โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ข้อควรระวังในการฟังสปีชของ ผบ.ทบ. จากมุมมองความมั่นคงศึกษา

The MATTER

เผยแพร่ 14 ต.ค. 2562 เวลา 03.14 น. • Thinkers

ผม 'ทน' นั่งฟังสปีช 'แผ่นดินของเราในสายตานักความมั่นคง' ของผู้บัญชาการกองทัพบกไทยอย่างพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในฐานะนักวิชาการสายความมั่นคงคนหนึ่ง ตอนทำใจจะเริ่มฟังว่ายากแล้ว ระหว่างฟังและการฟังให้จบนั้นกลับเป็นเรื่องยากลำบากกว่ามาก เพราะผิดแบบทุกจุดเท่าที่จะเป็นไปได้จริงๆ ครับ

ตั้งแต่จุดเล็กจุดน้อย ไปยันประเด็นใหญ่ๆ จนผมสงสัยว่าใครเขียนบทพูดนี้กันแน่ เพราะผิดจนเริ่มแก้ให้ไม่ถูกเลย แต่กระนั้นในหมู่ฝ่ายขวาอนุรักษ์ทั้งหลายแล้ว สปีชนี้ก็ดูจะเป็นที่ชื่นชอบไม่น้อยจนน่าสงสัยระดับความสามารถในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล รวมถึงความรู้ที่พวกเขามักอ้างว่าตนเองนั้นถือครองไว้มากด้วย

เมื่อมันมีจุดผิดพลาดมากเสียเหลือเกิน ผมจึงไม่มีเวลาและพื้นที่ใดๆ ในการไป “วิจารณ์” สิ่งที่อภิรัชต์กล่าวนะครับ หากสนใจการวิจารณ์ทั้งสิ่งที่อภิรัชต์พูดและท่าทีของอภิรัชต์ ผมแนะนำให้ลองอ่านบทความของ อ.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงคนสำคัญของไทยประกอบด้วย[1]

ในที่นี้ผมคงจะทำได้เพียงแค่การพยายามแก้ไขประเด็นที่อภิรัชต์พูดมาแบบผิดๆ ให้คนที่ได้ฟัง รวมถึงคนพูดแบบอภิรัชต์เองด้วย (หากมาอ่าน) ได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับสิ่งที่ตัวเองพูดหรือฟังไปด้วยนั่นเอง

ผมขอเริ่มจากส่วนที่ง่ายและพื้นฐานที่สุดเลยที่ผิดนะครับ คือ อภิรัชต์กล่าวว่า “ฮ่องกงเป็นประเทศเกาะ” ทั้งยังบอกอีกว่า “ดังที่ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้ว” แต่ในความจริงแล้ว “ฮ่องกงไม่ใช่ทั้งประเทศ ทั้งยังไม่ใช่เกาะมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1860 แล้ว” ด้วยครับ เวลาเราพูดถึงฮ่องกงในแง่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้น มันประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ นะครับ คือเกาะฮ่องกง เกาะลันเตา แหลมเกาลูน และส่วนนิวเทอริทอรีส์ (New Territories) 4 ส่วนนี้รวมกันเป็น 'เขตปกครองพิเศษฮ่องกง' ที่อภิรัชต์พยายามจะพูดถึงน่ะครับ

นอกจากนี้ ฮ่องกงไม่ว่าจะในช่วงเวลาใดก็ตามไม่ได้มีสถานะเป็นประเทศเลยครับ

แม้แต่ในช่วงที่อยู่ใต้อาณานิคมของสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่นก็ตาม มีสถานะเป็น 'พื้นที่ใต้การปกครอง' อย่างช่วงที่อยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ที่เรียกกันว่า British Hong Kong นั้น ก็ถือว่าเป็น British Dependent Territory of the United Kingdom ครับ จะเห็นได้ว่าถูกนับเป็น territory หรือพื้นที่ในการปกครองหนึ่งนะครับ ไม่ใช่ประเทศ

