โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ขุนน้ำนางนอน" น้ำตาที่ไหลรินของเจ้าหญิงที่ชายรักหนีไปมีอื่น

NATIONTV

เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2561 เวลา 02.08 น. • Nation TV
ขุนน้ำนางนอน น้ำตาที่ไหลรินของเจ้าหญิงที่ชายรักหนีไปมีอื่น
ขุนน้ำนางนอน น้ำตาที่ไหลรินของเจ้าหญิงที่ชายรักหนีไปมีอื่น

เปิดตำนาน "ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน" 13 ชีวิตพลัดหลง ยังออกไม่ได้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เคยเตือน! ถ้ำอันตรายช่วงฤดูฝน ไร้หลักฐานโบราณคดี ไม่เหมาะเป็นที่อยู่ของมนุษย์มาแต่โบราณภาวนาขอให้ปลอดภัยหลังทราบข่าวว่ามีโค้ชและเยาวชนนักกีฬาฟุตบอล เข้าไปท่องเที่ยวในถ้ำและพลัดหลงออกไม่ได้ เท่ารู้คือถ้ำเป็นถ้ำที่ท้าทายนักสำรวจมาก เนืองจากปากถ้ำอยู่สูงกว่าระดับพื้นดิน ทำให้แสงสว่างเข้าไปไม่ถึง ภายในจึงมืดมากเส้นทางซับซ้อน หวังว่าหลังเหตุการณ์นี้ เจ้าหน้าที่ควรกั้นเขตไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปลึกมาก
การขอขมาเจ้าที่เจ้าทางเพื่อขอให้เปิดทางค้นหาผู้พลัดหลงจนพบ ดูเป็นความหวังของญาติพี่น้องและทุกคนที่รอคอย เวลาที่ไล่หลังมาแบบไม่คอยใคร ยิ่งนานวัน ยิ่งเป็นห่วงสุขภาพและความอยู่รอดของทั้ง 13 ชีวิต ที่อยู่ในถ้ำ 
"ชมรมฮักตั๋วเมือง" กล่าวถึง ตำนานนางนอน ของดอยนางนอน เมืองเชียงรายในมติชนสุดสัปดาห์ ตอนหนึ่ง ระบุ เจ้าหญิงองค์หนึ่งแห่งเมืองเชียงรุ้ง แอบชอบพอกับชายหนุ่มคนดูแลม้า จนกระทั่งตั้งครรภ์ กลัวว่าพ่อจะลงโทษ จึงพากันหนีมาถึงแคว้นไชยนารายณ์ หนุ่มสาวทั้งสองอ่อนเพลียเป็นอันมาก ชายหนุ่มจึงบอกให้เจ้าหญิงนอนพัก ส่วนชายหนุ่มออกไปหาอาหารมาให้ แต่ก็ถูกทหารที่ติดตามมาฆ่าตาย 
เจ้าหญิงรอคอยเป็นเวลาหลายวัน เมื่อสามีไม่ได้ย้อนกลับมา จึงตัดสินใจบูชารักโดยเอาปิ่นปักผมแทงศีรษะละสังขาร ตำแหน่งที่นางทอดกายนอนหงายตายคือดอยนางนอน เลือดที่ไหลรินออกมาเป็นสาย กลายเป็นแม่น้ำสาย
ส่วนอีกตำนาน เล่าว่า เจ้าหญิงเมืองพุกาม ออกตามหาเจ้าชายที่นางรัก นางออกรบ มีผู้คนล้มตายมากมาย และขยายอาณาเขตมาเรื่อยๆ จนมาถึงเวียงสี่ทวงจึงพบกับเจ้าชาย แต่ปรากฏว่าเจ้าชายหนีหายไปกับสาวสวยชาวเวียงนี้อีกครั้ง นางรู้สึกเศร้าสลดจนตรอมใจตาย
ก่อนตายได้ตั้งจิตอธิษฐานให้ร่างของนางกลายเป็นเทือกเขา ที่ชาวบ้านพากันเรียกว่า "ดอยนางนอน" น้ำตาที่ไหลรินกลายเป็น "ขุนน้ำนางนอน" ส่วนไพร่พลของนางก็กลายมาเป็นชนเผ่าหลากชาติพันธุ์บนภูเขาแห่งนี้ 
ที่ยกมาทั้งหมดนั้นคืนตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา แต่สำหรับสำข้อมูลของส่วนราชการ อย่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้รายละเอียดว่า ในแง่มุมประวัติศาสตร์ และโบราณคดีว่า ด้วยปากถ้ำที่สูง โถงถ้ำแรกที่เปิดกว้างระดับพื้นดินต่ำกว่าปากถ้ำมากเนื่องจากเป็นร่องทางน้ำที่ไหลออกจากถ้ำ จึงไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของมนุษย์  และไม่พบหลักฐานทางโบราณคดี ภายในถ้ำ
สำหรับถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อยู่ในการดูแลของวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ค่อนข้างน้อย จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ พบว่า หากมีคณะนักเรียนหรือผู้มาเยือนเป็นกลุ่มใหญ่ จะมีการประสานไปทางชาวบ้าน เพื่อช่วยมาทำหน้าที่ไกด์ท้องถิ่น และหากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะเดินเที่ยวเอง ทางเจ้าหน้าที่ก็อนุญาติ แผนการจัดการพื้นที่ ยังไม่มี
