โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำไรดี แต่ไม่มีใครต้องการ

ลงทุนแมน

อัพเดต 18 มิ.ย. 2561 เวลา 11.08 น. • เผยแพร่ 18 มิ.ย. 2561 เวลา 11.49 น. • ลงทุนแมน

ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำไรดี แต่ไม่มีใครต้องการ / โดย ลงทุนแมน

ช่วงนี้เราน่าจะได้ยินข่าวเรื่อง
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกลักลอบนำเข้ามาสู่ประเทศไทย
ขยะเหล่านี้มาจากไหน
และมีผลกระทบอย่างไรกับเรา

ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร?

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นขยะที่ประกอบด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหรือไม่มีคนต้องการแล้ว

ฟังดูแล้วก็ดูไม่ค่อยต่างจากขยะทั่วไปเท่าไหร่

แต่ถ้าเราลองนึกดูดีๆ ว่า สิ่งที่อยู่ข้างในอุปกรณ์เหล่านี้มีอะไรบ้าง

ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ที่เราไม่ใช้แล้ว เมื่อเราแกะออกมาเราก็จะพบกับ CPU, การ์ดจอ, แบตเตอรี่ และอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมาย

และถ้าหากเราไปสัมผัสอุปกรณ์เหล่านี้หลังเสื่อมสภาพ เราจะพบกับสารพิษต่างๆ

สารหนู และ ตะกั่ว ที่เราอาจพบในแผงวงจรไฟฟ้าของคอมพิวเตอร์
ลิเทียม (Lithium) ที่เราพบได้ในแบตเตอรี่
และสารพิษอื่นๆ อีกมากมาย

ซึ่งสารพิษเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้อย่างรุนแรงเมื่อสะสมในปริมาณที่สูง

ถ้าในผู้ใหญ่ จะเกิดอาการเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลาง ระบบโลหิต และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

แต่ในเด็กจะส่งผลต่อการพัฒนาการทางสมองของเด็ก

ประเด็นต่อไปคือ..

รู้หรือไม่ว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มาจากประเทศไหนมากที่สุด?

ถ้าพูดถึงประเทศที่มีเทคโนโลยีดีที่สุดในขณะนี้

หลายๆ คนน่าจะต้องนึกถึงประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ

ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Apple หรือ Nvidia ผู้ผลิตการ์ดจอรายใหญ่

แต่เมื่อมาดูสถิติปริมาณการผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2016 พบว่า

สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 6,295 กิโลตัน
จีนอยู่ที่ 7,211 กิโลตัน ซึ่งมากกว่าสหรัฐอเมริกา

จากข้อมูลนี้ทำให้ “จีน” เป็นประเทศที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุดในโลก

เราคิดว่าเพราะอะไรจีนถึงผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดในโลก ?

แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ

แต่ถ้าดูถึงโรงงานผลิต

เราจะพบว่าฐานการผลิตของบริษัทเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในประเทศจีนทั้งนั้น

เพราะว่าการผลิตที่จีนซึ่งมีทรัพยากรที่พร้อมและค่าแรงที่ต่ำกว่า จึงทำให้บริษัทเหล่านี้ลดต้นทุนได้อย่างมหาศาล

แล้วขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะกำจัดได้อย่างไรบ้าง ?

โดยหลักแล้วการกำจัดขยะเหล่านี้จะมีอยู่ 2 วิธี

วิธีแรก คือการปรับเสถียรและทำเป็นก้อนแข็ง

หรือพูดง่ายๆ ก็คือการผสมสารเคมีชนิดอื่นเข้าไปแล้วค่อยนำขยะไปฝังกลบ เพื่อลดความเป็นพิษของขยะลงไป

วิธีที่สอง คือการเผาในที่มิดชิดด้วยความร้อนสูงและนำเถ้าที่ได้ไปฝังกลบอีกทีหนึ่ง

เราจะเห็นว่าทั้ง 2 วิธีสิ้นสุดด้วยการฝังกลบเหมือนกัน

เมื่อเป็นการฝังกลบ..