ข้อมูลนี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันฟ้องอะไรเราหลายอย่างนะครับว่า แม้แต่ข้อมูลพื้นฐานมากๆ แค่นี้คนเป็น ผบ.ทบ. ไทยยังไม่ทราบเลย ผมใช้คำว่า 'ไม่ทราบ' เพราะนี่ไม่ใช่การพูดผิด อภิรัชต์พูดว่า "เกาะฮ่องกง” ซ้ำๆ หลายรอบมากในสปีช และเป็นส่วนที่พยายามวิเคราะห์ถึง “ภูมิรัฐศาสตร์อันเป็นเกาะในฐานะนักความมั่นคง” ด้วย ซึ่งในแง่นี้มันผิดแน่ๆ ครับ และแม้ผมจะไม่ไปต่อตีด้วยกับความเห็นของอภิรัชต์ที่มีต่อโจชัว หว่อง หรือธนาธรที่ถ่ายรูปคู่กับโจชัว เพราะแค่แก้ไขข้อมูลผิดๆ ก็เกินพื้นที่ที่มีแล้ว ไม่อยากไปยุ่งกับ 'ความคิดเห็นส่วนตัว' เพิ่มอีก ไม่ต้องนับข้อเท็จจริงที่อภิรัชต์พูดผิดแบบคนละทิศว่าจีนไม่ได้ใช้ความรุนแรงในการชุมนุมอีกด้วย นี่หากไม่ใช่พื้นที่เศรษฐกิจอันสำคัญอย่างฮ่องกงที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงสากลอยู่ ป่านนี้เราอาจจะได้เห็นภาพแบบกรณีที่ธิเบตหรือซินเกียงไปแล้วก็ได้

อนึ่ง ผมจะขอตัดส่วนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบตรงๆ ออกไป เพราะผมออกตัวมาโดยตลอดว่าไม่ใช่คนที่ชำนาญอะไรกับพื้นที่นี้เป็นพิเศษ (แต่ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เห็นว่าวิธีการที่ฝ่ายความมั่นคงไทยใช้อยู่นั้นมันผิดและเขียนถึงหลายวาระแล้ว) อย่างไรก็ตามผมขอโน๊ตความตลกไว้เพียงเล็กๆ ด้วยว่า ผบ.ทบ. พยายามจะอาศัยเรื่องเล่าหนึ่งปีนิดๆ ของตนเองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเล่าเพื่ออธิบายความ 'รู้จริงในพื้นที่' มากกว่านักวิชาการจำนวนมากที่ชำนาญพื้นที่นี้

ทั้งยังบอกว่านักวิชาการอาศัยแต่ “ไถมือถือ นั่งเทียนเขียนเอา” ก็อยากจะบอกแค่ว่านักวิชาการที่ชำนาญเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หลายคนเกิดและโตที่นั่น ไม่ก็ศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าวมานานหลายปีนะครับ เพียงแค่เค้าไม่ได้เอามาคุยโวมากนักแบบ ผบ.ทบ. เท่านั้นเอง นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่อง Hybrid Warfare ที่อภิรัชต์เอามาพูดด้วยเลยนะครับ

คือ Hybrid Warfare มันมีจริงครับ แต่ไม่ใช่ 'ทฤษฎี' อะไรแบบที่อภิรัชต์อ้างเลย เป็นเพียง 'ยุทธศาสตร์หนึ่งทางการทหาร' (military strategy) เท่านั้น ซึ่งพัฒนาขึ้นมาในช่วงสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยทั่วไปยอมรับกันว่าเริ่มต้นในช่วงปี ค.ศ. 2006 โดยเป็นส่วนผสมของสงครามแบบดั้งเดิมกับแบบใหม่ แต่ผมยังนึกไม่ออกนะครับว่าที่อภิรัชต์อ้างว่ามีหลายประเทศล่มสลายไปเพราะ Hybrid Warfare นี่มันที่ไหนบ้าง?

เหตุผลหลักประการหนึ่งที่อภิรัชต์เอ่ยถึงชีวิตของตนเองกับเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นอกจากการพยายามจะสร้างภาพให้ดูเป็นผู้เสียสละ หวาดหวั่นนานาเพื่อชาติอย่างแสนจะเมโลดราม่าแล้วนั้น ก็ดูจะเป็นเรื่องการพยายามจะโยงเข้าเรื่องมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญไทย ที่มีเนื้อความว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้” จากเนื้อความนี้เอง อภิรัชต์ได้โยงเข้ากับประเด็นหลักๆ ของตนเองอีกหลากหลาย ซึ่งผมจะค่อยๆ ไล่ต่อไปนะครับ

