โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

'ขรรค์ชัย-สุจิตต์' ค้านอดีตอธิบดีกรมศิลป์ เชื่อ ‘วัดเจ้าฟ้า’ อยู่บนเขาพนมยงค์ ไม่ใช่วัดเขาดิน

MATICHON ONLINE

อัพเดต 10 ธ.ค. 2562 เวลา 09.59 น. • เผยแพร่ 10 ธ.ค. 2562 เวลา 09.59 น.
ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว

‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’ ค้านอดีตอธิบดีกรมศิลป์ เชื่อ ‘วัดเจ้าฟ้า’ อยู่บนเขาพนมยงค์ ไม่ใช่วัดเขาดิน

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม เวลาประมาณ 13.30 น. ที่คูเมืองอู่ตะเภา อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี มีการบันทึกเทปรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอน ‘สุนทรภู่ตามรอยพระเจ้าตากไปวัดเจ้าฟ้าของพระเจ้าเสือ เมืองอู่ตะเภา หนองแซง-หนองแค สระบุรี’ ดำเนินรายการโดยนายเอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกรมติชนทีวี

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน กล่าวว่า ชื่ออู่ตะเภาตั้งตามนิทานท้องถิ่นที่มีตัวเอกคือ ‘พระเจ้าอู่ตะเภา’ เป็นเมืองโบราณยุคทวารวดี บริเวณนี้เต็มไปด้วยชื่อบ้านนามเมืองที่เกี่ยวกับหนองน้ำ หรือแอ่งที่มีน้ำขังตลอดปี เช่น หนองแค และหนองแซง นับเป็นพื้นที่ซึ่งมีหนองน้ำมากที่สุด เป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวพันกับที่มาของชื่อจังหวัดสระบุรี ซึ่งหมายถึงเมืองที่มีสระน้ำจำนวนมากก็เป็นได้ โดยชื่ออู่ตะเภานี้คือส่วนช่วยไขปริศนาที่ตั้งของ ‘วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์’ ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฏในนิราศวัดเจ้าฟ้า ซึ่งแต่งโดยเณรหนูพัด บุตรชายของสุนทรภู่ แต่ต่อมาถูกเหมารวมว่าเป็นผลงานสุนทรภู่

จากนั้น เดินทางต่อไปยังวัดสนมไทย บริเวณเขาพนมยงค์ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี โดยนายสุจิตต์ กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.2505 นายธนิตย์ อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร เคยตั้งข้อสันนิษฐานว่าวัดเจ้าฟ้า คือวัดเขาดิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมา นายเปลื้อง ณ นคร และคณะนักปราชญ์สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ทำให้เชื่อกันเช่นนั้นตลอดมา อย่างไรก็ตาม จากภูมิศาสตร์ของวัดเขาดินและข้อความที่พรรณนาในนิราศขัดแย้งกัน ทั้งการที่ต้องรอนแรม ปีนโขดหิน และระยะเวลาการเดินทาง ตนจึงเชื่อว่าน่าจะเป็นวัดในจังหวัดสระบุรีมากกว่าโดยเคยเชื่อว่าวัดเจ้าฟ้าคือวัดพระพุทธฉาย แต่ล่าสุด ตนออกสำรวจใหม่ และค้นคว้าหลักฐานต่างๆ ทางจากข้อความในวรรณคดีเรื่องดังกล่าวประกอบอีกทั้งร่องรอยอื่นๆ พบว่า วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์นั้นมีความเป็นไปได้ว่า คือวัดสนมไทย

โดยเฉพาะข้อความในนิราศท่อนที่ระบุว่า “พอเย็นจวนด่วนเดินขึ้นเนินโขด ถึงตาลโดดดินพูนเป็นมูลสูง”

พบว่ามีความใกล้เคียงกับสภาพภูมิประเทศบริเวณวัดแห่งนี้มากกว่า เนื่องจากไม่ได้อยู่บนภูเขา แต่อยู่ช่วงเนินหรือปลายเขาที่พื้นที่ยกสูงไม่มากนักและมีก้อนหินใหญ่น้อยมากมาย ที่โดดเด่นคือหินขนาดใหญ่ 3 ก้อนเรียงกันที่ดูมีลักษณะพิเศษ ซึ่งในสมัยโบราณมักถูกเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า เจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ยังมีความหมายเชื่อมโยงกับ ‘พระเจ้าเสือ’ แห่งกรุงศรีอยุธยา

“อากาศ คือท้องฟ้า นาถนรินทร์ คือที่พึ่งของมวลเทวดา ในคำให้การชาวกรุงเก่ากับคำให้การขุนหลวงหาวัด เรียกพระเจ้าเสือว่าพระศรีสุริเยนทร์ ซึ่งหมายถึงพระอาทิตย์ เจ้าฟ้าอากาศคือใคร ก็คือพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นผู้เป็นใหญ่แห่งท้องฟ้า นี่คือสิ่งที่ตรงกันอย่างไม่น่าเชื่อ บริเวณนี้ที่เรียกกันว่าเขาพนมยงค์ จริงๆ แล้วเดิมคือคำว่าพนมโยง หมายถึง เป็นพื้นที่เชื่อมต่อ หรือโยงกับเขาลูกใหญ่ ปรากฏในสมุดภาพไตรภูมิ สมัยอยุธยา ในพระราชพงศาวดารบอกว่า พระเจ้าเสือเคยเสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ทั้งหมดนี้ชี้ว่าเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์คือพระเจ้าเสือแน่นอน” นายสุจิตต์กล่าว

นายสุจิตต์กล่าวว่า สุนทรภู่เป็นคนชอบเล่นแร่แปรธาตุ ตามหายาอายุวัฒนะและระบุไว้เองว่าได้ ‘ลายแทง’ เรื่องวัดเจ้าฟ้าจากเมืองเหนือ ซึ่งหมายถึงภาคกลางตอนบนไม่ใช่ล้านนา เล่าถึงพระเจ้าตะเภาทองไปเที่ยวบนเขา พบก้อนหินมหึมาสีขาว จึงสร้างวัดบนเขา ตั้งชื่อว่าวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ สอดคล้องกับภูมิศาสตร์วัดสนมไทย

นายสุจิตต์กล่าวอีกว่า จากการขุดค้นของกรมศิลปากร ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีที่ชี้ให้เห็นว่าเคยมีวัดตั้งอยู่บนเขาพนมยงค์ ประกอบกับเส้นทางที่ปรากฏในนิราศวัดเจ้าฟ้า ใกล้เคียงกับเส้นทางพระเจ้าตากสิน บ่งชี้ว่าวัดเขาดินตั้งอยู่ในแถบนี้ไม่ใช่อยุธยา

นายขรรค์ชัยกล่าวว่า ในช่วง พ.ศ.2525 หรือเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ตนเดินทางมาที่วัดสนมไทยเกือบทุกสัปดาห์ เพื่อพบ ‘หลวงปู่วัย’ ซึ่งช่วยรักษาอาการเจ็บปวดที่หลังให้ตนและชาวบ้านจำนวนมาก เป็นพระภิกษุชื่อดังที่ผู้คนให้ความเคารพมาก แต่ในขณะนั้นตนไม่ได้นึกถึงประเด็นเรื่องวัดเจ้าฟ้า การที่นายสุจิตต์นำหลักฐานต่างๆ มาเปิดเผยในครั้งนี้ นับเป็นการชำระประวัติศาสตร์ใหม่ด้วยวรรณคดี

ทั้งนี้ รายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ประจำเดือนธันวาคม เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี ในวันอังคารที่ 31 ธันวาคม เวลา 14.00 น.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0