โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ขสทบ.ชี้ตัดสัญญาณจีพีเอสรถโดยสาร-รถบรรทุกผิดกม.

เดลินิวส์

อัพเดต 17 ม.ค. 2562 เวลา 10.53 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2562 เวลา 10.35 น. • Dailynews
ขสทบ.ชี้ตัดสัญญาณจีพีเอสรถโดยสาร-รถบรรทุกผิดกม.
กรมการขนส่งทางบก เตือนใช้อุปกรณ์รบกวนหรือตัดสัญญาณจีพีเอส มีความผิดตามกฎหมาย ผู้ขับรถปรับสูงสุดและพักใช้ใบอนุญาตขับรถทันที ส่วนผู้ประกอบการพิจารณาพักใช้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่ง

นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ตามที่ ขบ. ได้ประกาศกำหนดให้รถโดยสารและรถบรรทุกต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ (จีพีเอส) เพื่อให้สามารถส่งข้อมูลจากการใช้รถมายังศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบจีพีเอส ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อควบคุมกำกับดูแลผู้ขับรถให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ได้ตรวจสอบพบรายงานข้อมูลการเดินรถที่ผิดปกติ เช่น รถมีเคลื่อนที่แต่มีอัตราความเร็วเป็นศูนย์ พิกัดตำแหน่งของรถไม่ถูกต้อง ซึ่งเกิดจากผู้ประกอบการขนส่งหรือผู้ขับรถบางรายหลบเลี่ยงการส่งข้อมูลการใช้รถโดยใช้อุปกรณ์หรือเครื่องรบกวนสัญญาณหรือตัดสัญญาณจีพีเอส ทำให้ข้อมูล พิกัด ตำแหน่งเคลื่อนที่ของรถไม่สามารถส่งข้อมูลมายังศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบจีพีเอส

นายกมล กล่าวต่อว่า ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายทั้งผู้ขายและผู้ใช้ ดังนี้ ผู้ขับรถมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง ไม่ใช้เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 102 (4) ประกอบมาตรา 127 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และนำอุปกรณ์หรือเครื่องรบกวนสัญญาณหรือตัดสัญญาณจีพีเอส ที่ยึดไว้พร้อมผู้ขับรถที่กระทำความผิดเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2558 มาตรา 6 และมาตรา 23

นายกมล กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ประกอบการขนส่งมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง ไม่จัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขนส่งและไม่ควบคุมกำกับดูแลให้ผู้ขับรถใช้เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 36 ประกอบกับมาตรา 131 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และอาจพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งอีกด้วย นอกจากนี้ หากพบความเกี่ยวข้องกับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือผู้ให้บริการระบบติดตามรถ (Vendor) ให้ดำเนินการตามกฎหมายทุกกรณี

นายกมล กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้จากการประสานข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พบว่าอุปกรณ์หรือเครื่องตัดสัญญาณดังกล่าวจัดเป็นอุปกรณ์ที่ต้องห้ามมิให้ผู้ใดทำมีไว้นำเข้านำออกหรือค้าเว้นแต่จะได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2558 กรมการขนส่งทางบกจะเร่งรวบรวมหลักฐานที่มีผู้ขายผู้โฆษณาอุปกรณ์ดังกล่าวในทุกช่องทาง รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลของรถในระบบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายทันที เพื่อให้มาตรการด้านความปลอดภัยของกรมการขนส่งทางบกเกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความคุ้มครองด้านความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยสังคมสาธารณะมีส่วนร่วมในการส่งข้อมูล แจ้งเบาะแส หรือติดตามรถโดยสารสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน DLT GPS ตลอด 24 ชม.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0