โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ขยะใน กทม. ช่วงวิกฤตเชื้อไวรัส ลดลงกว่า 1 พันตัน/วัน สวนทางสัดส่วนขยะพลาสติก

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 09 เม.ย. 2563 เวลา 12.58 น. • BLT Bangkok
ขยะใน กทม. ช่วงวิกฤตเชื้อไวรัส ลดลงกว่า 1 พันตัน/วัน สวนทางสัดส่วนขยะพลาสติก

กรุงเทพมหานคร เปิดเผยรายงานปริมาณขยะในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 2563 พบว่าลดลงจากปีที่ผ่านมา พร้อมขอความร่วมมือประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ป้องกัน COVID–19 ทั้งยังเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด

"ปริมาณขยะติดเชื้อช่วงวิกฤต COVID–19 ลดลงจากปีก่อน 1.55 ตันต่อวัน”

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงปริมาณการจัดเก็บขยะช่วงของการเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ในปีงบประมาณ 2562 มีปริมาณขยะติดเชื้อเฉลี่ย 42.53 ตันต่อวัน สำหรับในปีนี้ช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID–19) พบว่า มีปริมาณขยะติดเชื้อเฉลี่ย 40.98 ตันต่อวัน ลดลงจำนวน 1.55 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.64

เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณขยะติดเชื้อที่จัดเก็บได้ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อ COVID–19 ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มี.ค. 2563 กับปีที่ผ่านมา พบว่า เดือน ม.ค. 2563 จัดเก็บขยะติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. 2562 เฉลี่ยวันละ 1.82 ตัน หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 4.40 ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนสถานพยาบาลที่รับบริการเก็บขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.60

ส่วนเดือน ก.พ. 2563 จัดเก็บขยะติดเชื้อได้ลดลงจากเดือน ก.พ. 2562 เฉลี่ยวันละ 1.80 ตัน หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 4.30 ในขณะที่จำนวนสถานพยาบาลที่รับบริการเก็บขนและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.58  และเดือน มี.ค. 2563 จัดเก็บขยะติดเชื้อได้ลดลงจากเดือน มี.ค. 2562 เฉลี่ยวันละ 3.06 ตัน หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 7.15

“มูลฝอยที่เกิดจากผู้ป่วย COVID–19 ทะลุ 3 หมื่นตัน”

ปริมาณมูลฝอยที่เกิดจากผู้ป่วย COVID–19 และผู้ที่ถูกกักกัน ได้แก่ หน้ากากอนามัยและวัสดุปนเปื้อนต่างๆ จากโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 29 แห่ง ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการการเก็บขนและกำจัด ตั้งแต่เดือน ม.ค. – 7 เม.ย. 2563 มีปริมาณทั้งสิ้น 30,370 ตัน หรือเฉลี่ย 1.68 ตันต่อวัน

“ในช่วงวิกฤต ขยะทั่วไปลดลงเฉลี่ย 1,191 ตันต่อวัน”

ส่วนสถานการณ์ขยะทั่วไป ในปีงบประมาณ 2562 มีปริมาณขยะทั่วไปเฉลี่ย 10,564 ตันต่อวัน โดยในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อ COVID – 19 มีปริมาณขยะทั่วไปเฉลี่ย 9,373 ตันต่อวัน ลดลงจำนวน 1,191 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 11.27

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ขยะทั่วไปที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อ COVID – 19 ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มี.ค. 2563 กับปีที่ผ่านมา พบว่า เดือน ม.ค. 2563 จัดเก็บขยะทั่วไปได้เฉลี่ย 9,825 ตันต่อวัน ลดลงเฉลี่ย 607 ตันต่อวัน หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2562 ที่จัดเก็บได้เฉลี่ย 10,432 ตันต่อวัน

ส่วนเดือน ก.พ. 2563 จัดเก็บได้เฉลี่ย 9,112 ตันต่อวัน ลดลงเฉลี่ย 1,643 ตันต่อวัน หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. 2562 เฉลี่ย 10,775 ตันต่อวัน และเดือน มี.ค. 2563 จัดเก็บได้เฉลี่ย 9,184 ตันต่อวัน ลดลงเฉลี่ย 1,204 ตันต่อวัน หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 2562 ที่จัดเก็บได้เฉลี่ย 10,388 ตันต่อวัน

“คนกรุงอยู่บ้าน ปริมาณพลาสติกและโฟมสูงขึ้น สะท้อนการสั่งอาหาร/สินค้าผ่านออนไลน์”

ซึ่งในสถานการณ์ปกติปี 2562 ขยะเศษอาหารมีสัดส่วนสูงที่สุด เฉลี่ยร้อยละ 48.18 รองมาเป็นขยะพลาสติกปนเปื้อน (Non-recycle) ร้อยละ 15.34 และกระดาษปนเปื้อน (Non-recycle) ร้อยละ 9.03 ซึ่งในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 2563 ที่เป็นช่วงที่มีการระบาดของเชื้อ COVID – 19 ก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า สัดส่วนของพลาสติกปนเปื้อน (Non-recycle) พลาสติก Recycle โฟม โลหะ และแก้ว ซึ่งเป็นกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ในช่วงสถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อ COVID – 19 มีแนวโน้มสูงขึ้น

โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค. 2563 ที่มีมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ (Work from home) ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงพฤติกรรมการสั่งสินค้าออนไลน์รวมถึงอาหาร Delivery ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีมาตรการดังกล่าว

“คัดแยกขยะก่อนทิ้ง ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด”

กรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือประชาชนคัดแยกขยะแต่ละประเภทที่ต้นทางก่อนทิ้งเพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่จะนำไปกำจัด และยังเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม      

นอกจากนี้ กทม. ยังเปิดเผยว่า ได้ดำเนินการเก็บขน และกำจัดขยะติดเชื้อ COVID–19 เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้

1.ขยะจากผู้ติดเชื้อ COVID–19 ก่อนการรักษาที่โรงพยาบาล

-ขยะจากผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ COVID–19 และผู้กักตัว ประกอบด้วย ขยะที่ปนเปื้อนเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ให้นำใส่ถุงแดงและซ้อนถุง 2 ชั้น ราดด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฟอกขาวในอัตราส่วน 1:100 จากนั้นศูนย์บริการสาธารณสุขส่งให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผาขยะติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม

-ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นต้น ให้นำใส่ถุง มัดปากถุงให้แน่น ราดด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฟอกขาวในอัตราส่วน 1:100 และฝ่ายรักษาฯ สำนักงานเขต ขนส่งมูลฝอยไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยชุมชนที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม

-อุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้าปูเตียง และอื่นๆ ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ มีการซักทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกชนิดเข้มข้น และน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ คลอรอกซ์ ในอัตราส่วน 1 : 10 หรือตามที่ผู้ผลิตกำหนด นำไปตากแดดให้แห้งและนำกลับมาใช้ใหม่ได้

2.ขยะทั่วไปจากสถานที่ทำงาน หรือบ้านที่พบผู้ติดเชื้อ COVID – 19

ให้สำนักงานเขตราดด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ คลอรอกซ์ อัตราส่วน 1 : 100 และฝ่ายรักษาฯ สำนักงานเขต ขนส่งขยะไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยชุมชนที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม

3.ขยะจากศูนย์กักกัน/โรงแรมสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ COVID – 19

บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จัดรถเฉพาะขนส่งขยะไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผาขยะเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม กรณีเกินขีดความสามารถในการกำจัดของ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ให้สำนักงานเขตราดด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ คลอรอกซ์ อัตราส่วน 1 : 100 และฝ่ายรักษาฯ สำนักงานเขต ขนส่งไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยชุมชนที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม

“แนะบุคลากรงานการด้านรักษาความสะอาด สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายขณะปฏิบัติงาน”

สำหรับแนวทางในการเฝ้าระวัง และป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัส กทม. แนะนำดังนี้

1.ให้ความรู้บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการรักษาความสะอาด ในการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัส COVID–19

2.การตรวจคัดกรองเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID–19 ให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการรักษาความสะอาด ก่อนการปฏิบัติงานทุกครั้ง

3.กำชับ ควบคุมดูแล และตรวจสอบ การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลของผู้ปฏิบัติงานด้านการรักษาความสะอาดทุกครั้งที่ปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด โดยพนักงานเก็บขนมูลฝอยให้สวมถุงมือ หน้ากากอนามัย Face Shield และรองเท้าบูท ฯลฯ พนักงานที่ทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ ให้สวมชุดกันเปื้อนทำความสะอาด ถุงมือ หน้ากากอนามัย Face Shield และรองเท้าบูท ฯลฯ

4.จัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้กับพนักงานเก็บขนมูลฝอยและพนักงานทำความสะอาด ประกอบด้วย ชุดป้องกันการติดเชื้อ ชุดกันเปื้อนทำความสะอาดแบบค้างคาว  face shield รองเท้าบูท แว่นตา ถุงมือ เจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น

5.ในการจัดเก็บขยะประเภทหน้ากากอนามัยที่ประชาชนแยกทิ้งหรือมูลฝอยที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสมูลฝอยโดยตรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการสัมผัสเชื้อโรค และรวบรวมขนส่งไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม

6.หลังจากปฏิบัติงานให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งหลังปฏิบัติงานและก่อนรับประทานอาหาร อาบน้ำ และทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังปฏิบัติงาน รวมถึงล้างทำความสะอาดเสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่สามารถใช้ซ้ำได้ ด้วยผงซักฟอกชนิดเข้มข้นและน้ำยาฟอกขาว เพื่อป้องกันการตกค้างของเชื้อโรค

7.ยานพาหนะที่ใช้ในการเก็บขนขยะ ให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำผสมผงซักฟอกเข้มข้น โดยขัดหรือถูทั้งด้าน ในและด้านนอกตัวรถ ทิ้งไว้ 10 – 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่า หลังจากนั้นผสมน้ำกับไฮเตอร์ในอัตราส่วนน้ำ 20 ลิตร ต่อไฮเตอร์ 1 ฝา ทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรค

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0