โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ขั้วขัดแย้ง “เซ็น” VS.“ตำมั่ว” ผงาดแฟรนไชส์เอเชีย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Business News

เผยแพร่ 19 ส.ค. 2561 เวลา 00.00 น.

การจับคู่กันของ 2 ธุรกิจร้านอาหาร"เซ็น คอร์ปอเรชั่น"เจ้าของเชนร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ ประกอบด้วย เซ็น (Zen), มุฉะ(Musha),อากะ (Aka), ออน เดอะ เทเบิ้ล (On the table), เท็ตสึ (Tetsu) และซูชิชู แอนด์ คาร์นิวัล ยากินิกุ (Sushi Cyu & Carnival Yakiniku) ควบรวมกิจการ (M&A -Mergers and Acquisitions) เมื่อ พ.ค.2560กับบริษัท เครซี่ สไปซี่ กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาแฟรนไชส์อาหารอีสาน 7 แบรนด์ ประกอบด้วย ตำมั่ว , ลาวญวณ, เฝอ, แจ่วฮ้อน , ข้าวมันไก่คุณย่า, ครัวไทย และเดอตำมั่ว

"ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท"รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจแบรนด์ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด เล่าถึงการจับคู่รวมธุรกิจผ่าน M&A ของสองธุรกิจว่ามีความแตกต่างกันสุดข้้ว จับตลาดคนละเซ็กเมนท์ระหว่างเชนอาหารญี่ปุ่น"เซ็น"กับ เชนอาหารไทย-อีสาน "ตำมั่ว" โดยเป็นการรวมกันเพื่อสร้างความหลากหลาย (Diversify) สร้างความคุ้มทุนทางธุรกิจพร้อมจะเดินทัพไปบุกตลาดโลกด้วยตัวเลือกหลากหลายในการเจาะทุกเซ็กเมนท์ในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกันทั้งรสนิยมและไลฟ์สไตล์

"เซ็น และ ตำมั่ว เป็นเหมือนเนื้อคู่ที่หากันจนเจอ มาเสริมทัพ ทำให้เราและเขาวิ่งได้เร็วและมั่นคงขึ้น" ธันยเชษฐ์เปิดฉากถึงคู่พันธมิตรที่เป็นส่วนผสมลงตัว ที่ "เซ็น"ตามหามานาน

ต่างจากการเติบโตของเซ็นตลอดกว่า 27 ปีที่ผ่านมา (ปี 2534) ที่เน้นการเติบโตโดยการ"ขยายสาขาด้วยตัวเอง"

สาขาแรกของร้านอาหารเซ็น เปิดบริการในปี 2534 จนกระทั่งธุรกิจเติบโตคงที่ จึงแตกไลน์แบรนด์ เจาะตลาดหากลุ่มเซ็กเมนท์ใหม่เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่อง

โดยในปี 2550 เปิดร้าน อากะร้านญ่ี่ปุ่นปิ้งย่าง สไตล์ ยากินิกุ ,ปี 2553 เปิดร้านออน เดอะ เทเบิ้ล ร้านอาหารญี่ปุ่นฟิวชั่น ไลฟ์สไตล์ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

ตามมาด้วยเท็ตสึ ร้านอาหารญี่ปุ่นปิ้งย่างระดับพรีเมี่ยม ,ปี 2560 เปิดตัวแบรนด์ใหม่ ซูชิชู แอนด์ คาร์นิวัล ยากินิกุ ร้านอาหารญี่ปุ่นและร้านปิ้งย่างรวมกันในพรีเมี่ยมเกรด และปี 2561 เปิดตัว มุฉะ ร้านอาหารญี่ปุ่นราคาย่อมเยาว์ ต่ำกว่าเมนูละ 100 บาท เจาะระดับแมส

