โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ขึ้นแท็กซี่ในเมืองไทย ห้ามใจไว้! "อย่าพูดเรื่องการเมือง"

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 20 ก.ย 2561 เวลา 06.57 น.
มนัสส

มนัส สัตยารักษ์ : คนอารมณ์เสีย

เป็นช่วงวันและเวลาที่ผมเรียกใช้รถแท็กซี่บ่อยกว่าใช้รถส่วนตัว โชคดีที่ไม่เจอโชเฟอร์อารมณ์เสียแม้แต่ครั้งดียว รู้สึกมีความสุขที่ตัดสินใจถูก

เมื่อสัก 2 หรือ 3 สัปดาห์ที่แล้ว ผมพูดถึงปัญาหาที่แก้ยากหรือแก้ไม่ได้ และแท็กซี่กับบริการขนส่งสาธารณะก็เป็นปัญหาหนึ่งในปัญหาสารพัดนั้น สงสัยตัวเองอยู่เหมือนกันว่าทำไมถึงสนใจปัญหาโลกแตกทำนองนี้มากมาย แล้วก็ยอมรับว่าน่าจะเป็นเพราะเราหนีสังคมสับสนแบบนี้ไม่พ้น

เราเคยเป็นตำรวจที่จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายในการประกอบอาชีพ และเรายังรักสถาบันตำรวจอยู่แม้จะเกษียณมากว่า 20 ปีแล้ว เราทนไม่ค่อยได้หากมีใครตำหนิหรือบริภาษตำรวจอย่างหยาบคายด้วยความเข้าใจผิดหรือโดยอคติ

บ้านเมืองที่มีกฎหมายมากมาย หยุมหยิมและดิ้นได้ กฎหมายที่เปิดช่องโหว่ให้มีหลายมาตรฐานได้ แม้ไม่ถึงกับเป็น “บ้านเมืองล้มหลว” แต่ก็หนีความสับสนอลหม่านไปไม่พ้น สร้าง “คนหัวหมอ” เต็มบ้านเต็มเมือง จำเป็นต้องมีตำรวจและข้าราชการฝ่ายต่างๆ มากมาย ใช้งบประมาณมหาศาลโดยแก้ไขอะไรไม่ได้ และไม่ได้มีอะไรงอกเงยขึ้นมาในทางบวกแก่บ้านเมืองเลย กลับทำให้สับสนมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ

โดยเฉพาะในห้วงวันและเวลาอันเคร่งเครียดของการ “จะเลือกตั้ง” ยิ่งผลิตกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ต่างๆ นานา จะโดยเป้าประสงค์ใดก็แล้วแต่ ล้วนทำให้ยุ่งยากยิ่งขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายก็ลดน้อยถอยลงไปด้วย

ถึงขนาดว่า รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ดร.วิษณุ เครืองาม ถึงกับทั้งขู่ทั้งเตือนนักการเมืองและพรรคการเมืองว่า

“อย่าทำผิดกฎหมายมากนัก”!

คำพูดทำนองนี้ย่อมหมายถึงว่า ยอมให้ผิดกฎหมายได้บางมาตรา หรือผิดได้บางฉบับ บางกรณี หรือบางคนหรือบางพรรค (ฮา)

การได้ใช้บริการแท็กซี่เปลี่ยนคันไปเรื่อยๆ ทำให้ได้ทราบข้อเท็จจริงหลากหลาย ซึ่งเมื่อนำมาประมวลกันแล้วก็ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้พอสมควร

อาชีพแท็กซี่ก็เหมือนอาชีพอื่นๆ ที่มี “ต้นทุน” และมีค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซ ค่าน้ำมันเครื่อง ค่าบำรุงรักษา ตลอดจนค่าซ่อม มากบ้าง น้อยบ้างตามสภาพของความเป็นจริง เช่น รถเก่าหรือรถใหม่ ใหม่เอี่ยมหรือมือสอง เป็นต้น

สรุปคร่าวๆ ง่ายๆ ว่า ถ้าทำเงินได้ไม่ถึงวันละ (หรือกะละ) 1,000 บาท โชเฟอร์ก็เหนื่อยเปล่าและเสียค่าสึกหรอของรถไปฟรีๆ

แต่คนว่างงานยอมสู้ทุกอย่าง ยอมมีหนี้สินพอกพูนเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ต้องตกอยู่ในฐานะเป็นคนว่างงาน นี่น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขายอมฝ่าฝืนข้อบังคับของการขนส่ง ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารในเส้นทางที่การจราจรติดขัดมาก เพราะเห็นชัดๆ ว่าเข้าเนื้อหรือขาดทุน การพยายามแก้ปัญหาต่างๆ รวมทั้งเพิ่มค่า “สตาร์ตมิเตอร์” ก็ไม่ได้รับความสนใจ

“ตอนนี้การจราจรติดขัดทั่วเมือง ผู้โดยสารคงพอจะเข้าใจและเห็นใจแท็กซี่นะครับ” ผมชวนคุยเอาใจ

“ไม่หรอกครับ” แท็กซี่ตอบ “ผมคิดว่าแค่มีข่าวแท็กซี่โดนจับน้อยลงเท่านั้น เพราะพวกผมฝ่าฝืนกันทุกมุมเมือง จนผู้โดยสารเบื่อจะแจ้งความมากกว่า”

อาชีพแท็กซี่เป็นอาชีพสุจริตที่มีเกียรติ เราคงจำกันได้ว่ามีแท็กซี่หลายรายเป็นพวกจิตอาสา ติดป้ายรับ-ส่งผู้ป่วยหรือพิการฟรี รายหนึ่งเป็นสามีของแพทย์หญิงที่มีอุดมการณ์ตรงกัน เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีข่าวนายตำรวจเกษียณอายุยศ พ.ต.อ. ขี่จักรยานยนต์รับจ้างเป็นอาชีพเสริมมาตั้งแต่เป็น ร.ต.อ.