หลุมที่ฝังขยะเหล่านี้จึงต้องมีการออกแบบเป็นพิเศษเพื่อป้องกันให้สารพิษต่างๆ ที่หลงเหลือให้กระจายออกนอกหลุมน้อยที่สุด

เรื่องนี้ทำให้ขั้นตอนการกำจัดมีความยุ่งยากมากขึ้น รวมถึงอาจจะมีสารพิษตกค้างในดิน

ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงไม่อยากกำจัดขยะเหล่านี้ด้วยตัวเองสักเท่าไหร่

ทางออกของเรื่องนี้ก็คือ ส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ออกไปยังประเทศที่กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่เข้มงวด

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นอย่างที่เราเห็น

นั่นก็คือ ประเทศไทยตกเป็นหนึ่งในเป้าหมายของขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้

สงสัยกันรึเปล่าว่า ขยะเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร ?

ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ก็จะถูกรับโดยผู้ประกอบการในประเทศ

เมื่อรับเข้ามาแล้ว ถ้ากำจัดอย่างถูกต้องก็อาจจะมีต้นทุนที่สูง

เพื่อที่จะทำกำไรให้ดีที่สุด การกำจัดจึงเป็นวิธีที่ไม่ได้มีการควบคุมมลพิษและมีการเก็บโลหะหนักบางชนิดที่ได้จากการหลอมกลับมาใช้ใหม่

คนที่เป็นลูกจ้างในการจัดการขยะเหล่านี้ ก็จะได้รับสารพิษเหล่านี้

นอกจากนั้น เรื่องนี้ยังส่งผลในระยะยาวเพราะว่าสารพิษเหล่านี้ก็จะไปผสมอยู่ในน้ำ อากาศ เเละดิน

เมื่อสารพิษเหล่านี้ถูกสะสมอยู่ในปริมาณที่สูงก็อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย

และผลกระทบจากเรื่องนี้ก็จะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ อาจเริ่มจากระดับชุมชนจนไปถึงระดับจังหวัด

แล้วปัญหาเหล่านี้จะถูกแก้ไขได้อย่างไร ?

เราอาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวที่ต้องรอหน่วยงานรัฐเข้ามาจัดการ

แต่ในทางอ้อมเราก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

นั่นก็คือ การแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากขยะทั่วไปก่อนที่เราจะนำไปทิ้งเพื่อไม่ให้ไปปนกับขยะทั่วไปที่จะถูกนำไปเผา ซึ่งจะทำให้ลดมลพิษที่เกิดขึ้นลงได้

และเมื่อพบเจอโรงงานเหล่านี้ต้องแจ้งให้หน่วยงานรัฐทราบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

แม้วันนี้เราอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนเกิดขึ้นกับตัวเรา

แต่ถ้าเรารอวัน ที่ปัญหานี้มีผลกับชีวิตเรา

ถึงตอนนั้น ก็อาจจะสายเกินไปแล้ว..
———————-
นอกจากเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ติดตามบทความอื่นๆ ของลงทุนแมน ได้ที่
-แอปลงทุนแมน blockdit.com/app
-อินสตาแกรม instagram.com/longtunman
-ทวิตเตอร์ twitter.com/longtunman
-ไลน์ line.me/R/ti/p/%40longtunman
-หนังสือลงทุนแมน เล่ม 1-3 ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
———————-

Reference
-https://www.itu.int/en/ITU-D/Climate-Change/Documents/GEM%202017/Global-E-waste%20Monitor%202017%20.pdf
-https://www.thairath.co.th/content/1304244
-http://www.hsm.chula.ac.th/research/paper/e-wate_management/e-wate_management1.pdf
-http://env.anamai.moph.go.th/download/bkWeb/book/a022.pdf
[7477].

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0