ผู้บริหารเซ็น ยังเท้าความถึงที่มาของการพบเจอของสองธุรกิจคนไทยว่าเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา(ปลายปี 2559) ในวันที่เซ็นกำลังมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อพาตัวเองเติบโตก้าวกระโดดอีกครั้งหลังธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในไทยเริ่มอิ่มตัว จากการแข่งขันสูงมูลค่าตลาดอาหารญี่ปุ่นมูลค่ารวม 2.5 หมื่นล้านบาทแต่ในอาเซียนยังมีโอกาสเติบโต

"ประมาณ 2 ปีที่แล้ว เซ็นกำลังมองหาโมเดลธุรกิจและโอกาสใหม่ที่จะเทคออฟธุรกิจ เราได้มีโอกาสคุยกับคุณเบสท์ (ศิรุวัฒน์)จากตำมั่ว จนได้เป็นพันธมิตร มีอาวุธมาเสริมทัพ เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ ให้เติบโตรวดเร็วและคล่องตัว" เขาเล่าถึงเบื้องหลังดีลข้ามขั้วธุรกิจ

"ธันยเชษฐ์" ไขความกระจ่างว่า โมเดลธุรกิจใหม่ของเซ็น จะไม่มองตัวเองแค่ร้านอาหาร แต่จะผันตัวเองเป็นธุรกิจบริการด้านอาหารแบบครบวงจร "ฟู้ด เซอร์วิส"หลังสะสมประสบการณ์ในธุรกิจอาหารมากกว่า 27 ปี จึงมีอาหารหลากหลายแบรนด์ เจาะหลากหลายกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมอาหารญี่ปุ่น ทั้งเกรดเกรดพรีเมี่ยม ราคาสูงจนถึงราคาระดับต่ำกว่า 100 บาทอย่างมูฉะ อนาคตอาจจะมี"ซูชิรถเข็นแฟรนไชส์"หรือ "ร้านอาหารญี่ปุ่นข้างทาง"ก็เป็นไปได้ !

เขายังบอกด้วยว่าประสบการณ์ในธุรกิจที่ยาวนานทำให้เซ็นโดดเด่นในการสร้างแบรนด์ และมีระบบในการดูแลคุณภาพสินค้า เมื่อพัฒนาไปสู่ระบบแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่น

"เรามองว่าเรามีความสร้างสรรค์ (Creative) คิดแบรนด์ใหม่ๆ ที่เป็นของเราตลอดเวลา เพราะเราทำเอง แต่อาหารญี่ปุ่น ที่มีเชนในประเทศไทยร้านอื่น ต้องนำเข้าและซื้อแบรนด์มา จึงเป็นจุดแข็งทำให้เราพร้อมปรับเปลี่ยนได้ทุกด้าน เพื่อให้เหมาะกับ Local (ท้องถิ่น)ของแต่ละประเทศแบบไม่มีข้อจำกัด หากต้องการไปเปิดตลาด" เขาเล่าถึงแคแรคเตอร์ของธุรกิจที่ไม่ต่างกันกับตำมั่ว ร้านอาหารไทย-อีสาน บ้านๆ ที่แจ้งเกิดมากว่า 7 ปี จากป่าล้อมเมืองเติบโตในต่างจังหวัด ก่อนรุกมาสู่กรุง และขยายสู่ห้างโมเดิร์นเทรด จนปัจจุบันมีกว่า 150 สาขา จาก 7 แบรนด์ในเครือ

