โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การเหยียดผิวในสหรัฐฯ รวมกรณีคนผิวสีถูกเลือกปฏิบัติที่เป็นข่าวดังในปี 2020

The MATTER

อัพเดต 01 มิ.ย. 2563 เวลา 10.14 น. • เผยแพร่ 30 พ.ค. 2563 เวลา 09.00 น. • Brief

‘ชีวิตคนผิวสีมีค่า’ ‘หยุดฆ่าคนผิวสี’ ‘ฉันหายใจไม่ออก’ – หลากหลายข้อความตามป้ายประท้วงที่สะท้อนกระเด็นการเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวสี ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานในสหรัฐฯ เราจึงขอหยิบเอากรณีการเลือกปฏิบัติต่อชาวผิวสี ที่เป็นข่าวดังในปี ค.ศ.2020 มาให้ทุกคนย้อนดูกัน

1. กรณีที่กำลังเป็นกระแสโด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐมินนิโซตา ของ จอร์จ ฟรอยด์ (George Floyd) ชายเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน วัย 46 ปี ที่ถูกตำรวจเข้าจับกุม หลังได้รับแจ้งจากร้านค้าแห่งหนึ่งว่า มีผู้ต้องสงสัยใช้ธนบัตรปลอม โดยตำรวจให้การว่า ฟลอยด์แสดงท่าทีขัดขืนเมื่อตำรวจขอให้เขาลงจากรถ ตำรวจจึงใส่กุญแจมือ และกดเขาลงกับพื้นด้วยเข่านาน 7-9 นาที ฟลอยด์ตะโกนออกมาว่า “ได้โปรด ผมหายใจไม่ออก” อยู่หลายครั้ง ก่อนจะหมดสติไป และถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ได้ประกาศว่าฟลอยด์เสียชีวิตแล้ว

การเสียชีวิตของฟลอยด์ ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่พอใจและประท้วงเรียกร้องให้ตำรวจที่กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเมื่อวานนี้ ทางการสหรัฐฯ จับกุม เดเรค ชอวิน (Derek Chauvin) อดีตตำรวจผิวขาวที่ใช้เข่ากดทับคอของฟลอยด์ ด้วยข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่ไตร่ตรองไว้ก่อน โดยกำหนดวงเงินประกันอยู่ที่ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 15 ล้านบาท รวมถึง จะเดินหน้าสอบสวนตำรวจอีก 3 นายในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

2. ขณะที่การประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้ฟลอยด์ดำเนินอยู่นั้น ก็เกิดอีกกรณีขึ้น เมื่อทีมข่าวของ CNN ซึ่งนำโดย โอมาร์ ฮิเมเนซ (Omar Jimenez) ผู้สื่อข่าวที่มีเชื้อสายลาตินอเมริกา ถูกตำรวจจับกุมและใส่กุญแจมือ ระหว่างถ่ายทอดสดเหตุประท้วง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า นักข่าวไม่ยอมเคลื่อนตัวออกจากจุดที่เจ้าหน้าที่บอก แต่ตามรายงานสดทางวิดีโอที่ออกมานั้น แสดงให้เห็นว่า ฮิเมเนซบอกกับตำรวจว่า พวกเขาสามารถย้ายไปในจุดที่เจ้าหน้าที่ต้องการได้ และจะไม่ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่

CNN ออกแถลงการณ์ถึงการจับกุมนี้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิอย่างชัดเจน และขอให้ทางการปล่อยตัวทีมข่าว CNN โดยทันที ซึ่งในอีก 1 ชั่วโมงต่อมา พวกเขาก็ถูกปล่อยตัวออกมา แต่ก็มีรายงานจาก CNN ว่านักข่าวผิวขาวของ CNN ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดที่ฮิเมเนซรายงานข่าวนั้น กลับไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแต่อย่างใด

3. อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐจอร์เจีย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ คือ อาหมัด อาร์เบอรี (Ahmaud Arbery) ชายเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน วัย 25 ปี ถูกยิงเสียชีวิตโดยสองพ่อลูก โดยผู้เป็นพ่อบอกว่า เขาเข้าใจว่าอาร์เบอรีเป็นโจรและทำร้ายลูกชายของเขา

แต่คลิปวิดีโอที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม กลับแสดงให้เห็นว่า สองพ่อลูกจอดรถกระบะอยู่กลางถนน เมื่ออาร์เบอรีวิ่งออกกำลังกายผ่านหน้ารถไป ก็มีเสียงตะโกนและเกิดการต่อสู้ขึ้น พร้อมกับเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด และร่างของอาร์เบอรีที่ล้มลงในนัดสุดท้าย