อภิรัชต์เริ่มต้นจากการบอกว่าเรื่องนี้คือเรื่องความมั่นคง ไม่ใช่เรื่องทางการเมือง

จะแก้รัฐธรรมนูญอะไรก็ว่ากันไปในสภา แต่อย่ามายุ่งกับมาตรานี้ จุดนี้ที่อภิรัชต์อภิปรายนั้นถูกเพียงครึ่งเดียวเป็นอย่างมากครับ คือ เรื่องนี้เป็นเรื่องในทางความมั่นคงด้วยแน่นอน แต่ที่ผิดมากๆ ก็คือ นี่เป็นเรื่องในทางการเมืองมากๆ ด้วย และมากเสียยิ่งกว่าในทางการเมืองเพียวๆ แบบที่อภิรัชต์พยายามจะสื่อเสียอีก

ไม่ต้องนับว่า 'ฝ่ายความมั่นคง' เองนั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งภายใต้โครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่มีหน้าที่ปฏิบัติตาม 'ข้อสรุปในทางการเมือง' ไม่ได้มีหน้าที่อื่นๆ พูดแบบภาษามนุษย์ก็คือ แค่การที่อภิรัชต์พูดในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของความมั่นคงไม่ใช่การเมืองนั้นก็เป็นการเสนอหน้าอย่างผิดที่ผิดทางและผิดระเบียบแล้ว อภิรัชต์สามารถพูดได้ในสถานะประชาชนคนหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะ ผบ.ทบ. อย่างเป็นทางการอย่างที่ได้ทำไป ประเด็นนี้อภิรัชต์จึงผิดทั้งในทางเนื้อหาและในทางการปฏิบัติเลยทีเดียว

ที่ประเด็นนี้เกี่ยวกับโลกการเมืองอย่างตรงไปตรงมานั้นก็เพราะ มาตรา 1 นั้นว่าด้วยประเด็นหลักๆ อยู่ 2 เรื่องหลักๆ นั่นคือ 'ลักษณะของรัฐ' และเรื่องของ 'การแบ่งแยกเขตแดน' ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องในทางการเมืองทั้งสิ้น และเป็นเรื่องในทางความมั่นคงเพียวๆ ในความหมายแบบที่อภิรัชต์พยายามจะสื่อก็แค่เรื่องหลัง โดยลักษณะของรัฐนั้นยังสามารถแจงลงไปได้อีกหลายประการครับ

อย่างเรื่องพัฒนาการของการเป็นรัฐ (state formation), รูปแบบของรัฐ (form of states) ว่าจะเป็นรัฐเดี่ยวหรือสหพันธรัฐ และสุดท้ายคือจะเป็นรัฐที่มีประมุขของรัฐเป็นใคร อย่างกรณีของไทยคือ เป็นราชอาณาจักร ซึ่งแปลง่ายๆ ก็คือ รัฐที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ

ซึ่งการเป็นประมุขนั้นเป็นคนละอย่างกับการเป็นเจ้าของรัฐหรือเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ซึ่งเขียนชัดอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ…รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม”

ไม่ต้องนับว่ายังมีพวกมาตรา 255 และอื่นๆ ที่มา 'ดัก' ให้การแก้รัฐธรรมนูญตามข้อตกลงทางกฎหมาย ตามกรอบที่วางไว้นั้นไม่สามารถทำได้ คือ ไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอะไรยังไง ห้ามไปแตะลักษณะของรัฐ พวกประมุขรัฐ ระบอบการปกครองของรัฐ รูปของรัฐที่ว่ามานี้ (เขียนไว้จนมีลักษณะเป็น 'วรรคถาวร' หรือ eternal clause เสียด้วยซ้ำ)

ในส่วนเรื่องการแบ่งแยกเขตแดนนั้นก็ชัดเจนว่ามาตรา 1 ระบุไว้ชัดว่าเขตแดนของไทยนั้นไม่สามารถแบ่งแยกได้ แต่พร้อมๆ กันไป หากเราดูมาตรา 1 แบบทั้งมาตราจะเห็นได้ว่าไม่มีการระบุห้ามอย่างชัดเจนในการสร้างเขตปกครองตัวเองพิเศษที่ยังอยู่ภายใต้เขตแดนหลักของไทยอยู่ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอของฝั่งวิชาการมานานปีแล้วนั่นเอง และหากเป็นเช่นนั้นก็จะไม่ใช่ประเด็นในทางความมั่นคงให้อภิรัชต์ต้องมากังวลใจอะไรอีก แบบประเทศจีนเองก็มองตัวเองเป็นประเทศเดียว เป็น 'จีนเดียว' ไม่ใช่สหพันธรัฐ แต่ก็สามารถทำแบบนี้ได้ แต่อภิรัชต์พยายามตีความให้มาตรานี้เข้าไปอยู่ในอำนาจการดูแลของฝ่ายตัวเองอย่างไม่รู้จักตำแหน่งแห่งที่และหน้าที่ของตนเองเท่านั้น