"อังคณา นิลกำเหนิด"ผู้อำนวยการธุรกิจแฟรนไชส์มือขวาของ ศิรุวัฒน์ชัชวาลย์"เจ้าของร้าน "ตำมั่ว"เล่าถึงการเข้ามาของเซ็นว่าจะเสริมจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็งของตำมั่ว จากกลุ่มธุรกิจเกิดมาจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เติบโตรวดเร็วในรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ จึงต้องการหลังบ้านด้านการบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพอย่างเซ็น เข้ามาช่วยจัดวางระบบเติมเต็มธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันได้รุกไปในกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว 3 ประเทศ 7 สาขา ประกอบด้วย ตำมั่ว ในลาว 2 สาขา กัมพูชา 1สาขา และเมียนมา 1 สาขา, เฝอ เปิดใน เมียนมา 2 สาขา และแจ่วฮ้อน เปิดในลาว 1 สาขา กำลังจะรุกไปในกลุ่มประเทศอื่นในอาเซียน รวมไปถึงการวางแผนรุกก้าวไปนอกอาเซียน จึงต้องการพันธมิตรที่แข็งแกร่งมาช่วยพาไป

"เราเกิดจากเอสเอ็มอี เติบโตเร็วมากแบบLocalจึงไม่สามารถสร้างหลังบ้านที่วางระบบและจัดการการเงินที่แข็งแรงได้ เซ็นจะเข้ามาช่วยในการพัฒนาหลังบ้าน" ผู้บริหารตำมั่ว เล่า

ขณะที่เซ็น ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารญี่ปุ่น กระโดดเข้ามาเล่นในตลาดอาหารไทย เพราะร้านอาหารไทยเติบโตทุกปี ทั้งในไทยและต่างประเทศ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงมูลค่าตลาดร้านอาหารไทยในปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 415,000 ล้านบาท ขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีละ 5%)

สำหรับแนวทางการเติบโตโดยใช้แฟรนไชส์ "อังคณา" ระบุว่าเป็นรูปแบบการลงทุนที่น่าสนใจ โดยมูลค่าอาหารไทยแฟรนไชส์ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง5-6 หมื่นล้านบาท (1 ใน 4)จากธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งระบบที่มีมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาท

นี่จึงเป็นโอกาสในการเข้าไปแย่งชิงเค้กระดับแสนล้านบาทที่ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทย แต่ยังสยายปีกไปปักธงในทุกประเทศทั่วโลก ในยุคที่ร้านอาหารไทยยังคงเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

ปัจจุบันเซ็นขยายธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นที่พัฒนาเชนขึ้นมาในรูปแบบที่เป็นโมเดลพร้อมปรับให้เข้ากับท้องถิ่นนั้นๆเพื่อรุกไปในอาเซียน โดยไปปักธงแล้วในเมียนมา ด้วยแบรนด์ อากะ และ ออน เดอะ เทเบิ้ล ในกัมพูชา

"โมเดลธุรกิจของเซ็นวันนี้กับ3ปีที่แล้วไม่เหมือนกัน จากมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง กลายเป็นโมเดลแฟรนไชส์"เธอย้ำ

ขณะที่การรวมกันทั้ง 2 ธุรกิจ ทำให้จำนวนสาขาเพิ่มเป็น 250 สาขา รุกไปเปิดตลาดในต่างประเทศแล้ว 9 สาขา สำหรับเป้าหมายการขยายสาขารวมทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่ที่ 500-600 สาขาภายใน 5 ปี (ปี 2561-2565) แบ่งเป็นสาขาต่างประเทศ 50 สาขา กับเป้าหมายยอดขายรวมขึ้นไปแตะที่ 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท หรือเติบโตปีละ 25% จากเดิมเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%

"วิสัยทัศน์เราอยากเป็นร้านอาหารไทย แฟรนไชส์ไทย ที่ขยายไปต่างประเทศ ถ้าใช้โมเดลเดิมเราก็เติบโตเพียงปีละ 10% แต่หากเราใช้แฟรนไชส์ และควบรวมพันธมิตรทำให้เราไปได้รวดเร็วขึ้นปีละ25-30%"

ขณะที่เทรนด์ร้านอาหารไทยที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้เชื่อว่าการเติบโตในการขยายร้านอาหารไทยจะมีสัดส่วนสร้างรายได้ให้กับลุ่มธุรกิจเซ็นมากขึ้น ประมาณ 40-50 % จากปัจจุบันสัดส่วนร้านอาหารไทย อยู่ที่ 20-30%

