โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ก.ต.เอกฉันท์สอบ"ปธ.แผนกคดีล้มละลาย"เพิ่ม

คมชัดลึกออนไลน์ - ข่าวทั่วไป

เผยแพร่ 18 ธ.ค. 2561 เวลา 11.31 น.

18 ธันวาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "นายชีพ จุลมนต์" ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ได้ประชุมก.ต.ทั้งคณะรวม 15 คน ที่ ห้องประชุมศาลยุติธรรม

การประชุม ก.ต. ครั้งที่ 21/2561 นี้ มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบ การสับเปลี่ยน -โยกย้ายตำแหน่งข้าราชการตุลาการ ระดับผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และระดับหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้น ที่จะมีผลในวันที่ 1 เม.ย.62 และยังมีวาระเห็นชอบแต่งตั้งอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) 3 ชั้นศาล ชั้นละ 7 คน รวม21 คน แทน อ.ก.ต. ชุดเดิมที่จะหมดวาระลงในวันที่ 24 ธ.ค.นี้

โดยที่ประชุม ก.ต. มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง อ.ก.ต.ดังนี้ ในส่วนของ อ.ก.ต. ประจําชั้นศาลฎีกา ประกอบด้วย นายธีระพงศ์ จิระภาค รองประธานศาลฎีกา , นายพันธุ์เลิศ บุญเลี้ยง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา , นายสมศักดิ์ คุณเลิศกิจ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา , นายสุพจน์ กิตติรักษนนท์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา , นายสมพงษ์ เหมวิมล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา , นายสนธิศาสตร์ เจตน์วราพงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา , นางอโนชา ชีวิตโสภณ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

สำหรับ อ.ก.ต.ประจําชั้นศาลอุทธรณ์ ได้แก่ นายชวลิต อิศรเดช ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ,นางจรรยา จีระเรืองรัตนา รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ , นายเริงศักดิ์ วิริยะชัยวงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษ , นายครรชิต วงศ์ไทย ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ , นายธานี สิงหนาท ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา , นายพงษ์ธร จันทร์อุดม รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 2 , นายเดชา คําสิทธิ เลขานุการศาลฎีกา

รวมทั้งอ.ก.ต. ประจําชั้นศาลชั้นต้น ประกอบด้วย นายอมรพจน์ กุลวิจิตร รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 , นายสญชัย กีรติกฤติยานนท์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลจังหวัดมีนบุรี , นายอิทธิพล โสขุมา เลขานุการศาลอุทธรณ์ภาค 1 , นายกฤษณพล ณ ถลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา , นายจรัล เตชะวิจิตรา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่ง , นายสัญญา จีระออน ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 , นายวิชัย ลีลาสวัสดิ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา

โดย "อ.ก.ต."นี้ จะทำหน้าที่กลั่นกรองเกี่ยวกับการเสนอบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่ง ซึ่งจะพิจารณาคุณสมบัติ ความเหมาะสมก่อนเสนอให้ ก.ต.ชุดใหญ่ 15 คน พิจารณา และการดำเนินการเกี่ยวกับตรวจสอบกลั่นกรองผลการพิจารณาสอบข้อเท็จจริงวินัยผู้พิพากษา ก่อนเสนอให้ ก.ต.ชุดใหญ่ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากวาระดังกล่าวแล้ว ที่ประชุม ก.ต.ยังได้หยิบยกเรื่อง "นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์" ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา อดีต ก.ต.ชั้นฎีกาที่ถูกลงชื่อถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งเพราะได้ยื่นฟ้อง นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา กับคณะผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกา ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น ประกอบด้วย นายธงชัย เสนามนตรี , นางนุจรินทร์ จันทร์พรายศรี , นางวาสนา หงส์เจริญ