แม้การเสนอให้ 'แยกเขตแดนเลย' จะทำไม่ได้ตามมาตรา 1 จริง

แต่นั่นหมายความว่าเฉพาะภายใต้อำนาจของรัฐธรรมนูญนี้

แต่หากประชาชนทั้งหมดเห็นสมควรให้ 'แยกได้' มันก็ย่อมแยกได้ครับ และนี่ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรเลย เรามีตัวอย่างของการ 'แยกดินแดนสำเร็จ' มาแล้วมากมายทั่วโลก สิงคโปร์แยกตัวเองออกจากมาเลเซีย, ติมอร์ตะวันออก แยกตัวเองจากอินโดนีเซีย, หรือการแยกตัวเองผ่านสงครามปลดแอกตัวเองอย่างกรณีมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกในตอนนี้อย่างสหรัฐอเมริกาที่แยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร หรือกระทั่งจะนับสหราชอาณาจักรที่อยู่ระหว่างกระบวนการแยกตัวเองออกจากสหภาพยุโรปด้วยก็ยังพอได้ นี่เป็นแค่เศษเสี้ยวของตัวอย่างนะครับ และจะเห็นได้ว่าการแยกตัวเองนั้นมันทำได้ทั้งด้วยกระบวนการทางการเมือง หรือในทางความมั่นคง (สงครามปลดแอก) ว่าอีกแบบก็คือ นี่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงล้วนๆ อย่างที่อภิรัชต์พยายามจะเคลมเลย

หนึ่งในกรณีที่เห็นได้ชัดว่านี่คือเรื่องทางการเมืองได้ก็คือ การที่ประเทศสวีเดนเองก็เคยพยายามจะมอบ 'ภูเขา' ให้กับฟินแลนด์ทั้งลูกในฐานะของขวัญวันเกิดในการก่อตั้งประเทศครบ 100 ปี[2] และต้องไม่ลืมว่านี่คือประเทศที่เป็นราชอาณาจักรเช่นเดียวกันกับไทยด้วย การ 'ยกดินแดนให้' ก็ทำได้สบายๆ ไม่ได้กระเทือนรูปของรัฐอะไรใดๆ เลย

อีกประเด็นสำคัญที่อภิรัชต์แตกยอดจากมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญก็คือ การอธิบายว่าการอ้างเรื่องแก้ไขปรับเปลี่ยนมาตรา 1 ของเหล่านักวิชาการไม่รักดีนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงการเบิกทางเพื่อไปแตะต้องหรือสั่นคลอนอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะมาตรานี้สัมพันธ์กับโครงสร้างอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ อันนี้ก็โยงงงๆ เองอีก ซึ่งผมคิดว่าเป็นความเข้าใจผิดถึงสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจอธิปไตย หรือองค์อธิปัตย์ของรัฐ” นั่นเอง ที่เป็นความเข้าใจผิดที่ทั้งอภิรัชต์และวิษณุ เครืองามดูจะมีร่วมกัน (กรณีของวิษณุนั้นเห็นได้จากการอภิปรายในสภาที่ผ่านมา)

ที่ผมกล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่ามาตรา 1 นั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงใดๆ กับสถาบันกษัตริย์ได้เลย เว้นแต่ส่วนที่บอกว่า 'ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร' ซึ่งก็อย่างที่ผมบอกว่าเป็นเพียงการบอกถึงลักษณะของรัฐว่าเราเป็นรัฐที่มีกษัตริย์ในฐานะประมุขเท่านั้น แต่การปรับแก้มาตรา 1 นั้น ไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบรัฐให้เป็นแบบอื่นๆ เช่น สาธารณรัฐ เป็นต้น เพราะรัฐธรรมนูญยังคงมีมาตรา 2 ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า “ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ฉะนั้นต่อให้มีการปรับแก้มาตรา 1 ก็ยังต้องอยู่ภายใต้การกำกับของมาตรา 2 นี้อยู่ ว่าอีกแบบก็คือ การเสนอปรับแก้มาตรา 1 นั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวโยงอะไรกับตัวสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่อภิรัชต์พยายามโยงได้เลย (หากแก้มาตรา 1 และ 2 พร้อมๆ กัน อาจจะพออ้างได้)