4. เหตุการณ์อันน่าสลดจากกรณีของ บรีแอนนา เทย์เลอร์ (Breonna Taylor) พนักงานฉุกเฉินการแพทย์เชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน วัย 26 ปี ที่ถูกตำรวจยิงอย่างน้อย 8 ครั้ง และเสียชีวิตในห้องพักของตัวเอง ในรัฐเคนทักกี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม

โดยตำรวจทั้ง 3 คนระบุว่า กำลังปฏิบัติภารกิจจับกุมการค้ายาเสพติด และก่อนจะเข้าไปในห้องของเทย์เลอร์ ก็เคาะประตูเรียกไปหลายครั้งพร้อมแจ้งว่ามีหมายค้นแล้ว จึงจะใช้กำลังบุกเข้าไปแล้วพบกับเทย์เลอร์ แล้วก็เกิดการยิงขึ้นในห้องพัก แต่อีกด้าน ทนายความฝั่งครอบครัวเทย์เลอร์ ให้การว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แสดงตัว และไม่มีการเคาะประตูห้องเลยแม้แต่น้อย

5. กลายเป็นกระแสอยู่ในโลกโซเชียลไปพักหนึ่ง เมื่อคลิปวีดีโอบันทึกภาพของ เอมี่ คูเปอร์ (Amy Cooper) หญิงผิวขาวคนหนึ่งโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เธอและสุนัขของเธอถูก คริสเตียน คูเปอร์ (Christian Cooper) ชายเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันข่มขู่

คริสเตียนเล่าว่า เขาขอให้เอมี่ล่ามสายจูงให้สุนัขของเธอ เนื่องจากการไม่พาสุนัขออกมาเดินโดยไม่ล่ามสายจูงในรัฐนิวยอร์กนั้นมีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งการกระทำของเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและอคติทางชาติพันธุ์ ซึ่งหลังจากนั้น เอมี่ก็ถูกไล่ออกจากที่ทำงาน

6. ทรงผมก็เป็นประเด็นเช่นกัน เมื่อ ดีอังเดร อาร์โนล์ด (DeAndre Arnold) นักเรียนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ชั้นปีสุดท้ายของโรงเรียน Barbers Hill ในรัฐเท็กซัส ถูกห้ามเข้าร่วมพิธีจบการศึกษาเพราะไว้ทรงผมเดรดล็อก โดยทางโรงเรียนแจ้งว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทรงผม แต่เป็นความยาวต่างหาก ถึงอย่างนั้น การไว้ผมทรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเขา และเมื่อข่าวนี้แพร่กระจายออกไป ก็มีผู้คนจำนวนมากออกมาให้กำลังใจอาร์โนลด์ และขอให้สู้กับกฎระเบียบที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมของคนผิวสี

ขณะที่ ทีเฮีย กลาส (Tehia Glass) ผู้อำนวยการ UNCC's Cato College of Education กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า กฎระเบียบของโรงเรียนจำกัดให้อาร์โนลด์ ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอาร์โนลด์ไม่ใช่คนแรกที่ต้องเผชิญกับเรื่องนี้ เมื่อปี ค.ศ.2018 มีนักกีฬาผิวสีของโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ที่ถูกบังคับให้ตัดผมเดรดล็อกออกระหว่างการแข่งขัน

ปัญหาการเลือกปฏิบัติในสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา ขณะเดียวกัน การประท้วงและเรียกร้องเพื่อให้คนผิวสีมีสิทธิ เสรีภาพ และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมอยู่ตลอดเช่นกัน

อ้างอิงจาก

https://edition.cnn.com/us/live-news/george-floyd-protest-updates-05-28-20/h_9023ffd063def0b1af22cb3ecdc72a06?utm_medium=social&utm_content=2020-05-29T14%3A15%3A12&utm_term=link&utm_source=fbCNNi&fbclid=IwAR1E824cca_bb8TJPZK0KR9AnQePWNrQZDbfd9sc-5H2heJAWpwq4UjiWGI

https://edition.cnn.com/2020/05/29/us/minneapolis-cnn-crew-arrested/index.html?utm_medium=social&utm_term=link&utm_source=fbCNN&utm_content=2020-05-29T11%3A00%3A43

https://www.nytimes.com/article/ahmaud-arbery-shooting-georgia.html

https://www.theguardian.com/us-news/2020/may/05/georgia-brunswick-shooting-ahmaud-arbery-grand-jury#maincontent

https://www.washingtonpost.com/nation/2020/05/11/family-seeks-answers-fatal-police-shooting-louisville-woman-her-apartment/

https://www.npr.org/2020/05/26/862230724/white-woman-who-called-police-on-black-bird-watcher-in-central-park-placed-on-le

https://amp.usatoday.com/amp/4562210002?__twitter_impression=true

#Brief #TheMATTER

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0