะต้องรับมืออย่างไร เมื่อผู้สูงอายุที่บ้านสำลักอาหาร

หลายคนคงทราบกันดีว่า เมื่ออายุมากขึ้น ระบบการทำงานของร่างกายก็จะช้าลง ภูมิคุ้มกันก็ไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน รู้ไหมว่าแค่สำลักอาหารเพียงนิดเดียวก็เป็นใหญ่ได้เลยทีเดียวนะ เช่น หากสำลักอาหารเข้าไปในปอดอาจส่งผลทำให้ปอดติดเชื้อ เป็นต้น เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะมาบอกวิธีแก้และวิธีรับมือ เมื่อ ผู้สูงอายุสำลักอาหาร ให้ฟังกันค่ะ

การกลืนในผู้สูงอายุ

แม้กระบวนการกลืนไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังใช้กล้ามเนื้อมัดเดิม แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสื่อมสภาพ เริ่มตั้งแต่ช่องปากและฟัน ผู้สูงอายุมักมีปัญหา ฟันโยก หัก มีโรคเหงือก หรือน้ำลายในช่องปากแห้ง ทำให้การเคี้ยวและการกลืนมีปัญหา จนอาจเกิดอาการสำลัก ผู้สูงอายุบางรายสำลักมากๆ จนเกิดความกลัวการกลืนอาหาร ไม่ยอมรับประทานข้าว นำไปสู่ปัญหาภาวะขาดสารอาหาร นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผู้สูงอายุที่เป็นโรคบางชนิดที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมกล้ามเนื้อ การสั่งการของสมองในระหว่างการเคี้ยว หรือการกลืน เช่น พาร์กินสัน อัมพฤกษ์ อัมพาต และสมองเสื่อม ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการสำลักเช่นกัน

สำลักบ่อยแค่ไหน หรือมีอาการแบบไหน ที่ต้องมาพบแพทย์

  • เกิดการสำลักทุกครั้ง หรือเกือบทุกครั้งที่รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ
  • เกิดการสำลักจนทำให้ หน้าแดง มีอาการไอ หรือหอบรุนแรง หรือมีอาการทางเดินหายใจอุดกั้น
  • เคยมีประวัติการติดเชื้อจากการสำลักมาแล้ว
  • สำลักจนกระทั่งรับประทานอาหารได้น้อย น้ำหนักลดลง
  • การสำลักในผู้เป็นโรคกลุ่มเสี่ยง เช่น พากินสัน อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม

การรักษาอาการสำลัก

  • หาสาเหตุการสำลัก ที่แพทย์สามารถแก้ไขได้ เช่น ความผิดปกติของระดับเกลือแร่บางชนิด ยาที่ทำให้เกิดการสำลัก หรือโรคร่วมที่ทำให้เกิดการสำลักง่าย
  • ให้คนไข้ทำการฝึกกลืน (ในรายที่ฝึกได้) คนไข้ที่ไม่ได้มีข้อห้ามการรับประทานอาหารทางปาก ยังรู้สึกตัวและ รู้เรื่องดี ซึ่งจะต้องฝึกกับนักกายภาพเฉพาะทาง การฝึกกลืนประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักๆ
  • บริหารกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน คือ กล้ามเนื้อใบหน้า ช่องปาก ลิ้น คอ และหลอดอาหาร
  • ฝึกเทคนิคการกลืน จังหวะการกลืน ท่าทางการกลืนที่ทำให้สำลักน้อยที่สุด
  • ปรับอาหาร ให้มีลักษณะเนื้อสัมผัส ข้น เหนียว เช่น โจ๊ก ไอศกรีม โยเกิร์ต หรือน้ำผึ้ง นอกจากนี้อาจใช้สารข้นเหนียว (Thickener) ซึ่งไม่มีสีไม่มีกลิ่น เพิ่มเข้าไปในอาหารและน้ำ เพื่อช่วยให้อาหารมีความหนืด ข้น ลดความเสี่ยงของการสำลักได้ โดยสัดส่วนและปริมาณจะต้องอยู่ในความดูแลของนักโภชนากร และควรหลีกเลี่ยงอาหารเนื้อสัมผัสร่วนๆ หรือเหลวเป็นน้ำ เพราะจะสำลักได้ง่ายกว่า

การปฏิบัติของคนไข้และผู้ดูแล

  • ไม่ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก ควรแบ่งอาหารในแต่ละวันออกเป็นมื้อย่อยๆ หลายๆ มื้อ
  • ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ดื่มน้ำช้าๆ ตั้งใจกลืน ไม่ดูทีวีหรือพูดคุยกันระหว่างรับประทานอาหาร
  • จัดท่าทางในการรับประทานอาหาร โดยนั่งตัวตรง หลีกเลี่ยงท่านอน และไม่ควรนอนทันทีหลังอาหารทุกมื้อ หรือเดินอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ในกรณีที่คนไข้ติดเตียง ให้ยกศีรษะคนไข้ขึ้นอย่างน้อย 45 องศา เพื่อป้องกันการสำลักเข้าปอด
  • ควรทำความสะอาดช่องปากก่อน และหลังอาหารทุกมื้อ โดยทำความสะอาดฟัน ฟันปลอม เหงือก อาจใช้สำลีชุบน้ำเช็ด กวาดลิ้น เป็นประจำ เพื่อช่วยลดการสะสมเชื้อโรคในช่องปาก และป้องกันการติดเชื้อจากการสำลัก

การช่วยเหลือเบื้องต้น เมื่อผู้สูงอายุสำลัก

  • หยุดรับประทานอาหารทันที
  • จัดท่านั่งให้ก้มไปข้างหน้าเล็กน้อย หรือนอนตะแคงกึ่งคว่ำ
  • นำอาหาร หรือฟันปลอม ที่อยู่ในปากออกให้หมด
  • ไม่ควรทำการล้วงคอเด็ดขาด
  • ในกรณีที่มีอาการ เหนื่อยหอบ หายใจหิวอากาศ หน้าซีด ปากเขียวคล้ำ ต้องรีบพบแพทย์ทันที

การสำลักในผู้สูงอายุ อย่ามองว่า แค่ “สำลัก” หรือเป็นเพียงเรื่องเล็กที่มองข้ามได้ เพราะแม้สำลักเพียงเล็กน้อย แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ หมั่นสังเกตการสำลักในผู้สูงอายุ เพื่อการช่วยเหลือเบื้องต้น และพบแพทย์ทันที

ที่มา : พญ. เทพขจี เก่งกิจโกศล โรงพยาบาลสมิติเวช

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0