ความเข้าใจของวิษณุและอภิรัชต์ว่าพระมหากษัตริย์ในฐานะ “ประมุขของรัฐ” ว่าคือ องค์อธิปัตย์ตามระบอบประชาธิปไตยของไทยคือพระมหากษัตริย์ที่ใช้อำนาจผ่านรัฐสภา, ครม. และศาล ซึ่งจริงๆ ก็ผิดมาก และมันนำมาสู่การโยงผิดๆ นี้ด้วยครับ เพราะตามหลักการพื้นฐานสุดเลยคือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์เป็นเพียง "ผู้ใช้อำนาจแทน"

แต่เนื่องจากพระมหากษัตริย์ไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้โดยพระองค์เอง

ก็เลยต้องใช้อำนาจ "แทน" นี้ "ผ่าน" สถาบันทั้ง 3 ที่ว่ามา

แต่ "ผู้ใช้อำนาจแทน" อย่างพระมหากษัตริย์นั้นไม่ได้เท่ากับการเป็นองค์อธิปัตย์ เพราะเจ้าของอำนาจที่แท้จริงในทางหลักการนั้นสามารถ "เลือกที่จะเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจแทนนี้ได้" อย่างประเทศในเครือจักรภพฯ จำนวนมากก็มีการทำประชามติอยู่เรื่อยๆ ครับว่าจะยังคงมีควีนของอังกฤษเป็น "ประมุขของรัฐอยู่ต่อไปหรือไม่?" นั่นแปลว่า อำนาจอธิปไตยในความหมายว่า สิทธิอย่างเต็มที่และองคาพยพในการปกครองรัฐ (the full rights and governing body of the state) นั้นไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งประมุขของรัฐที่ใช้อำนาจแทน แต่อยู่กับตัวประชาชน นั่นเอง

เมื่อความเข้าใจนี้ผิดไป จึงนำไปสู่อุปมาที่ผิดฝาผิดตัวด้วยว่า ประเทศไทยเป็นเสมือนบ้าน และมีพระมหากษัตริย์ลอยอยู่สูงเหนือกว่าตัวบ้าน ในโครงสร้างแบบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแล้ว ประชาชนนั้นอยู่สูงสุด และเป็นกระทั่งผู้ถือครองอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์อีกศกหนึ่ง เพราะตำแหน่ง บทบาท และอำนาจหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ เราจึงเรียกการปกครองแบบ constitutional monarchy ว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” นั่นเอง ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 แล้ว ไม่ได้มีกษัติรย์ที่อยู่เหนือกฎหมายอีกต่อไป (อย่างน้อยก็ในทางหลักการ)

ฉะนั้นหากเรียงตามลำดับในเชิง 'ศักย์ของอำนาจในทางการเมืองการปกครองของระบอบประชาธิปไตย จริงๆ แล้วจะได้ว่าปวงชนชาวไทย > รัฐธรรมนูญ > สถาบันพระมหากษัตริย์ น่ะครับ เพราะฉะนั้นหากจะมีอะไรที่อยู่สูงเหนือตัวบ้านหรือโครงสร้างอันเป็นรัฐแล้วก็คงเป็นปวงชนชาวไทยที่เป็นองค์อธิปัตย์โดยแท้ และถือครองอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่ แต่หากว่ากันในเชิงทฤษฎีจริงๆ ก็จะซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะประชาชนนั้นทั้งอยู่เหนือหลังคาบ้านในบทอุปมาของอภิรัชต์ และทั้งอยู่ในบ้านไปพร้อมๆ กันด้วย เป็น 2 สถานะในเวลาเดียวกันนั่นเอง

ในแง่นี้เองหากจะมีอะไรที่จะไปล้มล้าง eternal clause ที่ว่าไว้ก่อนหน้านี้ได้จริงๆ ก็ต้องอาศัยอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่โดยปวงชนชาวไทยเท่านั้น เพราะเป็นอำนาจที่สูงกว่าตัวรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งอาจจะต้องไปไกลเสียยิ่งกว่าการทำประชามติภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญนี้ว่าไว้เสียด้วยซ้ำ แต่ต้องเป็นการลุกฮือและติดตั้ง (installation) ระบอบและรูปของรัฐขึ้นใหม่เลยโน่นแหละครับ

ว่าง่ายๆ ก็คือ การที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในทางปฏิบัติจริงนั้น

แทบจะไม่มีเลยครับ โดยเฉพาะในสภาพแบบบ้านเมืองแบบนี้

ที่ผ่านมาการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญชนิดนอกกรอบของรัฐธรรมนูญนั้นมีแต่โดยมือนักรัฐประหารเองต่างหาก ที่ไม่ได้สนใจ Eternal Clause อะไรนั่นเลยว่า 'ห้ามเปลี่ยนระบอบการปกครองของรัฐ' ก็ถูกเปลี่ยนจากประชาธิปไตย ไปเป็น 'เผด็จการ' ไม่รู้กี่รอบ แต่ในทางนี้มันก็สะท้อนด้วยว่า eternal clause นั้นมันเป็นสิ่งที่ทำได้ หากใช้อำนาจนอกเหนือจากกรอบมาเปลี่ยนมัน อยู่ที่ว่าอำนาจที่นำมาเปลี่ยนนั้นจะเป็นอำนาจที่ชอบธรรม ตามศักย์ของอำนาจ อย่างอำนาจของปวงชนชาวไทย หรือจะเป็นอำนาจที่ไม่ชอบธรรม อย่างทหารลากรถถังมาฉีกกฎหมายสูงสุดของรัฐ? น่าแปลกที่ในกรณีของไทยนั้นแทบทั้งหมดเป็นอย่างหลังหมดเลย

เมื่ออภิรัชต์เข้าใจบทบาทและอำนาจหน้าที่ขององคาพยพทางการเมืองในรัฐแบบผิดไปหมดแบบนี้ จึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ผิดๆ ด้วยที่ว่า กองทัพนั้นรับใช้รัฐบาลทุกรัฐบาลทั้งหมดนั่นแหละ ไม่ว่านายกจะเป็นทหารหรือพลเรือน เอาง่ายๆ ถ้ากองทัพรับใช้รัฐบาลที่มาจากประชาชนจริงๆ ประเทศนี้ไม่มีรัฐประหารเกือบจะยี่สิบรอบหรอก และการที่อภิรัชต์เองออกมาพูดในทางสาธารณะในตำแหน่ง ผบ.ทบ. แถมยังชี้บอกอีกว่า อันนี้ให้ทำได้ อันนี้ไม่ให้ทำนั้น มันคือการกร่างบอกว่าตัวเองใหญ่กว่าประชาชนทั้งหมด จึงสามารถชี้ได้ว่าอันไหนให้ทำได้บ้าง

แต่พร้อมๆ กันไปก็ทำพูดว่าตนนั้น “คอยรับใช้ อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชา” ฐานคิดทั้งหมดนี้สะท้อนออกมาในตัวสปีชของอภิรัชต์เองที่เข้าใจผิดว่าอำนาจสูงสุดของรัฐอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ประชาชน อภิรัชต์จึงเข้าใจว่าสิ่งที่กองทัพต้องรับใช้นั้นคือสถาบันพระมหากษัตริย์แทนที่จะเป็นประชาชน ซึ่งไม่ใช่เลย ดังที่ผมได้อภิปรายถึงศักย์ทาอำนาจไปแล้ว

อีกจุดที่จะเห็นได้ชัดก็คือ เวลาที่พูดถึงอำนาจทั้งสามคือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการนั้น อภิรัชต์ดูจะเน้นไปที่อำนาจตุลาการเป็นพิเศษ (เน้นคำด้วยตัวเองเลย) ซึ่งก็ดูจะสะท้อนความคิดนี้ เพราะเป็นอำนาจเดียวที่ไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง และตุลาการจำนวนมากก็ดูจะมีความเข้าใจในลักษณะเดียวกันนี้คือการเป็น "ข้าราชบริพารในพระปรมาภิไธย” นั่นเอง

อีกหนึ่งในประเด็นฮ็อตของอภิรัชต์เลยก็คือ

การผลิตซ้ำวาทกรรมคอมมิวนิสต์ (อีกแล้ว)

ทั้งๆ ที่เริ่มต้นด้วยการด่าคนอื่นนะครับว่า "จงใจสร้างศัตรู ปลุกปั่นประชาชน” แล้วก็มาผลิตซ้ำวาทกรรมคอมมิวนิสต์ปั่นหัวนักเรียนนักศึกษาเอาเองเลยนะครับ เป็นการสร้างด้วยวิธีคิดแบบสงครามเย็นอีกต่างหาก (ตอนพูดถึงทหารที่บาดเจ็บล้มตายที่ 3 จังหวัด หรือเปิดเพลงโหมอารมณ์ เป็นมุกโบราณมากๆ) และเอาจริงๆ แล้วท่าทีของอภิรัชต์เองก็ชวนให้งงมากมายด้วย