"ถ้ำหลวง จะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมพื้นที่ถ้ำ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นฤดูฝน เนื่องจากน้ำจะไหลเข้ามาท่วมภายในถ้ำซึ่งจะไม่ปลอดภัย และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของวนอุทยานฯ พบว่า นักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวชมถ้ำส่วนมากจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  อาจเนื่องมาจากภายในถ้ำค่อนข้างเปียกชื้น และทางวนอุทยานฯ ไม่ได้มีการติดตั้งแสงไฟส่องสว่าง นักท่องเที่ยวต้องยืมหรือเช่าไฟฉายจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งถ้ำหลวงอาจไม่ใช่ลักษณะถ้ำที่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวไทย แต่อาจมีความเหมาะสมในเชิงการศึกษาวิจัย   ดังนั้น ป้ายแสดงเส้นทาง หรือบอกรายละเอียดภายในถ้ำมีบ้างแต่ค่อนข้างชำรุด" ข้อมูลของ สผ. ระบุ 
นอกจาก นี้ในช่วงฤดูแล้งภายในถ้ำยังมีความชื้นสูง จะเห็นได้จากหยดน้ำที่เกาะอยู่ตามผนังถ้ำ และตามหินย้อยต่าง ๆ ก็มีหยดน้ำเกาะอยู่มากมาย ดังนั้น หากมีการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมตามลำพัง และไม่มีข้อห้าม เส้นทางเดินที่ไม่ชัดเจน หรือไม่มีเครื่องกีดขวางบางส่วนในพื้นที่ถ้ำที่ค่อนข้างเป็นตำแหน่งที่เปราะบาง การเกิดของหินงอก-หินย้อยต่าง ๆ อาจได้รับผลกระทบ
 ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะจัดทำแผนในการอนุรักษ์พื้นที่ถ้ำหลวงอย่างชัดเจน โดยควรเป็นแผนที่มีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องโดยที่มีวนอุทยานฯ เป็นเจ้าภาพหลัก นอกจากนี้ ควรที่จะมีแผนการอบรมเจ้าหน้าที่ของวนอุทยานฯ และชาวบ้านที่มีความประสงค์เป็นไกด์ท้องถิ่นให้เข้ารับการอบรมเรียนรู้ถึงการนำเที่ยวในถ้ำ เนื่องจากองค์ประกอบในถ้ำต่าง ๆ ค่อนข้างที่จะเปราะบาง   ดังนั้น ผู้นำชมต้องมีความรู้เฉพาะด้านให้มากขึ้น เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง หน่วยงาน และสามารถจะให้ความรู้ที่ถูกต้องกับผู้มาเยือน
FYI: ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน 
ที่ตั้งตามการปกครอง เขตป่าสงวนแห่งชาติป่า ดอยนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ที่ตั้งตามพิกัดภูมิศาสตร์ พิกัด UTM (WGS 1984) X 590613.953756, Y 2253944.026781ละติจูด 20.381553, ลองจิจูด 99.868333ความสูงจากระดับนำทะเลปานกลาง 453.00 เมตร
หน่วยงานที่รับผิดชอบ ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอนสถานภาพ แหล่งธรรมชาติจากโครงการแนวทางการจัดการแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ปี 2547ลักษณะเด่นของพื้นที่/ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์      ถ้ำหลวง เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ปากถ้ำเป็นห้องโถงกว้างมากภายในถ้ำจะพบกับความงามของ เกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำและถ้ำลอด ถ้ำหลวงยังรอคอยความท้าทายการสำรวจจากนักท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลาเพราะสำรวจไปได้ไม่ถึงที่หมายก็ต้องล่าถอยออกมาด้วยพบกับอุปสรรคความยากลำบากภายในถ้ำและยังมีถ้ำเล็กๆอีก 3 แห่งในบริเวณเดียวกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0