นี่คือ Passion (ความใฝ่ฝัน)ของทั้งสองธุรกิจที่สร้างโดยคนไทย คือการนำร้านอาหารแฟรนไชส์ไทยไปปักธงทั่วโลก จากปัจจุบันที่เราบริโภคแต่แฟรนไชส์ตะวันตก และต่างแดน ที่ดาหน้าเข้ามาเปิดสาขาในไทย กลายเป็นการคิดโมเดลย้อนศรนำร้านอาหารไทยรุกตลาดต่างประเทศบ้าง

---------------------------

ลูกเจ้าของร้านอาหารอีสานสู่ผู้ปั้นแบรนด์ "ตำมั่ว"

"ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์"ลูกเจ้าของร้านอาหารอีสานแม่น้อย ผู้ปั้นแบรนด์ตำมั่ว เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะใช้ระบบและหลังบ้านที่แข็งแรง รวมถึงและมาตรฐานของ เซ็น พาตำมั่วและเชนธุรกิจในเครือ เดินตามฝัน เสริมทัพร้านอาหารไทยไปเปิดในทุกประเทศทั่วโลก

"เราจะเติบโตไปเป็นพันสาขาได้ ไม่ใช่เดินไปคนเดียว ต้องมีเพื่อน มีระบบ และเงินทุน ซึ่งเซ็นมีจุดแข็งตรงนี้มาเสริมทัพ"

เขายังต้องการทำให้ร้านอาหารไทยมีมูลค่ามากกว่านี้ จากราคาอาหารเมนูเฉลี่ยที่ 25 บาท ปัจจุบันเพิ่มมูลค่าได้ถึง 200 บาท และน่าจะไปได้มากกว่านี้ เช่นเดียวกันกับแฟรนไชส์ต่างประเทศที่เข้ามาตีตลาดไทยอย่างขนมปัง แฮมเบอร์เกอร์ ที่ราคาขายแตะที่เมนูละกว่า 200 บาท

"ต้องการให้คนยอมรับอาหารไทย ไปประเทศไหนก็เจอแบรนด์นี้ ตอนนี้ไปในอาเซียนเกือบทุกประเทศ อยากไปออสเตรเลีย อเมริกา และยุโรป" เบสท์ให้สัมภาษณ์ถึงแพสชั่น ทำให้เขามองหาเพื่อนอย่างเซ็นวิ่งไปด้วยกันให้เร็ว

---------------------------

แพชชั่น"ผู้นำร้านอาหาร"แฟรนไชส์เอเชีย

"ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท"รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจแบรนด์ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัดกางแผนกลยุทธ์ร้านอาหารไทยไปปักธงต่างแดนด้วย 4 กลยุทธ์ ประกอบด้วย

1.ธุรกิจหลากหลาย (Diversify)มีตัวเลือก 13 แบรนด์ ที่เจาะหลากหลายเซ็กเมนท์ตั้งแต่ร้านอาหารไทยที่จะไปเจาะตลาดอาเซียน ซึ่งแต่ละแบรนด์จะสร้างสรรค์ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย (Segmentation) ตั้งแต่ระดับแมส ไปจนถึงพรีเมี่ยม ด้วยเบื้องหลังการคัดวัตถุดิบ(Sourcing) จากหลากหลายแหล่งทั่วโลก เพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

"กลุ่มธุรกิจอาหารญี่ปุ่น ไปได้ดีในตลาดอาเซียน เพราะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทย"

สำหรับ 13 แบรนด์ในเครือ เป็นกลุ่มอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ คือ ร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น ภัตตาคารญี่ปุ่นสำหรับครอบครัว โดดเด่นเรื่อง ปลา, อากะ (Aka) ร้านญ่ี่ปุ่นปิ้งย่าง สไตล์ยากินิกุ, ออน เดอะ เทเบิ้ล ร้านอาหารญี่ปุ่นฟิวชั่น ไลฟ์สไตล์ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