อภิรัชต์ด่าคอมมิวนิสต์ออกหน้าออกตา

แต่อภิรัชต์เชียร์รัฐบาลจีนที่เป็นหัวหอกใหญ่คอมมิวนิสต์ในโลกปัจจุบันอย่างออกรสไปพร้อมๆ กัน

อภิรัชต์ด่านักวิชาการจบนอกรวมถึงอดีตสมาชิก พคท. ว่าเป็น master mind ในการปลุกปั่นคนรุ่นใหม่

แต่อภิรัชต์ก็ด่าฝรั่งมังค่าประเทศตะวันตก กระทั่งสหรัฐอเมริกา ที่ยืนอยู่ฝั่งต้านคอมมิวนิสต์ยิ่งกว่าใคร

สรุปว่ายังไงครับ? ทำไมชวนสับสนแบบนี้?

นี่ผมยังไม่ต้องไปพูดถึงความเข้าใจผิดของอภิรัชต์ที่มีต่อสิ่งที่เรียกว่าคอมมิวนิสม์เลยนะครับ ข้อเสนอของนักวิชาการหลายคนที่อภิรัชต์ด่าว่าซ้าย หรือเป็นคอมมิวนิสต์นั้น หากปู่คาร์ล มาร์กซ์ยังอยู่คงกุมท้องขำชนิดตัวโยน ข้อเสนอที่ซ้ายที่สุดในโลกการเมืองไทยกระแสหลักนั้นก็คือ 'รัฐสวัสดิการ' ที่เน้นให้เกิดการกระจายรายได้ และสร้างสวัสดิการร่วมให้กับประชาชนมากขึ้น (ซึ่งอาจจะต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นด้วย) มากสุดคือแค่นี้เลย ไม่มีไปไกลกว่านี้ครับ

ซึ่งห่างไกลมากๆ จากสิ่งที่เรียกว่าคอมมิวนิสม์ เป็นได้อย่างเก่งก็กลางซ้าย ไม่มีหรอกครับข้อเสนอแบบการสร้างคอมมูน, การบังคับนาหมู่, forced collectivization และอะไรเทือกๆ นี้ ไม่มีกระทั่งการเรียกร้องให้เกิดการปฏิวัติทางชนชั้นเพื่อต่อสู้โค่นล้มชนชั้นนายทุนเสียด้วยซ้ำ หากจะเป็นซ้ายจริงๆ ก็เป็นได้แต่เพียงซ้ายหน่อมแน้ม ที่พวกซ้ายแรงๆ ในประเทศโลกที่หนึ่งเค้ากระแระกระแหนว่าเป็น “Decaffed Leftist” หรือฝ่ายซ้ายไร้คาเฟอีนเท่านั้นแล

อภิรัชต์ยังบอกผิดๆ อีกว่านักวิชาการเหล่านี้ไปร่ำเรียนมาจากประเทศเจ้าอาณานิคม แล้ววาดภาพประเทศไทยในฐานะ “ลูกแกะที่ตกเป็นเหยื่อ” นี่ก็เป็นความเข้าใจทางประวัติศาสตร์แบบผิดๆ ที่โบ้ยความเลวทรามทุกอย่างให้กับศัตรู เพราะความจริงตามประวัติศาสตร์แล้ว เราไม่ได้เป็นลูกแกะที่โดนหมาป่าบุกทำร้ายกัดกินเลย เราเองก็เป็นหมาป่าเช่นกัน เราก็ล่าดินแดน พื้นที่ในละแวกบ้านนี่เช่นเดียวกัน แค่ว่าชาติตะวันตกในเวลานั้นเป็นหมาป่าที่แข็งแรงกว่าเรา เขาจึงยึดเอาดินแดนที่เราอยากได้และตีความไปเองว่าเป็นของเรา ไปถือครอง

ที่ผมกล่าวแบบนี้ได้ เพราะว่าพื้นที่ที่เสียดินแดนแทบทั้งหมดนั้นไม่ได้ขึ้นตรงหรือเป็นประเทศราชกับไทย (สยาม) เท่านั้น เขาถวายเครื่องราชบรรณาการให้ประเทศอื่นๆ ที่มีอำนาจเหนือกว่าอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย อย่างกรณีของลาวเองนั้น ก็ถวายเครื่องราชบรรณาการที่แสดงความสวามิภักด์ให้ทั้งกับไทยและเวียดนาม (และอาจจะมีที่อื่นๆ อีก เช่น จีน) ฉะนั้นการอ้างลาวในฐานะพื้นที่ประเทศราชของไทยแต่เพียงผู้เดียว และโดนแย่งไปนั้นจึงเป็นการสร้างวาทกรรมทางประวัติศาสตร์แบบผิดๆ ที่ผลักเอาความเลวทั้งหมดให้กับศัตรูแล้วเขียนความใสสะอาดให้กับตัวเอง

ไม่ต้องไปถึงข้อเท็จจริงแต่แรกว่าหากเราเป็นลูกแกะจริงๆ

จะไปมีประเทศราชแต่แรกให้โดนยึดได้อย่างไร?