แท็กซี่คันที่ผมนั่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาอายุ 61 ปี เขาเล่าว่าขับรถแท็กซี่เป็นอาชีพเสริมมาตั้งแต่อายุ 30 ปีเศษ ผมไม่อยากถามถึงอาชีพหลักของเขา ดูจากบุคลิกลักษณะและการพูดจาแล้วเชื่อว่าเขาภูมิใจกับอาชีพเสริมทีเดียว ไม่อารมณ์ร้ายเหมือนแท็กซี่ทั่วไป

ที่มีข่าวด้านลบของแท็กซี่บ้างเป็นเรื่องปกติธรรมดาในทุกอาชีพ ไม่ควรเหมารวม

เมื่อมี “แกรบ” (และอูเบอร์) ซึ่งมีแอพพลิเคชั่นเรียกรถโดยสารสาธารณะจากโทรศัพท์มือถือขึ้นในเมืองไทยใหม่ๆ เกิดความขัดแย้งกับแท็กซี่ป้ายเหลืองแบบเดิม บางแห่งมีการ “ล่อซื้อ” แล้วแจ้งความตำรวจดำเนินคดี มีเหตุการณ์ล้อมกรอบจะทำร้ายกัน

แกร็บค่อนข้างเสียเปรียบตรงที่ยังไม่ใช่บริการที่ถูกกฎหมาย แต่แกร็บกลับได้เปรียบถูกมองเป็นพวกอภิสิทธิ์ชน สามารถเลี่ยงการจ่ายภาษีรวมทั้งเลี่ยงกฎระเบียบต่างๆ ได้มากมายหลายประการ

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแกร็บก็ถูกผู้ใช้บริการร้องเรียนเช่นเดียวกับแท็กซี่แบบเดิม เช่น แจ้งว่าขับรถหลงทางไปไกลมารับไม่ทัน เปลี่ยนขนาดรถไปจากที่ตกลงกันไว้เดิมแล้วเรียกค่าโดยสารเพิ่ม เป็นต้น

บริการเรียกรถโดยสารในต่างประเทศก็มีปัญหาในเรื่องความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ต้องปรับแก้ระบบและปรับปรุงกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมของผู้ประกอบการเช่นกัน

เมื่อไม่นานมานี้ในประเทศจีนซึ่งมีบริการเรียกรถโดยสารใหญ่สุดและวางมาตรการรักษาความปลอดภัยของผู้โดยสารอย่างรอบคอบแต่ก็ยังพลาดจนได้ เกิดเหตุผู้โดยสารถูกข่มขืนและถูกฆาตกรรม 2 รายในเวลาใกล้เคียงกัน จนบริษัทต้องระงับบริการเรียกรถและทบทวนมาตรการเพื่อความปลอดภัยกันใหม่

ในเมืองไทย ความรุนแรงจากความขัดแย้งของสองฝ่ายดูจะคลี่คลายลงไปเองตามธรรมชาติ ทำนองเดียวกับหลายปัญหาที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือรัฐแก้ปัญหาให้ไม่ได้

การจราจรติดขัดเป็น “ปัญหาร่วมกัน” ของทุกคน ทั้งชาวบ้านและข้าราชการ ทั้งแท็กซี่ป้ายเหลืองหรือแกร็บป้ายดำ เป็นปัญหาแก้ยากจนไม่ต้องแก้

มีกฎข้อห้ามอยู่ข้อหนึ่งของการใช้บริการรถแท็กซี่ในเมืองไทยคือ “ห้ามพูดเรื่องการเมือง” เป็นกฎข้อห้ามที่ไม่ได้มีใครบัญญัติไว้ก็จริง แต่ประสบการณ์ของคนไทยที่ผ่านมาในรอบ 10 ปีแห่งความขัดแย้ง ทำให้ตระหนักว่าการพูดเรื่องการเมืองทำให้เกิดวิวาทะขึ้นมาได้โดยง่าย

โชเฟอร์แท็กซี่คันที่ผมนั่งคันหนึ่ง มีอาการหงุดหงิดขึ้นมาจากข่าว “นายกรัฐมนตรีตะเพิดนักข่าวทำเนียบ”

คนขับแท็กซี่เป็นกลุ่มคนที่อยู่ข้างฝ่ายที่เห็นว่าประเทศอยู่ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าเศรษฐกิจดีขึ้น

“สื่อน่าจะรวมหัวกันตอบโต้นายกฯ บ้างนะ บอยคอต-ไม่มีข่าวจากทำเนียบ” ผมพยายามพูดเอาใจโชเฟอร์

“อย่างนี้แหละดีแล้ว-ลุง” โชเฟอร์กลับอารมณ์ดี “แชร์ข่าวนายกฯ อารมณ์เสียออกไปเยอะๆ ใกล้เลือกตั้งแล้วประชาชนจะได้รู้ว่าใครเป็นยังไง!”

ถ้าเราเจอแท็กซี่อารมณ์เสีย เราก็เพียงแต่ออกจากรถแล้วโบกมือให้เขาผ่านไป มีแท็กซี่อีกเป็นหมื่นเป็นแสนคันให้เรียกใหม่ แต่ถ้าเราต้องพบกับนายกรัฐมนตรีอารมณ์เสีย เราไม่มีสิทธิให้เลือกใหม่ นายกรัฐมนตรีที่ไหนๆ ก็มีเพียงคนเดียว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0