เท็ตสึ อาหารญี่ปุ่นปิ้งย่างระดับพรีเมี่ยม, ซูชิชู แอนด์ คาร์นิวัล ยากินิกุ ร้านอาหารญี่ปุ่นและร้านปิ้งย่างรวมกันในพรีเมี่ยมเกรด และ มุฉะ ร้านอาหารญี่ปุ่นราคาย่อมเยาว์ เจาะระดับแมส

ส่วนอาหารไทย มี7 แบรนด์ ประกอบด้วยตำมั่ว ร้านอาหารไทยอีสานต้นตำรับ,ลาวญวณ ร้านอาหารไทยและเวียดนามสูตรดั้งเดิม,เฝอ ร้านก๋วยเตี้ยวสไตล์คลาสสิค,แจ่วฮ้อน จิ้มจุ่มหม้อไฟต้นตำรับ, ข้าวมันไก่คุณย่า ข้าวมันไก่สูตรโฮมเมด, ครัวไทย ร้านอาหารไทยสำหรับชาวไทยและต่างชาติ และเดอตำมั่ว ร้านอาหารไทยและไทยอีสานระดับพรีเมี่ยม

2.สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งและสร้างการรับรู้ จุดแข็งที่จะขยายไปสู่แฟรนไชส์ โดยมีสาขาต้นแบบแต่ละแห่งนำร่อง โดยเฉพาะสาขาแฟรนไชส์ในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองที่มีต่างชาติ เช่น เซ็นทรัล เวิลด์ และเกสร พลาซ่า เป็นโชว์เคสร้านอาหารให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หนึ่งในนั้นอาจะเป็นสัดส่วนของกลุ่มนักลงทุน ผู้อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ (Investor) ที่สนใจเห็นโมเดลธุรกิจนำกลับไปพัฒนาแฟรนไชส์ต่อในประเทศ เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์ที่เกิดขึ้นในลาว ก็มาจากลูกค้าในร้านกลายเป็นผู้นำเข้าแฟรนไชส์ในลาว

3.วางระบบ สร้างมาตรฐาน ควบคุมคุณภาพพร้อมกันกับพัฒนานวัตกรรม ทั้งระบบหลังบ้านเพื่อให้ทุกเมนู รสชาติเท่ากันทุกร้าน รวมถึงการเตรียมการกระจายสินค้าโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนาแฟรนไชส์ในต่างประเทศ เมื่อมีคนสนใจเข้ามาซื้อแฟรนไชส์ ตลอดการการคิดเมนูใหม่ทุกไตรมาสละ 1-2 เมนู เป็นการสร้างนวัตกรรมไม่ไม่ให้แบรนด์หยุดนิ่ง ทำให้ลูกค้ารู้สึกได้รับคุณค่า และตื่นเต้น สนุกไปกับแบรนด์ตลอดเวลา

4.การอบรมคนทั้งด้านพนักงาน และการพัฒนาระบบ สร้างความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพราะธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่มีการเทิร์นโอเวอร์สูง การรักษามาตรฐานไปพร้อมกันกับการรักษาคน ดูแลพนักงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพวกเขาเป็นกองทัพในการรุกในการขยายสาขาทั้งในไทยและต่างประเทศ

การขยายธุรกิจจะเน้นการพัฒนาแฟรนไชส์มากขึ้น เพราะเป็นวิธีการที่ทำให้ธุรกิจเติบโตขยายสาขาไปได้อย่างรวดเร็ว และการมีหลากหลายแบรนด์ก็ทำให้ตลาดกว้างขึ้น จากเดิมที่เข้าห้างสรรพสินค้าเพียงแบรนด์เดียวก็สามารถเข้าได้หลากหลายเพื่อเข้าถึงลูกค้าในแต่ละเซ็กเมนท์ที่แตกต่างกัน นี่คือข้อดีของการมีแบรนด์ถึง 13 แบรนด์

