โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ก้าวไกล"ร่วมวงค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

new18

อัพเดต 08 ก.ค. 2563 เวลา 04.06 น. • เผยแพร่ 07 ก.ค. 2563 เวลา 15.15 น. • new18
2 ส.ส.ก้าวไกลร่วมวงค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะหวั่นทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเล วิถีชาวบ้าน เตรียมตั้งกระทู้สดถามรัฐบาลในสภาฯ ส่วน กมธ.เรียก ศอ.บต.ซัก

2 ส.ส.ก้าวไกลร่วมวงค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะหวั่นทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเล วิถีชาวบ้าน เตรียมตั้งกระทู้สดถามรัฐบาลในสภาฯ ส่วน กมธ.เรียก ศอ.บต.ซัก

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายภาคประชาชนหลายกลุ่มในจังหวัดภาคใต้ ร่วมจัดกิจกรรมนิทรรศการและวงเสวนา “การเคลื่อนตัวของเกลียวคลื่นกลางกรุง กับลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” เพื่อคัดค้านมติ ครม.และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ที่เตรียมผลักดัน อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมต้นแบบ โดยการเปลี่ยนผังเมืองสีเขียว (พื้นที่เกษตร) กว่า 16,753 ไร่ ให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวประมงพื้นบ้าน และพื้นที่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในพื้นที่ๆมีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำที่สุดในพื้นที่อ่าวไทยด้วย

โดยในวันที่ 11 ก.ค.นี้ ศอ.บต.จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ ซึ่งภาคประชาชนมีความรู้สึกไม่ไว้ใจและประท้วงไม่ให้มีการดำเนินเวทีมาหลายครั้ง เนื่องจากเวทีที่ผ่านมาในลักษณะนี้มีการใช้กำลังของฝ่ายความมั่นคงมาสกัดกั้นและคุกคามผู้คัดค้านโครงการเสมอจนไม่มีเสียงคัดค้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ ศอ.บต.ได้เลื่อนการจัดเวทีออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกระทั่งมากำหนดให้เป็นวันที่ 11 ก.ค.เมื่อไม่นานมานี้

โดยในช่วงของการเสวนา นายสมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากสัดส่วนภาคใต้ ในฐานะสมาชิกคณะกรรมาธิการที่ดินและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมวงเสวนาเพื่อรับฟังปัญหาและแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวด้วย

นายสมชาย ระบุว่าพฤติกรรมที่ผ่านมาของภาครัฐและ ศอ.บต.ในการรับฟังความคิดเห็นไม่ได้เป็นไปตามแม้กระทั่งยุทธศาสตร์ของ ศอ.บต.เอง ที่ระบุว่าการพัฒนาต้องเป็นไปตามความต้องการ ศักยภาพ วิถีชีวิตทและความต้องการของชุมชน และเป็นที่แน่ชัดว่า ศอ.บต.มีอำนาจล้นเกินในความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เป็นเหตุมาจากหลังปี 2553 มามีการกระชับอำนาจเข้ามาให้ ศอ.บต.อีกรอบหนึ่งผ่าน พ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีมาตรา 10 ที่ให้ ศอ.บต.มีอำนาจกำหนดพื้นที่โครงการพัฒนาเศรษฐกิจได้ เปิดช่องให้มีการร่วมมือกับทุนใหญ่ในการหาผลประโยชน์

“ประเด็นคือการพัฒนาของรัฐไทยไม่เคยสนใจสิ่งแวดล้อม ไม่เคยสนใจวิถีชีวิตทางทะเล ถ้าใครเคยขึ้นเครื่องบินตอนค่ำๆบินผ่านภาคใต้ จะเห็นได้ว่าแสงไฟเรือประมง พื้นที่ทำการประมงเริ่มถอยห่างจากชายฝั่งที่มีพื้นที่อุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ความอุดมสมบูรณ์หายไปจากพื้นที่ๆมีอุตสาหกรรมเสมอ และสิ่งที่น่ากังวลคือ อ.จะนะเป็นพื้นที่ๆมีความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ตอนล่างแห่งหนึ่ง แต่การที่ ศอ.บต.ไม่ให้ความสนใจพื้นที่ทางทะเลเลยและจะเอานิคมอุตสาหกรรมไปอยู่ที่ อ.จะนะ คือความกังวลที่น่ากังวลจริงๆ” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวต่อไป ว่าการรับฟังความเห็นของ ศอ.บต.ในวันที่ 11 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ทางพรรคก้าวไกลเอง เราก็จะมีกระบวนการที่จะดำเนินการอยู่ในสองด้าน ในด้านหนึ่ง พรุ่งนี้ตนจะพยายามตั้งกระทู้ด่วนสอบถามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้ตอบคำถามยืนยันว่าการรับฟังความคิดเห็นสามารถเลื่อนได้หรือไม่ ก็ขอให้รอดูในวันพรุ่งนี้ ว่าสภาฯจะยอมให้เราตั้งกระทู้ด่วนหรือไม่ หากไม่ยอมให้เราตั้ง นั่นก็คงจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่ารัฐไทยกำลังจะเดินหน้าโครงการนี้อย่างเต็มที่โดยไม่สนใจอะไรแล้วทั้งนั้น ในกิจกรรมวันนี้ นอกจากนายสมชายแล้วยังมีนายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนภาคใต้ และนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ร่วมเวทีรับฟังปัญหาของชาวบ้านและภาคประชาชนด้วย

ด้าน นายปดิพัทธ์ ในฐานะประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ เปิดเผยว่า ได้รับข้อร้องเรียนของชาวบ้านเพื่อเตรียมนำไปสู่การดำเนินการในชั้นกรรมาธิการต่อไป โดยเฉพาะในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจะมีการเชิญทั้งตัวแทนของชาวบ้านและ ศอ.บต.มาซักถามและชี้แจงร่วมกัน ซึ่งวันพรุ่งนี้ตนจะทำการขอมติจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการ แต่ก็น่าเสียดายว่าต่อให้มติในชั้นกรรมาธิการผ่านในวันพรุ่งนี้ การประชุมเชิญ ศอ.บต.มาตอบคำถามได้ก็คงจะเกิดได้เร็วที่สุดในวันที่ 15 กรกฎาคม ไม่ทันการรับฟังความคิดเห็นของ ศอ.บต.อยู่ดี

“เมื่อกี้ผมฟังน้องยะพูดผมน้ำตาแทบร่วง จริงๆ การต่อสู้เพื่อผืนดินบ้านเกิดของตัวเองมันไม่ควรจะผิด แต่การต่อสู้ในสถานการณ์ที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบนี้ การที่ ศอ.บต.จะจัดเวทีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบนี้ เสียงคัดค้านจะถูกดำเนินคดีหรือเปล่า เด็กคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อบ้านเกิดของตัวเองจะต้องถูกดำเนินคดีมั้ย เรื่องนี้ผมสะเทือนใจมาก แน่นอนว่าแม้ (การเรียกขอข้อมูลในชั้นกรรมาธิการ) จะไม่ทันเวทีรับฟังความคิดเห็นของ ศอ.บต.แต่อย่างน้อยที่สุดเราจะพยายามใช้พื่นที่ตรงนี้ในการให้อำนาจประชาชนได้แสดงออกได้ และเราจะผลักดันเรื่องนี้ให้ดีที่สุด” นายปดิพัทธ์ กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0