โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

กูรูมองหุ้นไทยพ้นจุดต่ำสุด มีลุ้นทดสอบแนวต้าน 1,220 จุด

efinanceThai

เผยแพร่ 31 มี.ค. 2563 เวลา 10.17 น.

"ทรีนีตี้" คาดหุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วที่ 970 จุด มองเดือนเม.ย.นี้เดินหน้าทดสอบแนวต้าน 1,130-1,140 จุด และ 1,220 จุด หลังบจ.แห่ซื้อหุ้นคืน- SSF ช่วยหนุนเม็ดเงินเข้า SET แต่แนะขายหลังแตะแนวต้าน เหตุเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน ด้าน CIMBT หั่นจีดีพีปีนี้เป็นติดลบ 6.4% กรณีเลวร้ายสุดอาจติดลบ 11% ขณะที่ธปท.ชี้ไตรมาส 2/63 จีดีพีหดตัวหนักสุด

*** คาดหุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เดือนเม.ย. ลุ้นบจ.ซื้อหุ้น-SSF หนุน

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดมุมมองทิศทางการลงทุนเดือนเม.ย.63 ว่า ในเดือนนี้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET Index)ยังคงมีความเสี่ยงต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ทั้งการระบาดของโควิด-19 ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ และภัยแล้ง

แต่มองว่าหุ้นไทยอาจผ่านจุดต่ำสุดที่ 970 จุดไปแล้ว หากเป็นไปตามสมมติฐานว่าเศรษฐกิจไทยทำจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 เนื่องจากตลาดหุ้นมักปรับตัวล่วงหน้าเศรษฐกิจไปก่อนหนึ่งไตรมาสเสมอ

ซึ่งปัจจัยที่จะเข้ามาหนุนดัชนีในเดือนเม.ย.63 จะมาจาก 2 เหตุการณ์สำคัญ คือการเริ่มโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศไปก่อนหน้านี้กว่า 20 แห่ง และการเริ่มขายกองทุน SSF ประเภทพิเศษหรือ SSF-X ซึ่งจากการคำนวณของทรีนีตี้โดยอ้างอิงกับระดับการเข้าซื้อของกองทุน LTF ในอดีต คาดว่าจะมีเม็ดเงินราว 2 หมื่นล้านบาทไหลเข้าสู่กองทุน SSF-X ในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้

*** ลุ้นทดสอบแนวต้าน 1,130 - 1,140 จุด และ 1,220 จุด

ทั้งนี้ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีในเดือนเม.ย. มีแนวต้านสำคัญ 2 บริเวณ ได้แก่ 1,130 - 1,140 จุด และ1,220 จุด โดยระดับ 1,130 - 1,140 จุด เป็นระดับที่เทียบเคียง P/E ในกรณีล่างที่ 14.2 เท่า (อิงประมาณการ EPS ที่ 80 บาท) และเป็นระดับที่อิงการปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 8.9% จากดัชนีปิดต่ำสุด ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของการ Rally ในช่วงตลาดขาลง 3 รอบหลังสุด

ส่วนระดับดัชนี 1,220 จุด นั้นเป็นระดับที่อิง P/E ในกรณีฐานที่ 15.2 เท่า ในสถานการณ์แบบนี้ยังคงแนะนำให้นักลงทุนเลือกที่หุ้นแนะนำ ซึ่งหากดัชนีปรับขึ้นไปแตะแนวต้านแรกที่ 1,130 - 1,140 จุด แนะนำขายหุ้นออกมาบางส่วนและหากยังเดินหน้าไปต่อถึงระดับ 1,220 จุด จะเป็นจุดขายหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ

*** แนะลงทุน 5 กลุ่มได้รับอานิสงส์ SSF

นายณัฐชาต ระบุเพิ่มเติมว่า จากอานิสงส์เม็ดเงิน SSF-X ที่จะเข้ามาราว 2 หมื่นล้านบาท คาดจะมีหุ้น 5 กลุ่มที่เป็นเป้าหมายของนักลงทุนสถาบัน ประกอบด้วย

1. กลุ่มโรงไฟฟ้า ปัจจุบันมูลค่าหุ้นเริ่มลดความร้อนแรงลงและยังมีความน่าสนใจจากฐานรายได้ที่สม่ำเสมอและปันผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร(Bond Yield) ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยหุ้นที่น่าสนใจคือ บี.กริมเพาเวอร์ (BGRIM) โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ผลิตไฟฟ้า(EGCO) และราช กรุ๊ป (RATCH)

2. กลุ่มสื่อสาร มีอัตราเงินปันผลสูง มีความผันผวนต่ำและยังได้รับประโยชน์จากปริมาณการใช้ดาต้าที่สูงขึ้นจากการทำงานที่บ้าน เช่น แอ๊ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และอินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH)

3. กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตประจำวัน ได้ประโยชน์จากการเร่งกักตุนสินค้าของประชาชน รวมถึงมาตรการเพิ่มเงินในกระเป๋าจากทางรัฐบาลและธปท. คือ สยามแม็คโคร (MAKRO) เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)

4. กลุ่มบริหารสินทรัพย์ ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยลดลงทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลงและมีโอกาสซื้อหนี้ในราคาถูกในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM)

5. กลุ่มอาหาร ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า การบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และการ Turn around ของกำไร คือ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)

*** เลี่ยงธุรกิจโรงแรม - สายการบิน เด็ดขาด 

สำหรับหุ้นกลุ่มโรงแรม สายการบิน สนามบิน ยังคงแนะนำให้ชะลอการลงทุนไปก่อน แม้ว่าราคาจะปรับลดลงมามากแล้วก็ตามจุดเข้าซื้อที่ปลอดภัยที่สุด ยังคงเป็นการรอให้ทาง WHO ประกาศการควบคุมโรค COVID-19 ให้ได้อย่างเป็นทางการเสียก่อน

อย่างไรก็ดีสำหรับคนที่ต้องการซื้อเร็วกว่านั้น มองว่าอย่างน้อยก็จะต้องรอให้จำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นปรับตัวขึ้นถึงจุดสูงสุดให้ได้เสียก่อน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลล่าสุดนั้นยังไม่เห็นสัญญาณดังกล่าวแต่อย่างใด

*** CIMBT หั่นจีดีพีปีนี้เหลือติดลบ 6.4% ศก.โลกถดถอย 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT เปิดเผยว่าได้ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจไทยลง จากเดิมคาดขยายตัว 1.7% เป็นหดตัว -6.4% เพื่อสะท้อนภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลก

ซึ่งภาวะการถดถอยนี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 และน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หากสถานการณ์เลวร้ายไปอีก เศรษฐกิจไทยคงเข้าสู่ภาวะวิกฤติตามเศรษฐกิจโลก และอย่าลืมว่า เศรษฐกิจไทยก็มีความเสี่ยงเติบโตช้าก่อนหน้าไวรัสระบาด จากปัญหาสงครามการค้า ภัยแล้ง และงบประมาณที่ล่าช้า

ส่วนการระบาดของโควิด-19 ในไทย คาดในอีกไม่ช้าอาจจะเข้าเฟส 3 แต่หากเทียบการผลกระทบทางเศรษฐกิจ เรามองว่าเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่เฟส 3 ไปเรียบร้อยแล้ว

แต่หากเศรษฐกิจฟื้นได้เร็วอาจหดตัวเพียง 2.2% ในกรณีที่ดีที่สุดในปีนี้ ซึ่งอาจจะเจ็บในระยะสั้นแต่จะจบไวและฟื้นเร็ว

อย่างไรก็ตามหากปัญหาไวรัสระบาด ลามเข้าสู่การท่องเที่ยว การส่งออก การผลิต การบริโภค และภาคการเงินวนครบทั้งวงจรและฉุดให้เศรษฐกิจดำดิ่งจนเกิดการว่างงานสูงและอาจลากยาวจนเศรษฐกิจถดถอยไปได้ราว 1 ปี หรือ 2 ปี ซึ่งภาวะนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นเฟสที่ 4 ที่เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวได้มากกว่า 11% ในปีนี้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด และอาจเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เลวร้ายที่สุดที่เราเคยเผชิญ

*** ธปท. มองไตรมาส 2/63 ศก.หดตัวหนักที่สุดของปี 

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/63 จะหดตัวมากกว่าไตรมาส 1/63 เพราะสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงมากขึ้นในเดือนมี.ค. กระทบต่อท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ก่อนที่ไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 จะเริ่มหดตัวน้อยลง โดยปัจจัยดังกล่าวเราได้รวมไว้ในการประมาณการจีดีพีปีนี้ไว้ที่หดตัว 5.3% แล้ว

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนก.พ.63 หดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัว 3.6% แต่หากไม่รวมส่งออกทองคำ จะหดตัวต่อเนื่อง 1.3% ตามผลกระทบโควิด-19 ส่วนการนำเข้าหดตัว 7.8% จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้า

ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน เนื่องจากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านพลังงานเป็นหลัก

สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนที่มีการเร่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดอื่นๆ หดตัว โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดบริการ หมวดโรงแรม ภัตตาคาร หมวดขนส่ง

ทางด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนตามการนำเข้าสินค้าทุนจากจีนเป็นสำคัญ สำหรับเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องจักร อุปกรณ์ หมวดก่อสร้างตัวอื่นๆ หดตัวในทุกองค์ประกอบ

ดูข่าวต้นฉบับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0