"ในยุคที่คนรุ่นใหม่คนเจนวาย ต้องการเป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น (Entrepreneurs) การขยายภายในประเทศ ผ่านเทรนด์เหล่านี้ก็ทำให้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้แฟรนไชส์ไปเร็วขึ้น รวมไปถึงการมีธุรกิจแฟรนไชส์ ถือว่าวินวินกับทั้งสองฝ่าย ลดความเสี่ยงไม่ต้องทำเองโดยซื้อแบรนด์ที่สำเร็จ ส่วนเจ้าของแบรนด์ก็ขยายได้เร็วขึ้น"

เขายังถึงเป้าหมายที่จะไปให้ถึงยอดขาย 1หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปีว่า มี 2วิธีการคือการขยายแฟรนไชส์จาก 13แบรนด์ที่มี ที่ตามเผนใช้เวลา 5 ปี โดยการลงทุนปีละ 250-300 ล้านบาท หรือ 1,500 ล้านบาทภายใน 5 ปี ตลอดจน การมีแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเร่งให้เติบโตได้เร็วกว่า 5 ปี รวมไปถึงการมองเห็นโอกาสเข้าไป M&A แบรนด์ใหม่ที่มีทั้งโอกาสและความน่าสนใจก็ทำให้ไต่ไปถึงเป้าหมายได้ติดสปีดก่อนกำหนด

ธันยเชษฐ์ ยังขยายความต่อถึงการวางกองทัพบุกต่างประเทศ โดยคอนเซ็ปต์แฟรนไชส์ไทย ที่พัฒนาแบรนด์ไปต่างประทเศ ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ที่ไปต่างประเทศแล้ว 9 สาขา ประกอบด้วย อากะ ไปในเมียนมา และกัมพูชา ส่วนออน เดอะ เทเบิ้ล อยู่ในเมียนมา ขณะที่ร้านอาหารไทย ฝั่งตำมั่ว ปัจจุบันรุกเข้าไปใน 3 ประเทศ 7 สาขา

ร้านอาหารไทยแฟรนไชส์ในเครือ โดยเฉพาะตำมั่ว แบรนด์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว วางเป้าหมายที่เริ่มขยายไปในกลุ่มธุรกิจ ในอาเซียนก่อน จากนี้จึงขยับไปในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง รวมไปถึงการข้ามทวีป ไปยังสหรัฐ ออสเตรเลีย รวมไปถึง ยุโรป เป็นสเต็ป

"การเข้าไปในจีน หากมีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่ง มีโอกาสที่จะขยายได้เพียงประเทศไทย 100 สาขาก็เป็นไปได้"

เป้าหมายสูงสุดที่ตั้งเป้าคือ เป็นผู้นำร้านอาหารด้านแฟรนไชส์ในเอเชีย (Leader of franchise Asia)ยังไม่มีคอนเซ็ปต์ร้านอาหารไทยขึ้นมาเป็นเจ้าตลาด ผู้นำที่เป็นเบอร์หนึ่งในปัจจุบันก็คือ เครือไมเนอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มร้านอาหารหลากหลาย ทั้งจานด่วน (ฟาสต์ฟู้ด) และร้านตะวันตก เป็นต้น

ไม่เพียงโอกาสของการพัฒนากลุ่มร้านอาหารไปในต่างประเทศ แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ที่เปิดขายเครื่องปรุง แบรนด์ "ตำมั่ว"เป็นหนึ่งธุรกิจที่ส่งออกสินค้าภายใต้กลุ่มธุรกิจไปก่อน เพื่อให้เกิดการรับรู้และตอกย้ำแบรนด์ ในบางประเทศที่กฎระเบียบการเปิดร้านเข้มงวด ก่อนจะไปปักธงร้านอาหารไทย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0