โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ขั้นตอนชิงประธานสภาผู้แทน โหวตลับไม่รู้ลงคะแนนให้ใคร

TODAY

อัพเดต 19 พ.ค. 2562 เวลา 09.52 น. • เผยแพร่ 19 พ.ค. 2562 เวลา 09.52 น. • Workpoint News
ขั้นตอนชิงประธานสภาผู้แทน โหวตลับไม่รู้ลงคะแนนให้ใคร

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์, บัญญัติ บรรทัดฐาน, สุชาติ ตันเจริญ

การเมืองหลังการเลือกตั้งเริ่มมีความชัดเจน เมื่อมีการกำหนดปฏิทินการเมือง วันที่จะได้ผู้ทำหน้าที่ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ และช่วงเวลาที่จะเริ่มกระบวนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคมนี้ เวลา 15.00 น. จะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร  ซึ่งเป็นไปตาม มาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ว่า “ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก”

หลังจากนั้นจะมีการเลือกประธานสภาและนายกรัฐมนตรี เป็นลำดับถัดไป โดยกำหนดให้เลือก ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม ณ หอประชุมใหญ่ อาคาร 9 ชั้น 2 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ

ชัย ชิดชอบ ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในฐานะ ส.ส.อาวุโสที่สุด ทั้งปี 2554 และในปี 2562

ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 กำหนดขั้นตอนการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา ไว้ในหมวด 1

เริ่มจากให้เลขาธิการเชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุดทำหน้าที่เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อดำเนินการ

จากนั้นจะเปิดให้สมาชิกเสนอชื่อผู้เป็นประธานสภา โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน

หากมีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป จะต้องมี การลงคะแนนเป็นการลับ โดยเขียนชื่อผู้ที่ ส.ส.ประสงค์ลงคะแนนให้บนแผ่นกระดาษแล้วนำใส่ซอง แล้วจะเรียกชื่อตามลำดับอักษรให้นำซองมาใส่ภาชนะที่ใช้ในการตรวจนับคะแนน

ส่วนการเลือกรองประธานสภา ให้ดำเนินการแบบเดียวกันโดยเลือกรองประธานสภาคนที่หนึ่งก่อน แล้วจึงเลือกรองประธานคนที่สองต่อไป

ดังนั้นกระบวนการทุกอย่างจะเป็นไปโดยลับไม่รู้ว่า ส.ส. คนใดลงคะแนนให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อประธานสภาคนไหน ต่างจากการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องกระทำโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ทั้งหมดทีละคน (ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงไม่เกิน 1 สัปดาห์ หลังได้ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยในปี 2554 ห่างกัน 3 วัน)

บรรยากาศการประชุมรัฐสภาในปี 2554

ย้อนกลับไปในการลงมติเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังการเลือกตั้งในปี 2554 ในวันเปิดประชุมครั้งแรก นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญ นายชัย ชิดชอบ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้มีอายุสูงสุดในที่ประชุมทําหน้าที่ประธานชั่วคราว และให้ที่ประชุมดําเนินการเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

โดยเริ่มจาก ประธานชั่วคราวได้กล่าวนําสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนต่อที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามมาตรา 123 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน คือ มาตรา 115) ด้วยถ้อยคําว่า
“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์

จากนั้น ประธานชั่วคราวได้เสนอให้ที่ประชุมเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ได้เสนอชื่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย วัย 57 ปี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเพียงชื่อเดียว โดยไม่มีสมาชิกเสนอชื่อคนอื่น (พรรคประชาธิปัตย์มีมติไม่เสนอชื่อบุคคลใดแข่ง) จึงไม่ต้องลงคะแนนลับ

วิสุทธิ์ ไชยณรุณ (ซ้าย) เจริญ จรรย์โกมล (ขวา) (ภาพ : สภาผู้แทนราษฎร)

ประธานชั่วคราวได้เสนอให้ที่ประชุมเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้มีรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จํานวน 2 คน
โดยที่ประชุมได้มีมติเลือก นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย วัย 51 ปี เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย วัย 53 ปี เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ตามลําดับ โดยไม่ต้องลงคะแนนลับเช่นกัน

สำหรับการประชุมเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 นี้ ประธานชั่วคราวจะยังเป็น นายชัย ชิดชอบ ในวัย 91 ปีทำหน้าที่อีกครั้ง แต่ครั้งนี้จะต่างจากปี 2554 โดยจะต้องจัดให้มีการลงคะแนนลับอย่างแน่นอน เมื่อทั้ง 2 ขั้วการเมืองเตรียมจะชิงประมุขฝ่ายนิติบัญญัติให้ได้ เพื่อคุมเกมในสภา

ขั้วฝั่งเพื่อไทยและพรรคพันธมิตร มีบุคคลที่เคยผ่านการดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานมาแล้วและได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในครั้งนี้ด้วย เช่น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, นายเจริญ จรรย์โกมล และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.เพื่อไทย ที่เป็น 2 รองประธานในสมัยปี 2554

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์

แต่มีรายงานว่าอาจจะเสนอชื่อ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เข้าชิงตำแหน่ง หรืออาจจะสนับสนุนนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแลกกับการให้เข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ ส่วนกรณีนายวันมูหะมัดนอร์ อาจจะมีปัญหาเนื่องจากได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อเพราะสูตรการคำนวณของ กกต. ที่ทำให้ได้เป็น ส.ส.พร้อมพรรคเล็ก 11 พรรค ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ ที่ร่วมขั้วเดียวกันได้ไปยื่นร้องเรื่องนี้อยู่

สุชาติ ตันเจริญ

ขั้วพลังประชารัฐ มีผู้เสนอตัวสำหรับตำแหน่งนี้คือ นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา อดีต รองประธานสภาฯ และนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขณะเดียวกันก็มีข่าวจะสนับสนุนนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แลกกับเสียงสนับสนุนให้เป็นรัฐบาลเช่นกัน

กติกาที่กำหนดให้การลงคะแนนเป็นไปโดยลับน่าจะทำให้การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้เข้มข้นมากที่สุด เพราะ 2 ขั้วต่างก็มีเสียงสนับสนุนใกล้เคียงกันและอาจจะมีปรากฏการณ์ "งูเห่า" เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนนี้เลยก็เป็นได้  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0