นายรังสรรค์ กุลาเลิศ , นายศิริชัย ศิริกุล , นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล , นายธนรัตน์ ทั่งทอง , นายสุวิชา สุขเกษมหทัย , นายกำพล รุ่งรัตน์ , นางผานิต นิติทัณฑ์ประภาศ , นายปรีชา ชวลิตธำรง ซึ่งทั้งหมดเป็น ก.ต. เป็นจำเลยที่ 1-12 คดีแพ่ง ความผิดเรื่องละเมิดจากการหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท กรณีที่ผู้พิพากษาทั้ง 12 คนอภิปรายในที่ประชุม ก.ต. เมื่อช่วงเดือน ก.ค.61 ในการพิจารณาวาระที่มีการเสนอชื่อ "นายชำนาญ" ว่าเหมาะสมจะขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 หรือไม่

โดย "ที่ประชุม ก.ต." ได้อภิปรายกันก่อนว่า ผู้พิพากษาที่เป็น ก.ต. และถูกฟ้องในคดีแพ่งดังกล่าว ถือว่ามีส่วนได้เสีย ที่จะดำเนินการทางวินัยและมีมติเกี่ยวกับนายชำนาญหรือไม่ ซึ่งที่ประชุม ก.ต. ลงมติเอกฉันท์ว่าก.ต.ที่ถูกฟ้องนั้นถือว่าไม่มีส่วนได้เสีย โดยบุคคลที่ถูกฟ้องยังสามารถทำหน้าที่พิจารณาวินัยนายชำนาญต่อไปได้

จากนั้น "ที่ประชุม ก.ต." จึงมีมติ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีนายชำนาญ ยื่นฟ้อง ก.ต. ซึ่งเป็นคณะกรรมการเสมือนบอร์ดบริหารของศาล มีหน้าที่สำคัญในพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้ายและดำเนินการทางวินัยผู้พิพากษาของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ตามอำนาจ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 68 เรื่องการรักษาวินัยผู้พิพากษา ที่บัญญัติไว้ว่า "เมื่อข้าราชการตุลาการในศาลใด ถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย ให้ข้าราชการตุลาการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในงานของศาลยุติธรรมนั้นดำเนินการให้ มีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น โดยมิชักช้า ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ต. กำหนด วิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นจะทำโดยให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องชี้แจงเรื่องราวเป็น หนังสือ หรือโดยบันทึกเรื่องราวและความเห็น หรือโดยตั้งคณะบุคคลขึ้นสอบสวนข้อเท็จจริงก็ได้"

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงขั้นตอนดังกล่าวด้วยว่า เมื่อที่ประชุม ก.ต. มีมติให้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว ต่อไป "ประธานศาลฎีกา" ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ ก็จะต้องเป็นผู้ลงนามคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งการแต่งตั้งนั้นตามหลัก ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนั้นจะต้องมีความอาวุโสไม่น้อยกว่าผู้พิพากษาที่จะถูกสอบ โดยระยะเวลาการตรวจสอบเพื่อสรุปข้อเท็จจริงก็ให้เป็นตามที่คณะกรรมการฯ จะพิจารณาตามกรอบระเบียบฯ

และหากผลการสอบข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้ว พบว่าการกระทำดังกล่าวนั้นมีมูลความผิดทางวินัย คือการฟ้อง ก.ต. ดังกล่าวมีผลให้เกิดความเสียหายต่อ ก.ต.จริง ก็จะต้องมีการตั้งกรรมการสอบวินัยต่อไปเพื่อจะพิจารณาดูว่าเป็นการผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ หากเป็นวินัยร้ายแรงก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงขึ้นมาอีกชุด ซึ่งหากถึงขั้นตั้งคณะกรรมการสอบวินัยจนสรุปผลว่าผิดวินัย ก็อาจจะมีผลถึงให้พักราชการได้

ผู้สื่อรายงานด้วยว่า สำหรับ "นายชำนาญ" ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม ก.ต. เคยมีมติวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นมาแล้ว 1 เรื่องด้วย กรณีที่คู่ความในคดีมรดกครอบครัวน้องภรรยาของนายชำนาญร้องเรียนว่าส่อจะทำการขัดต่อประมวลจริยธรรม แทรกแซงการทำหน้าที่หรือไม่ และ ก.ต.ได้รับทราบการรายงานข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากฝ่ายผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ในช่วงการพิจารณาความเหมาะสมวาระโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการตุลาการทั่วประเทศด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0