เราเองก็คือหมาป่านั่นแหละ แค่เป็นหมาป่าเวอร์ชั่นที่กระจอกกว่าและสู้เค้าไม่ได้ ไม่ได้เป็นเหยื่ออย่างที่อภิรัชต์เข้าใจเลย ฉะนั้นอภิรัชต์ไม่ต้องไปว่าใครหรอกว่าไปร่ำเรียนจากประเทศเจ้าอาณานิคมมา อภิรัชต์เองก็เกิดและโตและเรียนในประเทศที่เป็นหมาป่า เป็นคนที่พยายามยึดดินแดนชาวบ้านครือๆ กันนั้นแล

ที่อันตรายและทรงอำนาจกว่ามากๆ ในประเทศเราดูจะเป็นขวาสุดขั้ว อนุรักษ์นิยมสุดตัวอย่างพวกอภิรัชต์เองนี่ต่างหากครับ หลอกหลอนประเทศนี้ไม่ไปไหน มากกว่าผีคอมมิวนิสต์ที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างอภิรัชต์สร้างมาหลอกตัวเองให้ฟินไปวันๆ ว่าตัวฉันนั้นยังแสนสำคัญเพราะต้องคอยสู้กับผีคอมมิวนิสต์เหล่านี้ อันนี้ภาษาวิชาการเราเรียกว่า self-fulfilling prophecy ครับ

สุดท้ายอภิรัชต์ยังพาลไปด่าคนอื่นว่าเป็น “ฮ่องเต้ซินโดรม” ซึ่งอภิรัชต์เข้าใจความหมายถูกนะครับ ว่าคือ Spoiled brat ที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าหมายถึงใคร แต่ก็คงไม่ต่างจากอภิรัชต์ที่คาบมรดก 4,000 ล้านบาทมาเกิดทั้งที่ที่บ้านเป็นข้าราชการมาโดยตลอดนัก แต่ผมอยากจะบอกแค่สั้นๆ ครับว่า โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ได้แคร์หรอกว่าคนที่จะมานำทางสังคมจะเป็นฮ่องเต้ซินโดรม หรือเป็นไพร่หมื่นล้าน หรือเป็นขอทานริมทาง ตราบเท่าที่เขาเข้าใจในหลักการประชาธิปไตยที่ประเทศนี้ได้เลือกแล้วว่าจะเป็น ตราบเท่าที่เขาเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง และรู้ว่ากำลังต่อสู้กับอะไรในสังคมในฐานะ 'ตัวแทนของประชาชน' อยู่ ผมไม่แคร์หรอกครับว่าบุพการีเขาจะเป็นใคร เขาจะคาบช้อนทองมาเกิดไหมไม่ได้สำคัญเลย เพราะสุดท้ายแล้วคนเรามันเลือกเกิดไม่ได้

หากอภิรัชต์ที่คาบช้อนทองมูลค่า 4,000 ล้านมาเกิดไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ และเข้าใจตำแหน่งแห่งที่บทบาทของตัวเองในฐานะทหารอาชีพที่มีหน้าที่รับใช้ประชาชนจริงๆ อย่างถูกต้อง ผมเองก็ไม่ได้แคร์หรอกนะครับว่าคุณจะเป็นลูกใคร หรือตอนนี้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานใดบ้าง ทั้งจะยังปกป้องด้วยว่าคุณไม่ได้เลือกที่จะเกิดมาในกองทองสี่พันล้าน (แต่ไปด่าคนอื่น) แต่นี่ตรงกันข้าม นอกจากจะมั่วไปหมด โยงเละ ผิดไปหมดทุกอย่างแล้ว ยังสร้างผีคอมมิวนิสต์มาหลอกตัวเองด้วย สงสัยจะกลัวผีคอมมิวนิสต์มาเอาเงิน 4,000 ล้านที่พ่อให้ไปแจกกรรมาชีพกระมัง

อ้างอิงข้อมูลจาก

[1]  www.matichonweekly.com

[2]  www.independent.co.uk

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0